อำเภอสุวรรณภูมิ

อำเภอในจังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย

สุวรรณภูมิ เป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นอำเภอศูนย์กลางทางด้านการคมนาคม การปกครอง การศึกษาเเละเศรษฐกิจของกลุ่มอำเภอโซนใต้ของจังหวัดร้อยเอ็ด อีกทั้งยังเป็นอำเภอที่มีความเจริญเป็นรองแค่เพียงอำเภอเมืองร้อยเอ็ด พื้นที่อำเภอสุวรรณภูมิเดิมเป็นที่ตั้งของเมืองท่งศรีภูมิ เคยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมพื้นที่กลุ่มจังหวัดร้อยเเก่นสารสินธ์ุ เเทบจะทั้งหมด เเละบางส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร อุบลราชธานี ชัยภูมิ อุดรธานี ซึ่งเมืองท่งศรีภูมิเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ สถาปนาโดยพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรเมื่อปี พ.ศ. 2256 ต่อมาได้เข้ามาอยู่ในอาณาเขตของอาณาจักรอยุธยา ในปี พ.ศ. 2308 จนถึงอาณาจักรธนบุรี ในปี พ.ศ. 2310 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสุวรรณภูมิ ในปี พ.ศ. 2315 ต่อมาได้ลดฐานะจากเมืองชั้นเอก (เทียบเท่าจังหวัด) เป็น "อำเภอสุวรรณภูมิ" ในปี พ.ศ. 2451 ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 15 ตำบล มีประชากรในปี พ.ศ. 2562 จำนวน 116,015 คน

อำเภอสุวรรณภูมิ
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Suwannaphum
คำขวัญ: 
สุวรรณภูมิแดนกู่พระโกนา ทุ่งกุลาสดใส งานใหญ่บั้งไฟแสน ดินแดนวัฒนธรรม
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอสุวรรณภูมิ
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอสุวรรณภูมิ
พิกัด: 15°36′33″N 103°48′1″E / 15.60917°N 103.80028°E / 15.60917; 103.80028
ประเทศ ไทย
จังหวัดร้อยเอ็ด
พื้นที่
 • ทั้งหมด1,107.042 ตร.กม. (427.431 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด114,296 คน
 • ความหนาแน่น103.25 คน/ตร.กม. (267.4 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 45130
รหัสภูมิศาสตร์4511
ที่ตั้งที่ว่าการหมู่ที่ 2 ถนนปัทมานนท์ ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด 45130
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ประวัติศาสตร์ แก้

 
อาณาเขตของเมืองหรือรัฐท่งศรีภูมิ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2256
 
แผนที่อาณาเขต เมืองท่งศรีภูมิ ระหว่างปี พ.ศ. 2256 - 2315 เเละเมืองสุวรรณภูมิ ระหว่างปี พ.ศ. 2315 - 2318
 
เเผนที่การปักปันอาณาเขตระหว่างเมืองสุวรรณภูมิกับเมืองร้อยเอ็ด ตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2318

บริเวณอำเภอสุวรรณภูมิเดิมเป็นที่ตั้งของเมืองชื่อ "เมืองท่งศรีภูมิ" หรือนิยมเรียกทั่วไปว่า "เมืองศรีภูมิ" โดยแรกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ที่สถาปนาโดยพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ในปี พ.ศ. 2256 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา) ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเสียว โดยมีแม่น้ำชีเป็นเขตแดนด้านตะวันออก (เขตนครหลวงจำปาสัก) และแม่น้ำมูลเป็นเขตแดนด้านทิศใต้ กั้นระหว่างเขตเมืองนครราชสีมา (เมืองในเขตอาณาจักรอยุธยา) ด้านทิศเหนือชนแดนเขตอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ บริเวณเมืองผาขาว เมืองพันนา สนามหมากหญ้า (เขตรอยต่อ อุดรธานี หนองบัวลำภู และขอนแก่นในปัจจุบัน) ภูเม็ง (เขตอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น) ฝายพญานาค (รอยต่ออำเภอหนองเรือ และอำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน) เมืองท่งศรีภูมิมีเจ้าแก้วมงคลเป็นปฐมวงศ์ เจ้าเมืองพระองค์แรก และเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2308 ได้เกิดความขัดแย้งในการสืบต่ออำนาจเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ เป็นเหตุให้เมืองท่งศรีภูมิได้เข้าอยู่ภายใต้อาณาเขตของอาณาจักรอยุธยา จนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2310 เมืองท่งศรีภูมิได้เป็นรัฐอิสระ และรวมตัวอย่างหลวม ๆ กับก๊กพิมายหลังกรุงแตก ต่อมาในปี พ.ศ. 2311 หลังพระยาตาก (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ได้ตีเมืองพิมายได้เป็นก๊กแรก เมืองท่งศรีภูมิจึงได้เข้าสวามิภักดิ์พระยาตากสิน

