เฝิง กั๋วจาง

นายพลชาวจีน (ค.ศ. 1859-1919)

เฝิง กั๋วจาง (จีนตัวย่อ: 冯国璋; จีนตัวเต็ม: 馮國璋; พินอิน: Féng Guózhāng; เวด-ไจลส์: Feng Kuo-chang; ชื่อรอง: ฮฺว่าฝู่ 華甫 หรือ 華符; 7 มกราคม ค.ศ. 1859 – 12 ธันวาคม ค.ศ. 1919) เป็นนายทหารและนายพลชาวจีนในกองทัพเป่ย์หยาง ผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เขามีบทบาทสำคัญในการเมืองช่วงแรกของสมัยสาธารณรัฐ ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งก๊กจื๋อลี่ ซึ่งคือกลุ่มการเมืองที่มีความสำคัญยิ่งในสมัยขุนศึกตั้งแต่ ค.ศ. 1916-1928 และเป็นคู่แข่งทางการเมืองหลักของก๊กอานฮุยที่นำโดยตฺวั้น ฉีรุ่ย[1]

เฝิง กั๋วจาง
馮國璋
ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน
(รักษาการ)
ดำรงตำแหน่ง
6 สิงหาคม ค.ศ. 1917 – 10 ตุลาคม ค.ศ. 1918
ก่อนหน้าหลี่ ยฺเหวียนหง
ถัดไปสฺวี่ ชื่อชาง
รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน
ดำรงตำแหน่ง
7 มิถุนายน ค.ศ. 1916 – 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1917
ประธานาธิบดีหลี่ ยฺเหวียนหง
ก่อนหน้าหลี่ ยฺเหวียนหง
ถัดไปยกเลิกตำแหน่ง (หลี่ จงเหริน ใน ค.ศ. 1948)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด7 มกราคม ค.ศ. 1859(1859-01-07)
เหอเจียน มณฑลเหอเป่ย์ จักวรรดิชิง
เสียชีวิต12 ธันวาคม ค.ศ. 1919(1919-12-12) (60 ปี)
ปักกิ่ง สาธารณรัฐจีน
เชื้อชาติจีนฮั่น
พรรคการเมืองก๊กจื๋อลี่
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
พรรคก้าวหน้า
ศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยทหารเป่าติ้ง
อาชีพนายทหาร
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ราชวงศ์ชิง
สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) สาธารณรัฐจีน
ก๊กจื๋อลี่
ยศพลเอก
ผ่านศึกการปฏิวัติซินไฮ่
การปฏิวัติครั้งที่สอง
สงครามคุ้มชาติ
การฟื้นฟูราชวงศ์แมนจู
สมัยขุนศึก

เฝิงเป็นผู้ว่าการมณฑลทหารจี๋อลี่ (มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) ในระหว่าง ค.ศ. 1912–1913 และมณฑลทหารเจียงซูในระหว่าง ค.ศ. 1913–1917 ภายหลังการปฏิวัติซินไฮ่และอสัญกรรมของยฺเหวียน ชื่อไข่ เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเป็นระยะเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1916–1917

