เรซูเม (ฝรั่งเศส: résumé) คือเอกสารที่สร้างขึ้นโดยบุคคลหนึ่ง เพื่อนำเสนอประวัติส่วนบุคคลทางด้านการทำงานของคนนั้น ๆ โดยแสดงถึงความสามารถในการทำงาน ความสามารถพิเศษ และรางวัลที่ได้รับ[1] มีการใช้งานเรซูเมแตกต่างกันไปหลากหลายวิธี ในประเทศไทยนิยมใช้เรซูเมเพื่อการสมัครงานกันอย่างแพร่หลาย

ตัวอย่างเรซูเม

เรซูเมโดยทั่วไปจะเป็นเอกสาร "สรุป" ประวัติของบุคคลนั้น ๆ อยู่ภายใน 1 หน้ากระดาษ โดยเน้นที่ประสบการณ์ทำงาน และการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร เรซูเมนั้นแทบจะเป็นเอกสารชิ้นแรก ๆ ที่นายจ้างจะใช้เพื่อการคัดเลือกพนักงานใหม่ หรือคัดเลือกบุคลากรเพื่อการสัมภาษณ์ก่อนการจ้างงาน

ประวัติ แก้

คำว่าเรซูเม มาจากรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศส résumé ซึ่งแปลว่า "สรุป"[2] ผู้เขียนเรซูเมคนแรกของโลกคือ เลโอนาร์โด ดา วินชี โดยเขาเขียนสรุปประวัติของตนเองลงในจดหมายสมัครงาน เพื่อส่งถึงผู้ว่าจ้างชื่อ ลุโดวิโค สฟอร์ซา[3][4] ในช่วงปี ค.ศ. 1481 - 1482 หลังจากนั้นก็นิยมใช้เรซูเมเพื่อเป็นเอกสารสรุปประวัติการทำงานส่วนบุคคล ในการสมัครงานกันอย่างแพร่หลาย มายาวนานกว่า 450 ปี

ในช่วงปี ค.ศ. 1900 เรซูเมจะเขียนสรุปเฉพาะรายละเอียดส่วนบุคคลเช่น น้ำหนัก ส่วนสูง เพศ และศาสนา แต่หลังจากปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา เรซูเมก็มีวิวัฒนาการมากขึ้นโดยเพิ่มรายละเอียดทางด้านประวัติการทำงาน ประวัติการศึกษา ความสนใจส่วนบุคคล และงานอดิเรกเข้ามาด้วย จนถึงช่วงหลังสุดในปี ค.ศ. 1970 ที่เข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ เรซูเมได้มีวิวัฒนาการอีกครั้งหนึ่งเข้าสู่เอกสารสรุป ที่เน้นแสดงทักษะของตัวเองที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่สมัคร[5]

ชนิดของเรซูเม แก้

1. Chronological resume – ให้ความสำคัญกับประสบการณ์การทำงาน ด้วยการเรียงลำดับช่วงเวลาที่ชัดเจน โดยเริ่มจากตำแหน่งหรืองานล่าสุดที่เราทำไล่ไปจนถึงงานแรกที่เราเริ่มทำ ข้อได้เปรียบของการใช้ resume ประเภทนี้ก็คือ เป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไปรวมไปถึงผู้ว่าจ้าง และช่วยเน้นให้เห็นความต่อเนื่องในการทำงาน รวมไปถึงความเติบโตในทางหน้าที่การงานเราอย่างชัดเจน resume ประเภทนี้จึงเหมาะสมกับผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานต่อเนื่อง และมีประสบการณ์หรือเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน

2. Functional resume (or skills resume) – ให้ความสำคัญกับทักษะและความสามารถด้านต่างๆ โดยการเน้นสิ่งที่เราสามารถทำได้หรือสิ่งที่เรามีทักษะ มากกว่าจะเน้นเรื่องลักษณะของงานหรือองค์กรที่เคยว่าจ้างเรา ข้อดีของ resume ประเภทนี้ก็คือ ผู้ว่าจ้างจะเห็นทักษะและความสามารถของเราได้อย่างชัดเจนและเราสามารถอำพรางจุดด้อยของเราได้ resume รูปแบบนี้จึงเหมาะสมกับผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือขาดประสบการณ์การทำงานที่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เราควรคำนึงถึงความไม่เป็นที่แพร่หลายของ resume ประเภทนี้ไว้ด้วย

3. Combination resume – เป็นการผสมผสานระหว่าง resume สองประเภทที่ได้กล่าวมา โดยดึงจุดเด่นของ resume ทั้งสองประเภทนั้นมาใช้ กล่าวคือ เน้นทักษะและความสามารถของเราโดยใช้รูปแบบการเรียงลำดับตามช่วงเวลาที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี resume รูปแบบนี้กลับไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายนักและอาจมีข้อเสียเปรียบบางประการ กล่าวคือ การผสมผสานรูปแบบต่างๆเข้าด้วยกัน อาจทำให้ resume ของเราไม่กระชับและกินความยาวหน้ากระดาษเกิน 1-2 หน้า

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้