เดอะไลอ้อนคิง

ภาพยนตร์แอนิเมชั่นอเมริกัน พ.ศ. 2537
(เปลี่ยนทางจาก เดอะ ไลอ้อน คิง)

เดอะไลอ้อนคิง (อังกฤษ: The Lion King) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันอเมริกัน แนวดรามาและดนตรี สร้างโดย วอลต์ดิสนีย์ฟีเชอร์แอนิเมชัน และจัดจำหน่ายโดย วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องยาวเรื่องที่ 32 ของดิสนีย์ และเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องที่ 5 ที่สร้างในช่วง ดิสนีย์เรอเนซองซ์ ภาพยนตร์กำกับโดย โรเจอร์ อัลเลอร์สและร็อบ มิงคอฟฟ์ อำนวยการสร้างโดย ดอน ฮาห์น และเขียนบทภาพยนตร์โดย ไอรีน เมกกี, จอนาทาน รอเบิร์ตส์และลินดา วูลเวอร์ตัน เพลงต้นฉบับแต่งโดย เอลตัน จอห์นและทิม ไรซ์ ดนตรีประกอบภาพยนตร์แต่งโดย ฮันส์ ซิมเมอร์ ภาพยนตร์ประกอบด้วยนักแสดงนำให้เสียงตัวละครจำนวนมาก ได้แก่ แมททิว บรอเดริก, เจมส์ เอิร์ล โจนส์, เจเรมี ไอเอินส์, จอนาทาน เทย์เลอร์ ทอมัส, มอยรา เคลลี, นาทาน เลน, เออร์นี ซาเบลลา, โรวัน แอตคินสัน, รอเบิร์ต กีโยม, แมดจ์ ซินแคลร์ (ในบทบาทภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเธอ), วูปี โกลด์เบิร์ก, ชีช แมรินและจิม คัมมิงส์ ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องในอาณาจักรสิงโตในแอฟริกาและได้รับอิทธิพลจากเรื่องราวของ โยเซฟและโมเสสในคัมภีร์ไบเบิล และ แฮมเลต ของ วิลเลียม เชกสเปียร์

เดอะไลอ้อนคิง
ใบปิดภาพยนตร์โดย จอห์น อัลวิน
กำกับ
บทภาพยนตร์
เนื้อเรื่อง
อำนวยการสร้างดอน ฮาห์น
นักแสดงนำ
ตัดต่ออิวาน บิลานซิโอ
ดนตรีประกอบฮันส์ ซิมเมอร์
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายบวยนาวิสตาพิกเชอส์
วันฉาย15 มิถุนายน ค.ศ. 1994 (1994-06-15)(สหรัฐ)
ความยาว88 นาที[1]
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ทำเงิน968.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]

เดอะไลอ้อนคิง เล่าเรื่องราวของ ซิมบ้า (แปลว่า สิงโต ในภาษาสวาฮีลี)[3] ลูกสิงโต ผู้ที่จะสืบทอดตำแหน่งต่อจากพ่อของเขา มูฟาซ่า ซึ่งเป็นราชาแห่งแดนทรนง แต่ทว่า หลัง สการ์ ผู้เป็นอาของซิมบ้า ได้ฆ่ามูฟาซ่า ซิมบ้าถูกปั่นหัวโดยสการ์ ให้คิดว่าเขาเองเป็นต้นเหตุและเนรเทศตัวเองออกจากแดนทรนง หลังซิมบ้าใช้ชีวิตและเติบโตกับ ทีโมนและพุมบ้า ผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวล ซิมบ้าพบกับ นาลา เพื่อนสมัยเด็กของเขาและราฟิกิ หมอผีของเขา หลังได้ยินข่าวจากแดนทรนง เขาเดินทางกลับไปเพื่อล้มล้างการปกครองอย่างทรราชของสการ์ และแทนที่เขาในวงเวียนชีวิต ในฐานะกษัตริย์ที่ชอบธรรม