ปฐมวัย แก้

เฝิง กั๋วจาง เป็นบุตรคนสุดท้องในครอบครัวชาวนาที่มีพี่น้องสี่คน แม้ว่าบุตรทุกคนจะได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี แต่ครอบครัวก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าการศึกษาของเฝิงได้ เนื่องจากได้ขายทรัพย์สินทั้งหมดสำหรับชำระค่าเล่าเรียนของพี่ชาย[1] เฝิงจึงเริ่มไปทํางานต่าง ๆ และถูกเชิญออกจากโรงเรียนเพราะครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอสำหรับค่าเช่าเรียนของเขา[1] เมื่อเขาอายุได้ 27 ปี เขาได้เดินทางไปที่ป้อมต้ากู ที่ซึ่งลุงทวดของเขาประจำการอยู่ในสังกัดกองพันของกองทัพอานฮุย ซึ่งเฝิงได้เข้าทำงานในหน่วยนั้นตามคำสั่งของผู้บัญชาการกองพัน[1] ต่อมาเขาเป็นนักเรียนนายร้อยของโรงเรียนเตรียมทหารกองทัพเป่ย์หยางในจื๋อลี่ที่พึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 1885 โดยได้รับการสนับสนุนจากหลี่ หงจาง[1] โดยเขาเป็นนักเรียนที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง จากนั้นเขายื่นขอลาหยุดเรียนชั่วคราวเพื่อยื่นสมัครสอบเข้าราชการในราชสำนัก จากนั้นใน ค.ศ. 1888 เขากลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหารเช่นเดิม และสําเร็จการศึกษาใน ค.ศ. 1890[1] เขาทำงานเป็นอาจารย์ในโรงเรียนเตรียมทหารเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่เขาจะเดินทางไปยังพอร์ตอาเธอร์ใน ค.ศ. 1891 และเดินทางไปยับแมนจูเรียอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกองทัพบกสำหรับการรบในสงครามกับญี่ปุ่น[1]

ใน ค.ศ. 1895 เขาได้ตำแหน่งผู้ช่วยทูตทหารของเอกอัครราชทูตในญี่ปุ่น ซึ่งช่วงเวลานี้ เขาได้พบกับทหารญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงจำนวนมากและคุ้นเคยกับมาตรการที่ทันสมัยของกองทัพญี่ปุ่น[1] ด้วยเหตุนี้เขาจึงเริ่มกลายเป็นที่ประทับใจของยฺเหวียน ชื่อไข่ ผู้บัญชาการกองทัพเป่ย์หยาง[1] เมื่อยฺเหวียนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลชานตงใน ค.ศ. 1899 เฝิงจึงได้ติดตามยฺเหวียนไปด้วยและเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์กบฏนักมวย[2] ซึ่งในเวลาไม่นาน เขาจึงกลายเป็นผู้ร่วมงานหลักของยฺเหวียน เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลฝ่ายการสอนและการฝึกอบรมในโรงเรียนนายร้อยทหารเป่าติ้ง ซึ่งหยวนก่อตั้งขึ้นหลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงมณฑลจี๋อลี่ใน ค.ศ. 1901[2] ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 เฝิงมีบทบาทสําคัญในความพยายามปฏิรูปกองทัพของจักรวรรดิ[2] ต่อมาใน ค.ศ. 1905 เขาไปเยือนญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อสังเกตการณ์กลยุทธ์ทางทหารสำหรับการนำมาเป็นแบบอย่างให้กับกองทัพเป่ย์หยาง[2] จากนั้นใน ค.ศ. 1907 เขาเข้าร่วมองค์กรทหารที่ต่อมาจะกลายเป็นคณะเสนาธิการทหารจีนในอีกสองปี[2] แม้ว่าในข่วง ค.ศ. 1909 ยฺเหวียน ขื่อไข่ จะถูกปลดจากอำนาจชั่วคราว แต่เฝิงก็ยังคงภักดีต่ออดีตผู้บังคับบัญชาของเขาและได้ต่อต้านนโยบายต่าง ๆ ของราชสำนัก[2]

บทบาททางการเมือง แก้

 
ยฺเหวียน ชื่อไข่ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1912

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1911 หลังจากการปะทุขึ้นของการก่อการกำเริบอู่ชาง เขาได้รับคำสั่งจากราชสำนักชิงให้ไประงับการปฏิวัติในอู่ฮั่น เขาชะลอกองทัพเป่ย์หยางไว้จนกระทั่งยฺเหวียน ชื่อไข่ กลับคืนสู่อํานาจ จากนั้นจึงเข้าพิชิตฮั่นกั่วและฮั่นหยางจากนักปฏิวัติในยุทธการที่หยางเซี่ย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ราชสำนักได้แต่งตั้งเขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ 2 (ประกอบด้วย 2 กองพล) ในการรบนั้น เขาได้บัญชาการให้กองทัพเข้าถล่มฮั่นกั่ว แต่หลังจากนั้นเขาได้หยุดการเดินทัพเข้าสู่อู่ชาง เนื่องจากได้รับคําสั่งจากยฺเหวียน ยฺเหวียนเข้าเจรจาให้จักรพรรดิองค์สุดท้ายสละราชสมบัติและขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวของสาธารณรัฐจีนเมื่อ ค.ศ. 1912 เฝิงจึงได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาลใหม่ของยฺเหวียนด้วยและได้รับเกียรติยศสำหรับการมีส่วนร่วมในการปฏิวัติซินไฮ่ แม้ว่าบทบาทของเขาคือการบดขยี้การปฏิวัติก็ตาม

