เวย์น ธีโบด์ (อังกฤษ: Wayne Thiebaud) เกิดที่เมืองเมซา รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920[2] และเป็นที่รู้จักกันในนามของศิลปินที่สร้างสรรค์งานจิตรกรรมในหัวข้อของสิ่งของในชีวิตประจำวัน หรือของกิน ไม่ว่าจะเป็นขนมเค้ก ขนมอบ พาย ไอศกรีมโคน เครื่องสำอางหรือรองเท้า แม้ว่างานส่วนใหญ่ของเขาจะถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 50-60 ธีโบด์ก็ถูกนับว่าเป็นจิตรกรชาวอเมริกันที่อยู่ในกระแสความเคลื่อนไหวป็อปอาร์ต (อังกฤษ:Pop Art)งานของเขามักจะใช้สีสันที่ฉูดฉาดและเกินจริง และมีการใช้เงาที่มีลักษณะพิเศษเพื่อนำเสนอผลงาน

เวย์น ธีโบด์
Wayne Thiebaud
เกิดMorton Wayne Thiebaud[1]
15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920(1920-11-15)
เมซา, แอริโซนา, สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิต25 ธันวาคม ค.ศ. 2021(2021-12-25) (101 ปี)
Sacramento, California สหรัฐอเมริกา
สัญชาติอเมริกัน
การศึกษาSacramento State College
San Jose State College
Sacramento State
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม, Printmaking
ขบวนการป็อปอาร์ต, ลัทธิสัจนิยมใหม่, Bay Area Figurative Movement
รางวัลNational Medal of Arts (1994)

ชีวประวัติ การศึกษาและอาชีพ แก้

เวย์น ธีโบด์ (Wayne Thiebaud) เกิดที่เมืองเมซา รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 ช่วงอายุหกปีครอบครัวของเขาต้องย้ายไปอยู่ที่ลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้ช่วงชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ของธีโบด์จะอาศัยอยู่ที่ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย ถึงแม้ว่ารากฐานครอบครัวจะอยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ก็ตาม นอกจากนี้ธีโบด์ยังได้ใช้เวลาหลายปีอาศัยที่ฟาร์มปศุสัตว์ของคุณลุงในยูทาห์ (Utah) อีกด้วย จนกระทั่งช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนหนึ่งในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาได้เข้าทำงานกับเดอะวอลต์ดิสนีย์สตูดิโอ (the Walt Disney Studios) เป็นช่วงเวลาสั้นๆในปี ค.ศ. 1936-1937[3] ในฐานะผู้วาดตัวการ์ตูนให้แลดูมีชีวิตชีวา กระนั้นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนถัดมาในปี ค.ศ. 1938 ธีโบด์ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนแฟรงค์วิกกินส์เทรด (Frank Wiggins Trade School) ในลอสแอนเจลิส (Los Angelis) เพื่อเรียนรู้การวาดภาพตามที่เขาได้ตั้งใจเอาไว้และเริ่มที่จะเรียนรู้การวาดภาพที่เกี่ยวกับการค้า

อย่างไรก็ตามอาชีพนักวาดการ์ตูนและนักออกแบบกราฟิกก็ต้องถูกขัดจังหวะโดยการผันตนเองไปรับใช้ชาติในสงครามโลกครั้งที่สอง (World War II) ในกองทัพทหารอากาศ แต่ด้วยทักษะด้านศิลปะทำให้เขาไม่ต้องเข้าร่วมรบใดๆ ระหว่างช่วงสงครามธีโบด์ได้แต่งงานกับแพทริเชีย เพทเทอร์สัน (Patricia Petterson) และมีลูกด้วยกันถึงสองคนคือ ทวิงกา ธีโบด์ (Twinka Thiebaud) และ มัลลารี แอน ธีโบด์ (Mallary Ann Thiebaud) ในปี ค.ศ. 1945 และ 1951[4] ตามลำดับ

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ธีโบด์หันกลับมายึดอาชีพเดิมและทำงานออกแบบให้กับบริษัทยาเร็กซอลล์ (Rexall Drugstore) ในลอสแอนเจลิส จนทำให้พบกับโรเบิร์ต มัลลารี (Robert Mallary) เพื่อนร่วมงาน ด้วยเหตุนี้ทำให้ธีโบด์เริ่มหันมาศึกษาวิจิตรศิลป์ (Fine Art) และเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตนเอง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1949-1950 ธีโบด์เข้าศึกษาที่วิทยาลัยรัฐแซน โฮเซ่ (San Jose State College) (ปัจจุบันคือ San Jose State University) และย้ายไปที่วิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย (California State College) (ปัจจุบันคือ California State University) ในปี ค.ศ. 1950-1953 จนจบระดับปริญญาโทและปริญญาเอก[5]