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2315 เจ้าเซียง ทายาทเจ้าแก้วมงคล เจ้าเมืองท่งศรีภูมิลำดับที่ 4 ได้เสนอขอย้ายที่ตั้งศูนย์กลางเมืองท่งศรีภูมิไปด้านทิศตะวันตก บริเวณตำบลดงเท้าสาร และขอพระราชทานนามเมืองใหม่เป็น "เมืองสุวรรณภูมิ" นับแต่นั้น โดยมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงธนบุรีสืบต่อจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

ภายหลัง พ.ศ. 2325 หลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมืองสุวรรณภูมิได้อยู่ในอาณาเขตของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ โดยมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2338 โดยมีชื่อเมืองเต็มว่า "สุวรรณภูมิราชบุรินทร์" หรือเขียนเป็น "สุวรรณภูมิราชบุรี" หรือ "สุวรรณภูมิราชบุรีย์" พระยศเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ได้รับพระราชทินนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า "รัตนวงษา" หรือ "รัตนวงศา" อันหมายถึง สายสกุล ผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าแก้วมงคล อันเป็นปฐมวงศ์เจ้าเมืองท่งศรีภูมิ โดยเป็นหนึ่งในสายพระบรมวงศานุวงศ์ของพระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ เมืองสุวรรณภูมิได้แบ่งอาณาเขตออกให้ทายาทของเจ้าแก้วมงคลได้ปกครองหลายเมือง ดังนี้

  1. พ.ศ. 2318 เมืองร้อยเอ็ด (จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน)
  2. พ.ศ. 2330 เมืองหนองหาน (อำเภอหนองหานในปัจจุบัน)
  3. พ.ศ. 2335 เมืองชนบท (อำเภอชนบทในปัจจุบัน)
  4. พ.ศ. 2340 เมืองขอนแก่น (จังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน)
  5. พ.ศ. 2342 เมืองพุทไธสง (อำเภอพุทไธสงในปัจจุบัน)
  6. พ.ศ. 2408 เมืองมหาสารคาม แยกออกจากเมืองร้อยเอ็ด
  7. พ.ศ. 2415 เมืองเกษตรวิสัย (อำเภอเกษตรวิสัยในปัจจุบัน)
  8. พ.ศ. 2417 เมืองธวัช (อำเภอธวัชบุรีในปัจจุบัน เดิมตั้งที่ตำบลธวัชดินแดง) โดยแยกออกจากเมืองร้อยเอ็ด
  9. พ.ศ. 2421 เมืองพนมไพรแดนมฤค (อำเภอพนมไพรในปัจจุบัน)
  10. พ.ศ. 2422 เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน)
  11. พ.ศ. 2425 เมืองวาปีปทุม (อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน) แยกออกจากเมืองร้อยเอ็ด แต่ไปตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองสุวรรณภูมิ ภายหลังยังคงให้ขึ้นเมืองร้อยเอ็ด ก่อนมาขึ้นจังหวัดมหาสารคามในภายหลัง
  12. พ.ศ. 2425 เมืองจตุรพักตร์พิมาน (อำเภอจตุรพักตร์พิมาน ในปัจจุบัน)
  13. พ.ศ. 2425 เมืองโกสุมพิสัย (อำเภอโกสุมพิสัย ในปัจจุบัน) แยกออกจากเมืองมหาสารคาม

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2435 มีการปฏิรูปการปกครองในระบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองสุวรรณภูมิคงฐานะเป็นเมืองชั้นเอก โดยมีเมืองชั้นโท ตรี และจัตวา ภายใต้การปกครองจำนวน 5 เมือง ได้แก่ เมืองสุวรรณภูมิ เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (หรืออำเภอพยัคฆภูมิพิสัย), เมืองพนมไพรแดนมฤค (หรืออำเภอพนมไพร), เมืองเกษตรวิสัย (หรืออำเภอเกษตรวิสัย) และเมืองจุตรพักตร์พิมาน (หรืออำเภอจตุรพักตรพิมาน) ซึ่งเมืองทั้งหมดล้วนแยกออกมาจากเมืองสุวรรณภูมิ และมีเจ้าเมืองที่เป็นทายาทของเจ้าแก้วมงคลทั้งสิ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 ได้มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค มีการยุบมณฑลทั่วประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงเมืองต่าง ๆ เป็นจังหวัดและอำเภอ โดยตั้งเมืองชั้นเอกเป็นจังหวัด และตั้งเมืองชั้น โท ตรี และจัตวา เป็นอำเภอและตำบล เมืองสุวรรณภูมิจึงถูกเปลี่ยนฐานะเป็นอำเภออยู่ภายในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดนับแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนเมืองขึ้นของเมืองสุวรรณภูมิเดิมทั้ง 4 เมือง ถูกเปลี่ยนเป็นอำเภอภายในจังหวัดร้อยเอ็ด 3 เมือง และเป็นอำเภอภายในจังหวัดมหาสารคาม 1 เมือง (ทั้งนี้เมืองชั้นเอกที่ถูกเปลี่ยนเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2451 ได้แก่ เมืองกมลาไสย, เมืองเขมราฐธานี, เมืองยะโสธร ซึ่งยกฐานะกลับเป็นจังหวัดยโสธรในปี พ.ศ. 2515, เมืองมุกดาหาร ซึ่งยกฐานะกลับเป็นจังหวัดมุกดาหาร ในปี พ.ศ. 2525, เมืองสังฆะ, เมืองขุขันธ์, เมืองภูเขียว, เมืองภูเวียง และเมืองนางรอง เป็นต้น)

