เมรุลอย คือเมรุเผาศพชั่วคราวชนิดเคลื่อนย้ายได้ของสามัญชน ทำเพื่อเผาศพของบุคคลสำคัญหรือผู้มีหน้ามีตาในสังคม[1] ส่วนพระเมรุหรือพระเมรุมาศใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์และพระสงฆ์ชั้นสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น

เมรุลอยโดยทั่วไปมักมีลักษณะเป็นมณฑป เป็นสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นดินไม่มีการฝังรากฐานลงไปในพื้นดิน สามารถสร้างและถอดออกนำไปประกอบใหม่ในที่แห่งใหม่ได้

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นทะเบียนเมรุลอยเป็นหนึ่งในสิบสี่ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565[2]

ประวัติ แก้

ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่พบว่ามีกลุ่มผู้สร้างเมรุลอยในตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มสร้างเป็นครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2480 ในงานปลงศพโยมแม่ของหลวงพ่อเจาะ เจ้าอาวาสวัดประดู่โลกเชษฐ์ ผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง คือ พระอาจารย์เทียม อดีตเจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราช ภายหลังได้รับความนิยมในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่ง พ.ศ. 2506 บรรดาช่างที่เคยดูแลการติดตั้งเมรุลอยเริ่มเกิดความชำนาญจึงมีการพัฒนารูปแบบลวดลาย มีช่างประกอบอาชีพทำเมรุลอย ทั้งรับจ้างสร้างและให้เช่าเมรุลอยมากขึ้นตามลำดับ[3]

อีกแหล่งข้อมูลระบุว่ามีการทำเมรุลอยที่จังหวัดเพชรบุรีมาอย่างน้อยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ปรากฏการอ้างถึงหมายรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาต เมื่อ พ.ศ. 2403 ความว่า "อันบ้านอื่นเมืองใดในหัวเมืองนั้น การจัดทำเมรุตั้งศพนั้นขอเสียเถิด อย่าริทำให้เป็นการเทียมเจ้านายเลย ยกให้แต่เมืองเพชรบุรีเขาเมืองหนึ่ง เพราะเขาทำกันมาช้านานแล้ว"[4]

อ้างอิง แก้

  1. "พระมหาสัมฤทธิ์ กับการอนุรักษ์ "เมรุลอยนางลอย"". คมชัดลึก.
  2. "ขึ้นทะเบียน 14 มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมชาติ". ไทยโพสต์.
  3. "เมรุลอยอยุธยา". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. เสรี เหล่ารอด, เพชรบุรีประชุมใหญ่สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 27 (เพชรบุรี: พุทธสมาคมจังหวัดเพชรบุรี, 2527), 135.