เนสซี หรือ สัตว์ประหลาดล็อกเนสส์ (อังกฤษ: Nessie, Loch Ness Monster) คือสิ่งมีชีวิตลึกลับขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่เชื่อว่าอาศัยอยู่ในทะเลสาบเนสส์ (ล็อกเนสส์) ในสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร

เนสซี / สัตว์ประหลาดล็อกเนสส์
"ภาพถ่ายของศัลยแพทย์" ใน ค.ศ. 1934 ปัจจุบัน เป็นแค่เรื่องหลอกลวง[1]
สัตว์คล้ายคลึงแชมป์, โอโกโปโก, โมแกเล-อึมแบมเบ, Altamaha-ha
บันทึกครั้งแรกค.ศ. 565 (ย้อนหลัง)[a]
1802 (chronologically)[3]
ค.ศ. 1933 (โด่งดัง)
ชื่ออื่นเนสซี, Niseag
ประเทศสกอตแลนด์
ภูมิภาคล็อกเนสส์, Scottish Highlands

ศัพทมูลวิทยา แก้

โดยชื่อ "เนสซี" (เกลิก: Niseag) เป็นชื่อเรียกเล่น ๆ ของสิ่งมีชีวิตลึกลับนี้ โดยเป็นชื่อที่ดัดแปลงมาจากคำว่าล็อกเนสส์ ในช่วงทศวรรษที่ 1940 สมาสกับชื่อที่เป็นที่นิยมของหญิงสาวในท้องถิ่น คือ "แอ็กเนส" (Agnes) ในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1932 ข่าวในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานเรื่องการแต่งงานของ น.ส. เนสซี คลาร์ก[4] [5]

ลักษณะ แก้

เชื่อว่าเนสซีมีรูปร่างคล้ายเพลสิโอซอรัส หรือ อีลาสโมซอรัส สัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยในทะเลยุคเดียวกับไดโนเสาร์ มีผู้อ้างว่าเคยพบเห็นถึงปัจจุบันกว่านับไม่ถ้วน และมีรูปถ่ายทั้งภาพนิ่งและภาพยนตร์มากมาย [6]โดยหลักฐานแรกสุดที่มีบันทึกถึงเนสซี คือ บันทึกของอดัมแนน ระบุว่า ในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 565 นักบุญโคลัมบา ขณะเดินทางมาสู่ที่ราบสูงสกอตแลนด์เพื่อดึงพวกนอกรีตเข้าสู่ศาสนา ท่านได้ทำพิธีไล่ปีศาจแม่น้ำที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเนสส์ที่เรียกว่า "พิกติส" ซึ่งได้ฆ่าคนไปแล้วหนึ่งคน โดยการส่งตัวแทนลงไปว่ายในน้ำเพื่อล่อปีศาจ แต่ทว่าไม่ได้มีการบรรยายถึงลักษณะของปีศาจตนนี้ มีแต่เพียงบันทึกไว้ว่าน้ำปั่นป่วนเท่านั้นเอง ขณะที่ความเชื่อเรื่องปีศาจหรือสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่ในน้ำ ของซีกโลกทางเหนือแบบนี้ก็มีในพื้นที่อื่น เช่น สแกนดิเนเวีย หรือไวกิ้ง[7]