อำเภอสุวรรณภูมิในปัจจุบัน นับจากปีที่ถูกยุบเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2451 มีนายอำเภอทั้งสิ้นแล้ว 45 คน มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 15 ตำบล ทั้งนี้ อำเภอสุวรรณภูมิมีการแยกออกเป็น 2 อำเภอ หลัง ปี พ.ศ. 2451 ได้แก่ อำเภอเมืองสรวง และอำเภอโพนทราย ในด้านลำดับชั้นของอำเภอที่กำหนดโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อำเภอสุวรรณภูมิมีฐานะเป็นอำเภอชั้น 1 เช่นเดียวกับอำเภอเมืองร้อยเอ็ด และอำเภอเมืองในจังหวัดอื่น ๆ ที่มิใช่อำเภอชั้นพิเศษ

พื้นที่อาณาเขตทั้งหมดของเมืองศรีภูมิ ตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2256 - 2315 มีพื้นที่โดยประมาณ 31,000 ตารางกิโลเมตร เมืองสุวรรณภูมิ ปี พ.ศ. 2318 - 2335 มีพื้นที่โดยประมาณ 16,500 ตารางกิโลเมตร เมืองสุวรรณภูมิ หลังแบ่งตั้งเมืองต่างๆ ระหว่าง พ.ศ. 2318 - 2409 คงเหลือพื้นที่ เพียง 9,200 ตารางกิโลเมตร โดยประมาณ[1] ต่อมาภายหลังจากที่เมืองสุวรรณภูมิถูกยุบกลายเป็นอำเภอ คงเหลือพื้นที่โดยประมาณ 1,532.294 ตารางกิโลเมตร ต่อมาเเม้ว่าอำเภอสุวรรณภูมิจะมีการเเยกออกไปอีก 2 อำเภอ (อำเภอเมืองสรวงเเละอำเภอโพนทราย) อำเภอสุวรรณภูมิก็ยังคงเป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดของจังหวัดร้อยเอ็ดจนถึงปัจจุบัน ด้วยขนาดพื้นที่ 1,107.042 ตารางกิโลเมตร


ลำดับเจ้าเมืองทุ่งศรีภูมิ แก้

 
เจ้าแก้วมงคล เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิคนแรก
 
เจ้าแก้วมงคล
 
อนุสาวรีย์ท้าวเซียง เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิคนที่ 4 และเป็นผู้ครองเมืองสุวรรณภูมิคนแรก
ลำดับที่ เจ้าเมือง ปีที่ครอง ปีที่สิ้นสุด จำนวนปีที่ครองเมือง เหตุการณ์สำคัญ/อื่น ๆ
สมัยอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก (พ.ศ. 2256–2308)
1 เจ้าแก้วมงคล พ.ศ. 2256 พ.ศ. 2268 12

ตั้งเมืองท่งศรีภูมิ ณ บริเวณเมืองเก่า ตำบลทุ่งศรีเมือง อำเภอสุวรรณภูมิ พระราชครูโพนสะเม็ก (เจ้าราชครูหลวง) ฐานะพระสังฆราช ของราช อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ เสด็จ มา ทำพิธีวางเสาหลักเมือง

แต่งตั้ง เจ้ามืดคำดล เป็นอุปราช และ เจ้าสุทนต์มณี เป็น ราชบุตร (ตามลักษณะการปกครอง อาญาสี่ ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองของล้านช้าง ล้านนา)
2 เจ้ามืดคำดล พ.ศ. 2268 พ.ศ. 2306 38

เจ้ามืดคำดล เกิดในคืนเดือนมืด เรียกอีกชื่อหนึ่ง ว่า ท้าวมืด เป็นบุตรคนโต ที่เกิดเเต่พระชายาท่านที่ 2 ชาวเวียงจันทน์ ของ เจ้าแก้วมงคล

