อุทยานแห่งชาติทับลาน

อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติในภาคอีสานและภาคตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีป่าลานซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารต่าง ๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หุบผา หน้าผา น้ำตก นับว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน[2]

อุทยานแห่งชาติทับลาน
แผนที่
ที่ตั้งอำเภอครบุรี อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี
พิกัด14°12′N 101°55′E / 14.200°N 101.917°E / 14.200; 101.917
พื้นที่2,236 ตารางกิโลเมตร (1,398,000 ไร่)
จัดตั้ง23 ธันวาคม 2524 [1]
ผู้เยี่ยมชม57,075 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ประเภทมรดกทางธรรมชาติ
เกณฑ์ธรรมชาติ: (x)
ขึ้นเมื่อพ.ศ. 2548 (คณะกรรมการสมัยที่ 29)
เลขอ้างอิง590
ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
ฝูงกระทิงป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโก ภายใต้ชื่อ "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่"

อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ประจำปี 2563

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

อุทยานแห่งชาติทับลานเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตทิวเขาพนมดงรัก สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อนต่อเนื่องกันเป็นบริเวณกว้างขวาง โดยมีเขาที่สำคัญหลายลูก เช่น เขาละมั่ง เขาภูสามง่าม เขาภูสูง เขาใหญ่ เขาวง เขาสลัดได เขาทิดสี เขาไม้ปล้อง เขาทับเจ็ก และเขาด่านงิ้ว ซึ่งยอดเขาละมั่งเป็นยอดเขาที่สูงสุด มีระดับความสูงประมาณ 992 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นทิวเขายาวต่อเนื่องกันทำให้มีหุบเขาตามธรรมชาติ เหว และน้ำตก เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำหลายสาย เช่น ห้วยขมิ้น ห้วยปลาก้าง ห้วยคำแช ห้วยคำขี้แรด ห้วยมูลสามง่าม ห้วยภูหอม ห้วยกระทิง ห้วยลำเลย ห้วยกุดตาสี ห้วยลำดวน เป็นต้น ลำห้วยแต่ละสายไหลรวมกันเป็นแม่น้ำมูล ส่วนลำห้วยสวนน้ำหอม ห้วยหินยาว ห้วยชมพู ห้วยสาลิกา ห้วยวังมืด ห้วยลำไยใหญ่ ฯลฯ ลำห้วยเหล่านี้จะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกง

ลักษณะภูมิอากาศ แก้

อุทยานแห่งชาติทับลาน

  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม–ตุลาคม ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะพัดพาความชุ่มชื้นมาจากทะเลอันดามันและอ่าวไทยจนทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับปริมาณน้ำฝนมาก เฉลี่ยตลอดปี 1,070 มิลลิเมตร ฝนจะตกชุกที่สุดในเดือนกันยายน ซึ่งทิวเขาพนมดงรักจะปะทะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และทำให้ฝนตกในบริเวณด้านรับลมมากกว่าด้านไม่รับลม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน–มกราคม อากาศจะหนาวเย็นมากในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุด 22.8 องศาเซลเซียส
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์–พฤษภาคม อากาศจะร้อนอบอ้าวมากในเดือนเมษายนซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 29.3 องศาเซลเซียส

สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26.7 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า แก้

 
อุทยานแห่งชาติทับลาน

อุทยานแห่งชาติทับลานมีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความสมบูรณ์มาก จัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษระทางนิเวศของป่าภาคกลางและป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุกชุม

 
ต้นลานออกดอกครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2552

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติทับลานยังมีป่าอีกชนิดหนึ่งซึ่งถือเป็นประเภทป่าผลัดใบ ป่าชนิดนี้เรียกว่า "ป่าลาน" สภาพจะเป็นป่าโปร่ง มีลานขึ้นอย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่ ป่าลานนี้มีเนื้อที่ 200 ไร่ บริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง ด้านตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ไม้ลานเป็นพืชในตระกูลปาล์ม (Palmae) บริเวณป่าลานและป่ารุ่นเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ กระรอก หนู กระต่ายป่า พังพอน เก้ง กวางป่า เหยี่ยวขาว นกคุ่มอกลาย กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหางยาว อึ่งอ่างบ้าน และคางคกเป็นต้น

ต้นลานเมื่ออายุได้ประมาณ 60 ปี จะมีต้นสูงใหญ่ราว 10 เมตร และจะออกดอกเพียงครั้งเดียวในชีวิต หลังจากนั้นต้นลานจะตายลง และให้เมล็ดที่ร่วงลงมาขึ้นเป็นต้นใหม่แทน โดยเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2552 ต้นลานได้ออกดอกเป็นจำนวนมากกว่าปีอื่น เชื่อว่าอีกหลายปีจึงจะพบเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้อีก

บริเวณเขาหินปูน ถ้ำ หน้าผา ซึ่งได้แก่บริเวณเขาละมั่ง เขาวง และภูสามง่าม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและที่กำบังภัยของสัตว์ป่าบางชนิด เช่น เลียงผา เม่นหางพวง ค้างคาว บริเวณแหล่งน้ำ ห้วย ลำธาร เป็นย่านที่อาศัยของสัตว์ป่าบางชนิด ได้แก่ งูปลิง กบหงอน เขียดอ่องเล็ก นกยางไฟธรรมดา นกยางเขียว นกกระเต็นน้อยธรรมดา นกกระเต็นใหญ่ธรรมดา และนกกระเต็นลาย ปลาน้ำจืดที่พบ เช่น ปลาชะโอน ปลาดุกเนื้อเลน ปลากระสง ปลาดัก ปลากระทิงดำ

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้