เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ

เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2528 นำแสดงโดย ศิลปินคาราบาวทั้งวง, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, สุรชัย จันทิมาธร, สุพรรษา เนื่องภิรมย์, อุทุมพร ศิลาพันธุ์ เขียนบทโดย ยืนยง โอภากุล, อรุณศักดิ์ อ่องลออ กำกับโดย คัมภีร์ ภาคสุวรรณ์ อำนวยการสร้างโดย กิตติ อัครเศรณี

เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องเสียงเพลงแห่งเสรีภาพ
กำกับคัมภีร์ ภาคสุวรรณ
บทภาพยนตร์ยืนยง โอภากุล
อรุณศักดิ์ อ่องลออ
อำนวยการสร้างกิตติ อัครเศรณี
ยืนยง โอภากุล
นักแสดงนำคาราบาว
สุรชัย จันทิมาธร
พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
สุพรรษา เนื่องภิรมย์
อุทุมพร ศิลาพันธุ์
ดนตรีประกอบคาราบาว
วันฉายกันยายน พ.ศ. 2528
ประเทศไทย
ภาษาไทย

เนื้อเรื่องย่อ แก้

 
หน้าปกอัลบั้ม รวมเพลง
 
หน้าปกหนังสือบทภาพยนตร์

แอ๊ด (ยืนยง โอภากุล) ถูกไล่ออกจากงานเขียนแบบก่อสร้าง เพราะไม่อาจรับได้กับเจ้านายที่หน้าเลือด คอยเอารัดเอาเปรียบลูกน้องและกรรมกร แอ๊ดได้เข้าไปในป่าและพยายามยกหินก้อนหนึ่งจากน้ำตก แต่แอ๊ดไม่สามารถยกได้ จึงได้น้าหงา (สุรชัย จันทิมาธร) มาช่วย ชาวบ้านใช้ไม้ค้ำจึงยกขึ้น น้าหงาถามแอ๊ดว่ามาทำอะไรที่นี่ แอ๊ดตอบว่า "หลายปีมานี้ ตนทำอะไรก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ จึงมาที่นี่เพื่อฟังต้นไม้ สายน้ำ ร้องเพลง เพื่อสงบสติอารมณ์"

เมื่อแอ๊ดกลับเข้าไปในเมือง เขียว (กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร) เพื่อนของแอ๊ดที่ยังทำงานอยู่ที่เดียวกัน ก็กำลังมีปัญหากับเจ้านาย เพราะเขียวมักจะขาดงานเนื่องจากไปเล่นดนตรีตอนกลางคืน เขียวบ่นถึงเงินเดือนที่ได้น้อย เมียที่บ้าน (จุ๋ม - อุทุมพร ศิลาพันธ์) ก็บ่นดุด่า แอ๊ดปลอบเขียวและชวนเขียวไปกินเหล้า ที่ไนท์คลับ เล็ก (ปรีชา ชนะภัย) และ อ๊อด (อนุพงษ์ ประถมปัทมะ) ที่เล่นดนตรีอยู่ที่นั่นก็กำลังจะถูกไล่ออกเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่สามารถเรียกคนดูได้เท่าวงอื่น ทั้งหมดกลุ้มใจ ขณะที่กำลังกินก๋วยเตี๋ยวข้างถนนอยู่นั้น แอ๊ด ก็เอ่ยปากขึ้นมาว่า "พรุ่งนี้ไปเที่ยวหาพี่เป้า (อำนาจ ลูกจันทร์) ที่โคราชหลีกชีวิตกลุ้มใจของแต่ละคน"

เมื่อทั้งหมดไปถึง เป้า กำลังฝึกซ้อมกลองอยู่ที่บ้านที่ตัวเองทำหน้าที่เป็นยุ้งเก็บข้าว แอ๊ดมีความคิดจะจัดคอนเสิร์ตขึ้นที่นี่เพื่อหาเงินสักก้อนกลับ ขณะกำลังจะไปติดต่อโรงภาพยนตร์เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแสดง ก็พบ หมู (พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ) เพื่อนเก่าที่กำลังกวาดพื้นอยู่ หมูก็กำลังแย่แม้แต่รองเท้าจะสวมก็ไม่มี แอ๊ดจึงเสนอให้หมูพูดคุยกับเจ้าของโรงภาพยนตร์ เพื่อขอใช้สถานที่เป็นที่แสดงคอนเสิร์ต ที่มีชื่อว่า "คอนเสิร์ตอันตราย Dangerous Concert"

เมื่อคอนเสิร์ตมาถึง แม้จะเก็บค่าตั๋วถูก ๆ เพียง 5 บาท แต่กลับแต่มีคนดูเพียง 7 คนเท่านั้น เจ้าของโรงภาพยนตร์ก็ไม่คิดเงิน ทั้งหมดจึงเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร กัน โดยเช่าบ้านไม้หลังหนึ่งติดกับห้องเช่าของหมอนวดที่ชื่อ มาลี เป็นที่พักอาศัย