แต่งตั้ง เจ้าสุทนต์มณี (น้องชาย) เป็น อุปฮาด และ แต่งตั้ง ท้าวเซียง (บุตรคนโต) เป็น ราชบุตร หลังจากได้ครองเมืองท่ง เจ้ามืดคำดลได้ตั้งแข็งเมืองเป็น เอกราช ไม่ได้ขึ้นแก่นครจำปาศักดิ์ เพราะเหตุว่านครจำปาศักดิ์พี่กับน้องเกิดวิวาทยาดชิงสมบัติแก่กันจึงหาได้ติดตามมาว่ากล่าวเอาส่วยสาอากรไม่ ครั้นต่อมา เจ้าองค์หล่อหน่อคำ เจ้าผู้ครองนครน่าน ซึ่งเป็นบุตรเจ้าแก้วมงคล หลานเจ้านครน่านคนเก่า เกิดเเต่ธิดาเจ้านครน่าน พระชายาท่านเเรกของเจ้าเเก้วมงคล ได้พาไพร่พลมาสืบหาพระบิดา ซึ่งรู้ข่าวว่าพระบิดามาเป็นเจ้าเมือง อยู่ริมสระสี่แจ่ง แฮ้งสี่ตัว แม่หญิงเอาผัว พ่อชายออกลูก ครั้นมาถึงเขตเมืองท่ง ตั้งค่ายอยู่ระหว่างปากเสียวน้อย ซึ่งเรียกว่าวังหม่านจนบัดนี้นั้น เจ้าองค์หล่อจับได้เพี้ยบุตรตะพานบ้านโนนสูง กวนหมื่นหน้าบ้านเบน ซึ่งยกทัพออกมาต่อสู้กันนอกเมือง เมื่อได้ตัวแม่ทัพสองคนนี้แล้ว จึงซักไล่ไต่ถามหาสระสี่แจง แฮ้งสี่ตัว แม่หญิงเอาผัว พ่อชายออกลูก แม่ทัพทั้งสองได้แจ้งความให้เจ้าองค์หล่อหน่อคำทราบตลอดแต่ต้นจนถึงปลาย เจ้าอค์หล่อหน่อคำจึงได้ทราบว่าเป็นเมืองพระบิดาของตน แล้วปล่อยให้แม่ทัพสองคนเข้าไปบอกแก่เจ้ามืดคำดลน้องชายให้ทราบทุกประการโดยแน่นอนแล้ว เจ้ามืดรู้ว่าเป็นพี่ชายแห่งตน จึงได้แต่งให้แสนท้าวออกไปอัญเชิญเจ้าองค์หล่อหน่อคำให้เข้ามายังเมืองท่ง แล้วจัดการรับรองให้เป็นเกียรติยศอันดี แล้วเจ้ามืดพร้อมกับเจ้าองค์หล่อหน่อคำ จัดการปลงศพจารแก้วผู้เป็นบิดาตามประเพณีผู้ครองบ้านเมืองมาแต่ก่อน เสร็จแล้วเจ้าองค์หล่อหน่อคำก็ลาเจ้ามืดน้องชายกลับคืนนครน่านตามเดิม[2][3][4][5]
3 เจ้าสุทนต์มณี พ.ศ. 2306 พ.ศ. 2308 2
เจ้าสุทนต์มณี เกิดมา พร้อมมี "ฟัน" หรือ "พระทนต์" ด้วย จึงได้ชื่อว่า "สุทนต์มณี" เป็นบุตรคนที่ 2 ที่เกิดเเต่พระชายาท่านที่ 2 ชาวเวียงจันทน์ ของ เจ้าแก้วมงคล ครองเมืองได้ ๒ ปี ต่อมา ท้าวเซียง (บุตรคนโต ของ เจ้ามืดคำดล) และท้าวสูน (น้องชายของ ท้าวเซียง) ได้ร่วมกับกรมการเมืองบางส่วน คบคิดเพื่อหาทางให้ ท้าวเซียง ขึ้นเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ จึงนำทองคำไปถวายและขอสวามิภักดิ์ ต่อ อาณาจักรอยุธยา และเจ้าผู้ครองนครจำปาสัก มิได้ให้ความช่วยเหลือ เจ้าสุทนต์มณี มากพอ จึงยังผลให้ เจ้าสุทนต์มณี และกรมการเมือง ที่จงรักภักดี พร้อมไพร่พลเมืองส่วนใหญ่ หนีออกจากเมืองท่งศรีภูมิ ไปตั้งรับ ที่ บ้านดงเมืองจอก (เขตอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ในปัจจุบัน) และ ท้าวเซียง ได้ครองเมืองท่งศรีภูมิ เป็น เจ้าเมืองลำดับที่ ๔ ต่อ จาก อา (เจ้าสุทนต์มณี) และได้แต่งตั้ง ท้าวสูน (น้องชายของ ท้าวเซียง) เป็น อุปฮาด และ แต่งตั้ง ท้าวเพ (บุตรท้าวเซียง) เป็น ราชบุตร
สมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2308–2310)
4 เจ้าเซียง (ท้าวเซียง) พ.ศ. 2308 พ.ศ. 2310 2
ท้าวเซียง ภายหลังได้รับการพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จาก สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แห่งอาณาจักรอยุธยา แล้ว ได้ครองเมือง เป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ ลำดับที่ ๔ ต่อมา เกิดศึกระหว่าง อาณาจักรพม่ายุคที่ 3 กับ อาณาจักรอยุธยา จนกระทั่งเสียกรุง ในวันที่ 7 เมษายน 2310 เมืองท่งศรีภูมิ จึงกลายเป็น รัฐอิสระ อย่างน้อย ๗ เดือน จนกระทั่ง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กู้กรุงสำเร็จ จึงได้เข้าสวามิภักดิ์ ต่อ อาณาจักรธนบุรี

ลำดับเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และผู้ว่าราชการเมืองสุวรรณภูมิ แก้

ลำดับที่ เจ้าเมือง ปีที่ครอง ปีที่สิ้นสุด จำนวนปีที่ครองเมือง เหตุการณ์สำคัญ/อื่น ๆ
สมัยอาณาจักรกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310–2325)
4 เจ้าเซียง (ท้าวเซียง) หรือ พระรัตนวงษา (เซียง) 2310 2325 15 (นับต่อเนื่อง จาก ปี 2308 ได้ 17 ปี)

ในปี 2310 หลังเมืองท่งศรีภูมิ เป็น อิสระ ได้ไม่นาน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้สถาปนา อาณาจักรธนบุรี เสร็จสิ้นแล้ว จึงมรับสั่งให้เมืองประเทศราชทุกเมือง ที่เคยสวามิภักดิ์ ต่อ อาณาจักรอยุธยา ให้อยู่ภายใต้อำนาจดังเดิม เจ้าเซียง หรือ ท้าวเซียง จึงได้สวามิภักดิ์ ดังเดิม และต่อมา ในปี 2315 ทางกรมการเมือง และพระยากรมท่า ได้หารือกับเจ้าเมือง เห็นควรว่า ควรย้ายที่ตั้งเมืองใหม่ เนื่องจาก บริเวณที่ตั้งเดิม ติดลำน้ำเสียว ชัยภูมิไม่เหมาะสมในการป้องกันเมือง ตลิ่งเซาะพัง น้ำท่วมถึง ขยายเมืองต่อไปในภายภาคหน้ามิได้ จึงได้ มีใบบอกไปยัง กรุงธนบุรี ขอย้ายที่ตั้งเมืองท่งศรีภูมิ ไป ยังบริเวณ ดงเท้าสาร ซึ่งเป็นเนินสูง ขนาดใหญ่ น้ำท่วมไม่ถึง ใกล้บริเวณแหล่งน้ำเสียว ดังเดิม และเดิมพื้นที่ เคยเป็นที่ตั้งบ้านดงเมืองหาง ซึ่งเป็นเมืองเก่า มาแต่เดิมก่อนแล้ว ทางกรุงธนบุรี จึงมีรับสั่งและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ ย้ายที่ตั้งเมือง มาที่บริเวณดังกล่าว และสถาปนาพระยศ ท้าวเซียง เป็น "พระรัตนวงษา" เซียง ทั้งนี้ พระยศนั้น ให้ยังถึง พระนามของ เจ้าปู่ คือ เจ้าแก้วมงคล ผู้เป็นปฐมวงศ์เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิ พระองค์แรก และ ได้พระราชทานนามเมืองใหม่ ว่า "เมืองสุวรรณภูมิ" ในปี 2315 เป็นต้นมา ต่อมา พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับสั่งให้ พระยากรมท่า ได้ เจรจาให้ พระรัตนวงษาเซียง กับ เจ้าสุทนต์มณี (ยังตั้งทัพยั้งอยู่ บริเวณบ้านดงเมืองจอก) ให้คืนดีกัน ในฐานะ อาว์ และหลาน และ พระยากรมท่า ได้เจรจา ขอให้ เจ้าสุทนต์มณี เข้าสวามิภักดิ์ ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าสุทนต์มณี จึงนำไพร่พลเข้าสวามิภักดิ์ และขอตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ บริเวณ บ้านกุ่มฮ้าง ขอขึ้นเป็น เมืองร้อยเอ็ด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงได้พระราชทานแต่งตั้งพระยศ เป็น "พระขัติยวงษา (ทนต์)" ในปี 2318 ลุจุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมแมสัปตศก ฝ่ายท้าวทนเจ้าเมืองทงคนเก่าซึ่งหนีไปอยู่ณบ้านกุดจอกจึ่งเข้าหาพระยาพรหม พระยากรมท่า ๆ เห็นว่าท้าวทนมีผู้คนบ่าวไพร่ควบคุมอยู่มาก จึ่งมีใบบอกไปยังกรุงธนบุรีขอตั้งท้าวทนต์ (เจ้าสุทนต์มณี)เปนเจ้าเมือง ขอยกบ้านกุ่มซึ่งเป็นที่เมืองร้อยเอ็ดเก่าเปนเมืองจึ่งโปรดตั้งให้ท้าวทนเป็น "พระขัติยวงษา" เจ้าเมือง ยกบ้านกุ่มขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ดตามนามเดิม ครั้งนั้นเขตเมืองสุวรรณภูมิ แลเมืองร้อยเอ็ดมีว่า "ตั้งแต่ปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูล ขึ้นมาตามลำน้ำพาชีถึงปากห้วยดางเดียขึ้นไปทุ่งลาดไถ ไปบ้านข้อเหล็ก บ้านแก่งทรายหิน ตั้งแต่ถ้ำเต่าเหวฮวดดวงสวนอ้อย บึงกุยศาลาอีเก้งภูเมง หนองม่วงคลุ้ม กุ่มปักศาลาหักมูลเดง ประจบปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูลนี้เปนเขตรเมืองสุวรรณภูมิ"

