เทวสถานโบสถ์พราหมณ์

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ หรือ สำนักพราหมณ์พระราชครูในสำนักพระราชวัง[1] เป็นโบสถ์พราหมณ์แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ใกล้เสาชิงช้า และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
ศาสนา
ศาสนาศาสนาฮินดู
เขตเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง
ที่ตั้ง268 ถนนบ้านดินสอ แขวงเสาชิงช้า
ประเทศประเทศไทย
สถาปัตยกรรม
ประเภทไทย
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เริ่มก่อตั้งพ.ศ. 2327
ทิศทางด้านหน้าทิศตะวันออก
ชื่อทางการ: เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
แต่งตั้ง22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
หมายเลขอ้างอิง0000001
เทวรูปพรหมและสถานพระอิศวร

ประวัติ แก้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2327 แล้วโปรดให้นำพราหมณ์จากภาคใต้ขึ้นมาประจำราชสำนัก ทำหน้าที่ประกอบพระราชพิธีสำหรับพระองค์และราชอาณาจักร[2] ภายในเทวสถานมีโบสถ์ทั้งหมด 3 หลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว มีกำแพงล้อมรอบ ปัจจุบันมีอายุได้ 240 ปี

เทวสถานได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 66 ตอนที่ 64 วันที่ 2 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492 หน้าที่ 5281 ลำดับที่ 11 ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492[3]

ศิลปกรรม แก้

เมื่อเดินเข้ามาจากประตูทางเข้า จะมีเทวาลัยขนาดเล็ก เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระพรหม (พระผู้สร้าง) ซึ่งตั้งอยู่กลางบ่อน้ำ สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2515 ภายในเทวสถาน จะมีโบสถ์อยู่ 3 หลัง คือ[2]

  • สถานพระอิศวร (โบสถ์ใหญ่ อยู่ด้านหลังเทวาลัยพระพรหม) ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนไม่มีพาไล โบสถ์หลังนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าหลังอื่นทุกหลัง หลังคาทำชั้นลด 1 ชั้น หน้าบันด้านหน้ามีเทวรูปปูนปั้นนูนต่ำ รูปพระอิศวร พระแม่อุมา และเครื่องมงคลรูปสังข์ กลศ กุมภ์ อยู่ในวิมาน ใต้รูปวิมานมีปูนปั้นเป็นรูปเมฆและโคนันทิ หน้าบันด้านหลังไม่มีลวดลาย ภายในสถานพระอิศวร มีเทวรูปพระอิศวรประทับยืน และยังมีเทวรูปขนาดกลางอีกสามสิบเอ็ดองค์ ประดิษฐานในเบญจา (ชุกชี) ถัดไปด้านหลังเบญจา มีศิวลึงค์สององค์ ด้านหน้าเบญจามีชั้นลด ประดิษฐานเทวรูปพระพรหมสามองค์ พระราชครูวามเทพมุนีเป็นผู้สร้าง เมื่อพุทธศักราช 2514 และพระสรัสวดี สองข้างแท่นลด มีเทวรูปพระอิศวรทรงโคนันทิ และพระอุมาทรงโคนันทิ ทางด้านซ้ายมือเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปนางกระดานสามองค์สำหรับใช้ในการพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย ประกอบด้วยนางกระดานพระแม่ธรณี (แผ่นซ้าย) นางกระดานนางพระคงคา (แผ่นกลาง) และกระดานพระอาทิตย์และพระจันทร์ (แผ่นริม) ตรงกลางโบสถ์มีเสาลักษณะคล้ายเสาชิงช้า 2 ต้น สูง 2.50 เมตร สำหรับประกอบ พิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ (พระอิศวร พระอุมา พระคเณศ) วันแรม 5 ค่ำ เดือนยี่ (พระนารายณ์) และวันแรม 3 ค่ำ เดือนยี่ (พระพรหม) พิธีช้าหงส์ในวันแรม 1 ค่ำ และวันแรม 5 ค่ำ เดือนนั้น เป็นพิธีที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ส่วนในวันแรม 3 ค่ำ เป็นพิธีที่เพิ่งจัดให้มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายหลังจากที่พระราชครูวามเทพมุนี ได้จัดสร้างเทวรูปพระพรหมถวายเนื่องในมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ พระนักษัตร
  • สถานพระพิฆเนศวร (โบสถ์กลาง) สร้างด้วยอิฐถือปูน มีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง การก่อสร้างยังคงศิลปะอยุธยาที่สร้างโบสถ์ที่มีพาไล ตัวโบสถ์ไม่มีลวดลาย หลังคามีชั้นลด 1 ชั้น หน้าบันเรียบ ไม่มีรูปเทวรูปปูนปั้นเหมือนสถานพระอิศวร ภายในโบสถ์มีเทวรูปพระพิฆเนศวรห้าองค์ ล้วนทำด้วยหิน คือ หินเกรนิต 1 องค์ หินทราย 1 องค์ หินเขียว 2 องค์ ทำด้วยสำริด 1 องค์ ประดิษฐานบนเบญจา ประทับนั่งทุกองค์
  • สถานพระนารายณ์ (โบสถ์ริม) สร้างด้วยอิฐถือปูน มีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง การก่อสร้างทำเช่นเดียวกับสถานพระพิฆเนศวร ภายในประดิษฐานบุษบกสามองค์เคียงกันประกอบด้วยเทวรูป พระลักษมี (บุษบกองค์ซ้ายมือ) พระนารายณ์ (บุษบกองค์กลาง) พระภูมิเทวี (บุษบกองค์ขวามือ) ตรงกลางโบสถ์มีเสาลักษณะคล้ายเสาชิงช้าขนาดย่อม สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ นอกจากนี้ยังมี หอเวทวิทยาคม อยู่ภายในโบสถ์พราหมณ์อีกด้วย ซึ่งจัดเป็นห้องสมุดเฉพาะกิจ เก็บรวบรวมสรรพวิชาการต่าง ๆ เกี่ยวกับวรรณคดี พิธีกรรม ประวัติศาสตร์ทางศาสนาพราหมณ์ โหราศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี และยังเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บำเพ็ญกุศล แสดงพระธรรมเทศนา ปาฐกถา อภิปรายสนทนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและกันตามโอกาสอันควร หอเวทวิทยาคมแห่งนี้เป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และรวบรวมสรรพวิทยาการด้านประเพณีและพิธีกรรมแห่งหนึ่งในประเทศไทย เปิดให้ประชาชนเข้าไปค้นคว้าเพื่อศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาฮินดู 

อ้างอิง แก้

  1. "ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู". ศูนย์ข้อมูลกลางด้านศาสนา. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 กรมการศาสนา, ประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาและองค์การศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หน้า 175-6
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่องกำหนดบัญชีโบราณวัตถุสถาน, ตอนที่ 64, เล่ม 66, 22 พฤศจิกายน 2492, หน้า 2580

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°45′08″N 100°30′01″E / 13.752344°N 100.500371°E / 13.752344; 100.500371