ธีโบด์ใช้เวลาทั้งหมดในช่วงทศวรรษที่ 50 ด้วยการเป็นครูสอนศิลปะที่วิทยาลัยแซคราเมนโตจูเนียร์ (Sacramento Junior College) (ปัจจุบันคือ Sacramento City College) และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศิลปะ ในปี ค.ศ. 1954-1956 และ ปี ค.ศ. 1958-1960 อย่างไรก็ตามในช่วงปี ค.ศ. 1956-1957 ธีโบด์ได้ใช้ช่วงปีนี้ไปกับการหยุดพักผ่อนในนิวยอร์ก (New York) และได้ทำความรู้จักกับศิลปินชั้นแนวหน้าของอเมริกาในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็น ศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แบบนามธรรม (Abstract Expressionism) วิลเลม เดอ คูนนิ่ง (Willem De Kooning) และ โรเบิร์ต เราส์เชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg) กับแจสเปอร์ จอนส์ (Jesper Johns) ศิลปินในกระแสความเคลื่อนไหวป็อปอาร์ต (Pop Art) ซึ่งศิลปินเหล่านี้ก็เป็นตัวแปรที่สำคัญที่ส่งอิทธิพลให้กับธีโบด์เป็นอย่างมาก[6] จากความประทับใจในผลงานของศิลปินเหล่านั้น ธีโบด์ได้เริ่มหันมาวาดภาพบนผืนผ้าใบขนาดเล็กเกี่ยวกับภาพอาหารหรือขนาดต่างๆ ด้วยสีสันที่สดใสพร้อมกับการลงสีอย่างพิถีพิถัน ฉูดฉาด และให้ลักษณะเงาที่สมจริงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพาย ขนมเค้ก ลูกกวาด หรือไอศกรีมโคน ซึ่งงานเหล่านี้ก็มักจะถูกจัดวางอยู่ตามหน้าต่างร้านค้าต่างๆ ในขณะภาพหุ่นนิ่ง (Still Life) ธรรมดาทั่วไปมักจะถูกลงสีในขณะที่เฝ้าสังเกตสิ่งเหล่านั้น ธีโบด์กลับวาดภาพอาหารทั้งหมดจากความทรงจำและจินตนาการของเขาเอง

หลังจากที่เขากลับมาที่แคลิฟอร์เนีย ในช่วงทศวรรษที่ 50 ไม่มีหอศิลป์ใดเลยในแซคราเมนโตที่เขาจะสามารถจัดแสดงผลงานของตนเองได้ ธีโบด์จึงทำการจัดแสดงผลงานของเขาในทุกๆ ที่ที่เขาสามารถจะวางผลงานไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในร้าค้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่ในโรงภาพยนตร์ จนกระทั่งเขาพบหอศิลป์ในแซคราเมนโตซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในนาม อาร์ตติส คอนเท็มโพรารี่ แกเลอรี่ (Artists Contemporary Gallery) และ พอนด์ ฟาร์ม (Pond Farm)

ในปี ค.ศ. 1958 ธีโบด์ได้อย่าร้างกับภรรยาของเขา และลูกสาวของเขา ทวิงกา ก็ได้กลายมาเป็นนางแบบให้แก่ศิลปินชื่อดัง นักเขียนและจิตรกร กระนั้นธีโบด์ก็ได้แต่งงานอีกครั้งหนึ่งกับผู้ผลิตภาพยนตร์สาว เบ็ตตี้ จีน แครร์ (Betty Jean Carr) และรับลูกชายของเธอ แมธทิว (Matthew) มาเลี้ยงซึ่งในภายหลังก็ได้กลายมาเป็นศิลปินเช่นเดียวกัน ต่อมาทั้งสองก็ได้มีลูกอีกหนึ่งคนคือ พอล ธีโบด์ (Paul Thiebaud) นักซื้อขายงานศิลปะ และผู้ดูแลหอศิลป์