การพัฒนาของ เดอะไลอ้อนคิง เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1988 ในระหว่างการประชุมของ เจฟฟรีย์ แคตเซนเบิร์ก, รอย อี. ดิสนีย์และปีเตอร์ ชไนเดอร์ ขณะที่กำลังเดินทางไปประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่อง เหมียวน้อยโอลิเวอร์กับเพื่อนเกลอ ในยุโรป ทอมัส เอ็ม. ดิสช์ เขียนบทร่างและวูลเวอร์ตันพัฒนาบทร่างจนกลายเป็นบทภาพยนตร์แรก จอร์จ สคริบเนอร์ เซ็นสัญญาเป็นผู้กำกับ โดยมีอัลเลอร์สเข้าร่วมในเวลาต่อมา การสร้างเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1991 ควบคู่ไปกับ โพคาฮอนทัส ซึ่งมีแอะนิเมเตอร์ระดับสูงหลายคนของดิสนีย์ ทำงานให้กับภาพยนตร์เรื่องนั้นมากกว่า หลังพนักงานของดิสนีย์เดินทางไปที่ อุทยานแห่งชาติเฮลส์เกต ใน เคนยา เพื่อค้นคว้าสถานที่ดำเนินเรื่องของภาพยนตร์และสัตว์ต่าง ๆ ไม่นานนัก สคริบเนอร์ก็ถอนตัวออกจากการสร้าง เนื่องจากเขาไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจเปลี่ยนภาพยนตร์ให้กลายเป็นมิวสิคัล โดยมีมิงคอฟฟ์เข้ามาแทนที่เขา เมื่อฮาห์นเข้าร่วมโครงการ เขาไม่พอใจกับบทภาพยนตร์และเรื่องราวก็ได้รับการเขียนใหม่ทันที ฉากแอนิเมชันเกือบ 20 นาที สร้างที่ ดิสนีย์-เอ็มจีเอ็มสตูดิโอส์ สวนสนุกในฟลอริดา มีการใช้คอมพิวเตอร์แอนิเมชันอยู่หลายฉาก โดยฉากที่โดดเด่นที่สุดคือ ฉากวิลเดอบีสต์แตกตื่น

เดอะไลอ้อนคิง ฉายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1994 ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักวิจารณ์ โดยชมในเรื่องเพลง, เรื่องราว, แก่นเรื่องและแอนิเมชัน ภาพยนตร์ทำเงิน 766 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก จากการฉายครั้งแรก ทำให้เป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในปี ค.ศ. 1994, ภาพยนตร์แอนิเมชันที่ทำเงินสูงสุดและภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลอันดับที่สอง ในเวลานั้น ภาพยนตร์ยังเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันแบบดั้งเดิมที่ทำเงินสูงสุดและเป็นภาพยนตร์ที่ขายดีที่สุดในรูปแบบโฮมวิดีโอ โดยมียอดขายวิดีโอเทปวีเอชเอส มากกว่า 30 ล้านตลับ เมื่อตอนที่ภาพยนตร์ฉายนั้น ได้สร้างความขัดแย้งในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากภาพยนตร์ มีความคล้ายคลึงกับอนิเมะ เรื่อง สิงห์น้อยจ้าวป่า ของ โอซามุ เทซูกะ ในทศวรรษ 1960 เดอะไลอ้อนคิง ได้รับรางวัลออสการ์สองรางวัล สำหรับความสำเร็จในด้านดนตรีและรางวัลลูกโลกทองคำ สำหรับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์เพลงหรือตลก ภาพยนตร์นำไปสู่การสร้างแฟรนไชส์ โดยมีผลงานตามมามากมาย เช่น การดัดแปลงเป็นละครบรอดเวย์, ภาพยนตร์ภาคต่อ เดอะไลอ้อนคิง 2: ซิมบ้าเจ้าป่าทรนง (1998), ภาพยนตร์ภาคก่อน/คู่ขนาน เดอะไลอ้อนคิง 3 (2004), แอนิเมชันโทรทัศน์ ทีโมนแอนด์พุมบ้า และ ทีมพิทักษ์แดนทรนง เดอะไลอ้อนคิง ได้รับการฉายใหม่ในปี ค.ศ. 2011 ในรูปแบบสามมิติและได้การสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่มีภาพเสมือนจริง ในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งกลายเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ทำเงินสูงสุดในปัจจุบัน

