เจ้ายวงแก้ว สิโรรส

เจ้ายวงแก้ว สิโรรส เป็นเจ้าหญิงจากนครเชียงใหม่ เข้ารับราชการเป็นนางข้าหลวงในพระตำหนักของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา และมีชื่อเสียงจากโศกนาฏกรรมความรักแบบรักสามเส้าของหญิงกับหญิงที่ลงเอยด้วยการอัตวินิบาตกรรมของเจ้ายวงแก้ว

เจ้ายวงแก้ว สิโรรส
ราชวงศ์มังราย
พระบิดาเจ้าคำคง สิโรรส

ประวัติ แก้

เจ้ายวงเป็นพระธิดาของเจ้าน้อยคำคง สิโรรส[1][2] ซึ่งมีต้นสายสืบมาแต่เจ้าผู้ครองรัฐเชียงตุง[3] เมื่อเจ้ายวงแก้วมีอายุได้ 7 ขวบ ก็ได้ถวายตัวไปเป็นนางข้าหลวงของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ซึ่งรับราชการเป็นฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร โดยเป็นนางข้าหลวงรุ่นเดียวกันกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจ้าหญิงจากนครเชียงใหม่เช่นกัน[4] ราชสำนักของพระราชชายาดาษดาไปด้วยความงามแบบเชียงใหม่ที่แปลกตาจากพระตำหนักอื่น ทั้งการแต่งกาย การเกล้าผมยาว กิริยามารยาท และความสามารถด้านดนตรี ที่นางข้าหลวงทุกคนจะต้องเล่นเครื่องดนตรีได้อย่างน้อยหนึ่งถึงสองชนิด[2]

เมื่อเจ้ายวงแก้วเป็นสาวรุ่นวัย 19 ปี ก็รักใคร่ชอบพอกับหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพ และตกลงปลงใจที่จะคบหากัน[2] แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น หม่อมราชวงศ์วงศ์เทพคบหากับหญิงชาววังอีกคนอยู่แล้ว เธอมีชื่อว่า หุ่น ด้วยเหตุนี้การชิงรักหักสวาทระหว่างเจ้ายวงแก้วกับหุ่นจึงเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ หมายเอาชนะใจหม่อมราชวงศ์วงศ์เทพ[1][2]

วันหนึ่ง หุ่น ได้ให้ข่าวโพนทะนาว่า เจ้ายวงแก้วนำทรัพย์สินที่ได้รับประทานจากเจ้าดารารัศมี พระราชชายาไปปรนเปรอหม่อมราชวงศ์วงศ์เทพหมายจะเอาใจ เรื่องดังกล่าวเล่าลือไปทั่ว จนถึงนางในของพระตำหนักนำความไปกราบบังคมทูลพระราชชายาว่าเจ้ายวงแก้ว "ถูกตุ๋น" เสียแล้ว เจ้าดารารัศมี พระราชชายากริ้วนัก ทรงเรียกตัวเจ้ายวงแก้วมาบริภาษอย่างรุนแรง แล้วตรัสให้เจ้ายวงแก้วนำสิ่งของทั้งหมดมาถวายคืน พร้อมกับคาดโทษว่าจะส่งตัวเจ้ายวงแก้วกลับนครเชียงใหม่[1][2]

เจ้ายวงแก้วรู้สึกอับอายอยู่เต็มประดา ในช่วงสองถึงสามวันก็ไม่สามารถไปปรับทุกข์กับผู้ใดเลย ได้แต่เสียงเยาะเย้ยเหยียดหยัน สิ่งของที่ได้รับประทานมาก็ยังหามาคืนพระราชชายามิได้ เจ้ายวงแก้วได้แต่ปรับทุกข์ตัดพ้อรำพันกับเจ้าบัวชุม ซึ่งในขณะนั้นได้สมรสกับเจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) ไปแล้ว แต่ได้กลับมาพำนักในพระตำหนักของพระราชชายา เจ้าบัวชุมเองก็ได้แต่ช่วยปลอบประโลมให้เจ้ายวงแก้วหายโศกไปบ้าง ที่สุดเจ้ายวงแก้วตัดสินใจกระโดดลงมาจากชั้นสี่ของพระตำหนักเจ้าดารารัศมี พระราชชายา เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่ามิได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหา[1][2] ร่างของเจ้ายวงแก้วตกลงมาอยู่กับพื้นแล้วสลบไป จากนั้นมีผู้หามร่างของเจ้ายวงแก้วออกไปรักษาที่โรงพยาบาลฝรั่งย่านประตูผี และเจ้ายวงแก้วสิ้นใจลงที่โรงพยาบาลแห่งนั้นเอง[2]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 เพศแห่งสยาม. กรุงเทพฯ : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ สังกัดสำนักงานการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน), 2562. 81 หน้า. หน้า 62-63. ISBN 978-6168162-05-7
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ (15 กุมภาพันธ์ 2560). "เลสเบี้ยนในวังหลวง และโศกนาฏกรรมในเขตพระราชฐานชั้นใน". The Momentum. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. ชื่น สิโรรส. ชีวประวัตินายชื่น สิโรรส. เชียงใหม่ : คณะพุทธนิคม, 2529. 81 หน้า. หน้า 2.
  4. พิเชษฐ ตันตินามชัย (8 ธันวาคม 2547). "พระพี่เลี้ยง นางใน ข้าหลวง ในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี". สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)