"ตั้งแต่ลำน้ำยางตกลำน้ำพาชี ขึ้นไปภูดอกซ้อน หินทอด ยอดยาง ดู่สามต้น อ้นสามขวาย สนามหมาดหญ้า ผ้าขาวพันนา ฝายพระยานาคภูเมง มาประจบหนองแก้วศาลาอีเก้งมาบึงกุย นี้เปนอาณาเขตรเมืองร้อยเอ็ด"
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325–2451)
4 พระรัตนวงษา (เซียง) 2325 2330 5 (นับต่อเนื่องจากปี 2308 ได้ 22 ปี)
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ในวันที่ 6 เมษายน 2325 พระรัตนวงษา (เซียง) จึงได้นำบรรณาการและต้นดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ถวายและขอสวามิภักดิ์ ต่ออาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) เป็นต้นมา
5 พระรัตนวงษา (สูน) 2330 2335 5

ในปี 2330 ท้าวสูน ผู้เป็น น้องชาย ของ พระรัตนวงษา (เซียง) และ ดำรงตำแหน่ง "อุปฮาด" ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ส่วน ท้าวเพ (บุตรของ พระรัตนวงษาเซียง) ซึ่งดำรงตำแหน่ง "ราชบุตร" ในขณะนั้น เพื่อสนับสนุนและป้องกันปัญหาการครองเมืองดังในอดีต รวมทั้งเป็นเมืองบริวารและป้องกันเมืองสำคัญด้านทิศเหนือ คือ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) พระรัตนวงษา (สูน) จึงได้ขอพระราชทานให้มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง ท้าวเพ ไปตั้งเมืองใหม่ และแบ่งเขตดินแดนทางตอนเหนือของเมืองสุวรรณภูมิ (ภายหลัง เป็นเขตของเมืองร้อยเอ็ดแล้ว) ให้ ท้าวเพ ได้ปกครอง เมืองสุวรรณภูมิ จึงได้แบ่งไพร่พล ให้ จำนวน 600 คน ไปตั้งเมืองบริเวณเมืองเก่า ขึ้นเป็นเมืองหนองหาน ปัจจุบัน คือ อำเภอหนองหาน และสถานปนาพระยศ ท้าวเพ เป็น "พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์" เจ้าเมืองหนองหาน ท่านแรก ในปี 2330 และ แต่งตั้ง ท้าวอ่อน ( บุตรของ พระขัติยวงษาทนต์ (เจ้าสุทนต์มณี) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด) เป็น "อุปฮาด" และแต่งตั้ง ท้าวโอ๊ะ (บุตร ของ พระรัตนวงษา เซียง ซึ่งเป็น น้องชาย ของ ท้าวเพ หรือ พระพิทักษ์เขือนขันธ์) ดำรงตำแหน่ง เป็น "ราชบุตร"

