เส้นทางธารน้ำตา

เส้นทางธารน้ำตา (อังกฤษ: Trail of Tears) หมายถึงการบังคับการโยกย้ายถิ่นฐานของชนพื้นเมืองในสหรัฐอเมริกาที่รวมทั้งเชอโรคี, ชอคทอว์และอื่นจากดินแดนบ้านเกิดไปตั้งถิ่นฐานยังเขตสงวนอินเดียน (Indian Territory) ใหม่ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาที่ในปัจจุบันคือโอคลาโฮมา “เส้นทางธารน้ำตา” มาจากคำบรรยายการโยกย้ายของชาติชอคทอว์ (Choctaw Nation) ในปี ค.ศ. 1831[1] ชนพื้นเมืองอเมริกันที่โยกย้ายต้องเผชิญกับสภาวะอากาศ เชื้อโรค และความอดอยากระหว่างการเดินทางไปยังจุดหมาย อันเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ที่รวมทั้งจำนวน 4,000 คนของจำนวน 15,000 คนของเชอโรคีที่ต้องย้ายถิ่นฐาน[2]

แผนที่ “เส้นทางธารน้ำตา”

ในปี ค.ศ. 1831 เชอโรคี, ชิคาซอว์, ชอคทอว์, มัสคีกี (ครีค) และ เซมินโอเล (Seminole) (บางครั้งรวมกันเรียกว่าเผ่าวัฒนธรรมห้าเผ่า (Five Civilized Tribes)) ตั้งถิ่นฐานเป็นชาติอิสระในบริเวณที่เรียกว่าดีพเซาธ์ (Deep South) ของสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (เสนอโดยจอร์จ วอชิงตัน และ เฮนรี น็อกซ์) ได้รับการสนับสนุนอย่างแพร่หลายขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเชอโรคีและชอคทอว์[3] แอนดรูว์ แจ็คสันเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ใช้วิธีการโยกย้ายชาวพื้นเมืองอเมริกันตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันอินเดียน (Indian Removal Act of 1830) ในปี ค.ศ. 1831 ชอคทอว์เป็นชนกลุ่มแรกที่ถูกโยกย้ายและกลายเป็นกลุ่มตัวอย่างสำหรับการโยกย้ายกลุ่มอื่นๆ ต่อมา หลังจากชอคทอว์เซมินโอเลก็เป็นกลุ่มต่อมาที่ถูกโยกย้ายในปี ค.ศ. 1832, มัสคีกี (ครีค)ในปี ค.ศ. 1834, ชิคาซอว์ในปี ค.ศ. 1837 และ เชอโรคีในปี ค.ศ. 1838[ต้องการอ้างอิง] เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1837 ชาวพื้นเมืองอเมริกัน 46,000 ก็ถูกโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิมทางตอนใต้ที่ทำให้ที่ดินทั้งหมด 25 ล้านเอเคอร์กลายเป็นดินแดนสำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรปที่เข้ามาใหม่[4]

การโยกย้ายโดยความสมัครใจของชอคทอว์ แก้

 
ค.ศ. 1832 ฮาร์คินส์ผู้มีอายุเพียง 22 ปีเขียน “จดหมายลาต่อพลเมืองอเมริกัน” (Farewell Letter to the American People)

ชาติชอคทอว์เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันคือรัฐแอละแบมา, มิสซิสซิปปี และ ลุยเซียนา หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาฉบับต่างๆ ที่เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1801 แล้วชอคทอว์ก็เหลือดินแดนที่เป็นของตนเองอยู่เพียง 45,000 ตารางกิโลเมตร สนธิสัญญาลำธารแดนซิงแรบบิทยกดินแดนที่เหลือทั้งหมดให้แก่สหรัฐอเมริกา และได้รับการอนุมัติเมื่อต้นปี ค.ศ. 1831 การโยกย้ายชอคทอว์ออกจากดินแดนเดิมเพิ่งมาตกลงกันหลังจากที่ได้ทำการตกลงกันในข้อที่ว่าทางรัฐบาลสหรัฐจะอนุญาตให้ชอคทอว์ยังคงอยู่ในดินแดนได้ จอร์จ ดับเบิลยู. ฮาร์คินส์ผู้นำของชนเผ่าชอคทอว์คนสำคัญเขียนจดหมายถึงพลเมืองอเมริกันก่อนที่จะได้มีการดำเนินการโยกย้ายว่า:

การเขียนจดหมายถึงท่านทั้งหลายที่เป็นชาวอเมริกันเป็นการกระทำที่ทำให้ข้าพเจ้าออกจะหวั่นวิตก เพราะข้าพเจ้าทราบถึงความสามารถอันไม่ถึงขั้นของข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านผู้มีความรู้ความเชื่อมั่นก็คงจะไม่ยินดีที่จะได้รับจดหมายจากชอคทอว์ แต่เมื่อพิจารณาถึงการที่จะถูกโยกย้ายไปทางตะวันตกของมิสซิสซิปปีในฤดูใบไม้ร่วงที่จะมาถึงแล้ว ข้าพเจ้าก็คิดว่าเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะเขียนจดหมายมาร่ำลาเพื่อแสดงความคิดเห็นของข้าพเจ้า และความคิดเห็นเกี่ยวกับการถูกโยกย้ายของข้าพเจ้า ...พวกข้าพเจ้าชาวชอคทอว์พอใจที่จะทนทุกข์และดำรงตนเป็นอิสระ มากกว่าที่จะอยู่ภายใต้อิทธิพลอันทำให้หมดความนับถือตนเองของกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่รับฟังเสียงของพวกข้าพเจ้า - จอร์จ ดับเบิลยู. ฮาร์คินส์, จอร์จ ดับเบิลยู. ฮาร์คินส์ถึงชาวอเมริกัน[5]