การพบเห็นและการพิสูจน์ แก้

ใน ค.ศ. 1933 มีการตัดถนนผ่านทะเลสาบเนสส์ จึงมีผู้พบเห็นเนสซีมากขึ้น คู่สามีภรรยาตระกูลแมคเคย์ขณะขับรถผ่านทะเลสาบ คุณนายแมคเคย์ก็เห็นอะไรบางอย่างขนาดใหญ่ในน้ำ จึงบอกให้สามีหยุดรถ และทั้งคู่ก็ลงไปดู แต่ก็ปรากฏว่าสิ่งนั้นหายไปแล้ว เรื่องราวนี้ได้ปรากฏลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และเริ่มใช้คำว่า "สัตว์ประหลาด" ขึ้นมาครั้งแรก[7] ในปีเดียวกัน อาเทอร์ แกรนด์ อ้างว่าขณะที่ตนขับขี่มอเตอร์ไซค์นั้น เห็นเนสซีขึ้นมาบนบก ไฟจากหน้ารถที่ส่องไปถูกตัวทำให้เห็นว่าเนสซีมีรูปร่างคล้ายเพลซิโอซอรัส ต่อมาก็ได้มีผู้ถ่ายรูปไว้ได้มากมายทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงเงาตะคุ่ม ๆ หรือคลื่นน้ำที่เคลื่อนไหวบนผิวน้ำเท่านั้น ในวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1987 ทางมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมได้ทำการค้นคว้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยใช้เรือติดสัญญาณโซนาร์หลายลำแล่นไปบนพื้นผิวน้ำ เรียกว่า "ปฏิบัติการดีปสแกน" (Operation Deepscan) ปรากฏว่า โซนาร์ได้สะท้อนถึงเงาของวัตถุบางอย่างขนาดใหญ่ที่กำลังเคลื่อนตัวใต้น้ำ แต่บางคนคิดว่าอาจเป็นเพียงฝูงปลาธรรมดา ๆ [6]

เรื่องราวเกี่ยวกับเนสซีมีทั้งผู้ที่เชื่อและผู้ที่ไม่เชื่อ โดยผู้ที่เชื่อนั้นเชื่อว่า เนสซีอาจเป็นไดโนเสาร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยสภาพทางภูมิศาสตร์ของทะเลสาบเนสส์ในยุคโบราณนั้นเคยเป็นทะเลมาก่อน ไดโนเสาร์ในสมัยนั้นอาจเข้ามาอยู่อาศัยจนสภาพของพื้นที่เปลี่ยนไป กลายเป็นพื้นที่ปิดและปราศจากสิ่งรบกวน สัตว์ที่อาศัยอยู่ในนี้จึงยังหลงเหลืออยู่และมีสภาพไม่เปลี่ยนแปลงจากครั้งแรกที่เข้ามาอาศัย ไม่เพียงเท่านั้น แหล่งน้ำหรือทะเลสาบที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับทะเลสาบเนสส์ และบริเวณใกล้เคียงกันก็มีรายงานของสิ่งประหลาดที่คล้ายกับเนสซีด้วย ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เชื่อนั้นเชื่อว่า รูปถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหวที่ได้นั้น อาจไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับเนสซีเลย และทั้งหมดทำขึ้นก็เพื่อสร้างชื่อเสียงให้ทะเลสาบแห่งนี้โด่งดังขึ้น โดยบางรูปเชื่อว่าเป็นเพียงหางของตัวนากที่กำลังดำน้ำหรือเป็นขอนไม้หรือวัสดุต่าง ๆ ที่กำลังลอยน้ำอยู่

มีครั้งหนึ่งที่เคยพบซากสัตว์คล้ายเนสซีในทะเล แต่หลังจากพิสูจน์ดีเอ็นเอแล้วกลับพบว่าเป็นซากฉลามเน่าเท่านั้น

ทุกวันนี้ เรื่องราวของเนสซีก็ยังเป็นเรื่องลึกลับที่เป็นที่สนใจของคนทั้งโลก มีผู้ไปสำรวจและศึกษามากมาย แต่ก็ยังไม่เคยมีผู้ใดได้หลักฐานของเนสซีที่หนักแน่นสักราย อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงของเนสซีก็สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลสกอตแลนด์และชุมนุมใกล้เคียงเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก[6]