ในปี ค.ศ. 2016 ภาพยนตร์ถูกเลือกให้เก็บรักษาไว้ใน หอทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติ โดย หอสมุดรัฐสภา ในฐานะที่ภาพยนตร์ "มีวัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์, หรือ มีความสุนทรีย์อย่างมีนัยสำคัญ" เดอะไลอ้อนคิง เป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวของดิสนีย์ที่ได้รับการพากย์เสียงในภาษาซูลู ภาษาแอฟริกันภาษาเดียว นอกเหนือจากภาษาอาหรับที่ใช้ในการพากย์เสียงในภาพยนตร์เรื่องยาวของดิสนีย์[4]

โครงเรื่อง แก้

ในดินแดนทรนงแห่งแอฟริกา สิงโตทรนงเป็นผู้ปกครองอาณาจักรสัตว์จากผาทรนง ซิมบ้า ลูกสิงโตชายเกิดใหม่ของราชามูฟาซาและราชินีซาราบี ได้รับนำเสนอต่อเหล่าสัตว์ที่มาชุมนุม โดย ราฟิกิ ลิงแมนดริลล์ ผู้เป็นเชมันและที่ปรึกษาของอาณาจักร สการ์ น้องชายของมูฟาซา ผู้ต้องการจะแย่งชิงบัลลังก์ โกรธที่มูฟาซามีเจ้าชายเกิดใหม่ เพราะมันหมายความว่า เขาจะไม่ได้เป็นผู้สืบทอดบัลลังก์คนแรกอีกต่อไป เรื่องนี้ทำให้เกิดการโต้เถียงระหว่างเขากับ ซาซู นกเงือกพ่อบ้านของมูฟาซาและตัวมูฟาซาเอง

ไม่กี่ปีต่อมา มูฟาซาพาซิมบ้าไปดูแดนทรนงและอธิบายให้เขาเข้าใจถึงความรับผิดชอบของการเป็นกษัตริย์และ "วงเวียนแห่งชีวิต" ซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในขณะเดียวกัน สการ์วางแผนที่จะกำจัดมูฟาซาและซิมบ้า เพื่อที่เขาจะได้เป็นราชา สการ์หลอกซิมบ้าให้เข้าไปสำรวจในสุสานช้างต้องห้าม โดยมี นาลา เพื่อนสนิทและคู่หมั้นของเขาติดตามไปด้วย ซิมบ้าและนาลาถูกโจมตีโดย เชนซี, บันไซและเอ็ด ไฮยีนาลายจุด สามตัว ซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกับสการ์ มูฟาซาเข้ามาขัดขวางและเข้ามาช่วยเหลือลูกสิงโตทั้งสองไว้ได้ทัน มูฟาซาโกรธซิมบ้าแต่ก็ให้อภัย มูฟาซาอธิบายว่ากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตเฝ้าดูแลพวกเขาจากท้องฟ้ายามค่ำคืน ซึ่งในวันหนึ่งเขาจะคอยดูแลซิมบ้า

