นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ)

(เปลี่ยนทางจาก เจียร จารุจรณ)

นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) (14 สิงหาคม พ.ศ. 2442 — 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531) ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2529 สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์)[1] ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นต้นแบบสาธยายท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพต่อเบื่องพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีคุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) ภรรยาพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) อดีตเจ้ากรมมหรสพ ผู้ปรดิษฐ์ท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ร่วมดูเป็นประจักษ์พยานในความถูกต้อง และนายรงภักดีถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพให้กับนาฏศิลปินโขนยักษ์ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่ถูกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้

นายรงภักดี
(เจียร จารุจรณ)
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด14 สิงหาคม พ.ศ. 2442
จังหวัดนครปฐม
เสียชีวิต3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 (88 ปี)
รางวัล
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2529 - สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์)
นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) ขณะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ประวัติ แก้

นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) เกิดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ที่จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรของจางวางจอน และนางพริ้ง เป็นศิลปินอาวุโสด้านนาฏศิลป์ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับในวงการนาฏศิลป์ไทยโดยทั่วไป เคยรับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มชิวิตศิลปินในกรมโขนหลวง โดยฝึกหัดเป็นตัวยักษ์ ได้รับการถ่ายถอดท่ารำจากบรรดาครู ที่สืบเนื่องจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นศิลปินผู้เดียวที่ได้รับการถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์สูงสุด ความสามารถในการร่ายรำนี้ ทำให้ได้รับบทเป็นตัวแสดงเอก จนได้รับพระราชทินนามว่า "นายรงภักดี"

นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) เข้ารับการฝึกหัดโขนยักษ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิชานาฏศิลป์ไทยได้แก่

  1. พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต)
  2. คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต)
  3. พระยาพรหมาภิบาล (ทองใบ สุวรรณภารต)
  4. พระยาสุนทรเทพระบำ (เปลี่ยน สุนทรนัฏ)
  5. หลวงรำถวายกร (สาย สายะนัฏ)

และยังมีครูอาจารย์ทั้งชายและหญิงอีกหลายท่าน

นายรงภักดีรับราชการเป็นศิลปินแสดงโขนเป็นตัวเอกในเรื่องรามเกียรติ์ เช่น พิราพ, รามสูร, กุมภกรรณ, มัยราพณ์, วิรุญจำบัง และตัวอื่น ๆ อีก ได้แสดงโขนหน้าพระที่นั่งถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง

ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นตำรวจหลวง ร้อยเอก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีหน้าที่เป็นครูสอนโขน ฝ่ายยักษ์ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อมีอายุครบ 60 ปี ตามปกติจะต้องเกษียณอายุราชการ รับพระราชทานบำเหน็จ บำนาญ แต่ด้วยความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติราชการ จึงให้รับราชการต่อไป เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) พ.ศ. 2529

นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 สิริอายุ 89 ปี

การสาธยายท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ แก้

ปฐมบทในการการถ่ายทอดท่ารำ แก้

หลังจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีศิลปินที่สามารถรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพได้ เหลืออยู่เพียงผู้เดียวคือ นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) แต่ก็มิอาจถ่ายทอดให้แก่ศิษยานุศิษย์ผู้หนึ่งผู้ใดได้ หากมิได้รับพระบรมราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสียก่อน เมื่อธนิต อยู่โพธิ์ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรได้พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ศิลปินอาวุโสของกรมศิลปากร ได้รับการถ่ายทอดการรำหน้าพาทย์เพลงองค์พระพิราพ ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ นายรงภักดี ( เจียร จารุจรณ ) ครูผู้ใหญ่ในพระราชสำนัก ประกอบพิธีครอบองค์พระพิราพ ให้แก่ศิลปินอาวุโสของกรมศิลปากร ณ บริเวณโรงละคร พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 ศิลปินอาวุโสที่ได้รับครอบองค์พระพิราพ จำนวน 4 คน คือ

  1. อาคม สายาคม
  2. อร่าม อินทรนัฏ
  3. หยัด ช้างทอง
  4. ยอแสง ภักดีเทวา
 
แผนผังระยะเวลาการถ่ายทอดท่ารำ

รูปนายรงภักดีกับการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ แก้

รูปจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ)

อ้างอิง แก้

  • หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2529 สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์)
  • จดหมายเหตุพระราชพิธี พระราชทานครอบประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน-ละคร และพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์ องค์พระพิราพ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พุทธศักราช 2527 โดยกรมศิลปากร
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-07. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.