รัฐมนตรีกระทรวงสงครามของสหรัฐอเมริกาหลุยส์ แคสส์แต่งตั้งให้จอร์จ เกนส์เป็นผู้บริหารการโยกย้าย เกนส์แบ่งการโยกย้ายออเป็นสามช่วงๆ แรกเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1831 และสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1833 การย้ายกลุ่มแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1831 โดยผู้ที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานกลุ่มต่างๆ เดินทางมาพบกันที่เมมฟิสและวิคส์เบิร์ก ฤดูหนาวอันทารุณทำให้ผู้อพยพต้องเผชิญกับน้ำท่วม, แผ่นน้ำแข็ง และหิมะ การโยกย้ายเริ่มด้วยการใช้เกวียน เมื่อมาประสบกับน้ำท่วมก็ทำให้ใช้เกวียนเป็นไปไม่ได้ เมื่ออาหารเริ่มร่อยหรอลงชาวเมืองเมมฟิสและวิคส์เบิร์กก็เริ่มมีความกังวล การขนย้ายจึงเปลี่ยนไปเป็นการใช้เรือไอน้ำห้าลำ เพื่อนำผู้ถูกย้ายไปยังที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อยู่ริมน้ำ กลุ่มจากเมมฟิสเดินทางขึ้นไปยังอาร์คันซอ ราว 97 กิโลเมตรยังอาร์คันซอโพสต์ เมื่อไปถึงอุณภูมิก็ลดต่ำลงกว่าศูนย์องศาเป็นเวลาเกือบหนึ่งอาทิตย์แม้น้ำก็กลายเป็นน้ำแข็งซึ่งทำให้ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ทันที ขณะเดียวกันอาหารก็ร่อยหรอลงทุกขณะ จนต้องมีการปันส่วนแต่ละส่วนก็ประกอบด้วยข้าวโพดต้ม, หัวเทอร์นิพหนึ่งหัว และน้ำร้อนสองถ้วยต่อวัน รัฐบาลส่งเกวียนสี่สิบเล่มไปยังอาร์คันซอโพสต์เพื่อขนย้ายผู้อพยพต่อไปยังลิตเติล ร็อค เมื่อไปถึงหัวหน้าของชอคทอว์ก็กล่าวต่อผู้สัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์อาร์คันซอกาเซ็ตต์ว่าการโยกย้ายเป็น “เส้นทางแห่งน้ำตาและความตาย” (trail of tears and death)[6] ส่วนกลุ่มที่มาพบกันที่วิคส์เบิร์กถูกนำทางโดยผู้นำทางผู้ไม่มีความสามารถที่เดินทางหายกันไปในบริเวณหนองน้ำของทะเลสาบโพรวิเดนซ์

 
อเล็กซิส เดอ โทเคอวิลล์นักปรัชญาการเมืองและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส

อเล็กซิส เดอ โทเคอวิลล์นักปรัชญาการเมืองและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้เห็นเหตุการณ์การโยกย้ายชาติชอคทอว์ขณะที่อยู่ที่เมมฟิสในปี ค.ศ. 1831 บันทึกไว้ว่า:

ภาพของการโยกย้ายเต็มไปด้วยบรรยากาศของการทำลายและความเสื่อมโทรม ซึ่งขัดกับความรู้สึกว่าควรจะเป็นการร่ำลาอันหวนกลับมามิได้; ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ไม่สามารถดูได้โดยปราศจากความรู้สึกที่รันทด ชาวอินเดียนดูสงบ แต่เงียบขรึมและเศร้าสร้อย ชาวอินเดียนคนหนึ่งที่พูดภาษาอังกฤษได้ตอบคำถามถึงสาเหตุที่ชอคทอว์ทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน “เพื่อความเป็นอิสระ” เป็นคำตอบที่ไม่ต้องมีคำตอบอื่นใดมากไปกว่านั้น เราเป็นพยาน เรา...เป็นพยานในการขับไล่...ชาวอเมริกันอินเดียนผู้มีศักดิ์ศรีและมีอารยธรรมอันยืนนาน - อเล็กซิส เดอ โทเคอวิลล์, Democracy in America[7]

ชอคทอว์เกือบ 17,000 คนย้ายไปยังเขตสงวนอินเดียนและต่อมาโอคลาโฮมา[8] ผู้ที่ถูกโยกย้ายระหว่าง 2,500-6,000 คนเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง แต่หลังจากการอพยพครั้งแรกก็ยังมีชาวชอคทอว์อีกราว 5,000-6,000 คนที่ยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ในมิสซิสซิปปีในปี ค.ศ. 1831[9][10] แต่ชอคทอว์ผู้ที่ยังอยู่ในมิสซิสซิปปีก็ต้องประสบกับปัญหาทางกฎหมาย, การถูกข่มเหงน้ำใจ และ การรังควาน “รั้วและบ้านช่องของเราถูกรื้อถูกเผา, วัวถูกเอามาเลี้ยงในทุ่งของเรา และเราเองก็ถูกกลั่นแกล้ง, จับใส่โซ่ตรวน และทำร้าย จนกระทั่งคนดีๆ ของเราเสียชีวิตไปกันหลายคน”[10] ชอคทอว์ในมิสซิสซิปปีต่อมาก่อตั้งตัวเป็นกลุ่มชอคทอว์อินเดียนแห่งมิสซิสซิปปี (Mississippi Band of Choctaw Indians) และกลุ่มที่ถูกย้ายออกไปจากมิสซิสซิปปีเรียกตนเองว่าชาติชอคทอว์แห่งโอคลาโฮมา (Choctaw Nation of Oklahoma)

