เตงอิ๋น (เสียชีวิต 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 256)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เถิง อิ้น (จีน: 滕胤; พินอิน: Téng Yìn) ชื่อรอง เฉิงซื่อ (จีน: 承嗣; พินอิน: Chéngsì) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เตงอิ๋นวางแผนลอบสังหารผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซุนหลิม แต่แผนการรั่วไหลรู้ไปถึงซุนหลิม ซุนหลิมจึงกล่าวหาเตงอิ๋นในข้อหากบฏและสั่งให้นำตัวเตงอิ๋นไปประหารชีวิต

เตงอิ๋น (เถิง อิ้น)
滕胤
เสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า)
ดำรงตำแหน่ง
4 พฤศจิกายน ค.ศ. 256 (256) – 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 256 (256)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ก่อนหน้าลิต้าย
ขุนพลพิทักษ์ (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
พฤษภาคมหรือมิถุนายน ค.ศ. 252 (252) – 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 256 (256)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
เสียชีวิต8 พฤศจิกายน ค.ศ. 256[a]
คู่สมรสบุตรสาวของซุน ฮฺว่าน
บุตร
  • ภรรยาของจูเก๋อ ส่ง
  • ภรรยาของอู๋ จฺว่าน
บุพการี
  • เถิง โจ้ว (บิดา)
ญาติจักรพรรดินีเถิง ฟางหลาน (ญาติ)
อาชีพขุนพล
ชือรองเฉิงซื่อ (承嗣)
บรรดาศักดิ์เกามี่โหว (高密侯)

ภูมิหลังครอบครัว แก้

เตงอิ๋นเป็นชาวอำเภอจฺวี้ (劇縣 จฺวี้เซี่ยน) เมืองปักไฮ (北海郡 เป๋ยไห่จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอชางเล่อ มณฑลชานตง[2] เถิง โจ้ว (滕冑) บิดาของเตงอิ๋นและเถิง ตาน (滕耽) ลุงของเตงอิ๋นข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงลงใต้ไปเข้าด้วยขุนศึกเล่าอิ้ว ภายหลังทั้งคู่มารับราชการกับขุนศึกซุนกวน เถิง โจ้วและเถิง ตานต่างได้รับการชื่นชมจากซุนกวน แต่ทั้งคู่ก็เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร[3]

หลังซุนกวนขึ้นเป็นเงาอ๋อง (吳王 อู๋หวาง) หรืออ๋องแห่งง่อในปี ค.ศ. 221 ซุนกวนระลึกถึงเถิง โจ้วและเถิง ตานจึงตั้งให้เตงอิ๋นมีบรรดาศักดิ์ระดับตูถิงโหว (都亭侯)[4]

ประวัติ แก้

ประวัติศาสตร์บันทึกว่าเตงอิ๋น "เมื่อน้อยเป็นผู้ัซื่อสัตย์สุจริตและประพฤติตนดีงาม"[5] เตงอิ๋นในวัยเยาว์ได้รับการชื่นชมจากผู้คนจำนวนมาก ต่อมาเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้สมรสกับเจ้าหญิงองค์หนึ่งของง่อก๊ก[6] ภายหลังยังได้สมรสกับบุตรสาวของซุน ฮฺว่าน (孫奐)[7]

เมื่อเตงอิ๋นอายุ 30 ปี เตงอิ๋นได้รับตำแหน่งเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองตันเอี๋ยง (丹楊郡 ตานหยางจฺวิ้น) ต่อมาไปเป็นเจ้าเมืองของเมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) และห้อยเข (會稽郡 ไคว่จีจฺวิ้น)[8] ทุกครั้งที่เตงอิ๋นเป็นผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี เตงอิ๋นจะสังเกตคำพูดและการแสดงออกของผู้ฟ้องร้องแล้วตัดสินคดีอย่างสมเหตุสมผล ผู้คนจึงเข้าร้องทุกข์ต่อเตงอิ๋นทุกครั้งที่มีเรื่องคับข้องใจ เตงอิ๋นได้รับเกียรติในทุก ๆ ที่ที่ไป[9]

