อุปลักษณ์ เป็นมโนในการทำความเข้าใจของสิ่งหนึ่ง ด้วยอีกสิ่งหนึ่ง อุปลักษณ์ เป็นการวาดภาพทางภาษาซึ่งเปรียบเทียบของสองสิ่งหรือแนวคิดสองอย่าง

อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ แก้

คำว่า "อุปลักษณ์" ในทางอรรถศาสตร์ปริชาน ไม่ถือว่าเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาเชิงวรรณกรรม หรือเป็นเพียงแค่ลีลาการใช้ภาษา เพราะอุปลักษณ์ในที่นี้ถือเป็นกระบวนการทางปริชานที่ทำให้มนุษย์เราสามารถจัดการกับระบบความคิด และยังถือเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการสร้างระบบภาษา

จอร์จ เลคอฟ (George Lakoff) และ มาร์ค จอห์นสัน (Mark Johnson) ผู้ริเริ่มทฤษฎีอุปลักษณ์มโนทัศนี้ทำให้การศึกษาอุปลักษณ์เชิงปริชานกลายเป็นการศึกษาที่มีความสำคัญ ไม่เฉพาะต่อการศึกษาวิจัยด้านภาษาศาสตร์ แต่ยังรวมถึงการศึกษาด้านปรากฏการณ์ทางสังคม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เลคอฟอธิบายเกี่ยวกับอุปลักษณ์ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน และไม่ใช่อยู่แค่ในภาษา แต่ยังอยู่ในทั้งความคิดและการกระทำ ระบบมโนทัศน์ (conceptual system) ที่ทำให้มนุษย์เราสามารถคิดและทำสิ่งต่างๆ ได้ล้วนมีพื้นฐานมาจากอุปลักษณ์ทั้งสิ้น มโนทัศน์ (concepts) ที่มีผลต่อความคิดของมนุษย์ เรานั้นแท้จริงแล้วมิได้เป็นระบบที่ปราดเปรื่องแต่อย่างใด มโนทัศน์เพียงทำหน้าที่รวบรวมรายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกิจกรรมที่เราทำทุกๆ วัน และประกอบโครงสร้างของสิ่งที่เรารับรู้ผ่านประสาทสัมผัส วิธีปฏิบัติของเราที่มีต่อสิ่งรอบตัว รวมทั้งการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งหมดนี้คือบทบาทของระบบการสร้างมโนทัศน์ของมนุษย์เรา

แท้จริงแล้วเลคอฟและจอห์นสันไม่ได้มองอุปลักษณ์ในแนวปริชานว่าเป็นเพียงแค่สิ่งที่เกิดขึ้นทางภาษาศาสตร์ แต่มองว่าเป็นปรากฏการณ์ทางปริชานที่ประกอบทั้งระบบภาษาและระบบความคิดเข้าด้วยกัน หลักการนี้มีอยู่ในวิธีการที่มนุษย์สร้างระบบความรู้ต่างๆ และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตของมโนทัศน์ (conceptual domain) หนึ่งโดยใช้อีกมโนทัศน์เป็นตัวช่วย ความสามารถนี้เป็นผลมาจากการที่ระบบการสร้างมโนทัศน์ทำการสร้างและกำหนดขอบเขตทางความคิดด้วยการใช้อุปลักษณ์ จุดนี้เองที่ถือเป็นความคิดที่ได้รับการกลั่นกรองโดยระบบการรับรู้ความหมายซึ่งนำไปสู่การให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องอุปลักษณ์

อุปลักษณ์ทางมโนทัศน์เกิดจากโครงสร้างทางความคิด เราเข้าใจอุปลักษณ์ได้เพราะมีการทับซ้อนของขอบเขตของมโนทัศน์ต่างๆ (mapping of conceptual domains) นั่นก็คือการที่มิติทางความคิดต่างๆ (mental spaces) มีการเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ หมายความว่าวัตถุหรือองค์ประกอบในมิติทางความคิดหนึ่งไปสัมพันธ์กับวัตถุหรือองค์ประกอบในอีกมิติทางความคิดหนึ่ง

บทบาทของอุปลักษณ์ทางปริชานนี้ถูกกำหนดโดยความสามารถที่ระบบทางความคิดประมวลออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย ระบบการสร้างมโนทัศน์ปกติของเรานั้นจึงเป็นระบบที่ต้องพึ่งพากระบวนการทางอุปลักษณ์อยู่ตลอด เราสามารถกล่าวได้ว่าอุปลักษณ์คือสิ่งที่ธรรมดาและเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดในชีวิตมนุษย์