การต่อต้านการโยกย้ายของเซมินโอเล แก้

 
นักรบเซมินโอเล Tuko-see-mathla, ค.ศ. 1834

สหรัฐอเมริกาซื้อฟลอริดาจากสเปนตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแอดัมส์-โอนิสและเป็นเจ้าของในปี ค.ศ. 1821 ในปี ค.ศ. 1832 เซมินโอเลก็ถูกเรียกมาประชุมที่เพนส์แลนดิง (Payne's Landing) บนฝั่งแม่น้ำโอคลาวาฮา (Ocklawaha River) ข้อตกลงในสนธิสัญญาระบุให้เซมินโอเลย้ายถิ่นฐานไปทางตะวันตกในเขตสงวนที่เป็นของเผ่ามัสคีกี (ครีค) และไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของเผ่านั้น แต่มัสคีกี (ครีค) ถือว่าชาวอินเดียนเซมินโอเลผู้ที่เดิมมีรากฐานมาจากชาวอินเดียนครีคด้วยกันเอง เป็นผู้ทรยศ (deserter) เพราะการที่เซมินโอเลแยกตัวไปเป็นอิสระจากมัสคีกี (ครีค) ก่อนหน้านั้น ชาวอินเดียนเซมินโอเลเองก็ไม่อยากจะย้ายไปทางตะวันตกเพราะเชื่อว่าถ้าไปแล้วก็คงจะต้องพบกับความตายที่จะเกิดขึ้นโดยน้ำมือของกลุ่มมัสคีกี (ครีค) กลุ่มหลัก คณะหัวหน้าเผ่าเจ็ดคนของเซมินโอเลผู้มีหน้าที่เดินทางไปสำรวจเขตสงวนไม่ได้ออกจากฟลอริดาจนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1832 หลังจากไปดูลาดเลาอยู่เป็นเวลาหลายเดือน และไปทำการพบปะกับชาวครีคอินเดียนผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่นแล้ว หัวหน้าเผ่าเจ็ดคนของชาวอินเดียนเซมินโอเลก็ลงนามในข้อตกลงยอมรับดินแดนใหม่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1833 แต่เมื่อกลับมาถึงฟลอริดาหัวหน้าส่วนใหญ่ก็ประกาศไม่ยอมรับข้อตกลง โดยอ้างว่าไม่ได้ลงนามหรือถูกบังคับให้ลงนาม นอกจากนั้นก็ยังกล่าวว่าตนเองไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแทนทุกเผ่าทุกกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตสงวน แต่เซมินโอเลที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านในบริเวณแม่น้ำอพาลาชิโคลาเป็นกลุ่มที่ง่ายต่อการหว่านล้อมให้โยกย้ายกว่าในบริเวณอื่น และทำการโยกย้ายไปในปี ค.ศ. 1834[11] เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1835 กลุ่มเซมินโอเลและทาสที่หนีมารุมโจมตีกองทหารสหรัฐที่เดินทางมาเพื่อทำการโยกย้าย ในจำนวนทหาร 110 นายมีเพียงสามนายเท่านั้นที่รอดชีวิตมาได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเริ่มต้นสงครามเซมินโอเลครั้งที่สอง

เมื่อทราบว่าเซมินโอเลทำการต่อต้านการบังคับโยกย้าย ทางฟลอริดาก็เริ่มเตรียมตัวเข้าสงคราม กองทหารเซนต์ออกัสตินส่งเรื่องไปยังรัฐบาลกลางเพื่อขอยืมปืนคาบศิลา 500 กระบอกจากกระทรวงการสงครามแห่งสหรัฐอเมริกา และรวบรวมกองทหารอาสาสมัครได้ 500 คนภายใต้การนำของนายพลริชาร์ด เค. คอลล์ ทางฝ่ายอินเดียนก็เข้าโจมตีฟาร์ม และ เขตผู้ตั้งถิ่นฐานต่างๆ จนผู้คนต้องหนีเข้าไปอยู่ในค่าย, ตามเมืองใหญ่ หรือออกจากดินแดนฟลอริดาไปเลย นักรบฝ่ายอินเดียนนำโดย Osceola ยึดรถไฟเสบียงโดยการสังหารยามไปแปดคนและทำให้บาดเจ็บอีกหกคน แต่ฝ่ายกองทหารอาสาสมัครยึดคืนได้ภายในสองสามวันต่อมา ไร่อ้อยตามฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ลงมาจากเซนต์ออกัสตินถูกทำลาย และทาสจากไร่ก็หนีไปรวมตัวกับฝ่ายอินเดียน[12]

ผู้นำในการสงครามของฝ่ายอินเดียนเช่น Halleck Tustenuggee, จัมเพอร์ และ แบล็คเซมินโอเล เอบราฮัม และ จอห์น ฮอร์สก็ดำเนินการต่อต้านกองทัพสหรัฐต่อไป สงครามยุติลงในปี ค.ศ. 1842 หลังจากการต่อสู้กันอยู่สิบปี รัฐบาลสหรัฐประมาณว่าใช้เงินไปถึง $20,000,000 ในการทำสงครามครั้งนี้ซึ่งเป็นจำนวนเงินอันมหาศาลในสมัยนั้น ชาวอินเดียนถูกบังคับให้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่เป็นของครีคทางตะวันตกของมิสซิสซิปปี บางกลุ่มก็ถอยไปอยู่ในบริเวณเอเวอร์เกลดส์ (Everglades) ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐก็ยุติความพยายามที่จะปราบปรามชาวอินเดียนเซมินโอเลในบริเวณเอเวอร์เกลดส์ แต่ประชากรเซมินโอเลเองก็เหลืออยู่เพียงไม่ถึงหนึ่งร้อยคน[13]

