เป็ดปักกิ่ง (อังกฤษ: Peking Duck; จีน: 北京烤鸭; พินอิน: Běijīng kǎo yā) คืออาหารจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมนูประจำชาติจีน เสิร์ฟในรูปแผ่นหนังบางกรอบ ที่มาพร้อมแผ่นแป้งบางสำหรับห่อ ตามด้วยซอสหวานและเครื่องเคียงอย่าง ต้นหอม โดยจะใช้เฉพาะส่วนหัวที่เป็นสีขาวนำมาซอยเป็นเส้น คู่กับแตงกวาปอกเปลือกหั่นเป็นแท่ง หนังเป็ดจะต้องแล่ออกเป็นแผ่นบางตอนร้อน ๆ ยิ่งหากลงจากเตาใหม่ ๆ จะช่วยให้แล่ง่ายขึ้นและได้เป็นชิ้นสวยงาม สูตรต้นตำรับของปักกิ่งจะแล่หนังติดเนื้อมาด้วย ในขณะที่ประเทศไทยนิยมแล่เฉพาะหนัง ส่วนเนื้อเป็ดนำไปปรุงรสตามชอบ เช่น ผัดกระเทียม เมี่ยงเป็ด เนื้อเป็ดผัดถั่วงอก เป็นต้น

เป็ดปักกิ่ง
มื้ออาหารจานหลัก
แหล่งกำเนิดจีน
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักเป็ด

สองภัตตาคารในกรุงปักกิ่งที่โด่งดังขึ้นชื่อเรื่องเป็ดปักกิ่ง คือ เฉวียนจวี้เต๋อ (全聚德 พินอิน: Quánjùdé) และ เปี้ยนอี้ฟาง (便宜坊 พินอิน:Biànyífānɡ) ที่เป็นเจ้าแรกต้นตำรับของกรุงปักกิ่ง

ประวัติ แก้

เป็ดปักกิ่ง มีที่มาจากเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู โดยถือกำเนิดขึ้นในครัวหลวงของที่นั่น ก่อนที่จะถูกถ่ายทอดมายังปักกิ่ง อันเป็นเมืองหลวงของประเทศในยุคราชวงศ์หมิง ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15[1]

ขั้นเตรียมการ แก้

การเลี้ยงเป็ด แก้

เป็ดที่จะนำมาทำเมนูเป็ดปักกิ่งนั้น จะต้องเป็นเป็ดที่ได้รับการเลี้ยงดูพิเศษ ด้วยกรรมวิธีเฉพาะที่เรียกว่า "เถียนยา" (北京填鴨, พินอิน: Běijīng tián yā) ซึ่งคำนี้มีความหมายว่า "บังคับให้กินอาหาร"[2] หรือขุนให้อ้วนนั่นเอง ในช่วง 45 วันแรก ลูกเป็ดจะถูกปล่อยให้ใช้ชีวิตอิสระเต็มที่ หลังจากนั้นจะถูกจับป้อนอาหาร บังคับให้กินวันละ 4 มื้อ นานติดต่อกัน 15-20 วัน จนกระทั่งน้ำหนักตัวขึ้นสูงถึง 5-7 กิโลกรัม[3]

การปรุง แก้

 
เป็ดปักกิ่งหลังผึ่งลมจนแห้ง

เป็ดที่ถูกขุนจนตัวอ้วนพีจะถูกนำมาผ่าท้อง ควักเอาเครื่องในออก และล้างให้สะอาดก่อนอัดอากาศเข้าไปข้างใน เพื่อให้ส่วนที่เป็นหนังแยกออก จากนั้นนำน้ำเดือดมาราดบริเวณหนังให้ทั่วตัว เพื่อให้ผิวหนังตึง ตามด้วยการทาผิวด้านนอกด้วยน้ำเชื่อม ตัวเป็ดจะกลายเป็นสีแดงคล้ายย้อมสี จะต้องเทน้ำเดือดเข้าไปในท้องเป็ดอีกรอบ ก่อนนำขึ้นแขวนตะขอผึ่งลมจนแห้ง[4]

กรรมวิธีในการย่างแบ่งได้สามวิธีด้วยกัน[5] ในอดีตจะใช้วิธี "เสียบไม้ย่าง" โดยใช้ไม้ลักษณะคล้ายสามง่าม เสียบแทงตัวเป็ดและนำขึ้นย่างไฟ จะต้องคอยพลิกเป็ดกลับไปมาคล้ายการย่างหมูหัน ซึ่งทำให้เสียเวลามาก เนื้อเป็ดที่ได้จะไม่หอมอร่อยเท่าที่ควร ปัจจุบันจึงเลิกใช้วิธีนี้แล้ว

