เท้ายายม่อม (พืช)

สปีชีส์ของพืช
เท้ายายม่อม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
อันดับ: Dioscoreales
วงศ์: Dioscoreaceae
สกุล: Tacca
สปีชีส์: T.  leontopetaloides
ชื่อทวินาม
Tacca leontopetaloides
(L.) Kuntze, 1891[1]

ระวังสับสนกับ ไม้เท้ายายม่อม

เท้ายายม่อม[2] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tacca leontopetaloides) เป็นพืชในวงศ์ Taccaceae เป็นพืชที่มีหัว มีใบ 1–3 ใบ แต่ละใบจักเป็นสามแฉก เว้าแบบขนนก ดอกเป็นช่อยาว แต่ละช่อมีดอกย่อย 20–40 ดอก ผลกลม หัวของพืชชนิดนี้นำไปทำแป้งที่เรียกแป้งเท้ายายม่อม พืชชนิดนี้เป็นพืชท้องถิ่นในทวีปแอฟริกา, เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ออสเตรเลียเหนือ, นิวกินี, ซามัว, หมู่เกาะไมโครนีเซีย และฟีจี[1] และมีการแพร่กระจายไปในหมู่เกาะแปซิฟิกเนื่องมาจากการอพยพของคน ชื่อสามัญของพืชชนิดนี้ ได้แก่ Polynesian Arrowroot (ภาษาอังกฤษ), Pia (ฮาวาย, เฟรนช์พอลินีเชีย, นีวเว และหมู่เกาะคุก), Masoa (ซามัว), Mahoaʻa (ตองงา), Yabia (ฟีจี) Gapgap (กวม) และ Taka (อินโดนีเซีย)[3]

เท้ายายม่อมเป็นไม้ล้มลุกอายุยืน ไม่มีลำต้น เหง้าใต้ดินเป็นหัว กลมแบนหรือรีกว้าง เปลือกหัวบาง ผิวเรียบ เมื่ออ่อนสีขาว แก่แล้วเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล เนื้อหัวสีขาว ฉ่ำน้ำเล็กน้อย ดอกสีเหลืองหรือเขียวแกมม่วงเข้ม ผลสีส้มอ่อน มีเมล็ดมาก เนื้อผลฟ่าม ๆ เมล็ดแบน คาดว่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระจายพันธุ์ตั้งแต่แอฟริกา เอเชีย ไปจนถึงโอเชียเนีย

หัวสดรับประทานไม่ได้ มีรสขม แต่สามารถสกัดแป้งมาใช้ประโยชน์ได้ แป้งที่ได้ใช้ทำขนมปัง พุดดิ้งและขนมได้หลายชนิด ในฟีจีนำแป้งที่ยังไม่ได้ตากแห้งห่อใบไม้นำไปฝังดิน ปล่อยให้เกิดการหมักก่อนรับประทาน ในซามัวใช้แป้งสดเป็นกาว ในกาบองรับประทานผล ใบรับประทานเป็นผัก ก้านใบและก้านดอกให้เส้นใยใช้ทำหมวกและอุปกรณ์ตกเบ็ด หัวและแป้งใช้รักษาโรคบิดและอาการบวม เคยเป็นอาหารหลักในฮาวาย, ตาฮีตี และฟีจี แต่ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยมันสำปะหลัง รสขมในหัวเกิดจากเบตาซิโตสเตอรอล อัลคาลอยด์ ซาโปนิน หัวอ่อนรสขมมากกว่าหัวแก่

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze". Germplasm Resources Information Network. United States Department of Agriculture. 2002-05-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-02. สืบค้นเมื่อ 2009-11-17.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 584.
  3. "Tacca leontopetaloides (Dioscoreaceae)". Meet the Plants. National Tropical Botanical Garden. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-13. สืบค้นเมื่อ 2009-11-17.
  • พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9: พืชให้คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่เมล็ด. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 217 - 219
  • Brennan, Jennifer (2000). Tradewinds & Coconuts: A Reminiscence & Recipes from the Pacific Islands. Periplus. ISBN 962-593-819-2.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เท้ายายม่อม (พืช)