ความไม่พึงพอใจในการโยกย้ายของครีค แก้

 
วิลเลียม แม็คคินทอช, ค.ศ. 1838

หลังจากสงครามในปี ค.ศ. 1812 ผู้นำของมัสคีกี (ครีค) เช่นวิลเลียม แม็คคินทอชก็ลงนามในสนธิสัญญายกดินแดนให้แก่จอร์เจียเพิ่มขึ้น การลงนามในสนธิสัญญาฟอร์ทแจ็คสัน ในปี ค.ศ. 1814 เป็นการยุติสงครามของชาติครีคและอินเดียนชาติอื่นทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา[14] ผู้นำของครีคที่เป็นมิตรดีต่อสหรัฐเช่นเซลอคทา และ บิ๊กวอร์ริเออร์ก็ทำการเจรจากับชาร์พไนฟ์ (สมญาที่ชาวอเมริกันอินเดียนเรียกประธานาธิบดีแอนดรู แจ็คสัน) และย้ำว่าพวกตนนั้นเป็นผู้รักมีสันติ แต่กระนั้นแจ็คสันก็ย้อนกลับไปว่าชาวอินเดียนก็มิได้ “เชือดคอเทคุมเซห์” เมื่อมีโอกาสฉะนั้นจึงสมควรแล้วที่จะต้องเสียดินแดนครีคให้แก่สหรัฐ นอกจากนั้นแล้วประธานาธิบดีแจ็คสันก็ยังละเลยข้อตกลงที่เก้าที่ระบุว่าจะฟื้นฟูอธิปไตยของชาติและชาวอินเดียน

แจ็คสันเปิดสมัยการประชุมสันติภาพช่วงแรก และแสดงความขอบใจอย่างเสียไม่ได้ต่อความช่วยเหลือของมัสคีกี (ครีค) จากนั้นก็หันไปยังเรดสติคส์และตักเตือนที่ไปเชื่อฟังคำแนะนำของสภาที่มีความประสงค์ร้าย แจ็คสันกล่าวว่าเพื่อเป็นการลงโทษ ชาติครีคทั้งหมดก็จะต้องจ่ายค่าเสียหาย[ให้แก่สหรัฐอเมริกา] แจ็คสันเรียกร้องให้สิ่งทดแทนจาก[มัสคีกี (ครีค)]ที่เป็นค่าเท่ากับที่รัฐบาลเสียไปกับการทำสงคราม ซึ่งคำนวณแล้วเท่ากับที่ดินจำนวน 23,000,000 เอเคอร์ (93,000 ตารางกิโลเมตร) - โรเบิร์ต วี. เรมินี, Andrew Jackson[14]

 
โอโพธเลยาโฮลา

ต่อมาสหพันธ์ครีคจึงออกกฎหมายว่าห้ามการยกที่ดิน และถือว่าเป็นอาชญากรรมที่มีโทษถึงตาย แต่กระนั้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1825 แม็คคินทอชและหัวหน้าเผ่าอื่นๆ ก็ไปลงนามในสนธิสัญญาอินเดียนสปริงส์ที่ยกดินแดนเกือบทั้งหมดที่เหลืออยู่ของครีคให้กับรัฐจอร์เจีย[15] หลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาอนุมัติสนธิสัญญา แม็คคินทอชก็ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1825 โดยครีคที่นำโดยเมนาวา

สภาครีคแห่งชาติที่นำโดยโอโพธเลยาโฮลา (Opothleyahola) ประท้วงว่าสนธิสัญญาอินเดียนสปริงส์เป็นสนธิสัญญาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ประธานาธิบดีจอห์น ควินซี แอดัมส์มีความเห็นอกเห็นใจ และในที่สุดสนธิสัญญาฉบับนี้ได้รับการประกาศให้เป็นโมฆะ และมีการทำการตกลงกันใหม่ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาวอชิงตัน (ค.ศ. 1826)[16] นักประวัติศาสตร์อาร์. ดักกลาส เฮิร์ทบันทึกว่า: "ชาวครีคประสบกับความสำเร็จที่ไม่มีชาติอินเดียนอื่นใดเคยประสบมาก่อน — ในการสามารถทำให้สนธิสัญญาเป็นโมฆะได้"[17] แต่ผู้ว่ารัฐการของรัฐจอร์เจียก็มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาฉบับใหม่ และเริ่มดำเนินการโยกย้ายชาวอินเดียนตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาฉบับเดิม ในระยะแรกประธานาธิบดีจอห์น ควินซี แอดัมส์ก็พยายามเข้าแทรกแซงด้วยการส่งกองทหารจากรัฐบาลกลาง กองทหารก็ไปปะทะกับทหารอาสาสมัครของจอร์เจีย ประธานาธิบดีแอดัมส์จึงเรียกทหารกลับเพราะความเกรงเหตุกาณ์จะบานปลายไปเป็นสงครามกลางเมือง ประธานาธิบดีจอห์น ควินซีให้คำอธิบายต่อผู้ใกล้ชิดว่า “ชาวอินเดียนไม่ควรค่าต่อการเข้าสงคราม”

