เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์

เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์[1][2] เป็นหนังสือที่เชื่อกันว่าแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย ผู้แต่งคือ นางนพมาศ หรือ "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" แต่หนังสืออาจชำรุดเสียหาย และได้มีการแต่งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่คงเนื้อหาเดิมของโบราณ เพิ่งมีการชำระและตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2457

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในคำนำว่า ในเรื่องโวหารนั้น หนังสือเล่มนี้สังเกตได้ว่าแต่งในราวสมัยรัชกาลที่ 2รัชกาลที่ 3 เพราะถ้าเทียบสำนวนกับหนังสือรุ่นสุโขทัย อย่างไตรภูมิพระร่วง หรือหนังสือรุ่นอยุธยา ซึ่งเห็นชัด ว่าหนังสือนางนพมาศใหม่กว่าอย่างแน่นอน และยังมีที่จับผิดในส่วนของเนื้อหา ที่กล่าวถึงชาติฝรั่งต่างๆ โดยเฉพาะอเมริกัน ซึ่งเพิ่งเกิดใหม่ [3]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกราบทูลรัชกาลที่ 5 ว่าหนังสือที่ปรากฏนี้คงไม่ได้เก่าขนาดสุโขทัยเป็นแน่ รัชกาลที่ 5​ ก็ทรงเห็นอย่างนั้น แต่มีนักปราชญ์รุ่นก่อนๆ เช่นรัชกาลที่ 4 หรือ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เชื่อว่าน่าจะมีตัวฉบับเดิมที่เก่าแก่ แต่ต้นฉบับอาจชำรุดขาดไป มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์เท่าที่จะทำได้ และเล่าสืบกันมาว่าในครั้งรัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระราชนิพนธ์แทรกไว้ตอนหนึ่ง คือ ตอนที่ว่าด้วย “พระศรีมโหสถลองปัญญานางนพมาศ” จนจบ “นางเรวดีให้โอวาทของนพมาศ” ซึ่งกินเนื้อที่ ราว 1 ใน 3 ของเรื่อง

เนื้อหา แก้

เริ่มต้นว่าด้วยกำเนิดมนุษย์ ชาติภาษา พร้อมแนะนำตัวผู้เขียน “ข้าน้อยผู้ได้นามบัญญัติชื่อว่า ศรีจุฬาลักษณ์” เล่าถึงกำเนิดอาณาจักรและ จากนั้นก็สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระร่วงเจ้า เล่าถึงผู้คน ชาติตระกูลในสุโขทัย และมาถึงประวัติส่วนตัวของนางนพมาศ

พระมโหสถ พราหมณ์ บิดาของนางนพมาศได้เล่านิทานสอนใจแก่นางสามสี่เรื่อง จากนั้นนางเรวดี มารดา ให้โอวาทสอนมารยาท แล้วนำไปถวายตัวพระร่วงเจ้า

ช่วงต่อมานางนพมาศเล่าถึงพิธีพราหมณ์ทั้งสิ้น 12 พิธี เริ่มตั้งแต่เดือน 12 พิธีจองเปรียง (เดือนอ้าย เดือนยี่ จนถึงเดือนสิบเอ็ด พิธีอาชยุศ ปิดท้ายด้วยหัวข้อ “ว่าด้วยความประพฤติแห่งนางสนม” เรื่องกิริยามารยาทต่างๆ

ในพิธีแรก (คือเดือนสิบสองไทย) เรียกว่า พิธีจองเปรียง “วันเพ็ญเดือน 12 เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม” ผู้คนพากันแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทั่วพระนคร ทำโคมตกแต่งลวดลาย มาชักมาแขวนเรียงรายตามแนวโคมชัยเสาระหงหน้าพระที่นั่ง มีมหรสพด้วย นางนพมาศทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) จุดประทีปเปรียง (คือ ใส่น้ำมันไขข้อโค) มีจุดดอกไม้ไฟ จุดพะเนียงพลุสว่างไสวไปหมด ในหนังสือเล่าต่อว่า “อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป” [4]

สำหรับใน พิธีจองเปรียงนี้ ได้กล่าวถึงโคมลอยโคมชัก โคมปักโคมห้อย (เช่นเดียวกับพระราชพิธีจองเปรียง ในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน) เพื่อให้พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสักการะพระมหาเกตุธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเรือพระที่นั่งไปถวายดอกไม้เพลิงตามพระอารามหลวงริม ฝั่งแม่น้ำทั่วพระนคร

อ้างอิง แก้

  1. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ. พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม, กรมหลวงสรรพศาตรศุภกิจ และพระองค์เจ้ากาญจนากร พิมพ์แจกในงานศพเจ้าจอมมารดาสังวาล รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๕๗
  2. สุจิตต์ วงษ์เทศ (29 มิถุนายน 2555). "วรรณกรรมรัฐสุโขทัย แต่งสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อการเมืองภายในและภายนอก". สุวรรณภูมิ. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2513. หน้า ก-ฌ.
  4. เล่มเดิม. หน้า 100.