สการ์ได้แอบมาหาพวกไฮยีนาในคืนนั้นเพื่อวางแผน วันต่อมาก็ได้วางกับดักเพื่อฆ่ามูฟาซาและซิมบ้าอีกครั้ง โดยหลอกซิมบ้าให้เข้ามาในช่องเขา และให้ไฮยีนาขับไล่ฝูงวิลเดอบีสต์จนแตกตื่นเข้ามาในช่องเขา เพื่อเหยียบย่ำซิมบ้า โดยสการ์เป็นคนบอกข่าวแก่มูฟาซาว่าซิมบ้ากำลังตกอยู่ในอันตราย เพราะรู้ว่าเขาจะต้องรีบไปช่วยลูกชายของเขา มูฟาซาช่วยเหลือซิมบ้าได้สำเร็จ แต่สุดท้ายเขาก็เกาะตรงขอบช่องเขาอย่างอันตราย สการ์ปฏิเสธที่จะช่วยมูฟาซา แต่กลับจับโยนเขาลงไปถึงแก่ความตาย จากนั้น สการ์ก็ปลอบซิมบ้าว่า โศกนาฏกรรมนี้เป็นความผิดของซิมบ้าเองและแนะนำให้เขาออกจากอาณาจักรและไม่กลับมาอีก สการ์สั่งให้ไฮยีนาไล่ตามเพื่อฆ่าซิมบ้า แต่ซิมบ้าหลบหนีไปได้ สการ์แจ้งข่าวกับเหล่าสิงโตว่า มูฟาซาและซิมบ้าถูกฆ่าโดยฝูงสัตว์แตกตื่น สการ์ในฐานะกษัตริย์องค์ใหม่ อนุญาตให้ลูกน้องไฮยีนาสามตัวและไฮยีนาฝูงใหญ่ที่เหลือ เข้ามาอาศัยอยู่ในแดนทรนง

ซิมบ้าหมดสติในทะเลทรายและถูกโจมตีโดยแร้ง แต่ ทีโมนและพุมบ้า เมียร์แคตและหมูป่าหน้าหูด ขับไล่แร้งและพาซิมบ้าเข้ามาในป่า ซิมบ้าเติบโตในป่าร่วมกับเพื่อนใหม่สองตัว ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวลภายใต้คติพจน์ "ฮาคูนา มาทาทา" (แปลว่า "ไม่ต้องห่วง" ในภาษาสวาฮีลี) วันหนึ่ง ซิมบ้าที่กลายเป็นวัยหนุ่ม ช่วยทีโมนและพุมบ้าจากสิงโตเพศเมียผู้หิวโหย ซึ่งแท้จริงแล้วเธอคือนาลา เธอและซิมบ้าพบกันอีกครั้งและตกหลุมรักและเธอขอให้เขากลับบ้าน เธอบอกเขาว่าแดนทรนงกลายเป็นพื้นที่รกร้างและแห้งแล้งภายใต้การปกครองของสการ์ ซิมบ้ารู้สึกผิดต่อการเสียชีวิตของพ่อของเขา ทำให้เขาปฏิเสธที่จะกลับไป ต่อมา ซิมบ้าพบกับราฟิกิ โดยบอกว่าวิญญาณของมูฟาซา อาศัยอยู่ในตัวของซิมบ้า วิญญาณมูฟาซาปรากฏตัวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน มูฟาซาบอกซิมบ้าว่า เขาต้องกลับไป เพราะเขาคือราชาที่ชอบธรรม เมื่อตระหนักว่าเขาไม่สามารถหนีจากอดีตของเขาได้อีกต่อไป ซิมบ้าจึงตัดสินใจกลับสู่แดนทรนง

ซิมบ้าแอบเข้าในผาทรนงผ่านฝูงไฮยีนาด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนของเขาและเผชิญหน้ากับสการ์ที่เพิ่งตบซาราบี สการ์ประณามซิมบ้าว่าเป็นตัวเขาเองที่ทำให้มูฟาซาเสียชีวิต สการ์จนมุมซิมบ้าไปที่ขอบผาทรนง สการ์เปิดเผยว่าเขาเป็นคนฆ่ามูฟาซาเอง ซิมบ้าจับสการ์ลงกับพื้นอย่างโกรธแค้นและบังคับให้เขาเปิดเผยความจริงกับสิงโตที่เหลือ ทีโมน, พุมบ้า, ราฟิกิ, ซาซูและเหล่าสิงโตเพศเมีย ต่อสู้กับเหล่าไฮยีนา ขณะที่สการ์พยายามจะหลบหนี เขาถูกจนมุมที่ด้านบนสุดของผาทรนงโดยซิมบ้า สการ์ขอความเมตตาและพยายามกล่าวหาว่าไฮยีนาเป็นคนทำ ซิมบ้าไว้ชีวิตเขา แต่สั่งเขาให้ออกจากแดนทรนงไปตลอดกาล สการ์ปฏิเสธและโจมตีซิมบ้า แต่ซิมบ้าสามารถโยนเขาจากด้านบนของผา หลังจากการต่อสู้สั้น ๆ สการ์รอดจากการตกลงมาแต่ถูกฆ่าโดยไฮยีนา ที่ได้ยินความพยายามที่จะทรยศต่อพวกเขา หลังจากนั้น ในขณะที่ฝนกำลังตก ซิมบ้าก็เข้ารับตำแหน่งราชา เขาให้นาลาเป็นราชินีของเขา