แม้ว่าชาวครีคอินเดียนจะถูกบังคับให้ย้ายออกจากจอร์เจีย พร้อมด้วยชาวครีคใต้ (Lower Creeks) ไปยังเขตสงวนอินเดียน แต่ก็ยังคงมีชาวครีคเหนือ (Upper Creeks) อีกราว 20,000 คนที่ยังคงอยู่ในแอละแบมา ทางฝ่ายรัฐบาลก็พยายามทุกวิถีทางที่จะยกเลิกรัฐบาลเผ่าของชาวอินเดียนและใช้กฎหมายของรัฐในการปกครองชาวครีค โอโพธเลยาโฮลาพยายามร้องของให้ประธานาธิบดีแจ็คสันช่วยพิทักษ์จากการกระทำของแอละแบมา แทนที่จะให้ความช่วยเหลือ ก็กลับทำการลงนามกันสนธิสัญญาฉบับใหม่สนธิสัญญาคูสเซตา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1832 ที่แบ่งดินแดนของครีคออกเป็นผืนย่อยลงไปอีก[18] ผลของสนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้ชาวครีคมีทางเลือกสองทาง ทางหนึ่งคือขายที่ดินและรับเงินไปทำการโยกย้ายไปทางตะวันตก หรือยังคงตั้งหลักแหล่งอยู่ในแอละแบมาแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐ ผู้เก็งกำไรที่ดินต่างก็เข้ามาหลอกลวงซื้อที่ดินจากชาวครีคกันขนานใหญ่ จนกระทั่งเกิดมีการปะทะกันและนำไปสู่ความขัดแย้งทำนองที่เรียกว่า “สงครามครีค ค.ศ. 1836” รัฐมนตรีกระทรวงสงครามหลุยส์ คาสส์ส่งนายพลวินฟิลด์ สกอตต์เพื่อทำการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยการบังคับโยกย้ายชาวครีคไปยังเขตสงวนอินเดียนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี

การโยกย้ายโดยการแลกเปลี่ยนกับเงินของชิคาซอว์ แก้

ชาวชิคาซอว์ไม่เหมือนกับชาวอินเดียนกลุ่มอื่นๆ ตรงที่เป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนในการโยกย้ายถิ่นฐานไปยังดินแดนทางตะวันออกของมิสซิสซิปปี ในปี ค.ศ. 1836 ชิคาซอว์ทำการตกลงซื้อที่ดินของชอคทอว์ที่ถูกโยกย้ายออกไปหลังจากการเจรจาต่อรองอันลำบากยากเข็ญอยู่ห้าปี ชิคาซอว์จ่ายเงินจำนวน $530,000 สำหรับที่ดินทางตะวันตกสุดของชอคทอว์ ชิคาซอว์กลุ่มแรกทำการโยกย้ายในปี ค.ศ. 1837 โดยการนำของจอห์น เอ็ม. มิลลาร์ด โดยไปรวมตัวกันที่เมมฟิส, เทนเนสซีเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1837 ขบวนผู้โยกย้ายนำข้าวของทุกสิ่งทุกอย่างที่ติดตัวไปได้ที่รวมทั้งสมบัติต่างๆ, สัตว์เลี้ยง และทาส เมื่อข้ามแม่น้ำมิสซิสซิปปีแล้วขบวนก็เดินตามเส้นทางที่ชอคทอว์ใช้ก่อนหน้านั้น เมื่อไปถึงเขตสงวนแล้วชิคาซอว์ก็รวมตัวกับชาติชอคทอว์ แต่หลังจากความขาดความไม่ไว้วางใจกันอยู่หลายสิบปีชาวชิคาซอว์ก็แยกตัวออกไปเป็นชาติอิสระขึ้นอีกครั้ง

การบังคับโยกย้ายชาวเชอโรคี แก้

 
จอห์น รอสส์หัวหน้าคนสำคัญของเชอโรคี ราวปลายคริสต์ทศวรรษ 1800

ในปี ค.ศ. 1838 ชาติเชอโรคีก็ถูกบังคับให้โยกย้ายจากดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐไปยังเขตสงวนที่ในปัจจุบันคือโอคลาโฮมาทางตะวันตกของสหรัฐที่เป็นผลให้มีชาวเชอโรคีเสียชีวิตไปเป็นจำนวน 4,000 คน[19] ในภาษาเชอโรคีการเดินทางครั้งนี้เรียกว่า “Nunna daul Isunyi” หรือ “ทางน้ำตา” (ทางที่ทำให้ผู้เดินต้องร้องไห้) ทางน้ำตาของเชอโรคีเป็นผลของข้อตกลงในสนธิสัญญานิวอีโคตา (Treaty of New Echota) ซึ่งเป็นข้อตกลงภายใต้รัฐบัญญัติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันอินเดียน (Indian Removal Act) ของปี ค.ศ. 1830 สาระสำคัญของรัฐบัญญัติฉบับนี้คือการแลกเปลี่ยนดินแดนของชาวอเมริกันอินเดียนทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกากับดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี แต่เป็นข้อตกลงที่ไม่ได้รับการยอมรับโดยผู้นำชาวอเมริกันอินเดียนที่ได้รับการเลือกตั้งมา หรือโดยชาวเชอโรคีส่วนใหญ่

ความตึงเครียดระหว่างจอร์เจียและกลุ่มชาติเชอโรคีกลายเป็นวิกฤติการณ์เมื่อมีการพบทองใกล้ Dahlonega ในจอร์เจียในปี ค.ศ. 1829 ที่เป็นผลทำให้เกิดเหตุการณ์การตื่นทองที่จอร์เจีย (Georgia Gold Rush) ซึ่งเป็นการตื่นทองครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่เก็งว่าจะขุดทองได้ต่างก็รุกล้ำเข้าไปในดินแดนของเชอโรคีและสร้างความกดดันต่อรัฐบาลจอร์เจียให้ดำเนินการตาม “ข้อตกลง ค.ศ. 1802” (Compact of 1802) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประธานาธิบดีทอมัส เจฟเฟอร์สันกับรัฐจอร์เจีย ที่มีสาระสำคัญในการกำจัดกลุ่มชาติเชอโรคีออกจากจอร์เจีย