ต่อมาเฝิงเริ่มแตกหักกับยฺเหวียน เมื่อยฺเหวียนพยายามปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิ ยฺเหวียนได้แต่งตั้งเฝิงเป็นอีเติ่งกง (一等公) แต่เขาปฏิเสธ ยฺเหวียนจึงส่งคนให้ไปลอบสังหารเฝิง เฝิงจึงย้ายไปยังหนานจิงและเข้าร่วมสงครามคุ้มชาติ

ต่อมาเฝิงเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีในรัฐบาลหลี่ ยฺเหวียนหง โดยนช่วงการเข้ายึดปักกิ่งของจาง ซวิน เฝิงจึงรักษาการตําแหน่งประธานาธิบดีหลังจากที่หลี่ ยฺเหวียนหง ลาออกอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม จีนเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในฝ่ายสัมพันธมิตร หลังจากค้นพบหลักฐานถึงการสนับสนุนของจักรวรรดิเยอรมันต่อรัฐประหารของจาง ซวิน เฝิงส่งกำลังทหารประมาณ 135,000 นาย ไปยังแนวรบด้านตะวันตก เมโสโปเตเมีย และแอฟริกาตะวันออกของเยอรมนี ทั้งยังส่งไปยังรัสเซียเพื่อช่วยเหลือการแทรกแซงของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามกลางเมืองรัสเซียอีกด้วย ซุน ยัตเซ็น ได้ก่อตั้งรัฐบาลเชิงปฏิปักษ์กับรัฐบาลปักกิ่งในกว่างโจวในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 1917 และยังประกาศสงครามกับเขาในเวลาต่อมา เฝิงต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเหนือ-ใต้อย่างสันติ ซึ่งนั่นทำให้ตฺวั้น ฉีรุ่ย นายกรัฐมนตรีประกาศลาออกเพื่อประท้วง แต่ด้วยแรงกดดันที่มากขึ้นจากก๊กอานฮุย ทำให้เฝิงนำตฺวั้นกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เฝิงเกษียณเส้นทางการเมืองของตนเองตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1918 และถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงปักกิ่งด้วยอาการเจ็บป่วย

ร่างของเขาได้รับการจัดรัฐพิธีศพและฝังอยู่ที่บ้านเกิดของเขาในมณฑลเหอเป่ย์ และในครึ่งศตวรรษต่อมา หลุมฝังศพของเขาถูกทําลายในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม

อ้างอิง แก้

บรรณานุกรม แก้

  • Boorman, Howard Lyon; Howard, Richard C. (1970). Biographical Dictionary of Republican China: Mao-Wu (ภาษาอังกฤษ). Columbia University Press. p. 471. ISBN 9780231089579.
  • Fairbank, John King; Twitchett, Denis (1983). The Cambridge History of China: Republican China 1912-1949, Part 1 (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 9780521235419.
  • Nathan, Andrew (1998). Peking Politics 1918-1923: Factionalism and the Failure of Constitutionalism (ภาษาอังกฤษ). Center for Chinese Studies. p. 320. ISBN 9780892641314.
  • Putnam Weale, Bertram Lenox (1917). The fight for the republic in China (ภาษาอังกฤษ). Dodd, Mead and Company. p. 490. OCLC 1541271.
  • Wou, Odorik Y. K. (1978). Militarism in modern China. The career of Wu P’ei-Fu, 1916-1939 (ภาษาอังกฤษ). Australian National University Press. p. 349. ISBN 0708108326.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เฝิง กั๋วจาง