ต่อมาหลังดินแดนทรนงกลับคืนสู่สภาวะปกติ ซึ่งมีอาหารและน้ำอุดมสมบูรณ์ ที่หน้าผาทรนง ราฟิกินำเสนอลูกสิงโตเกิดใหม่ของซิมบ้าและนาลา ต่อเหล่าสัตว์ที่มาชุมนุม สานต่อวงเวียนแห่งชีวิต

รายชื่อนักพากย์เสียง แก้

  • แมททิว บรอเดริก เป็น ซิมบ้า, ลูกชายของมูฟาซาและซาราบี ผู้ที่เติบโตขึ้นจะได้เป็นราชาแห่งแดนทรนง โจเซฟ วิลเลียมส์ ให้เสียงร้องเพลงของซิมบ้าวัยหนุ่ม มาร์ก เฮนน์และรูเบน เอ. อากีโน ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลแอะนิเมเตอร์ของซิมบ้าวัยเด็กและวัยหนุ่ม ตามลำดับ[5]
  • เจเรมี ไอเอินส์ เป็น สการ์, น้องชายของมูฟาซาและอาของซิมบ้า ผู้ต้องการแย่งชิงบัลลังก์ อันเดรส เดจา ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลแอะนิเมเตอร์ของสการ์[5]
  • เจมส์ เอิร์ล โจนส์ เป็น มูฟาซา, พ่อของซิมบ้า, ราชาแห่งแดนทรนงตั้งแต่เริ่มต้นของภาพยนตร์ โทนี ฟูซิเล ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลแอะนิเมเตอร์ของมูฟาซา[5] เจมส์ เอิร์ล โจนส์ กลับมารับบทเดิมของเขาในภาพยนตร์สร้างใหม่ในปี ค.ศ. 2019
  • มอยรา เคลลี เป็น นาลา, เพื่อนสนิทของซิมบ้าและต่อมาได้กลายเป็นภรรยาของเขาและราชินีแห่งแดนทรนง ซอลลี ดวอร์สกี ให้เสียงร้องเพลงของนาลา แอรอน เบลสและแอนโทนี เดอ โรซา ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลแอะนิเมเตอร์ของนาลาวัยเด็กและวัยสาว ตามลำดับ[5]
    • นิกิตา คาลามี ให้เสียงเป็น นาลาวัยเด็ก ขณะที่ ลอรา วิลเลียมส์ ให้เสียงร้องเพลงของนาลาวัยเด็ก[5]
  • นาทาน เลน เป็น ทีโมน, เมียร์แคต ผู้ชอบเล่นคำคมและหลงตัวเอง แต่ค่อนข้างภักดี และยังกลายเป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทของซิมบ้าและพ่อแม่บุญธรรมของเขา ไมเคิล เซอร์รีย์ ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลแอะนิเมเตอร์ของทีโมน[5]
  • เออร์นี ซาเบลลา เป็น พุมบ้า, หมูป่าไร้เดียงสา ผู้ประสบปัญหามีอาการท้องอืดและเพื่อนสนิทของทีโมน และยังกลายเป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทของซิมบ้าและพ่อแม่บุญธรรมของเขา โทนี แบนครอฟต์ ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลแอะนิเมเตอร์ของพุมบ้า[5]
  • รอเบิร์ต กีโยม เป็น ราฟิกิ, ลิงบาบูนแก่ (ด้วยลายแบบลิงแมนดริล[6]) ผู้ทำหน้าที่เป็นเชมันแห่งแดนทรนงและนำเสนอลูกสิงโตเกิดใหม่ของราชาและราชินีให้กับเหล่าสัตว์ในแดนทรนง เจมส์ เบกซ์เตอร์ ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลแอะนิเมเตอร์ของราฟิกิ[5]
  • โรวัน แอตคินสัน เป็น ซาซู, นกเงือก ผู้ทำหน้าที่เป็นพ่อบ้านของราชา (หรือ "ขี้ข้าของมูฟาซา" ซึ่งถูกเรียกโดยเชนซี) เอลเลน วูดเบอรี ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลแอะนิเมเตอร์ของซาซู[5]
  • แมดจ์ ซินแคลร์ เป็น ซาราบี, ภรรยาของมูฟาซา, แม่ของซิมบ้าและผู้นำสิงโตเพศเมียในการล่าหาอาหาร รัสส์ เอ็ดมันด์ ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลแอะนิเมเตอร์ของซาราบี[5]
  • ไฮยีนาลายจุด สามตัว ผู้รับใช้สการ์ วาดเป็นแอนิเมชันโดย อเล็กซ์ คูเปอร์ชมิดต์และเดวิด เบอร์เจส[5]
    • วูปี โกลด์เบิร์ก เป็น เชนซี, ผู้นำหญิงที่ร้ายและอารมณ์เสียง่ายของทั้งสามตัว
    • ชีช แมริน เป็น บันไซ, ไฮยีนาที่ก้าวร้าวและหัวร้อนมีแนวโน้มที่จะบ่นและทำตามแรงกระตุ้น
    • จิม คัมมิงส์ เป็น เอ็ด, ไฮยีนาปัญญานิ่มพูดไม่ได้ สื่อสารได้เฉพาะเสียงหัวเราะ คัมมิงส์ยังให้เสียงเป็น ตุ่น ที่พูดคุยกับซาซู และยังเป็นแขกรับเชิญ ให้เสียงเป็นสการ์ ในบางท่อนของเพลง "จงเตรียมพร้อม" หลังไอเอินส์ร้องเพลงจนเสียงแหบ[7]
  • โซอี ลีเดอร์ เป็น ซาราฟินา, แม่ของนาลา, ปรากฏตัวขณะที่กำลังพูดคุยกับซาราบี, แม่ของซิมบ้า