 
ภาพวาดหลากหลายลักษณะส่วนหลังของเนสซีเท่าที่เคยมีการพบเห็น

ปัจจุบัน แก้

ปัจจุบันทางบริษัทวิลเลียมฮิลล์ บริษัทพนันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้ประกาศออกมาว่าจะให้เงินรางวัลจำนวน 1 ล้านปอนด์หรือประมาณ 70 ล้านบาทแก่ผู้ที่สามารถหาหลักฐานได้ว่าเนสซีมีอยู่จริง ในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 กอร์ดอน โฮลมส์ เจ้าหน้าที่เทคนิคห้องแล็บได้อ้างว่า สามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวของสิ่งที่เชื่อว่าเป็นเนสซีได้ด้วยความยาวถึง 2 นาทีครึ่งขณะนั่งชมทิวทัศน์อยู่ริมทะเลสาบเนสส์ ซึ่งภาพของโฮลมส์ครั้งนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นของเนสซีที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เอเดียน ไชน์ นักชีววิทยาสัตว์น้ำ ได้ตรวจสอบภาพของโฮล์มสแล้วมีความเห็นว่า เป็นการยากที่จะเป็นการตกแต่งหรือทำปลอมขึ้น เพราะภาพไม่ได้จับเฉพาะแต่สัตว์ประหลาด แต่ยังถ่ายไปถึงภูเขารอบทะเลสาบด้วย จึงสามารถเปรียบเทียบความเร็วและขนาดของสิ่งที่เคลื่อนไหวในน้ำได้ด้วย โดยเชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีความยาวประมาณ 15 เมตร เคลื่อนที่ด้วยการว่ายน้ำด้วยความเร็วถึง 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และภาพบางส่วนยังจับให้เห็นสิ่งที่คล้ายครีบด้วย ซึ่งวิดีโอภาพชุดนี้เป็นที่ฮือฮาและกล่าวขานอย่างมากในสหราชอาณาจักร เมื่อได้ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะโดยสำนักข่าวบีบีซีในอีก 3 วันถัดมา มีผู้คนมากมายที่ทั้งเชื่อและไม่เชื่อ และต่อมาไม่นานได้มีการเปิดเผยว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรเพิ่งจะเปิดเผยข้อมูลลับว่า ทางรัฐบาลเชื่อว่า เนสซีมีอยู่จริง ตั้งแต่สมัย นางมาร์กาเรต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรี และอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองและอนุรักษ์สัตว์ป่าของอังกฤษที่ครอบคลุมทั้งสัตว์ที่รู้จักและไม่รู้จักหลายชนิด[8]

ใน ค.ศ. 2009 มีข่าวปรากฏว่า ดาวเทียมกูเกิลเอิร์ธสามารถจับภาพของสิ่งที่เชื่อว่าเป็นเนสซีได้ที่ทะเลสาบเนสส์ที่พิกัดละติจูดที่ 57 องศา 12.52 ลิปดา 13 พิลิปดาเหนือ และลองติจูดที่ 4 องศา 34.14 ลิปดา 16 พิลิปดาตะวันตก[9] 57°12′52.13″N 4°34′14.16″W / 57.2144806°N 4.5706000°W / 57.2144806; -4.5706000 แต่ปรากฏว่าเป็นเพียงเรือที่กำลังแล่นอยู่[10]

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2014 มีรายงานว่าหญิงสาวชาวอังกฤษวัย 24 ปี สามารถถ่ายรูปของเนสซีขณะลอยคอเหนือผิวน้ำไว้ได้ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ที่ทะเลสาบวินเดอร์เมียร์ ทางตอนเหนือของอังกฤษ ที่อยู่ห่างจากทะเลสาบเนสส์ 241 กิโลเมตร โดยเจ้าตัวในตอนแรกคิดว่าเป็นหงส์หรือห่านด้วยซ้ำ[11]

ในต้น ค.ศ. 2016 มีชาวประมงท้องถิ่นอ้างว่าสามารถใช้อุปกรณ์โซนาร์ตรวจจับสภาพของทะเลสาบเนสส์พบว่ามีร่องลึกยาวประมาณ 9 ไมล์ ในระดับความลึก 813–900 ฟุต ซึ่งทำให้พบว่าทะเลสาบเนสส์เป็นทะเลสาบที่มีความลึกเป็นอันดับ 2 ของสหราชอาณาจักรรองจากทะเลสาบโมราร์ที่ลึกถึง 1,017 ฟุต และอาจเป็นแหล่งซ่อนตัวของเนสซี[12] แต่ในกลางปีเดียวกัน มีการศึกษาโดยการใช้โดรนถ่ายใต้น้ำ ซึ่งสามารถถ่ายภาพใต้น้ำได้ในระดับความลึกกว่าทะเลสาบเนสส์มาก โดย ดิก เรย์นอร์ นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาเรื่องนี้ และพบว่าไม่มีอะไรรวมถึงไม่มีร่องลึกดังที่กล่าวอ้างด้วย และเขาเชื่อว่าไม่มีสัตว์ประหลาดในทะเลสาบแห่งนี้[13]

