เรือมอันเร หรือ ลูดอันเร เป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งในหมู่ชาวไทยเชื้อสายเขมร ในบริเวณอีสานใต้ มีลักษณะคล้ายการละเล่นลาวกระทบไม้ของไทย

ประวัติคำ แก้

เดิมนั้นนิยมเรียกว่า "ลูดอันเร" ซึ่ง คำว่า "ลูด" หมายถึง การเต้น หรือกระโดด ส่วนคำว่า "อันเร" หมายถึง "สาก" ซึ่งก็คือ สากตำข้าว นั่นเอง ลูดอันเร จึงหมายถึง การเต้นสาก หรือระบำสาก

ในภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการละเล่น และเรียกว่า "เรือมอันเร" โดยคำว่า เรือม หมายถึง การรำ ดังนั้น เรือมอันเร จึงหมายถึง รำสาก มีนัยบ่งบอกถึงความอ่อนโอนและนุ่มนวลกว่าเดิม

การละเล่น แก้

การเล่นเรือมอันเรนั้น นิยมเล่นหลังเสร็จฤดูเก็บเกี่ยว คือประมาณเดือนสี่ถึงเดือนห้า (ราวเดือนมีนาคม - เมษายน) อันเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ (สงกรานต์) ของชาวไทยเชื้อสายเขมรด้วย

การละเล่นมักจะมีขึ้นในตอนค่ำ หลังตำข้าวหรือขณะตำข้าว เสียงกระทบของสากจะมีจังหวะสนุกสนาน ทำให้หนุ่มสาวร้องเพลงและรำด้วยกันอย่างสนุกสนาน อันเป็นการเกี้ยวพาราสีไปด้วย

ในภายหลังได้มีการดัดแปลงลักษณะการเต้น และการเคาะจังหวะให้มีแบบแผนมากขึ้น โดยใช้ไม้ยาววางกับพื้นแทนสาก และมีการเต้นข้ามไม้ไปมา พร้อมกับมีเพลงและทำนองเฉพาะสำหรับการละเล่นเรือมอันเรโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีลักษณะการละเล่นคล้ายรำวงด้วย

ปัจจุบันการละเล่นเรือมอันเรในท้องถิ่นในปัจจุบันพบได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นการเตรียมเพื่อจัดแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยว หรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง อย่างไรก็ตาม ยังมีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมหลายแห่ง

แหล่งข้อมูลอื่น แก้