ในปี ค.ศ. 251 ซุนกวนจักรพรรดิแห่งง่อก๊กทรงพระประชวรหนัก ทรงมีรับสั่งเรียกตัวเตงอิ๋นมาที่นครหลวงเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) และแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) ในปีถัดมา ค.ศ. 252 ซุนกวนสวรรคต เตงอิ๋น จูกัดเก๊ก และคนอื่น ๆ ได้รับการฝากฝังให้ช่วยเหลือราชการ[10][11] หลังรัชทายาทซุนเหลียงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กลำดับที่ 2 เตงอิ๋นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนพลพิทักษ์ (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน)[12]

ในปีเดียวกันนั้น จูกัดเก๊กวางแผนจะโจมตีวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊ก เตงอิ๋นพยายามทัดทานแต่ไม่สำเร็จ[13] จูกัดเก๊กยังตั้งให้เตงอิ๋นเป็นแม่ทัพใต้นครหลวง (都下督 ตูเซี่ยตู) เพื่อดูแลราชการภายในหลังจูกัดเก๊กยกทัพออกไป เตงอิ๋นทำงานหนักทั้งวันทั้งคืน บางวันถึงขนาดไม่ได้นอนเลยทั้งคืน[14]

ในปี ค.ศ. 253 ซุนจุ๋นขุนพลง่อก๊กลอบสังหารจูกัดเก๊กผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเข้ากุมอำนาจปกครอง ขุนนางหลายคนเสนอให้แต่งตั้งซุนจุ๋นเป็นเสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) และแต่งตั้งเตงอิ๋นเป็นเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) แต่ขุนนางที่สนับสนุนซุนจุ๋นคัดค้านข้อเสนอดังกล่าวด้วยเหตุผลว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการแบ่งขั้วทางการเมือง ท้ายที่สุดจึงมีเพียงซุนจุ๋นที่ได้เลื่อนขึ้นเป็นอัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง) และไม่ตั้งตำแหน่งขุนนางที่ปรึกษา (御史大夫 ยฺวี่ฉื่อต้าฟู) ขุนนางบัณฑิตหลายคนต่างรู้สึกผิดหวัง[15] เตงอิ๋นยังลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลว่าบุตรสาวของตนสมรสกับจูเก๋อ ส่ง (諸葛竦) บุตรชายของจูกัดเก๊ก แต่ซุนจุ๋นโน้มน้าวให้เตงอิ๋นคงดำรงตำแหน่งต่อไป และยังเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เตงอิ๋นเป็นเกามี่โหว (高密侯) แม้ว่าเตงอิ๋นและซุนจุ๋นไม่เข้ากันได้นัก แต่ทั้งคู่ก็มีท่าทีอดทนต่อกันและยังคงทำงานร่วมกันต่อไป[16]

ในปี ค.ศ. 256 เดือน 9 ของศักราชอู่เฟิ่ง (五鳳) ปีที่ 3 ซุนจุ๋นยกทัพบุกวุยก๊กแต่เสียชีวิตด้วยอาการป่วยกะทันหัน ซุนจุ๋นฝากฝังเรื่องในภายหน้าไว้กับซุนหลิมลูกพี่ลูกน้อง ซุนหลิมจึงได้กุมอำนาจบริหารราชสำนัก ลิกี๋ขุนพลง่อก๊กทราบเรื่องนี้ก็ตกใจอย่างมาก ในวันที่ 24 ตุลาคมของปีเดียวกัน[17][b] ลิกี๋และขุนพลคนอื่น ๆ เสนอให้แต่งตั้งเตงอิ๋นเป็นอัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง) แต่ซุนหลิมปฏิเสธ ในวันที่ 4 พฤศจิกายนของปีเดียวกัน[17][c] เตงอิ๋นได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า) ทำหน้าที่รักษาบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) แทนที่ลิต้ายซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน[18][19]