ต่อมา ในปี 2335 ได้มีเหตุ ทิดโคตร ก่อคดีได้ใช้มีดฟัน เจ้าเมือง คือ พระรัตนวงษา (สูน) เสียชีวิต ท้าวอ่อน จึงได้รับโปรดเกล้าจารึกพระสุพรรณบัฏให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ เป็นที่พระรัตนาวงษามหาขัติยราช ครองเมืองสุวรรณภูมิราชบุรียประเทศราช ดังที่ข้อความในเอกสารเรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 กล่าวไว้ว่า "...ด้วยพระบาทสมเดจพระพุทธิเจ้าอยู่หัวผู้ผ่านพิภพกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ จ้าวอุปราช เปน พระรันตนาวงษามหาขัติยราชครองเมืองสุวัณภูมราชบุรียประเทศราช เศกให้ ณ วันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือน 10 จุลศักราช 1153 ปีกุนตรีศก เพลาเช้า 2 โมง 6 บาท..."[6][7]
6 พระรัตนาวงษามหาขัติยราช (อ่อน) 2335 2357 22
พระรัตนวงษา (อ่อน) เป็นบุตร ของพระขัติยวงษาทนต์ ได้ครองเมืองสุวรรณภูมิ แล้ว ได้ขอพระราชทาน แต่งตั้ง ท้าวโอ๊ะ (บุตร พระรัตนวงษาเซียง) ที่ดำรงตำแหน่ง ราชบุตร เดิมนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่ง เป็น "อุปฮาด" ต่อมา ในปี 2357 ญาแม่แก้ว ภรรยาหลวง ของ ท้าวอ่อน ไม่พอใจที่ ท้าวอ่อน มีภรรยามาก จึงได้ลงไปกรุงเทพฯ เพื่อฟ้องกล่าวโทษ เจ้าเมือง (ท้าวอ่อน) ว่า ประพฤติการทุจิต ข่มเหงราษฎร มีภรรยามาก แลให้ได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว รัชกาลที่ ๒ มีรับสั่งให้ พระรัตนวงษาอ่อน มาเข้าเฝ้าแก้ต่างคดี ที่กรุงเทพมหานคร พิจารณาความแล้ว ได้ความจริงว่า ท้าวอ่อน เป็นผู้ประพฤฒิการณ์ตามที่ถูกกล่าวโทษ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลด ท้าวอ่อน ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และ ให้นำตัวไปกักขังไว้ ณ บ้านหนองหอย แขวงเมืองสระบุรี แล้วพิจารณาโปรดเกล้า แต่งตั้ง ท้าวโอ๊ะ ที่ดำรงตำแหน่ง "อุปฮาด" ในขณะนั้น ขึ้นเป็น เจ้าเมืองสุวรรณภูมิลำดับที่ ๗
7 พระรัตนวงษา (โอ๊ะ) 2357 2372 17

พ.ศ. 2367 วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ฉ ศก จุลศักราช ๑๑๘๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินสยาม จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงขึ้นไปแยกย้ายกันตรวจสัมโนครัว แลตั้งกองสักอยู่ตามหัวเมืองมณฑลอิสาณบางเมือง มีเมืองกาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ดเปนต้น แลให้เรียกส่วย ผลเร่วเปนธรรมเนียมแต่นั้นมา

ไม่ได้แต่งตั้ง "อุปฮาด" และ "ราชบุตร"

ในปี 2369 เกิด "กบฏเจ้าอนุวงศ์" ท้าวภู (บุตร ของ พระขัติยวงษาทนต์ ซึ่ง ดำรงตำแหน่ง อุปฮาด เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ในขณะนั้น ได้มีความดีความชอบในการศึกครั้งนี้ ภายหลัง ได้รับการสนับสนุนให้ ดำรงตำแหน่ง เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ใน ปี 2373)

เหตุการณ์สำคัญ ในระหว่างศึกเจ้าอนุวงศ์นั้น เมื่อกองทัพ ของราชวงศ์เวียงจันทน์ และท้าวอุปราชสีถาน ของเจ้าอนุวงศ์ เดินทางมาถึงเมืองร้อยเอ็ด เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ได้ยก นางหมานุย นางตุ่ย นางแก้ว ภริยา ของ พระขัติยวงษา คนก่อน ให้ อุปราชสีถาน จึงรอดพ้นจากภัย ส่วน พระรัตนวงษา (โอ๊ะ) ได้ยกม้าต่าง กับผ้าแพร พร้อม นางอ่อม บุตรี ของ พระรัตนวงษา (อ่อน) เจ้าเมืองคนเก่า ให้ อุปราชสีถาน จึงพันภัย (ทั้งนี้ เมืองร้อยเอ็ด และเมืองสุวรรณภูมิ มิได้เข้าร่วมกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ แต่ร่วมต่อสู้กับ กองทัพฝ่ายรัตนโกศินทร์ ยังผลให้ อุปฮาดภู (ท้าวภู ดำรงตำแหน่งอุปฮาด ของเมืองร้อยเอ็ด) มีความดีความชอบในการออกศึก และได้รับการแต่งตั้ง เป็น เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ลำดับที่ ๘ มีการสร้างหล่อพระพุธรูปสำคัญ จาก จารึกอักษรธรรม พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง โดย ญาครูโสม เมืองสุวรรณภูมิ สันนิษฐาน สร้างถวายและประดิษฐานที่วัดป่ายาง (ปัจจุบันในเขตโรงเรียนอนุบาลสุวรรณภูมิ หรือ เทศบาล ๒) แล้วย้าย มาที่วัดคุ้ม (ปัจจุบัน ร้าง) และนำมาประดิษฐาน ที่ วัดโพธิ์ ซึ่งปัจจุบันคือ วัดสว่างโพธิ์ทอง ในเขตเมืองเก่าสุวรรณภูมิ

