เลอสม สถาปิตานนท์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ เลอสม สถาปิตานนท์ (เกิด 16 มีนาคม พ.ศ. 2492) (นามสกุลเดิม อุรัสยะนันทน์) เป็นสถาปนิกชาวไทย ที่ปรึกษาอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตคณบดี และอาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เลอสม สถาปิตานนท์

เกิด16 มีนาคม พ.ศ. 2492 (75 ปี)
 ไทย
สัญชาติไทย
ศิษย์เก่า
ผลงานสำคัญ
  • อาคารมหาจักรีสิรินธร
  • อาคารจามจุรี 5
  • อาคารจามจุรี 4
  • อาคารวิทยกิตติ์

ประวัติและครอบครัว แก้

ศาสตราจารย์เลอสม เกิดและเติบโต ในครอบครัวสถาปนิกอย่างแท้จริง ทั้งบิดาและมารดาล้วนเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียง อีกทั้งเป็นภรรยาของคุณนิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม[ลิงก์เสีย] และสถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก 49 (A49)


ศาสตราจารย์เลอสม สถาปิตานนท์ เป็นบุตรีของ รองศาสตราจารย์เลิศ อุรัสยะนันทน์ สถาปนิก (ผู้ร่วมออกแบบศาลาพระเกี้ยว ร่วมกับ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ) และรองศาสตราจารย์สมถวิล อุรัสยะนันทน์[1] ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ออกแบบอุตสาหกรรม ปี 2549)[ลิงก์เสีย] และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[2]

ศาสตราจารย์เลอสม สำเร็จการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2514 จากนั้นได้ศึกษาต่อใน มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ University of Illinois, USA.(พ.ศ. 2516-2517) ได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (M. Arch) [3] และได้สมรสกับคุณ นิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก (A49) มีบุตรชาย 1 คน คือ คุณนิธิศ สถาปิตานนท์ ซึ่งเป็นสถาปนิกเช่นเดียวกัน

รับราชการ แก้

เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ 2524 ปีการศึกษา 2524 และสอนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยเป็นอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2552-2557 และเป็นอาจารย์พิเศษภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน และได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างปี พ.ศ. 2535-2539 และได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 สมัย ในระหว่างปี พ.ศ. 2539-2547 หลังจากนั้นได้รับตำแหน่งเป็นคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2547-2551

ในปี พ.ศ. 2551-2555 ดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดี ฝ่ายบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เป็นที่ปรึกษาอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2555-ปัจจุบัน

ในด้านงานบริหาร ศาสตราจารย์เลอสม  สถาปิตานนท์  ทำราชการด้วยความรักอย่างเต็มใจ เต็มกำลัง เพื่อให้งานต่างๆ มีประสิทธิภาพ มุ่งสร้างบุคลากรรุ่นใหม่พร้อมไปด้วย เพื่อให้มีโอกาสพัฒนาตน ให้ได้มีโอกาสรับผิดชอบ และมีประสบการณ์ในการร่วมกันทำงานในด้านต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างสมบูรณ์ ดีงาม สามารถทยอยขึ้นทดแทนบุคลากรรุ่นที่จะเกษียณอายุราชการ ต่อไป

การสอน และตำแหน่งทางวิชาการ แก้

การทำงานหลัก เป็น อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอย่างยาวนาน เป็นอาจารย์ที่นิสิตชั้นปี 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในเกือบทุกภาควิชา ต้องได้ร่ำเรียนกับ "อาจารย์เลอสม" ทุกคน ในฐานะที่เป็น “ครู” ผู้สอนศิษย์ ด้วยคุรุอุตสาหะ เมตตากรุณา และมี ฉันทะ ในการสอนโดยเฉพาะท่านได้เน้นการสอนนิสิตชั้นปีที่ 1 และ ปีที่ 2 ให้ได้รับความรู้เบื้องต้นทางด้านการออกแบบอันเป็นรากฐานในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมอย่างมีคุณภาพ ดังเช่น วิชา หลักการออกแบบงานสถาปัตยกรรม (PRINCIPLES OF ARCHITECTURAL DESIGN) สำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, วิชา เกณฑ์และแนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม 1 ARCHITECTURAL DESIGN CRITERIA & CONCEPTS I สำหรับนิสิตชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, และ วิชา การออกแบบเบื้องต้น (INTRODUCTION TO DESIGN) ซึ่งเป็นวิชาเลือก (การศึกษาทั่วไป กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์) สำหรับนิสิตนอกคณะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และวิพากษ์ผลงานวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาตรี และปริญญาโท รวมทั้งการรับเชิญไปสอนวิชาเหล่านี้แก่นิสิตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตตรัง) และมหาวิทยาลัยวิลัยลักษณ์

ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2528 ตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2532 ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 และได้รับยกย่องเป็น ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในการแต่งตั้งศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำปีการศึกษา 2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563

ในปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มอบปริญญา "ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์” ประจำปีการศึกษา 2557 ศาสตราจารย์เลอสม สถาปิตานนท์ และในปี พ.ศ. 2564 ได้รับปริญญา “สถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์” ประจำปีการศึกษา 2563 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เเละในปี 2565 ศาสตราจารย์ เลอสม สถาปิตานนท์ ได้รับแต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงานทางวิชาชีพ แก้

ในด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรม ศาสตราจารย์เลอสม ยังเป็นผู้ร่วมออกแบบอาคารในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลายหลัง อาทิ เป็นสถาปนิกหัวหน้ากลุ่มโครงการออกแบบก่อสร้าง อาคารมหาจักรีสิรินธร (คณะอักษรศาสตร์) (2550-2552), อาคารจามจุรี 5 (อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย) (2541-2542), อาคารวิทยกิตต์ ในบริเวณพื้นที่สยามแสควร์ (2536-2538), อาคารอนุสาสน์ยันตรกรรม (อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 5) คณะวิศวกรรมศาสตร์ (2535), และ สถาปนิกร่วมออกแบบ อาคารวิทยนิเวศน์ (2534-2535) และ อาคารจามจุรี 4 (2530-2532) ฯลฯ โดยได้ร่วมพัฒนา สร้างสรรค์ ผลงานออกแบบส่วนใหญ่ ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ทิพย์สุดา ปทุมานนท์ เป็นระยะเวลายาวนาน

ผลงานทางวิชาการ (หนังสือ) แก้

ศาสตราจารย์กิตติคุณ เลอสม สถาปิตานนท์ ได้เขียนหนังสือตำราด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยเน้นการปลูกฝังพื้นฐานการออกแบบ สำหรับนิสิตนักศึกษา และผู้สนใจ ไว้หลายเล่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา และได้ปรับปรุงเนื้อหาสาระเพิ่มเติม ในการจัดพิมพ์หนังสือครั้งใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ผลงานหนังสือตำรา ได้แก่ บ้าน: การออกแบบสถาปัตยกรรมขั้นพื้นฐาน (พิมพ์ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558, พิมพ์ครั้งแรก 2534) การออกแบบคืออะไร?: What Is Design? (พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2549, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2537) เทคนิคในการออกแบบ: Design Technique (พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2540, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2539) การออกแบบเบื้องต้น: Introduction to Design (พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2547, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2540) องค์ประกอบ: สถาปัตยกรรมพื้นฐาน (พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2543) และ มิติสถาปัตยกรรม  (พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2562, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2551) นอกจากนี้ได้ร่วมเขียนหนังสือ บ้านของเรา บ้านสถาปนิก: Our House, Architects’ House (พ.ศ. 2549) ร่วมกับ นิธิ สถาปิตานนท์ เลอสม สถาปิตานนท์ และ นิธิศ สถาปิตานนท์ และเป็นประธานคณะทำงานจัดทำหนังสือ “คู่มือป้องกัน-ระงับ-รับมือ อัคคีภัย” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2553) และ “มาตรฐานออกแบบอาคารและสถานที่” สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2554) เป็นต้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. adaymagazine ภาณุ อิงค เก็บถาวร 2016-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ะวัต : ชายผู้ทำในสิ่งที่เชื่อว่าใช่และชอบ 4/4 เก็บถาวร 2016-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , adaymagazine.com/ .วันที่ 22 ก.ย. 2559
  2. สิ้น "ครูสมถวิล" ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์, thairath.co.th
  3. [1]ประวัติและผลงาน ศาสตราจารย์ เลอสม สถาปิตานนท์], chulapedia.chula.ac.th .สืบค้นเมื่อ 28/04/2560
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2005-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๒๖, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๖๒, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๒๑๖, ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