นอกจากนี้แล้วยังมีผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่เนสซีด้วย โดยให้ชื่อว่า Nessiteras rhombopteryx ซึ่งเป็นภาษากรีกแปลได้ว่า "สัตว์ประหลาดเนสส์กับครีบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด" [14]

ข้อสันนิษฐาน แก้

มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเนสซีไว้มากมาย อาจสรุปได้ดังนี้

  • เชื่อว่าเนสซีเป็นสัตว์เลื้อยคลานในทะเลขนาดใหญ่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับไดโนเสาร์ เช่น อีลาสโมซอรัส หรือเพลสิโอซอรัส โดยมีทฤษฎีว่าสัตว์เลื้อยคลานพวกนี้เดิมเคยอาศัยอยู่ในทะเลในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งทะเลสาบเนสส์ยังคงเชื่อมต่อกับทะเล ต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ในยุคน้ำแข็ง ทำให้ทะเลสาบเนสส์กำเนิดขึ้นมาและตัดขาดกับทะเลโดยสิ้นเชิง แต่ทว่าสัตว์เหล่านี้ยังติดอยู่ในทะเลสาบโดยไม่ไปไหน เพราะไม่มีสิ่งใดมารบกวนบวกกับมีอาหารให้กินมากมาย ขณะที่สัตว์จำพวกเดียวกันที่อื่นได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว [15][16] [17][18]
  • เชื่อว่าเนสซีเป็นสัตว์จำพวกอื่นที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบเนสส์ เช่น แมวน้ำกลายพันธุ์ หรือปลาไหล[19][20]หรือปลาฉลามขนาดใหญ่[7] หรือปลาสเตอร์เจียน ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่ส่วนหลังมีโหนกและมีหนามเช่นเดียวกับที่พยานหลายรายพบเห็น[21] หรือแม้สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดใหญ่[22][23]
  • เชื่อว่าแท้จริงแล้ว เนสซีตลอดจนสัตว์ประหลาดในทะเลหรือทะเลสาบในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นเพียงปรากฏการณ์คลื่นนิ่งที่เกิดขึ้นบนผิวน้ำ เมื่อมีผู้พบเห็นมองเพียงผิวเผินแล้วเข้าใจผิดตามมโนทัศน์ของตน เช่นเดียวกับปรากฏการณ์พญานาคในแม่น้ำโขงหรือบึงโขงหลงในพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย [24]
  • เชื่อว่าแท้จริงแล้วเป็นเรื่องหลอกลวง เช่นเดียวกับภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงที่สุดของเนสซีที่ชื่อ "ภาพของศัลยแพทย์" (The Surgeon's Photo) ที่เชื่อกันมาอย่างยาวนานหลายสิบปีว่าเป็นของจริง ที่ถ่ายโดยศัลยแพทย์ชาวลอนดอนชื่อ โรเบิร์ต เคนเนท วิลสัน แต่ท้ายที่สุดก็ถูกเปิดเผยออกมาว่าเป็นเพียงเรื่องหลอกลวงกันเท่านั้น[25] รวมถึงกรณีอื่นด้วย[26][27]