เลคอฟให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการของอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ไว้ว่าเกิดจากการที่มโนทัศน์ที่เป็นนามธรรม (abstract concept) สร้างขึ้นจากมโนทัศน์ที่มีความใกล้เคียงกับประสบการณ์ที่มีพื้นฐานจากทางร่างกาย (corporal experience) ของเรา กระบวนการนี้มีความสัมพันธ์กับตัวมโนทัศน์ไม่ใช่ตัวคำในภาษา และยังสัมพันธ์กับระบบการคิดอย่างมีเหตุผล กระบวนการหลักของอุปลักษณ์มโนทัศน์คือการถ่ายทอดระหว่างขอบเขตของมโนทัศน์ที่ต่างกัน โดยจะมีการเก็บโครงสร้างที่เป็นตัวอนุมานระหว่างแต่ละมโนทัศน์ไว้เสมอ

ด้วยเหตุนี้ อุปลักษณ์จึงทำให้การคิดเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น เลคอฟอธิบายเพิ่มเติมว่ากรอบของประสบการณ์ทางความคิดเชิงนามธรรมที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งหลายนั้นจะถูกรวบรวมโดยผ่านเครือข่ายของอุปลักษณ์ซึ่งทำหน้าที่สร้างแบบแผนทางความคิด ดังนั้นหน้าที่สำคัญของอุปลักษณ์คือการเชื่อมโยงรูปแบบความคิดที่เป็นนามธรรมเข้ากับรูปแบบความคิดทางกายภาพโดยผ่านตัวกระทำทางปริชาน ส่วนประสบการณ์แต่ละแบบนั้นก็เกิดขึ้นมาจากการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบๆ ตัวเรา ดังนั้นอุปลักษณ์จึงเชื่อมต่อรูปแบบการแสดงความคิดเข้ากับพื้นฐานทางความรู้สึกและประสบการณ์

อุปลักษณ์จะถ่ายทอดรูปแบบทางความคิดจากขอบเขตต้นทาง (source domain) ไปยัง ขอบเขตปลายทางหรือของเขตเป้าหมาย (target/objective domain) ด้วยเหตุนี้รูปแบบทางความคิดของขอบเขตเป้าหมายจึงถูกรับรู้ได้โดยผ่านประสบการณ์เชิงมิติกายภาพ (physico-spatial experience) อันมีผลมาจากรูปแบบความคิดต้นทาง อุปลักษณ์แต่ละแบบจึงประกอบไปด้วยมโนทัศน์ต้นทาง มโนทัศน์เป้าหมาย และระบบการเชื่อมโยงทั้งสองมโนทัศน์เข้าหากัน และด้วยกระบวนการการถ่ายทอดระหว่างมโนทัศน์นี้ ส่วนหนึ่งของโครงสร้างมิติที่หลากหลาย (multidimensional structure) จากมโนทัศน์ต้นทางจะถูกนำไปสัมพันธ์กับอีกโครงสร้างที่ประกอบขึ้นมาเป็นระบบมโนทัศน์ปลายทาง การที่มโนทัศน์หนึ่งๆ จะสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลให้กับตัวอุปลักษณ์ได้นั้น เราต้องเข้าใจมโนทัศน์นั้นๆ โดยไม่แยกจากอุปลักษณ์ เลคอฟชี้ให้เห็นว่าระหว่างสองมโนทัศน์ที่จะเชื่อมต่อกันนั้น ต้องมีความสัมพันธ์ทางโครงสร้าง (structural correlation) ที่อยู่ภายในประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา ตัวอย่างเช่น ลักษณะแนวดิ่ง (verticality) ถือเป็นขอบเขตต้นทางที่สำคัญในการที่เราจะทำความเข้าใจเรื่องปริมาณและปริมาตร เพราะมนุษย์เราจะมีระบบความสัมพันธ์จากประสบการณ์การรับรู้เรื่องแนวดิ่งและปริมาณเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เช่นการที่เราเติมน้ำลงไปในแก้วแล้วเราเห็นระดับน้ำสูงขึ้น กระบวนการทางความคิดนี้ถือได้ว่าเป็นรูปแบบทางธรรมชาติ

อ้างอิง แก้