อีกด้านหนึ่ง เทียรี่ (เทียรี่ เมฆวัฒนา) ร้องเพลงสากลอยู่ในบาร์โรงแรมหรูแห่งหนึ่ง ผู้จัดการบาร์ขอให้เทียรี่พาเพื่อนเข้าร่วมวงอีก 2 คน เป็นทรีโอแบนด์ วันหนึ่ง เทียรี่ได้ไปเยี่ยมอ๊อด จึงได้รู้จักกับพวกแอ๊ด ทั้งหมดจึงร่วมกันร้องเพลงใหม่ที่แต่งขึ้นจากชีวิตของมาลี คือ นางงามตู้กระจก ในบาร์ ปรากฏว่าแขกชอบ แต่ผู้จัดการไม่ชอบใจอย่างมาก จึงไล่ทั้งหมดออก

จากนั้น ทั้งหมดจึงรวมกลุ่มกันออกอัลบั้มเอง และมีอาจารย์ (อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี) เข้าร่วมด้วย และได้ แพร (สุพรรษา เนื่องภิรมย์) เป็นผู้จัดการให้ เมื่ออัลบั้มที่ทั้งหมดได้บันทึกเสียงออกวางแผง กลายเป็นเพลงฮิตและได้รับความนิยมทันที แต่เจ้าของบริษัทเทปกลับเบี้ยวค่าตอบแทน แอ๊ดจึงยกพวกทั้งวงลาออกมาทำเพลงเอง จนกระทั่งได้ไปทัวร์คอนเสิร์ตที่อเมริกา คาราบาวประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งหมดจึงลงทุนสร้างบ้านเอง และตระเวนเล่นคอนเสิร์ตตามที่ต่าง ๆ

แต่ปรากฏว่า หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ของสมาชิกในวงก็เริ่มแตกคอกัน หมูก็มักจะขโมยข้าวของของเพื่อน ๆ เป้าก็เอาแต่สะสมปลากระป๋อง เทียรี่กับอ๊อดก็เอาแต่กินเหล้า เล็กทะเลาะกับอ๊อดขั้นรุนแรงเรื่องอ๊อดเมาแล้วทำลายข้าวของของเล็ก แอ๊ดก็สนิทสนมกับแพรมากขึ้น สร้างความไม่พอใจให้แก่เทียรี่ซึ่งชอบแพรอยู่ อาจารย์จึงสั่งสอนและพยายามเรียกสติและความตั้งใจที่มาแต่แรกเริ่มให้สมาชิกหลายคนเริ่มสำนึกได้ แต่แล้วบ้านที่ทั้งหมดร่วมกันสร้างขึ้นมาได้เกิดเพลิงไหม้จากการอาละวาดของหมู สมาชิกทั้งหมดของวงคาราบาวทั้ง 7 จึงเริ่มคิดได้และพบคำตอบว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการนั่นคือการสร้างเสียงเพลงเพื่อคนฟังที่ใฝ่หาชีวิตเสรี

เบื้องหลังภาพยนตร์ แก้

เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาเนื่องในสถานะที่คาราบาวกำลังโด่งดังอยู่ขณะนั้น บทภาพยนตร์ส่วนหนึ่งเขียนขึ้นมาจากชีวิตจริงของแอ๊ด คาราบาว ในยุคเริ่มต้นที่เล่นดนตรี โดนเจ้านายเพ่งเล็ง โดนเจ้าของค่ายเทปเบี้ยวค่าตอบแทน โดนผู้จัดการโรงแรมไล่ออกมา เช่าบ้านติดกับโสเภณี เป็นต้น

เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ เป็นภาพยนตร์ที่ดูง่าย ๆ มีมุขตลกแบบใสซื่อ บางส่วนมีเพลงของคาราบาวที่ฮิตขณะนั้นประกอบด้วย เช่น นางงามตู้กระจก, ปลาใหญ่ ปลาน้อย, วณิพก, คนเก็บฟืน เป็นต้น และเพิ่มเพลงพิเศษชื่อเดียวกับภาพยนตร์ คือ เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ มีดารานักแสดง นักร้องเพลงเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียงในเวลานั้นร่วมแสดงด้วย เช่น สุรชัย จันทิมาธร, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, สุพรรษา เนื่องภิรมย์ และ อุทุมพร ศิลาพันธุ์ ที่ต่อมากลายเป็นภรรยาของเทียรี่ เมฆวัฒนา ในชีวิตจริง

ภาพยนตร์ออกมาหลังจากที่คาราบาวเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกา โดยนำรายได้จากการฉายภาพยนตร์สมทบทุนโครงการตู้หนังสือคาราบาว ต่อมาได้ออกอัลบั้มรวมเพลงชุดแรกของวง คือ "รวมเพลงคาราบาว" ที่ได้รวมเพลงที่ฮิตของคาราบาวทั้งหมด และเพิ่มเพลงใหม่เข้าไป 3 เพลง คือ เมด อิน ไทยแลนด์ ฟอร์ม ยูเอสเอ., รักคุณเท่าฟ้า และ เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ

ในปี พ.ศ. 2543 ในวาระครบรอบ 15 ปี ของภาพยนตร์ ได้มีการเปิดตัวหนังสือบทภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาจำหน่าย และทางบริษัทโรส วิดีโอ ก็ได้ออกวีซีดีภาพยนตร์ออกมาพร้อมกันด้วย[1] และต่อมาได้ทำภาพยนตร์ที่ต่อเนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ คาราบาว ย้อนอดีตพลิกปัจจุบัน

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. หนังสือบทภาพยนตร์ เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ พ.ศ. 2543 ISBN 974-85755-1-9

แหล่งข้อมูลอื่น แก้