เมื่อรัฐจอร์เจียพยายามขยายอำนาจทางกฎหมายเข้าไปในดินแดนของเชอโรคีในปี ค.ศ. 1830 ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ต้องขึ้นถึงศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States) ในคดี “ชาติเชอโรคี v. จอร์เจีย” (Cherokee Nation v. Georgia) ศาลจอห์น มาร์แชลตัดสินว่าเชอโรคีมิใช่ชาติอธิปไตยและชาติเอกราช จึงไม่ยอมฟังกรณีที่ว่านี้ แต่ในคดี “วูสเตอร์ v. รัฐจอร์เจีย” (Worcester v. State of Georgia) ในปี ค.ศ. 1832 ศาลตัดสินว่ารัฐจอร์เจียไม่มีสิทธิที่จะใช้กฎหมายของรัฐในดินแดนของเชอโรคี เพราะรัฐบาลกลางเท่านั้น — ไม่ใช่รัฐบาลรัฐ — ที่จะมีสิทธิและอำนาจเกี่ยวกับกิจการที่เกี่ยวกับอินเดียน

จอห์น มาร์แชลให้คำตัดสินแล้ว; ก็ให้[มาร์แชล]บังคับใช้ไป! ... จุดไฟใต้[เชอโรคี]เข้าหน่อย พอร้อนเข้าพวกนี้ก็จะไปกันเองแหละ - แอนดรูว์ แจ็คสัน, ค.ศ. 1832, The Trail of Tears Across Missouri[20]

แจ็คสันอาจจะไม่ได้พูดประโยคนี้โดยตรง แต่ก็เป็นผู้ที่ดำเนินตามนโยบายดังกล่าวอย่างแน่วแน่ และไม่มีความตั้งใจแต่อย่างใดที่จะใช้อำนาจของรัฐบาลกลางในการพิทักษ์กลุ่มชนเผ่าเชอโรคีจากการกระทำของรัฐจอร์เจีย เพราะขณะนั้นแจ็คสันเองก็มีเรื่องพัวพันอยู่แล้วกับกรณีพิพาทระหว่างสิทธิการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของรัฐบาลกลางและสิทธิของรัฐ ที่มาเป็นที่รู้จักกันว่า “วิกฤติการณ์โมฆะ” (nullification crisis) นอกจากนั้นแล้วรัฐบัญญัติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันอินเดียนของปี ค.ศ. 1830 ก็ยังมอบอำนาจให้แจ็คสันในการเจรจาต่อรองในกรณีที่เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอินเดียน และการแลกเปลี่ยนดินแดนของอินเดียนทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกากับดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี แจ็คสันใช้กรณีพิพาทกับจอร์เจียในการสร้างความกดดันต่อกลุ่มชาวเชอโรคีให้ยอมลงนามตกลงการโยกย้าย[21]

 
ภาพเหมือนของมาชา พาสคาลสตรีสาวชาวอินเดียน ปลายคริสต์ทศวรรษ 1800

แต่กระนั้นสนธิสัญญาที่ผ่านโดยรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาเพียงเสียงเดียวก็ได้รับการลงนามเป็นกฎหมายโดยประธานาธิบดีแจ็คสัน และมีผลบังคับใช้โดยประธานาธิบดีคนต่อมามาร์ติน แวน บิวเรน แวน บิวเรนอนุมัติกองทหารจำนวน 7,000 คนที่ประกอบด้วยทหารประจำการ, ทหารอาสาสมัคร และทหารรับจ้างภายใต้การนำของนายพลวินฟิลด์ สกอตต์แก่ จอร์เจีย, เทนเนสซี, นอร์ทแคโรไลนา และ แอละแบมา ในการทำการต้อนชาวเชอโรคีจำนวน 13,000 คนเข้าไปในค่ายกักกัน ของกระทรวงอินเดียนแห่งสหรัฐอเมริกาไม่ไกลจากคลีฟแลนด์ ก่อนจะส่งตัวไปทางตะวันตก การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของชาวอินเดียนเกิดจากโรคติดต่อ, ความอดอยาก และ สภาวะอากาศอันหนาวเย็นภาพในค่าย บ้านเรือนที่เป็นของชาวอินเดียนถูกเผาถูกทำลาย, ทรัพย์สมบัติถูกบ่อนทำลายหรือปล้น ดินแดนที่เป็นฟาร์มที่เป็นของบรรพบุรุษมาเป็นชั่วคนก็ถูกแจกจ่ายให้กับผู้ตั้งถิ่นฐานผิวขาวที่เข้ามาใหม่โดยการออกลอตเตอรี หลังจากการกวาดต้อนครั้งแรกแล้ว กองทัพสหรัฐก็ดำเนินการควบคุมการบังคับโยกย้ายไปจนกระทั่งชาวอินเดียนไปถึงที่หมายที่ระบุใว้ตามสนธิสัญญา[22]

พลทหารจอห์น จี. เบอร์เน็ตต์ต่อมาบรรยายเหตุการณ์ว่า

ชนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปจะอ่านและคงจะประณามพฤติกรรมดังกล่าว กระผมเองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชนรุ่นหลังจะมีความเข้าใจว่าพลทหารเช่นกระผมและชาวเชอโรคีสี่คนที่ถูกบังคับโดยนายพลสกอตต์ให้ยิงหัวหน้าเผ่าและลูกๆ ของเขานั้น จำต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พวกกระผมไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ในกรณีที่ว่านี้[23] กระผมเองก็ได้ทำการต่อสู้ในสงครามระหว่างรัฐมาก่อน และได้เห็นผู้คนที่ถูกยิงถูกสังหารมาเป็นอันมากแล้ว แต่การบังคับโยกย้ายชาวเชอโรคีเป็นการกระทำอันทารุณที่สุดเท่าที่กระผมเองได้ประสบมา - นายทหารจอร์เจียผู้ร่วมในการบังคับโยกย้าย,[24]