เนสซีในวัฒนธรรมร่วมสมัย แก้

มีการอ้างอิงถึงเนสซีในวัฒนธรรมร่วมสมัยมีอยู่มากมาย เช่น

อ้างอิง แก้

  1. Krystek, Lee. "The Surgeon's Hoax". unmuseum.org. UNMuseum. สืบค้นเมื่อ 21 April 2015.
  2. Life of St. Columba (chapter 28).
  3. Delrio, Martin (2002). The Loch Ness Monster. Rosen Publishing Group. p. 48. ISBN 0-8239-3564-7.
  4. "Up Again". Edinburgh Scotsman. 14 May 1945. p. 1. So "Nessie" is at her tricks again. After a long, she has by all accounts bobbed up in home waters...
  5. Campbell, Elizabeth Montgomery & David Solomon, The Search for Morag (Tom Stacey 1972) ISBN 0-85468-093-4, page 28 gives an-t-Seileag, an-Niseag, a-Mhorag for the monsters of Lochs Shiel, Ness and Morag, adding that they are feminine diminutives
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ เนส
  7. 7.0 7.1 7.2 Legend of Loch Ness, "River Monsters". สารคดีทางแอนิมอลแพลนเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 24 ธันวาคม 2556
  8. คอลัมน์ ซันเดย์ สเปเชียล, ไทยรัฐ: วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2551
  9. "กูเกิ้ลเอิร์ธจับภาพ เนสซี ทะเลสาบล็อกเนสได้". หรรษาดอตคอม.[ลิงก์เสีย]
  10. "โอละพ่อ!!! "เนสซี" สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ ใน Apple Maps แท้จริงแล้วคือ เรือ!". สนุกดอตคอม. April 23, 2014. สืบค้นเมื่อ July 31, 2016.
  11. "ตะลึง! สาวผู้ดีถ่ายรูปเจอ 'สัตว์ประหลาดลอช เนสส์' โผล่กลางทะเลสาบ". ไทยรัฐ. 2014. สืบค้นเมื่อ 14 September 2014.
  12. "เนสซี ซ่อนตัวที่ไหน? ชาวประมงพบที่ซ่อนของเนสซีลึก 900 ฟุต". เพชรรามา. January 20, 2016. สืบค้นเมื่อ July 31, 2016.
  13. "โดรนดำน้ำ ปิดตำนานสัตวประหลาดล็อกเนส". เวิร์คพอยท์ทีวี. 2016-04-14. สืบค้นเมื่อ 2016-12-24.
  14. "Naming the Loch Ness monster". Nature. 258 (5535): 466. 1975. doi:10.1038/258466a0.
  15. R. J. Binns (1983) The Loch Ness Mystery Solved, page 22
  16. Rick Emmer, Loch Ness Monster: Fact or Fiction?, page 62 (Infobase Publishing, 2010). ISBN 978-0-7910-9779-3.
  17. "Were Dinosaurs Endotherms or Ectotherms?". BBC. 2001. สืบค้นเมื่อ 8 April 2007.
  18. "Why the Loch Ness Monster is no plesiosaur". New Scientist. 2576: 17. 2006. สืบค้นเมื่อ 8 April 2007.
  19. Justice, Aaron (2007). "The Monster of Loch Ness". CryptoZoology.com. สืบค้นเมื่อ 8 April 2007.
  20. "Operation Cleansweep 2001". The Loch Ness Project. 2001. สืบค้นเมื่อ 8 April 2007.
  21. The Loch Ness Monster, "The Truth Behind". สารคดีทางเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ทางนาว 26: ศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560
  22. R. P. Mackal (1976) The Monsters of Loch Ness, pages 138–9, 211–213
  23. The Times 9 December 1933, page 14
  24. "คมชัดลึก พญานาค ช่วงที่ 2". เนชั่นแชนแนล. 6 September 2011. สืบค้นเมื่อ 2 April 2014.
  25. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ หลอก
  26. "Creature of Loch Ness Caught on tape! video on YouTube". YouTube. 26 May 2007. สืบค้นเมื่อ 28 April 2010.
  27. "Loch Ness Monster's tooth found?". Worldnetdaily.com. 10 June 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-06. สืบค้นเมื่อ 28 May 2009.
  28. The X-Files (1993– ) Quagmire ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  

แหล่งข้อมูลอื่น แก้


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน