อุทยานแห่งชาติออบหลวง

อุทยานแห่งชาติออบหลวง เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 100 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 553 ตารางกิโลเมตร (345,625 ไร่)[2] พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและสูงชัน มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แหล่งน้ำหลักคือลำน้ำแม่แจ่ม ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะแก่งเมื่อไหลผ่านหุบเขา ในอุทยานมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ จำแนกได้หลายประเภท สามารถพบสัตว์ป่าได้หลายชนิด เช่น เลียงผา เสือ หมี เป็นต้น นอกจากนี้ภายในอุทยานแห่งชาติยังมีน้ำพุร้อน น้ำตก ถ้ำ และแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์

อุทยานแห่งชาติออบหลวง
ออบหลวง
แผนที่
ที่ตั้งอำเภอจอมทอง อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด18°13′23″N 98°28′52″E / 18.22306°N 98.48111°E / 18.22306; 98.48111
พื้นที่553 ตารางกิโลเมตร (346,000 ไร่)
จัดตั้ง4 ธันวาคม พ.ศ. 2534[1]
ผู้เยี่ยมชม42,708 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ประวัติ แก้

แรกเริ่มกรมป่าไม้ได้ทำการจัดตั้ง "วนอุทยานออบหลวง" ขึ้นในบริเวณอุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2509 ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหางดง อำเภอฮอด และตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ โดยกรมป่าไม้เห็นว่าบริเวณนี้มีสภาพภูมิประเทศที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ประกอบด้วยโขดผา ลำน้ำที่ไหลผ่านหลืบเขาที่ชาวบ้านเรียกกันมาก่อนหน้านี้ว่า ออบหลวง ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นแปลว่า ช่องแคบขนาดใหญ่ ตามลักษณะภูมิประเทศ ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่พักของคนงานบริษัทบอร์เนียว ซึ่งคอยเก็บไม้สักที่ลำเลียงมาตามลำน้ำแม่แจ่ม

ต่อมากรมป่าไม้ได้โอนวนอุทยานออบหลวงมาอยู่ในความดูแลของกองอุทยานแห่งชาติ สังกัดกรมป่าไม้ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2531 กองอุทยานแห่งชาติได้ทำการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมรอบวนอุทยานเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ พื้นที่เพิ่มเติมรอบวนอุทยานประกอบด้วย ป่าจอมทอง ป่าแม่แจ่ม–แม่ตื่น และป่าแม่แจ่ม ทั้งหมดแต่เดิมเป็นป่าถาวรของชาติตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2509 จากนั้นได้ยกฐานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติโดยเรียงลำดับเวลาดังนี้ ป่าแม่แจ่ม–แม่ตื่นเมื่อปี พ.ศ. 2509 ป่าจอมทองเมื่อปี พ.ศ. 2510 และป่าแม่แจ่มเมื่อปี พ.ศ. 2517 ป่าทั้งหมดมีสภาพสมบูรณ์ รวมพื้นที่ประมาณ 630 ตารางกิโลเมตร เมื่อทำการสำรวจเสร็จสิ้น กองอุทยานแห่งชาติได้รวมป่าข้างต้นทั้งหมดเข้ากับวนอุทยานฯและจัดตั้งเป็น อุทยานแห่งชาติออบหลวง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ถือเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 68 ของประเทศ[3]

ภูมิศาสตร์ แก้

ที่ตั้ง แก้

อุทยานแห่งชาติออบหลวงมีพื้นที่ครอบคลุมตำบลดอยแก้ว ตำบลสบเตี๊ยะ ตำบลแม่สอย ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม และตำบลหางดง ตำบลนาคอเรือ ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้[4]

  • ทิศเหนือ – อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
  • ทิศใต้ – จรดห้วยแม่ป่าไผ่ และเขตสหกรณ์นิคมแม่แจ่ม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก – จรดบ้านแม่สอย โครงการป่าสงวนแห่งชาติป่าจอมทองที่ 2 เขตสุขาภิบาลหางดง และเขตสหกรณ์นิคมแม่แจ่ม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก – จรดห้วยบง ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด และห้วยอมขูด เขตสงวนป่าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้แม่แต่ม ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ภูมิประเทศ แก้