เพลงประกอบภาพยนตร์ แก้

  • Circle of Life (วิถีแห่งชีวิต) เป็นเพลงเปิดในตอนต้นของเรื่อง ในพิธีเจิมซิมบ้า
  • I Just Can't Wait to Be King ร้องโดยซิมบ้า นาลา และซาซู
  • Be Prepared (จงเตรียมพร้อม) ร้องโดยสการ์และเหล่าหมาไน
  • Hakuna Matata ร้องโดย ทีโมน พุมบ้า และซิมบ้า
  • Can You Feel the Love Tonight ตอนประกอบเรื่องร้องโดย ทีโมน พุมบ้า ซิมบ้า นาลาและคอรัสและตอนเครดิตร้องและเล่นเปียโนโดยเอลตัน จอห์นเป็นเพลงรางวัลออสการ์ 2 รางวัลประจำปี 1994 ตามที่กล่าวมาข้างต้น

อ้างอิง แก้

  1. "The Lion King (U)". British Board of Film Classification. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 21, 2013. สืบค้นเมื่อ July 21, 2013.
  2. 2.0 2.1 "The Lion King". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ October 4, 2011.
  3. Google Translate
  4. "Inkosi Ubhubesi / The Lion King Zulu Voice Cast". WILLDUBGURU (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-05-22.
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ LionKingProduction
  6. Grasset, Léo (2017). How the Zebra Got Its Stripes: Darwinian Stories Told Through Evolutionary Biology. Pegasus Books. p. iii. ISBN 1681774763.
  7. Lawson, Tim; Persons, Alisa (December 9, 2004). The Magic Behind the Voices: A Who's Who of Cartoon Voice Actors. ISBN 978-1-57806-696-4.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้