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1961 หลายสิ่งกลับเปลี่ยนแปลงไป เขาได้พบกับ อัลลัน สโตน นักซื้อขายงานศิลปะในนิวยอร์ก และภายหลังก็ได้กลายมาเป็นตัวแทนที่ผูกขาดในการซื้อขายงานศิลปะของธีโบด์ ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสองก็กลายเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันอีกด้วย ในปี ค.ศ. 1962 เขาก็ได้จัดแสดงผลงานเป็นครั้งแรกใน อัลลัน สโตน แกเลอรี่ (Allan Stone Gallery) ซึ่งภายในงานผลงานของเขาก็ถูกจัดแสดงรวมไว้กับงานของรอย ลิคเท็นสไตล์ (Roy Lichtenstein), จิม ไดน์ (Jim Dine) และแอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ทำให้ธีโบด์นั้นขึ้นมาเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะ[7] และเวลาถัดมาในปีเดียวกัน ซิดนีย์ แจนิส แกเลอรี่ (Sidney Janis Gallery) ก็ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานในชื่อ International Exhibition of the New Realists ซึ่งเช่นเดียวกันผลงานของธีโบด์ก็ถูกนำไปรวมกับผลงานของวอร์ฮอล ลิคเท็นสไตล์และ เจมส์ โรเซ็นควิสท์ (James Rosenquist) ซึ่งนิทรรศการจัดแสดงผลงานครั้งนี้ก็ทำให้ศิลปะในกระแสความเคลื่อนไหวป็อปอาร์ต กลายเป็นสิ่งที่โดดเด่นขึ้นมาในช่วงทรรศวรรษที่ 60 กลางทศวรรษที่ 60 ธีโบด์เริ่มหันมาลงมือสร้างงานภาพพิมพ์อย่างจริงจังเช่นเดียวเดียวกับงานจิตรกรรมในครั้งอดีต

ในช่วงทศวรรษที่ 70 เขาหันกลับมาสานต่อการสร้างงานจากการเฝ้าสังเกตสิ่งของในชีวิตประจำวันเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าหรือเครื่องสำอาง โดยงานจิตรกรรมส่วนใหญ่ของเขามักจะเป็นภาพภูมิทัศน์ของซานฟรานซิสโก เป็นเวลาตลอด 20 ปีที่เขาได้สร้างงานเหล่านี้ด้วยรายละเอียดที่สมจริงเพื่อค้นหาความสวยงามในความทรงจำของฉากที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน

จนมาถึงช่วงทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา ธีโบด์ได้รับเกียรติยศและชื่อเสียงจากผลงานของตนเองเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางวัล National Medal of Arts ที่ให้สำหรับศิลปินที่โดดเด่นในสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีวิลเลียม เจฟเฟอร์สัน คลินตัน (William J. Clinton) หรือที่รู้จักกันในนาม บิล คลินตัน (Bill Clinton) ในปี ค.ศ. 1994[8] และในปี ค.ศ. 2001 ก็ได้มีนิทรรศการรำลึกถึงผลงานของธีโบด์ที่พิพิธภัณฑ์วิทนีย์ (Whitney Museum) ในนิวยอร์กเพื่อสรรเสริญผลงานของเขา หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2006 เพื่อนสนิทและตัวแทนผู้ซื้อขายผลงานศิลปะของธีโบด์ อัลลัน สโตนก็ได้เสียชีวิตลง และตำแหน่งตัวแทนผู้ซื้อขายผลงานศิลปะของเขาก็กลายมาเป็นของพอล ลูกชายของเขาจนกระทั่งพอลเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 2009

ในปี 2010 ชื่อของเขาก็ถูกบันทึกลงในหอเกียรติยศแคลิฟอร์เนีย (The California Hall of Fame) ที่พิพิธภัณฑ์แคลิฟอร์เนีย (The California Museum) อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ธีโบด์ได้เกษียณจากงานสอนศิลปะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลายทศวรรษที่เขาได้อุทิศไปแก่การสอนได้กลายเป็นอิทธิพลหลักที่สำคัญแก่ศิลปินและศิลปะอเมริกา นักเรียนจำนวนมากของเขาได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างในฐานะศิลปินและอาชีพศิลปิน ในช่วงอายุ 90 ปีของธีโบด์ เขายังคงวาดภาพต่างๆ อยู่ ผลงานขนาดใหญ่ที่แสนล้ำค่าของเขายังคงสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมทั่วไปอยู่เสมอในมุมมองที่มีเอกลักษณ์ของความสวยงามและมนต์เสน่ห์ของสิ่งของในชีวิตประจำวัน