พื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันและสลับซับซ้อน มีที่ราบน้อยมาก กลุ่มภูเขาวางตัวในแนวเหนือ–ใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย มีอาณาเขตติดต่อกับดอยอินทนนท์ พื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 280–1,980 เมตร[4] ยอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ ภูเขาที่สำคัญได้แก่ ดอยผาดำ ดอยเลี่ยม ดอยปุยหลวง ดอยคำ เป็นต้น แหล่งน้ำที่สำคัญคือ ลำน้ำแม่แจ่ม ซึ่งเป็นเขตแบ่งอำเภอจอมทองและอำเภอฮอด ไหลผ่านกลางพื้นที่อุทยานแห่งชาติจากทิศตะวันตกไปตะวันออก เฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติมีความยาวประมาณ 27 กิโลเมตร แม่น้ำไม่คดเคี้ยวมาก ภูมิประเทศที่แม่น้ำไหลผ่านมีลักษณะเป็นหุบเขา ตลิ่งแม่น้ำในอุทยานแห่งชาติมีลักษณะเป็นเกาะแก่ง มีโขดหินขนาดใหญ่ เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ แหล่งน้ำอื่นในอุทยานแห่งชาติได้แก่ ห้วยแม่แตะ ห้วยแม่เตี๊ยะ ห้วยแม่สอย ห้วยแม่แปะ ห้วยแม่จร ห้วยแม่หึด ห้วยแม่หลวง ห้วยแม่นาเปิน ห้วยแม่บัวคำ ห้วยแม่ลอน ห้วยบง ห้วยแม่ฮอด ห้วยทราย และห้วยแม่ป่าไผ่ บางส่วนไหลลงแม่น้ำแม่แจ่ม ซึ่งในที่สุดก็ลงมารวมกับแม่น้ำปิงทั้งหมด[4] ถือเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนล่าง

ธรณีวิทยา แก้

บริเวณออบหลวงเป็นหินแปรเกรดสูง มีขนาดต่าง ๆ กัน เกิดจากการแปรสัณฐานในช่วงยุคไทรแอสซิก (200–250 ล้านปีก่อน) หินที่เป็นองค์ประกอบของพื้นที่ได้แก่ หินแกรนิต แกรโนไดออไรท์ สลับกับหินบะซอลต์และหินตระกูลแกรนิตชนิดมิคมาไทด์ ซึ่งประกอบด้วย แร่ควอตซ์และเฟลด์สปาร์ จากยุคไทรแอสซิกและครีเทเชียส สำหรับท้องน้ำของลำน้ำแม่แจ่มมีเกาะแก่ง หินขนาดต่าง ๆ ริมฝั่งแม่น้ำบางช่วงมีหาดทราย เกิดจากน้ำพัดพาตะกอนมาสะสม นอกจากนี้ยังพบก้อนหินกลมประเภทกรวดท้องน้ำของหินควอร์ตไซต์ ควอตซ์ แจสเปอร์ เป็นต้น[5]

นิเวศวิทยา แก้

พืชพรรณ แก้

ในอุทยานแห่งชาติออบหลวงสามารถพบป่าไม้ได้หลายประเภท แตกต่างตามระดับความสูง จำแนกได้ดังนี้[4][6][7]