ต่อมาลิกี๋ส่งคนไปติดต่อเตงอิ๋นเพื่อชักชวนให้ร่วมวางแผนโค่นล้มซุนหลิม[20] ซุนหลิมล่วงรู้เรื่องนี้ ด้านหนึ่งจึงส่งกองกำลังเข้าโจมตีลิกี๋ อีกด้านหนึ่งส่งหฺวา หรง (華融) และติง เยี่ยน (丁晏) ไปแจ้งเตงอิ๋นให้ยกกำลังเข้าจับกุมลิกี๋ เตงอิ๋นทราบเรื่องที่เกิดขึ้นจึงรวบรวมทหารของตนเพื่อป้องกันตนเอง เตงอิ๋นบอกกับหยาง ฉง (楊崇) และซุน จือ (孫咨) ว่าซุนหลิมก่อกบฏ และบังคับหฺวา หรงและคนอื่น ๆ ให้เขียนหนังสือประณามซุนหลิม[21] หยาง ฉงและซุน จือไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเตงอิ๋น ทั้งคู่จึงถูกสังหาร[22] ต่อมาซุนหลิมถวายฎีกากล่าวหาว่าเตงอิ๋นว่ารวบรวมทหารหวังก่อกบฏ แล้วส่งขุนพลเล่าเสง (劉丞 หลิว เฉิง) นำกองกำลังเข้าล้อมเตงอิ๋น[23] เตงอิ๋นเชื่อว่าลิกี๋จะนำกำลังมาสมทบกันตนตามเวลาที่นัดหมายกันไว้ จึงตั้งมั่นรอต่อไป ช่วงเวลานั้นเตงอิ๋นสีหน้าไม่เปลี่ยนแปลง พูดคุยหัวเราะตามปกติ แต่สุดท้ายลิกี๋ก็ไม่ได้ยกมาถึง กลับเป็นทัพของซุนหลิมที่รวบรวมกันมายกเข้าโจมตีเตงอิ๋น เตงอิ๋นและนายทหารคนอื่น ๆ หลายสิบนายถูกสังหาร ตระกูลของเตงอิ๋นก็ถูกสังหารสามชั่วโคตร[24] ซุนหลิมยังส่งจูอี้ให้ลอบเข้าโจมตีซุน อี (孫壹) พี่ชายของภรรยาของเตงอิ๋น (บุตรชายของซุน ฮฺว่าน) ซุน อีไหวตัวทันจึงนำกองกำลังของตนพร้อมพาภรรยาของเตงอิ๋นไปเข้าด้วยวุยก๊ก[25] ลูกเขยคนหนึ่งของเตงอิ๋นคืออู๋ จฺว่าน (吳纂) หลานชายของงอเก๋ง (吳景 อู๋ จิ่ง) มีส่วนเกี่ยวข้องก็ถูกสังหารเช่นเดียวกับเตงอิ๋น[26]

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. 1.0 1.1 ชีวประวัติซุนเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าเตงอิ๋นเสียชีวิตในวันติงเว่ย์ (丁未) ของเดือน 10 ในศักราชไท่ผิง (太平) ปีที่ 1 ในรัชสมัยของซุนเหลียง[1] วันที่นี้เทียบได้กับวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 256 ในปฏิทินกริโกเรียน
  2. วันเหรินเฉิน (壬辰) เดือน 9 ของศักราชอู่เฟิ่ง (五鳳) ปีที่ 3 ในรัชสมัยของซุนเหลียง
  3. วันกุ๋ยเหม่า (癸卯) เดือน 9 ของศักราชอู่เฟิ่ง (五鳳) ปีที่ 3 ในรัชสมัยของซุนเหลียง

