เงินก้นถุง หมายถึง เงินที่เก็บไว้เป็นมงคล[1] เงินจำนวนหนึ่งที่ผู้ใหญ่มอบให้ใช้ทำทุนหรือเป็นทุนรอนสำหรับดำรงชีวิตครอบครัว เช่น มอบให้ในวันแต่งงาน จะเป็นจำนวนน้อยหรือจำนวนมากก็ได้ ถ้าเป็นจำนวนมาก ก็จะเก็บเงินไว้สัก 2-3 เหรียญ ใส่ไว้ในถุงเงินหรือกำปั่น ส่วนที่เหลือก็จะนำไปใช้ตั้งตัวที่เรียกว่า "เงินก้นถุง" ก็เพราะในสมัยก่อนไม่มีธนบัตรใช้มีใช้แต่เงินเหรียญและยังไม่มีกระเป๋าสตางค์ใช้ ก็เอาผ้ามาเย็บเป็นถุง ใส่เงินเหรียญสำหรับพกพาติดตัวเวลาเดินทางหรือไปจ่ายตลาด ถ้ามีมากมายเกินกว่าจะใส่ถุงได้หมดก็จะเก็บไว้ในกำปั้น ปัจจุบันมักเก็บไว้ในตู้นิรภัย

เงินก้นถุงที่ได้รับมาถือว่าเป็นของดีเป็นของสิริมงคลนำโชคลาภ ผู้ได้รับมักจะไม่ใช้เงินก้อนนี้ จะเก็บไว้ก้นถุง จึงเรียกว่า "เงินก้นถุง" ด้วยถือเคล็ดว่า เมื่อใส่เงินก้นถุงไว้ก้นถุงแล้ว จะมีเงินเพิ่มในถุงมากขึ้น ๆ จนเต็มถุง ซึ่งหมายถึงฐานะของตน มั่งคั่งขึ้นนั่นเอง โอกาสที่ผู้ใหญ่จะให้เงินก้นถุงแก่ลูกหลานหรือบริวารก็คือเมื่อลูกหลานหรือบริวารแต่งงานออกเรือนไป หรือ เริ่มดำเนินกิจการค้าขายของตนเอง หรือต้องออกจากบ้านไป ทำมาหากินในที่ต่างถิ่นหรือเป็นรางวัลอย่างใดอย่างหนึ่ง เงินก้นถุงที่ให้ไปนี้มักจะใส่อยู่ในถุงผ้าสีแดงสีเงินหรือสีทอง แล้วแต่ฐานะของผู้ให้ ถ้าเป็นเงินก้นถุงพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ผู้ได้รับพระราชทานจะนำไปวางใส่พานตั้งไว้บนหิ้งพระหรือโต๊ะหมู่บูชาพระ เพราะถือว่าเป็นสิ่งสิริมงคลอย่างสูงแก่ผู้ได้รับพระราชทาน[2]

อ้างอิง แก้

  1. พจนานุกรม ฉบับมติชน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. 2547.
  2. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. 2542. ISBN 9748365301.