  • ป่าเต็งรัง – ครอบคลุมราว 70% ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พบทั่วไปในบริเวณภูเขา ความสูงไม่เกิน 800 เมตร เช่น บริเวณที่ทำการอุทยานฯ พันธุ์ไม้สำคัญที่พบได้แก่ เหียง พลวง เต็ง รัง และมะขามป้อม มักประสบปัญหาไฟไหม้ป่าทุกปี โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง
  • ป่าเบญจพรรณ – พบทั่วไปตั้งแต่ระดับความสูง 400–800 เมตร พบขึ้นอยู่ตามริมห้วยและริมหุบเขาสองฝั่งลำน้ำแม่แจ่ม พื้นที่น้ำตกแม่นาเปิน เป็นต้น พันธุ์ไม้สำคัญที่พบได้แก่ สัก ประดู่ แดง มะค่าโมง เก็ดแดง เก็ดดำ ขะเจ๊าะ ตะแบก รกฟ้า และไผ่ชนิดต่าง ๆ
  • ป่าดิบแล้ง – พบทั่วไปบริเวณไหล่เขาและหุบเขาใกล้ลำห้วย เช่น บริเวณห้วยแม่นาเปิน ห้วยแม่บัวคำ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ กะบาก ยาง ตะเคียน มะค่าโมง แคหิน และปาล์มหลายชนิด
  • ป่าสนเขา – พบขึ้นอยู่ในระดับความสูงราว 800–1,000 เมตร เช่น ดอยป่ากล้วย ดอยเลี่ยม ดอยผาดำ อำเภอจอมทอง และดอยคำ ดอยหมู่ติง ดอยปุยหลวง อำเภอฮอด มีทั้งสนสองใบและสนสามใบ
  • ป่าดิบเขา – พบขึ้นกระจายอยู่ในระดับสูงเหนือป่าสนเขาขึ้นไป พันธุ์ไม้สำคัญที่พบได้แก่ ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อเลือด มะขามป้องดง ยมหอม หว้า จำปีป่า เป็นต้น ไม้พื้นล่างที่พบได้แก่ เฟิน กล้วยไม้ดิน มอสชนิดต่าง ๆ

สัตว์ป่า แก้

ปัจจุบันมีสัตว์ป่าเหลืออยู่จำนวนน้อย เนื่องจากสภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ มีภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีที่ราบและทุ่งหญ้าน้อย สัตว์ป่าที่สามารถพบเห็นได้ เช่น เลียงผา เสือ หมี กวางป่า หมูป่า เก้ง ชะนี ลิง ชะมด กระต่ายป่า นิ่ม ตะกวด นกประมาณสองร้อยชนิด เช่น นกกางเขนบ้าน นกกางเขนดง นกพญาไฟ นกเขาใหญ่ นกเขาเขียว นกดุเหว่า นกหัวขวาน นกกะปูด นกขุนทอง นกแก้ว เหยี่ยวรุ้ง นกยูง ไก่ฟ้า ไก่ป่า นกกระทา นกคุ่ม นกเขียวก้านตอง นกกระเต็น นกปรอดหัวโขน และนกกินแมลงหลายชนิด สัตว์เลื้อยคลานที่พบได้แก่ ตะกวด แย้ ในลำน้ำแม่แจ่มพบปลาชุกชุมและมีหลายชนิด ปลาที่สำคัญได้แก่ ปลาจิ้งจอก ปลาค้อ

แหล่งท่องเที่ยว แก้

 
บริเวณออบหลวง ด้านล่างคือลำน้ำแม่แจ่ม

เชิงสุขภาพและผจญภัย แก้

  • บ่อน้ำร้อนเทพพนม – ห่างจากออบหลวงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 14 กิโลเมตร ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1088 เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติเกิดจากความร้อนใต้พิภพ น้ำมีความร้อนสูงถึง 99 องศาเซลเซียส บริเวณโดยรอบเป็นที่ราบราว 10 ไร่ มีลำห้วยโป่งไหลผ่าน
  • ลำน้ำแม่แจ่ม – มีกิจกรรมล่องแก่งเรือยาง มีสองระยะ คือ ระหว่างสะพานแม่นาเปิน–ท่าพระเสด็จ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร และระหว่างบ้านอมขูด–บ้านท่าเรือ ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร

เชิงธรรมชาติ แก้

  • ออบหลวง – เป็นช่องแคบเขาขาดมีหน้าผาหินขนาบลำน้ำแม่แจ่ม หน้าผามีความสูงถึงระดับน้ำปกติประมาณ 32 เมตร ส่วนที่แคบสุด 2 เมตร[5] ความยาวช่องแคบประมาณ 300 เมตร ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ช่องเเคบเขามีลำน้ำแม่แจ่มไหลกั้นตลอดสายจนจบแม่น้ำปิง เป็นเขตรอยต่อระหว่างอำเภอจอมทอง กับ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
  • น้ำตกแม่จอน – ส่วนหนึ่งของห้วยแม่จอนหลวง เขตตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง น้ำตกมีหน้าผาขนาดใหญ่ สูงราว 100 เมตร กว้าง 80 เมตร เป็นหินแกรนิตผสมหินแปรสีขาวเจือสีเทาอ่อน
  • น้ำตกแม่เตี๊ยะ – ส่วนหนึ่งของห้วยแม่เตี๊ยะ ในเขตตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง มีความสูงประมาณ 80 เมตร กว้าง 40 เมตร มีน้ำตลอดปี เข้าถึงได้โดยการเดินเท้าจากบ้านแม่เตี๊ยะประมาณ 8 กิโลเมตร
  • น้ำตกแม่บัวคำ – ส่วนหนึ่งของห้วยแม่บัวคำ เขตตำบลหางดง อำเภอฮอด สูงประมาณ 50 เมตร ลดหลั่นลงมาเป็นเพิงชั้น
  • ถ้ำตอง – ตั้งอยู่ในดอยผาเลียบ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง ปากถ้ำมีขนาดประมาณ 5×10 เมตร สูง 3 เมตร หน้าถ้ำมีห้วยแม่แปะไหลผ่าน ปัจจุบันบริเวณปากถ้ำถูกใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของสำนักวิปัสสนาถ้ำตอง
  • ถ้ำตุ๊ปู่ – ในตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง เป็นถ้ำหินปูนขนาดเล็ก ปากถ้ำมีขนาดประมาณ 1×1.5 เมตร ภายในกว้างขวางมีรูปร่างค่อนข้างกลม มีหินงอกหินย้อยอยู่ทั่วไป
  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยคำ – มีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร

เชิงประวัติศาสตร์ แก้

ผาช้าง ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

เป็นหินขนาดใหญ่ชนิดแกรนิตชนิดมิคมาไทด์ทั้งแท่ง ปรากฏออกสีน้ำตาลดำ ขนาดยาว 300 เมตร สูง 80 เมตร มีลักษณะคล้ายช้างตัวใหญ่นอนหมอบอยู่ ห่างจากออบหลวงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 400 เมตร[4] บนยอดดอยเป็นจุดชมวิว สามารถมองเห็นน้ำตกแม่บัวคำ ออบหลวง และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ด้านตะวันตกของดอยผาช้างมีเพิงผาคล้ายถ้ำ เรียกว่า "ถ้ำผาช้าง" คาดว่าเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบภาพเขียนรูปสัตว์และคนหลายภาพ เขียนด้วยสีขาวและสีแดงอมดำเข้ม กรมศิลปากรยืนยันว่าเป็นครั้งแรกที่พบภาพเขียนโบราณในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งพบเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยนายสายันต์ ไพรชาญจิตร และนายประทีป เพ็งตะโก นักโบราณคดีของกองโบราณคดี สันนิษฐานว่าภาพเขียนมีอายุราว 7,500–8,500 ปี

แหล่งโบราณคดีของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ออบหลวง ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

เป็นเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1,200 เมตร[4] ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จุดเริ่มต้นจากออบหลวง จากการสำรวจโดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร ร่วมมือกับทีมวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก เช่น เครื่องมือหินกระเทาะทำจากหินกรวดท้องน้ำ แกนและสะเก็ดหิน ขวานหินขัด ชิ้นส่วนเครื่องประดับ ภาชนะสัมฤทธิ์ ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ทั้งยังพบโครงกระดูกมนุษย์ในยุคสัมฤทธิ์ มีอายุระหว่าง 2,500–3,500 ปีก่อนคริสตกาล

อ้างอิง แก้

  1. "Ob Luang National Park". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 November 2013. สืบค้นเมื่อ 9 April 2014.
  2. "ข้อมูลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา 133 แห่ง". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022, no 68{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  3. "Op Luang National Park". Michelin Travel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 เมษายน 2014. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2014.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 (ร่าง) การจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์เพื่อเป็นแม่บทในการจัดการอุทยานแห่งชาติออบหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  5. 5.0 5.1 ธรณีวิทยาแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรมทรัพยากรธรณี, หน้า 28-29
  6. "National Parks in Thailand: Op Luang National Park" (PDF). กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. 2015. pp. 80–81. สืบค้นเมื่อ 27 May 2017.
  7. Elliot, Stephan; Cubitt, Gerald (2001). The national parks and other wild places of Thailand. New Holland Publishers (UK) Ltd. pp. 94–97. ISBN 9781859748862.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้