ระหว่างฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1838 ชาวเชอโรคีก็เริ่มเดินทางพันไมล์ด้วยเครื่องนุ่งห่มที่บางไม่เหมาะสมกับสภาวะอากาศอันหนาวเย็น โดยปราศจากรองเท้าหรือม็อคเคซิน การเดินทางโยกย้ายเริ่มขึ้นจากเรดเคลย์ในเทนเนสซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงทางตะวันออกสุดของชาติเชอโรคี ชาวเชอโรคีได้รับผ้าห่มจากโรงพยาบาลในเทนเนสซีที่ก่อนหน้านั้นเกิดการระบาดของโรคฝีดาษ ชาวอินเดียนจึงติดเชื้อโรคตามไปด้วย ซึ่งทำให้ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปในเมืองหรือหมู่บ้านตลอดทางที่เดินทางผ่าน และทำให้การเดินทางที่ไกลไปกว่าที่จำเป็นเพราะต้องเดินอ้อมเมืองไปแทนที่จะลัดตรงได้[25]

หลังจากที่ข้ามเทนเนสซีและเคนทักกี แล้วก็มาถึงกอลคอนดาในอิลลินอยส์เมื่อราววันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1838 ชาวอินเดียนแต่ละคนโดนเรียกเก็บค่าข้ามท่าโดย “เรือเบอร์รี” เป็นจำนวนหนึ่งเหรียญสหรัฐขณะที่ตามปกติแล้วราคาเพียงสิบสองเซ็นต์ และไม่ได้รับการอนุญาตให้ข้ามจนกระทั่งลูกค้าอื่นข้ามกันไปหมดแล้ว ชาวอินเดียนจึงต้องไปหลบกันอยู่ภายใต้ “แมนเทิลร็อค” ทางด้านเคนทักกีจนกระทั่ง “เบอร์รีไม่มีอะไรที่จะทำดีไปกว่านั้นแล้ว” จึงได้หันมาพาข้าม ชาวอินเดียนหลายคนเสียชีวิตไปกับการคอยเรือข้ามฟากที่ “แมนเทิลร็อค” และอีกหลายคนถูกสังหารโดยผู้คนในท้องถิ่น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็เมื่อฆาตกรหันไปยื่นเรื่องฟ้องรัฐบาลสหรัฐที่ศาลที่เมืองเวียนนาในรัฐอิลลินอยส์ เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าฝังอินเดียนที่ถูกฆาตกรรมหัวละ $35[25]

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม มาร์ติน เดวิส Commissary Agent สำหรับ Moses Daniel's detachment บันทึกว่า:

ปีนี้เป็นปีที่อากาศในอิลลินอยส์หนาวที่สุดตั้งแต่ได้ประสบมา ลำธารต่างก็กลายเป็นน้ำแข็งหนาถึงแปดถึงสิบสองนิ้ว เราจำต้องเจาะน้ำแข็งเพื่อที่หาน้ำสำหรับเราเองและสัตว์ดื่ม หิมะก็ตกทุกสองหรือสามวันอย่างช้าที่สุด ขณะนี้เราตั้งแค้มพ์ที่หนองน้ำมิสซิสซิปปีสี่ไมล์จากแม่น้ำ และดูท่าไม่มีท่าทางที่จะข้ามไปได้ เพราะน้ำแข็งขนาดและชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมากลอยลงมาตามกระแสน้ำจากทางเหนือทุกวัน เดือนที่แล้วเราเดินทางได้เพียง 65 ไมล์ รวมทั้งเวลาที่ใช้ ณ ที่นี้ด้วยซึ่งก็เป็นเวลาสามอาทิตย์ ขณะนี้เราจึงยังไม่ทราบว่าจะข้ามแม่น้ำได้หรือไม่....[26]

 
ลิเลียน โกรสส์ สตรีสาวเลือดผสมเชอโรคี ราว ค.ศ. 1906

ชาวเชอโรคีที่ถูกไล่ที่แรกเริ่มก็ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ทาห์เลควาห์ในโอคลาโฮมา ความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่มีสาเหตุมาจากสนธิสัญญานิวอีโคตา และเส้นทางน้ำตาเป็นผลทำให้มีผู้นำของชาวอินเดียนที่ไปลงนามถูกลอบสังหารไปหลายคนที่รวมทั้งเมเจอร์ริดจ์, จอห์น ริดจ์ และ อีไลอัส บูดิโนต์ มีแต่แสตนด์ เวทีคนเดียวเท่านั้นที่รอดมาได้ ประชากรชาติเชอโรคีในที่สุดก็ฟื้นตัวจากเหตุการณ์ร้ายดังกล่าว และกลายมาเป็นชาวอเมริกันอินเดียนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา[27]

