อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง

อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง (ฝรั่งเศส: Henri Cartier-Bresson) เป็นช่างถ่ายภาพชาวฝรั่งเศส ตอนเด็ก ๆ เขามีกล้องตัวเล็ก ๆ สำหรับถ่ายภาพเล่นแต่สิ่งที่เขาชื่นชอบมากกว่ากลับกลายเป็นการวาดรูป เขาเคยบอกไว้ครั้งหนึ่งว่าการวาดภาพเป็นความหลงใหลใฝ่ฝันของเขา เริ่มตั้งแต่ลุงของเขาได้พาไปเยี่ยมสตูดิโอวาดภาพในช่วงคริสต์มาส เมื่อได้ไปอยู่ ณ ที่นั้น เขารู้สึกราวกับว่าถูกดูดเข้าไปใน Canvas (ผ้าใบที่ใช้วาดภาพ) สิ่งที่สำคัญที่ทำให้อ็องรี การ์ติเยร์-แบรซง สนใจ "ภาพของเด็ก ๆ ผิวดำที่กำลังวิ่งเล่นอยู่กับคลื่นนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้แทบไม่เชื่อว่านี่คือภาพที่ได้มาจากกล้อง มันราวกับชีวิตจริง ๆ " หลังจากนั้นเขาก็หันไปหยิบกล้องและภาพถ่ายอย่างจริงจัง วันหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 ได้ถ่ายภาพที่โด่งดังมากภาพหนึ่งที่ปารีส

ประวัติ แก้

อ็องรี การ์ตีเย-แบรซงเกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2451 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีอันจะกิน มีชีวิตค่อนข้างสุขสบาย พ่อของเขาชอบร่างภาพเมื่อมีเวลาว่างจากการทำงาน และลุงของเขาชอบการวาดภาพสีน้ำมันเป็นชีวิตจิตใจ การ์ตีเย-แบรซงในวัยเยาว์จึงซึมซับศิลปะแขนงนี้ไว้ในใจ เขาเข้าสู่แวดวงศิลปะโดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบาศกนิยมและเหนือจริงตามลำดับ แต่ในที่สุด เขาได้เลือกการถ่ายภาพเป็นเครื่องมือในการแสดงออกวิธีและมุมมองต่อการมองโลกของเขา แต่การเข้าไปคลุกคลีอยู่กับศิลปินในช่วงเวลานี้เป็นเสมือนหนึ่งการวางรากฐานของศิลปะให้กับการถ่ายภาพที่อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง เอาจริงเอาจังในเวลาต่อมา

พ.ศ. 2490 เขาได้ร่วมก่อตั้งเอเจนซีช่างภาพกับเพื่อนช่างภาพอีก 3 คน คือ โรเบิร์ต คาปา, เดวิด เซเมอร์, จอร์จ รอดเจอร์ เอเจนซีแห่งนี้มีส่วนปรับเปลี่ยนมาตรฐานใหม่ของการจ้างและลิขสิทธิ์ผลงานของช่างภาพ เป็นช่วงเวลาที่อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง รายงานสถานการณ์ต่าง ๆ ในฐานะช่างภาพอาชีพให้กับนิตยสารข่าวรายเดือนหลายฉบับ โดยมี Life, Paris Match และ Ce Soir (นิตยสารฝรั่งเศส)

พ.ศ. 2495 หนังสือรวมผลงานภาพชื่อ Image a la Sauvette (Street Photography) ของอ็องรี การ์ตีเย-แบรซง ได้รับการตีพิมพ์ในบทนำของหนังสือภาพเล่มนี้เขาได้เขียนถึงวิธีการและสิ่งที่เขายึดถือในการทำงานเอาไว้อย่างละเอียดจนกล่าวได้ว่ามันเป็นบทเรียนสำคัญที่ถ่ายทอดไว้ให้ช่างภาพรุ่นหลัง

ภาพถ่ายของ อ็องรีการ์ตีเย-แบรซง เป็นการทำงานที่ต้องอาศัยการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันของจิตใจ สายตาทักษะความชำนาญ การตอบสนองของสมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สัญชาตญาณ สุนทรีศาสตร์ความรู้เรื่องบริบทของสังคมการเมือง โชค ความบังเอิญ การรอคอย และเลือกที่จะบันทึกมุมมองหนึ่ง ๆ ของตนโดยการตัดสินใจในเศษเสี้ยวของวินาที

อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง เดินทางไปรอบโลก โดยเฉพาะในเอเชียที่เขาร่อนเร่ไปตามประเทศต่าง ๆ นานสามปี ตั้งแต่อินเดีย อินโดนีเซีย จีน โดยเข้าไปเป็นประจักษ์พยานต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ในภูมิภาคนี้ ในอินเดียเขาเป็นช่างภาพคนสุดท้ายที่ได้สนทนาและบันทึกภาพมหาตมะ คานธี หนึ่งชั่วโมงก่อนถูกลอบสังหารในจีน

เขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีน ด้วยความเหมาะเจาะพอดีของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การปฏิวัติด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพโดยเฉพาะกล้องไลกาที่มีคุณภาพดีขนาดพอเหมาะพอดี ทำให้ง่ายต่อการทำงาน การเติบโตของนิตยสารภาพ การพัตนาทางวิชาชีพและช่างภาพที่มีความสามารถเป็นเลิศจำนวนหนึ่งโฟโตเจอร์นอลิสม์ จึงได้พบกับช่วงเวลาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การถ่ายภาพ

แรงบันดาลใจ แก้

หลังจากมีกล้อง brownie box และถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกโดยไม่ได้เอาจริงเอาจังเท่าไรนัก แต่เมื่อเขาได้เห็นภาพถ่ายของช่างภาพชาวฮังการีชื่อ Martin Munkacsi เขาจึงเริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจัง ตอนนั้นเขาอายุประมาณ 23 ปี การ์ตีเย-แบรซงเล่าถึงแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากภาพนั้นในทำนองที่ว่า เมื่อได้เห็นภาพนั้น เขาตระหนักได้ทันทีถึงความสามารถของการถ่ายภาพที่สามารถบันทึกความเป็นนิรันดร์เอาไว้ได้ มันเป็นภาพถ่ายภาพเดียวที่มีอิทธิพลต่อเขาจวบจนทุกวันนี้ เพราะมันแสดงถึงอารมณ์ ความสนุกสนาน และความมหัศจรรย์ของชีวิต เขาบอกว่าเขาเหมือนโดนเตะที่ก้นและถูกเร่งเร้าให้ออกไปถ่ายภาพ

เขาชอบเลนส์ 50 มิลลิเมตร เพราะเขาบอกว่าใกล้เคียงกับระยะการมองของคนและมันบิดเบือนสิ่งที่เขาเห็นน้อยที่สุด ในทางเทคนิคมันก็เป็นอย่างนั้น แต่บางคนชอบมองแบบเจาะจง บางคนชอบมองกว้าง ๆ ดังนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับการมองโลกของแต่ละคน เทคนิคการถ่ายภาพนอกจากนั้นแล้ว อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง นั้นไม่ใช้แฟลช เพราะมันทำให้เหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่สะดุดกับแสงวาบ และมันเหมือนกับเป็นการคุกคามที่หยาบคายไร้มารยาท เมื่อจะต้องเลือกภาพเพื่อลงพิมพ์ เขาไม่คร็อปภาพ และยิ่งไม่อนุญาตให้ใครหน้าไหนทำแบบนั้น เพราะในขณะกดชัตเตอร์เขาคิดว่ามันเป็นความสมบรูณ์ของการทำงานในขณะนั้นโดยช่างภาพ ดังนั้นควรเคารพชิ้นงานของผู้สร้างงานนั้น ๆ

ภาพถ่าย แก้

ภาพการดำเนินชีวิตของผู้คนธรรมดาที่กลายมาเป็นภาพกวี ภาพถ่ายของเขาคือ การเดินทางไปในโลกแห่งความจริงและโลกแห่งจินตนาการ และยังได้จัดนิทรรศการครั้งแรกที่เม็กซิโกในปี พ.ศ. 2478

กลางปี พ.ศ. 2513 อ็องรี กลับไปวาดภาพและสนใจเรื่องการถ่ายภาพน้อยลง และเขาก็ได้รู้สึกว่าการถ่ายภาพนั้นแตกต่างจากการวาด และการกลับไปวาดภาพนั้นเหมือนกับการกลับคืนสู่วัยเยาว์ของเขาอีกครั้งหนึ่ง

สิ่งที่ทำให้งานของอ็องรี การ์ตีเย-แบรซง โดดเด่นจากงานของช่างภาพคนอื่น ๆ นั้น เป็นเพราะเขาเป็นทั้งจิตรกรและช่างภาพ เขาได้พยายามเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างการถ่ายภาพและการวาดรูปเช่นเดียวกับการใช้พู่กันของจิตกรแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป

รางวัล แก้

  • พ.ศ. 2491 รางวัลสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของอเมริกา
  • พ.ศ. 2596 รางวัล A.S.M.P.
  • พ.ศ. 2497 รางวัลสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของอมริกา
  • พ.ศ. 2503 รางวัลสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของอเมริกา
  • พ.ศ. 2507 รางวัลสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศอเมริกา
  • พ.ศ. 2525 รางวัล ฮัสเซลเบลด

ปรัชญาการทำงาน แก้

There is nothing in this world that does not have a decisive moment.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้