วิธีที่สองคือ "แขวนย่าง" โดยจะนำไม้จากต้นผลไม้ต่าง ๆ เช่น พุทรา ท้อ หรือสาลี่ นำไม้มาเหลาให้ได้ขนาดเพื่อนำมาทำเป็นฟืนสำหรับย่างเป็ด อุณหภูมิในการย่างจะสูงถึง 270°C (525 °F) ย่างนาน 30–40 นาที เป็ดที่ย่างโดยกรรมวิธีนี้จะมีรสชาติพิเศษ หนังจะกรอบเกรียม เนื้อในนุ่ม สุกแล้วสีผิวจะออกแดงพุทราและเป็นมันวาว หอมอบอวลด้วยกลิ่นจากต้นผลไม้

วิธีที่สามคือ "อบในเตาปิด" ตัวเป็ดจะไม่สัมผัสกับเปลวไฟโดยตรง แต่จะใช้การถ่ายเทความร้อนผ่านผนังเตา ในระหว่างการย่าง พ่อครัวจะไม่เปิดประตูเตาเลยจนกระทั่งตัวเป็ดสุก[6] ซึ่งกรรมวิธีนี้เป็นวิธีที่ร้านดังเก่าแก่อย่างเปี้ยนอี้ฟางใช้มาตั้งแต่ดั้งเดิม

การเสิร์ฟและการรับประทาน แก้

 
พ่อครัวเป็ดปักกิ่งจากร้านเฉวียนจวี้เต๋อโชว์การแล่เป็ด

กรรมวิธีในการปรุงเป็ดปักกิ่งนับว่ามีเอกลักษณ์น่าดึงดูด ทว่ากรรมวิธีในการแล่ยิ่งตื่นตาตื่นใจกว่า เป็ดหนึ่งตัวจะต้องแล่ให้ได้หนังและเนื้อรวมกัน 108 ชิ้น โดยที่ชิ้นแรก ๆ จะแล่เฉพาะหนังกรอบ ชิ้นต่อ ๆ ไปจะแล่เป็นชิ้นบางติดทั้งเนื้อและหนัง[7] และการแล่จะต้องเสร็จสิ้นก่อนที่ตัวเป็ดจะเย็น มิฉะนั้นอาจทำให้เสียรสชาติได้

การรับประทานเป็ดปักกิ่งก็พิถีพิถันพอกัน โดยจะนำหนังเป็ดและเนื้อที่แล่เป็นชิ้นพอคำ จิ้มกับซอสหวาน หรือเต้าเจี้ยวหวาน "เถียนเมี่ยนเจี้ยง" (甜面酱, พินอิน: tián miàn jiàng) นำมาวางบนแผ่นแป้ง จากนั้นนำต้นหอมที่หั่นเป็นเส้นบาง หรือชิ้นแตงกวาสดกรอบมาวางทับอีกที แล้วก็พับหรือม้วนเข้าด้วยกันคล้ายการห่อเปาะเปี๊ยะ บางร้านจะเสิร์ฟพร้อมน้ำซุปเป็ดที่ตุ๋นจนเป็นสีขาวขุ่น รสกลมกล่อมคล่องคอ

ทุกวันนี้ เป็ดปักกิ่งไม่เพียงเป็นอาหารจานโปรดของชาวจีน หากยังเป็นอาหารยอดนิยมของชาวต่างชาติที่เดินทางไปท่องเที่ยวกรุงปักกิ่งอีกด้วย สนนราคาเมนูนี้ค่อนข้างสูงพอสมควร จึงมักรับประทานเฉพาะในโอกาสพิเศษ เช่น ฉลองวันเกิด งานเลี้ยงแต่งงาน งานสังสรรค์ เป็นต้น

อ้างอิง แก้

  1. หน้า 18 เรื่องเล่าจากต่างแดน, ตำนาน 'เป็ดปักกิ่ง' . "เรื่องเล่าจาก 'เอเชีย'". เดลินิวส์ฉบับที่ 2,3691: วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 แรม 14 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเมีย
  2. "Recipe for Peking Stuffed Duck" (ภาษาจีนตัวย่อ). 美食菜系. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-01. สืบค้นเมื่อ 2007-09-12.
  3. "The origins of Chinese Roast Duck (访古探幽:中国烤鸭的由来)" (ภาษาจีนตัวย่อ). Sing Tao. 2005-12-31. สืบค้นเมื่อ 2007-09-12.
  4. เป็ดปักกิ่ง สุดยอดอาหารที่ทำไม่ยากอย่างที่คิด[ลิงก์เสีย]
  5. เป็ดปักกิ่ง สุดยอดอาหารปักกิ่ง
  6. "เส้นทางสายขรุขระของเป็ดปักกิ่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-01-28.
  7. พาไปชิมเป็ดปักกิ่ง

แหล่งข้อมูลอื่น แก้