แนวคิดและผลงาน แก้

ธีโบด์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากงานจิตรกรรมที่โด่งดังและสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในร้านอาหาร เนื่องจากงานของเขามักจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวอาหาร หรือของหวานเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นขนมเค้ก ขนมอบ พายต่างๆ รวมถึงไอศกรีมโคน ผลงานของเขาได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ที่เขาประสบมาครั้งยังเป็นเด็ก เริ่มจากชีวิตวัยเด็กขณะที่เขาอาศัยอยู่ที่ลอง บีช เขาทำงานอยู่ร้านขายไอศกรีมฮอตดอกที่มีชื่อว่า Mile High and Red Hot ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำงานส่วนใหญ่ของเขามักจะเล่าเรื่องราวหรือพรรณนาถึงสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ[9] ขณะที่ธีโบด์อายุ 16 ปี เขาได้เข้าทำงานให้กับเดอะดิสนีย์ สตูดิโอในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนในฐานะนักวาดการ์ตูนหรือวาดภาพประกอบ เมื่อเขาโตขึ้นก็ได้กลายเป็นศิลปินที่วาดภาพเกี่ยวกับการค้า ออกแบบภาพประกอบสำหรับสื่อโฆษณาต่างๆ จนกระทั่งเขาหันมาสนใจในงานวิจิตรศิลป์และได้ผันตัวกลายมาเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานลงบนผืนผ้าใบ

ลักษณะในชิ้นงานของธีโบด์มักจะสร้างโครงร่างของวัตถุที่มีลักษณะชัดเจนจนทำให้นึกถึงภาพการ์ตูน เขามักจะใช้สีสันที่สดใสและรุนแรงตัดกับฉากหลังที่มีสีอ่อนกว่าเพื่อบรรยายถึงตัววัตถุหลักภายในภาพให้ชัดเจน อีกทั้งยังใช้การแสดงเงาในลักษณะพิเศษของการโฆษณาที่มีความเข้มสมจริง ซึ่งลักษณะเงาเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าธีโบด์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของแสงเป็นอย่างมากดังที่เห็นในตัวอย่าง Candy Counter (1969) จะเห็นได้ว่างานในช่วงแรกของธีโบด์นี้มีลักษณะการใช้เส้นสีสร้างให้เกิดเส้นในลักษณะแนวนอน ซึ่งเส้นเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายใดเลย มันอาจจะเป็นเพียงเส้นขอบของโต๊ะก็ได้ แต่ในความจริงมันเป็นเพียงการใช้สีเพื่อสร้างความสนุกให้กับภาพ และหากสังเกตใกล้ๆ จะพบว่าโครงสร้างของภาพหรือสิ่งของนั้นไม่ปกติแต่มีการลงสีที่เหมาะสมแทน[10]

ในช่วงทศวรรษที่ 50 เขาได้เห็นงานศิลปะลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แบบนามธรรมจากศิลปินชื่อดังอย่าง วิลเลม เดอ คูนนิ่ง และ โรเบิร์ต เราส์เชนเบิร์ก จนทำให้เขาหันมาสร้างสรรค์ผลงานลงบนผืนผ้าใบขนาดเล็กในหัวข้อเดิมที่เกี่ยวกับอาหารต่างๆ อย่างไรก็ตามตัวธีโบด์เองไม่ได้นำกรอบความคิดของศิลปะในกระแสความเคลื่อนไหวป็อปอาร์ตมาใช้สักเท่าไหร่นัก โดยส่วนใหญ่แล้วงานของเขามักจะกล่าวถึงการล้อเลียน เสียดสีหรือวิพากษ์วิจารณ์วิธีทางด้านพาณิชย์และสังคมการบริโภคเสียมากกว่า ธีโบด์ต้องการที่จะอธิบายตัวตนของเขาว่าเป็นจิตรกรหัวโบราณที่สนใจในงานเพื่อการโฆษณา การ์ตูน หรือภาพประกอบการค้า นอกจากนี้เขายังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของตัวเขาท่ามกลางความร่วมสมัยผ่านฝีมือที่มีความพิถีพิถันและการตอกย้ำถึงอุดมการณ์ของตนเองโดยไม่สนใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกของศิลปะ[11]