อ้างอิง แก้

  1. ([太平元年]冬十月丁未,遣孫憲及丁奉、施寬等以舟兵逆據於江都,遣將軍劉丞督步騎攻胤。胤兵敗夷滅。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 48.
  2. (滕胤字承嗣,北海劇人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  3. (伯父耽,父冑,與劉繇州裡通家。以世擾亂,渡江依繇。孫權為車騎將軍,拜耽右司馬,以寬厚稱,早卒,無嗣。冑善屬文,權待以賓禮,軍國書疏,常令損益潤色之,亦不幸短命。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  4. (權為吳王,迫錄舊恩,封胤都亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  5. (少有節操,美容儀。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  6. (弱冠尚公主。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  7. (及孫綝誅滕胤、呂據,據、胤皆壹之妹夫也,壹弟封又知胤、據謀,自殺。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 31.
  8. (年三十,起家為丹楊太守,徙吳郡、會稽,所在見稱。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  9. (胤每聽辭訟,斷罪法,察言觀色,務盡情理。人有窮冤悲苦之言,對之流涕。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  10. (太元元年,權寢疾,詣都,留為太常;與諾葛恪等俱受遺詔輔政。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  11. (權疾困,召恪、弘及太常滕胤、將軍呂據、侍中孫峻,屬以後事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  12. (孫亮即位,加衛將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  13. ( 恪將悉眾伐魏。胤諫恪曰:「君以喪代之際,受伊、霍之託,入安本朝,出摧強敵,名聲振於海內,天下莫不震動,萬姓之心,冀得蒙君而息。今猥以勞役之後,興師出征,民疲力屈,遠主有備。若攻城不克,野略無獲,是喪前勞而招後責也。不如案甲息師,觀隙而動。且兵者大事,事以眾濟,眾苟不悅,君獨安之?」恪曰:「諸雲不可者,皆不見計算,懷居苟安者也,而子復以為然,吾何望焉?夫以曹勞暗劣,而政在私門,彼之臣民,固有離心。今吾因國家之資,借戰勝之威,則何往而不克哉!」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  14. (以胤為都下督,掌統留事。胤白日接賓客,夜省文書,或通曉不寐。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  15. (群臣上奏,共推峻為太尉,議胤為司徒。時有媚峻者,以為大統宜在公族,若滕胤為亞公,聲名素重,眾心所附,不可貳也。乃表以峻為丞相,又不置御史大夫,士人皆失望矣。) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  16. (滕胤以恪子竦妻父辭位。峻曰:「鯀、禹罪不相及,滕侯何為?」峻、胤雖內不沾洽,而外相包容,進胤爵高密侯,共事如前。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  17. 17.0 17.1 "兩千年中西曆換算". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-15. สืบค้นเมื่อ 2020-09-13. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |dead-url= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  18. ([太平元年九月]壬辰,太白犯南斗,據、欽、咨等表薦衛將軍滕胤為丞相,綝不聽。癸卯,更以胤為大司馬,代呂岱駐武昌。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 48.
  19. (呂據聞之大恐,與諸督將連名,共表薦滕胤為丞相,綝以胤為大司馬,代呂岱駐武昌。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  20. (據引兵還,使人報胤,欲共廢綝。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  21. (綝聞之,遣從兄慮將兵逆據於江都,使中使敕文欽、劉纂、唐諮等合眾擊據,遣侍中左將軍華融、中書丞丁晏告胤取據,並喻胤宜速去意,胤自以禍及,因留融、晏,勒兵自衛,召典軍揚崇、將軍孫諮,告以綝為亂,迫融等使有書難綝。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  22. (胤又劫融等使詐詔發兵。融等不從,胤皆殺之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  23. (綝不聽,表言胤反,許將軍劉丞以封爵,使率兵騎急攻圍胤。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  24. (〉胤顏色不變,談笑若常。或勸胤引兵至蒼龍門,「將士見公出,必皆委綝就公」。時夜已半,胤恃與據期。又難舉兵向富,乃約令部曲,說呂侯以在近道,故皆為胤盡死,無離散者。時大風,比曉,據不至。綝兵大會,遂殺及將士數十人,夷胤三族。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  25. (及孫綝誅滕胤、呂據,據、胤皆壹皆之妹夫也,壹弟封又知胤、據謀,自殺。綝遣朱異潛襲壹。異至武昌,壹知其攻己,率部曲千餘口過將胤妻奔魏。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 51.
  26. (子纂嗣。纂妻即滕胤女也,胤被誅,竝遇害。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.

บรรณานุกรม แก้