ในกรณีของการบังคับย้าย ก็มีข้อยกเว้นที่เกิดขึ้นกับเชอโรคีราวหนึ่งร้อยคนที่หลบหนีจากทหารอเมริกัน และไปหากินในจอร์เจียและรัฐอื่นๆ ชาวเชอโรคีผู้อาศัยอยู่บนที่ดินที่เป็นของตนเอง (ไม่ใช่ที่ดินที่เป็นเจ้าของร่วมกันโดยหมู่ชน) ไม่อยู่ในข่ายของการถูกโยกย้าย ใน นอร์ทแคโรไลนาเชอโรคีราว 400 คนที่เรียกว่าเชอโรคี Oconaluftee ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกรตสโมคีเมาเทนที่เป็นของคนผิวขาวชื่อวิลเลียม ฮอลแลนด์ ทอมัส (ผู้ที่เชอโรคีเลี้ยงเป็นลูกมาตั้งแต่เด็ก) ก็ไม่อยู่ในข่ายของการถูกโยกย้าย นอกจากนั้นก็ยังมีเชอโรคีอีกราว 200 คนจากบริเวณนันทาฮาลาที่ได้รับการอนุญาตให้อยู่หลังจากที่ได้ช่วยกองทัพสหรัฐในการล่าตัวศาสดาซาลี (Tsali) ชาวเชอโรคีในนอร์ทแคโรไลนากลายมาเป็นกลุ่มชาติเชอโรคีตะวันออก (Eastern Band of Cherokee Indians)

อ้างอิง แก้

  1. Len Green. "Choctaw Removal was really a "Trail of Tears"". Bishinik, mboucher, University of Minnesota. สืบค้นเมื่อ 2008-04-28.
  2. Nancy C., Curtis. Black Heritage Sites. United States: ALA Editions. p. 543. ISBN 0838906435.
  3. Perdue, Theda (2003). "Chapter 2 'Both White and Red'". Mixed Blood Indians: Racial Construction in the Early South. The University of Georgia Press. p. 51. ISBN 0-8203-2731-X.
  4. "Indian removal 1814 - 1858". PBS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ เมษายน 18, 2010. สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 18, 2017.
  5. Harkins, George (1831). "1831 - December - George W. Harkins to the American People". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 27, 2006. สืบค้นเมื่อ เมษายน 23, 2008.
  6. Chris Watson. "The Choctaw Trail of Tears". สืบค้นเมื่อ 2008-04-29.
  7. de Tocqueville, Alexis (1835–1840). "Tocqueville and Beaumont on Race". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 13, 2008. สืบค้นเมื่อ เมษายน 28, 2008.
  8. Satz, Ronald (1986). "The Mississippi Choctaw: From the Removal Treaty of the Federal Agency". ใน Samuel J. Wells and Roseanna Tuby (บ.ก.). After Removal: The Choctaw in Mississippi. University Press of Mississippi. p. 7. ISBN 0-87805-289-5.
  9. Baird, David (1973). "The Choctaws Meet the Americans, 1783 to 1843". The Choctaw People. United States: Indian Tribal Series. p. 36. ASIN B000CIIGTW.
  10. 10.0 10.1 Walter, Williams (1979). "Three Efforts at Development among the Choctaws of Mississippi". Southeastern Indians: Since the Removal Era. Athens, Georgia: University of Georgia Press.
  11. Missall. pp. 83-85.
  12. Missall. pp. 93-94.
  13. Covington, James W. 1993. The Seminoles of Florida. Gainesville, Florida: University Press of Florida. ISBN 0-8130-1196-5. pp. 145-6.
  14. 14.0 14.1 Remini, Robert (1998) [1977]. "The Creek War: Victory". Andrew Jackson: The Course of American Empire, 1767–1821. Vol. 1. Johns Hopkins University Press. ISBN 0801859115.
  15. Oklahoma State University Library. "Indian Affairs: Laws and Treaties. Vol. 2, Treaties". Digital.library.okstate.edu. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มกราคม 6, 2009. สืบค้นเมื่อ มกราคม 25, 2009.
  16. Indian Affairs: Laws and Treaties. Vol. 2, Treaties. Oklahoma State University Library. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กันยายน 22, 2017. สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 18, 2017.
  17. Hurt, R. Douglas (2002). The Indian Frontier, 1763–1846 (Histories of the American Frontier). Albuquerque: University of New Mexico Press. p. 148. ISBN 0-8263-1966-1.
  18. Oklahoma State University Library. "Indian Affairs: Laws and Treaties. Vol. 2, Treaties". Digital.library.okstate.edu. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มกราคม 8, 2009. สืบค้นเมื่อ มกราคม 25, 2009.
  19. Cherokee Nation of Oklahoma: http://www.cherokee.org/Culture/CulInfo/TOT/58/Default.aspx เก็บถาวร 2008-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  20. Gilbert, Joan (1996). "The Cherokee Home in the East". The Trail of Tears Across Missouri. University of Missouri Press. p. 14. ISBN 0-8262-1063-5.
  21. Remini, Andrew Jackson, p. 257, Prucha, Great Father, p. 212.
  22. Myths of the Cherokee and Sacred Formulas of the Cherokees By James Mooney, p. 130.
  23. "Birthday Story of Private John G. Burnett, Captain Abraham McClellan’s Company, 2nd Regiment, 2nd Brigade, Mounted Infantry, Cherokee Indian Removal, 1838-39", Cherokee Nation official site, http://www.cherokee.org/Culture/CulInfo/TOT/128/Default.aspx เก็บถาวร 2008-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  24. Wilson, James (1998). The Earth Shall Weep: A History of Native America. New York: Grove Press. ISBN 978-0-8021-3680-0.
  25. 25.0 25.1 Illinois General Assembly - HJR0142.
  26. Adams, Mattie Lorraine. Family Tree of Daniel and Rachel Davis. Duluth, Georgia: Claxton Printing Company, 1973.
  27. "Top 25 American Indian Tribes for the United States: 1990 and 1980". U.S. Bureau of the Census. August 1995.

บรรณานุกรม แก้

เอกสาร แก้

ภาพยนตร์สารคดี แก้

  • The Trail of Tears: Cherokee Legacy (2006) -directed by Chip Richie; narated by James Earl Jones

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้