นอกจากนี้หลังจากที่เขาย้ายกลับไปที่แคลิฟอร์เนียในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 ธีโบด์ก็เริ่มหันมาสร้างผลงานในประเด็นอื่น ซึ่งคือภาพภูมิทัศน์ของชนบทในแซคราเมนโตก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่ซานฟรานซิสโกและสร้างสรรค์ชุดภาพภูมิทัศน์ของตัวเมืองซานฟราสซิสโกออกมาเป็นจำนวนมากในปี ค.ศ. 1972 โดยใช้ฉากภูมิประเทศที่โดดเด่นของเบย์ แอเรีย (the Bay Area) เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน[12] ไม่ว่าจะเป็นฉากเมือง อาคาร สิ่งก่อสร้างและถนนหนทาง เช่นภาพ Sunset Streets (1985) และ Flatland River (1997) จะเห็นได้ว่าภาพจะมีลักษณะเกินจริง นอกจากนี้เขายังได้วาดภาพตัวละครการ์ตูนที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปเช่น มิกกี้ เมาส์ (Mickey Mouse) อีกด้วย

กล่าวโดยสรุปได้ว่างานที่ธีโบด์สร้างขึ้นมานั้นไม่ได้เป็นเพียงความต้องการหรือความปรารถนาในอาหารดังที่เห็นในภาพ หากแต่เป็นความทรงจำที่ได้พบเห็นครั้งยังเป็นเด็กตามฝาผนัง กำแพงหรือหน้าต่างในร้านค้า ร้านอาหาร หรือโรงภาพยนตร์ แต่สิ่งที่ธีโบด์ต้องการจะสื่อถึงไม่ได้มีเพียงภาพอาหารหรือภาพภูมิทัศน์เพียงอย่างเดียว ในปัจจุบัน ธีโบด์ยังคงวาดภาพในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของในชีวิตประจำวันที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องสำอางหรือรองเท้า ที่ถูกวาดออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อล้อไปกับบริบททางสังคมแบบอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งการลงสีที่หลากหลายกับแสงที่สว่างเพื่อที่จะเน้นถึงสิ่งที่เขาต้องการเน้นย้ำ เช่นคน สถานที่หรือสิ่งของ และต้องการที่จะสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองในอดีตของวัฒนธรรมป็อป และฉากหรือภูมิทัศน์ของอเมริกาที่ผู้ชมสามารถบ่งบอกถึงสถานที่ได้อย่างง่ายดาย

ตัวอย่างผลงาน แก้

  • 1957 Antique Coin Machine
  • 1961 Pies, Pies, Pies
  • 1962 Around the Cake
  • 1962 Bakery Counter
  • 1963 Cakes
  • 1963 Girl with Ice Cream Cone
  • 1963 Three Machines
  • 1964 Three Strawberry shakes
  • 1964 Man Sitting - Back View
  • 1965 Stick Candy
  • 1966 Powder With Puff
  • 1967-68 Coloma Ridge
  • 1967-87 Sandwich Plate
  • 1970 Large Sucker
  • 1970 Seven Suckers
  • 1971 Millefeuilles
  • 1975 Shoe Rows
  • 1977 24th Street Intersection
  • 1979 Four Cakes
  • 1981 Candy Apple
  • 1981 Hill Street (Day City)
  • 1987 Two Paint Cans
  • 1993 Apartment View
  • 1996 Farm Channel
  • 1999 Reservoir
  • 2002 Jolly Cones (Ice Cream Cones)
  • 2005 Donuts and Cupcakes
  • 2006 Seven Dogs
  • 2010 Google - 12th Birthday Cake

อ้างอิง แก้

  1. "Wayne Thiebaud biography". National Gallery of Art. สืบค้นเมื่อ January 28, 2020.
  2. http://www.achievement.org/autodoc/page/thi0bio-1
  3. Wayne Thiebaud. (2551). Vision and Revision: Hand Colored Prints.
  4. http://www.achievement.org/autodoc/page/thi0bio-1
  5. http://global.britannica.com/EBchecked/topic/1481461/Wayne-Thiebaud[ลิงก์เสีย]
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-22. สืบค้นเมื่อ 2013-10-11.
  7. http://www.allanstonegallery.com/artists/wayne-thiebaud/
  8. http://artobserved.com/2012/11/new-york-wayne-thiebaud-retrospective-at-acquavella-galleries-through-november-30th-2012/
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-22. สืบค้นเมื่อ 2013-10-11.
  10. http://www.joefitschen.com/uncategorized/wayne-thiebaud-painter
  11. http://www.achievement.org/autodoc/page/thi0bio-1
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-08. สืบค้นเมื่อ 2013-10-11.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

Susan Goldman Rubin. (2007). Delicious: The Art and Life of Wayne Thiebaud.