เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ทองดี)

เจ้าพระยาธรรมาธิกร (ทองดี) ต้นสกุลธรรมสโรช นามเดิมว่า ทองดี เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยชั้นเดิมมีบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นศรีสรรักษ์ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระยาพิพัฒโกษาและได้รับประราชทานโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเจ้าพระยาธรรมากร เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวังคนที่ 2 ในรัชกาลที่ 1[1][2]

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี
(ทองดี)
เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวัง
ข้อมูลส่วนบุคคล
สัญชาติสยาม
ศาสนาพุทธ
บุพการีเจ้าพระยาอภัยราชา (เจ้าคุณประตูจีน)

ประวัติ แก้

เจ้าพระยาธรรมาธิกร (ทองดี ธรรมสโรช) เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยราชา ที่เรียกกันว่า เจ้าคุณประตูจีน ครั้งกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระยาอภัยราชาผู้นี้ตามความในราชพงศาวดาร เดิมเป็นเจ้าพระยาสุภาวดี บ้านอยู่ประตูจีน แล้วได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม ในตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมกันกับพระยาธรรมไตรโลก บ้านคลองแกลบ ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนาธิบดีศรีสมุห พระกลาโหม (เจ้าพระยากลาโหม คลองแกลบ) เจ้าพระยาอภัยราชา (เจ้าคุณประตูจีน) มีบุตรชายคนโตคือพระสำราญองค์ (ต้นสกุลสโรบล) เป็นข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 1 พระสำราญองค์มีบุตรคือพระยาศรีสุริยะพาหะ (สระ) ข้าราชการในรัชกาลที่ 2 พระยาศรีพาหะ มีบุตรคือพระยามณเฑียรบาล (บัว) เป็นพระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านผู้นี้เป็นคุณตาของคุณจอมมารดาเลี่ยม (เล็ก) ผู้เป็นคุณจอมมารดาของพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจำรัส

นามสกุลธรรมสโรช ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ นายพลตรี พระวิบุลอายุรเวท (เสข ธรรมโรช) แต่ครั้งยังเป็นนายพันตรี หลวงศักดาพลรักษ์ ผู้รั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารบกกลาง ว่า ธรรมสโรช (Dharmasaroja) ซึ่งท่านผู้นี้เป็นบุตรของหลวงเทวะวงศวโรปการ (เสน) อันเป็นบุตรของจมื่นสรสิทธิราช (จุ้ย) กับท่านไม้จีน บุตรของท่านคล้าย (ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ทางมารดาของพระยาวิบุลอายุรเวทคือท่านศิลาเป็นบุตรีของท่านทันและเป็นหลานตาของพระยาอุทัยธรรม (นุด) ผู้เป็นบุตรของเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมารหรือพระนเรนทรราชา (ต้นสกุลรุ่งไพโรจน์) ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 18 ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ซึงเป็นพระราชธิดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

ในเวลาก่อนหน้าที่พระยาวิบุลอายุรเวทจะได้รับนามสกุลพระราชทานก็ได้มีผู้สืบสายโลหิตโดยตรงในสกุลอีกผู้หนึ่งได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ 6 ว่าสกุล รัตนทัศนีย (Ratnadasniya) คือพระยามหิมานุภาพ (เป๋า รัตนทัศนีย์) กรมพระตำรวจในซ้าย บิดาคือพระยาณรงค์วิไชย (ทัศ) ผู้เป็นต้นสกุลรัตนทัศนีย ปู่คือพระยาเพชรพิไชย (เอี่ยม ธรรมสโรช) ซึ่งเป็นพี่ชายของท่านคล้ายและพระยาราชงคราม (อินทร์) และท่านพลับ

ในเวลาใกล้เคียงกันกับที่พระยาวิบุลอายุรเวทได้รับพระราชทานนามสกุล ก็ได้มีผู้สืบสายโลหิตโดยตรงในสกุลอีกผู้หนึ่งได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ ๖ ว่าสกุล อินทรวิมล (Indravimala) คือ นายร้อยโท นายศุขแพทย์ ผู้บังคับหมวดพยาบาล โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม บิดาชื่อนายเผื่อน ปู่คือพระยาราชสงคราม (อินทร์) ผู้เป็นต้นตระกูล อินทรวิมล ซึ่งแยกออกไปจากสกุลธรรมสโรช

อ้างอิง แก้

  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์, เรื่องการตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์, โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, พ.ศ. 2461
  2. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เพลงยาว เก็บถาวร 2005-04-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2545, ปีที่ 49, ประจำวันอังคารที่ 29 กรกฎาคม 2546

http://www.brh.thaigov.net/new/brh/about/brh_history_web/036.htm[ลิงก์เสีย] หนังสือประวัติสำนักพระราชวัง พิมพ์ครั้งที่ ๓ สำนักพระราชวัง กรกฎาคม ๒๕๔๓)