เดอะมอลล์ (อังกฤษ: The Mall) คือถนนสายหนึ่งในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยเริ่มตั้งแต่พระราชวังบักกิงแฮมทางทิศตะวันตกเรื่อยไปถึงประตู แอดมีรัลตีอาร์ช (Admiralty Arch) ก่อนที่จะไปบรรจบกับถนนไวต์ฮอลที่จัตุรัสทราฟัลการ์ทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ยังตัดผ่านถนนสปริงการ์เดนส์อันเคยเป็นที่ตั้งของสำนักแรงงานกรุงลอนดอนและสภาเมืองลอนดอนอีกด้วย ถนนเดอะมอลล์ปิดการจราจรทุกวันอาทิตย์, วันหยุดราชการ และวันงานพิธีสำคัญต่างๆ ของประเทศ

มุมมองของถนนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้สู่พระราชวังบักกิงแฮม (พ.ศ. 2554)

เดอะมอลล์ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นถนนประกอบพิธีของรัฐในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เช่นเดียวกับถนนหลักในเมืองสำคัญอื่นๆ เช่น กรุงเบอร์ลิน, กรุงเม็กซิโกซิตี, กรุงออสโล, กรุงปารีส, กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก, กรุงเวียนนา และ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งถนนในเมืองเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีการของรัฐเป็นหลัก ต่อมาจึงมีการปรับปรุงโครงสร้างภายนอกของพระราชวังบักกิงแฮมและก่อสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเพิ่มเติมเข้าไป การปรับปรุงนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงถนนซึ่งออกแบบโดยแอชตัน เวบบ์

อนุสาวรีย์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าประตูทางเข้าพระราชวังบักกิงแฮม ขณะที่ประตูแอดมีรัลตีอาร์ชตั้งตระหง่านอยู่ก่อนถึงจัสตุรัสทราฟัลการ์ในฝั่งตรงข้าม ความยาวของถนนนับตั้งแต่ประตูแอดมีรัลตีอาร์ชถึงอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียนั้นยาวทั้งสิ้น 0.5 ไมล์ทะเล (0.93 กิโลเมตร; 0.58 ไมล์) พอดิบพอดี สวนสาธารณะเซนต์เจมส์ตั้งอยู่ฝั่งทิศใต้ของถนนตรงข้ามกันกับสวนสาธารณะกรีนและพระราชวังเซนต์เจมส์ในฝั่งทิศเหนือ ใกล้กับปลายสุดถนนด้านทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของลานฮอร์สการ์ดพาเหรด (Horse Guards Parade) ซึ่งใช้ในพิธีสวนสนามในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

พื้นผิวจราจรของถนนถูกทำให้เป็นสีแดงเพื่อให้ความรู้สึกเปรียบเสมือนพรมสีแดงขนาดใหญ่มุ่งสู่พระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งสีแดงนี้เป็นเม็ดสีของสนิมเหล็กสังเคราะห์จากแหล่งออกไซด์ในดีนเชนเจอร์ (Deanshanger)[1] อันผ่านกระบวนการดีนอกซ์ซึ่งถูกคิดค้นโดยนักเคมีนามว่า เออร์เนสต์ โลเวลล์ ต่อมารัฐมนตรีแรงงานช่วง พ.ศ. 2494 - 2498 นามว่า เดวิด เอคเคิลส์ ก็ได้ตัดสินใจใช้สนิมเหล็กทำให้พื้นผิวของถนนเป็นสีแดง

ในวันแห่งชัยชนะในทวีปยุโรป 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 พระราชวังบักกิงแฮมเป็นจุดศูนย์กลางแห่งการเฉลิมฉลองในสหราชอาณาจักร ที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6, สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ, เจ้าหญิงเอลิซาเบธ และเจ้าหญิงมาร์กาเรต ปรากฏพระองค์พร้อมกับนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ บนบัญชรของพระราชวังบักกิงแฮมท่ามกลางฝูงคนจำนวนมากมายบนถนนเดอะมอลล์[2]

ในช่วงการของการเสด็จฯ เยือนหรือเยือนอย่างเป็นทางการของประมุขต่างประเทศ ประมุขต่างประเทศจะเดินทางสู่พระราชวังบักกิงแฮมเพื่อเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรผ่านถนนเดอะมอลล์ ซึ่งประดับตกแต่งด้วยธงชาติสหราชอาณาจักรและธงชาติของประมุขที่เสด็จฯ เยือนหรือเยือน ช่วงพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี พ.ศ. 2545 ประชาชนมากกว่าล้านคนออกมายังถนนเดอะมอลล์เพื่อเข้าเฝ้าพระบรมวงศานุวงศ์อังกฤษซึ่งปรากฏพระองค์จากบัญชรพระราชวังบักกิงแฮม ภาพการปรากฏพระองค์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในพระราชพิธีเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมและแคเธอริน มิดเดิลตัน พ.ศ. 2554, พระราชพิธีพัชราภิเษกในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และงานคอนเสิร์ตพระราชพิธีพัชราภิเษก พ.ศ. 2555[3]

กิจกรรมทางการกีฬา แก้

โดยปกติแล้วถนนเดอะมอลล์จะเป็นจุดสิ้นสุดของเส้นทางการแข่งวิ่งลอนดอนมาราธอน[4] นอกจากนี้ถนนยังถูกใช้เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดสำหรับการแข่งขันวิ่งมาราธอน, การแข่งขันจักรยาน และการแข่งขันเดินเร็ว ในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนและกีฬาพาราลิมปิกฤดูร้อน พ.ศ. 2555 อีกด้วย[5][6]

ภาพ แก้

อ้างอิง แก้

หมายเหตุ

  1. http://clutch.open.ac.uk/schools/deanshanger99/home.html
  2. "VE Day celebrations, May 8, 1945". Daily Mail. Retrieved 24 July 2012
  3. "Ready to rock: Thousands of revellers fill the Mall to bag a spot for the Jubilee concert". Daily Mail. Retrieved 24 July 2012
  4. "So you've crossed the London Marathon finish line... what happens now?". The Mirror. Retrieved 24 July 2012
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-30. สืบค้นเมื่อ 2013-03-24.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-02. สืบค้นเมื่อ 2013-03-24.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ The Mall, London