"ศุภมัสตุจุลศักราชราชาได้ พัน ๑ ร้อย ๘๓ หัวครูโสมมีศรัทธา สร้างพุทธฮูปไว้กับสาสนา ๕ พัน วสา นิพานปัจจโยโหตุ แล้วเดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ วันทิดมื้อกาบสัน"

ข้อความระบุว่า พระครูโสม (คำว่า หัวครู มาจาก เจ้าหัว,เจ้าอยู่หัว ในอดีตใช้เรียกพระเถระชั้นผู้ใหญ่) เป็นผู้สร้างพุทธรูปนี้ขึ้น แล้วเสร็จเมื่อ วันทิด มื้อกาบสัน แรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ จ.ศ. ๑๑๘๓ หากเทียบกับวันเวลาแบบไทยสากลคือ วันอาทิตย์ ที่ ๑๐ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๖๔

โดยช่วงเวลาที่สร้างพระ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๒ และสมัยสมเด็จพระเจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์ พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธศิลป์นิยมแบบล้านช้างตอนล่างลงมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างที่เก่าแก่และสำคัญองค์หนึ่งในเมืองสุวรรณภูมิและหากนับอายุพระพุทธรูปองค์นี้ถึงปัจจุบัน จะมีอายุเกือบ ๒๐๐ ปี
8 พระรัตนวงษา (ภู) 2372 2395 23
พระรัตนวงษา (ภู) เป็น บุตรของ พระขัติยวงษา (ทนต์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ท่านแรก โดยดำรงตำแหน่ง อุปฮาด ของเมืองร้อยเอ็ด ก่อนได้ รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงตำแหน่ง พระยศ เป็น พระรัตนวงษา (ภู) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ท้าวเกษ เป็น "อุปฮาด" และแต่งตั้ง ท้าวสาร (บุตรของพระรัตนวงษา (โอ๊ะ)) เป็น "ท้าวสุริยวงษ์"
9 พระรัตนวงษา (สาร) 2395 2397 2
พระรัตนวงษาสาร เป็นบุตรของ พระรัตนวงษา (โอ๊ะ) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ลำดับที่ ๗ ในสมัยนี้ ไม่มีการแต่งตั้ง "อุปฮาด" และ "ราชบุตร"
ว่าง ว่าง 2397 2401 4
สืบเนื่องจากความขัดแย้งก่อนหน้า และการแต่งตั้ง "อุปฮาด" และ "ราชบุตร" มิได้ทันการณ์ ยังผลให้ หลัง พระรัตนวงษา (สาร) เสียชีวิต จึงไม่สามารถเสนอชื่อ บุคคคล เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็น เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ได้ ถึง ๔ ปี
10 พระรัตนวงษา มหาราชเลน 2401 2410 9

พระรัตนวงษา มหาราชเลน เป็น บุตร ของ พระรัตนวงษา (อ่อน) และ มีศักดิ์ เป็น หลาน ของ พระขัติยวงษา (ทนต์) และมีศักดิ์เป็น เหลน ของ เจ้าแก้วมงคล 2402 คล้องได้ช้างเผือก “พระมหาศรีเสวตวิมลวรรณ”

2404 คล้องช้างเผือก “พระเศวตสุพรรณภาพรรณ”

2409 เกิดคดีปล้นจีนหอย บริเวณบ้านด่าน ( ปัจจุบัน ตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเหตุให้เสียพื้นที่ บริเวณ ตำบลด่าน ให้แก่ แขวงเมืองมหาชนะชัย เมืองอุบลราชธานี

2410 สร้างวัดทุ่งลัฏฐิวัน โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2413 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2413 มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 30 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ตามส.ค. 1 เลขที่ 884-885-887 ปัจจุบันวัดนี้มีอายุการสร้าง 151 ปี
11 พระยารัตนวงษา มหาขัติยราช (คำผาย) 2410 2420 10

พระยารัตนวงษา มหาขัติยราช (คำผาย) เป็น บุตร ของพระรัตนวงษา (ภู) เป็น หลาน ของพระขัติยวงษา (ทนต์) และ เป็น เหลน ของ เจ้าแก้วมงคล แต่งตั้ง ท้าวคำสิงห์ เป็น "อุปฮาด" และ แต่งตั้ง ท้าวคำสอน เป็น "ราชบุตร" 2413 คล้องช้างพลายสีประหลาด “พระเสวตสุวรรณภาพรรณ”

2415 อุปฮาดเหง้า หรือ ท้าวสัง ขอแยก ตัวไป ตั้งบ้านดอนเสาโฮง เป็นเมืองเกษตรวิสัย หรือ อำเภอเกษตรวิสัย ในปัจจุบัน (ตั้งจริง ที่ บ้านกู่กระโดน) และรับการแต่งตั้งเป็น พระศรีเกษตราธิชัย เจ้าเมืองเกษตรวิสัยคนแรก

ด้วยความดีความชอบ และการถวายช้างเผือก ต่อเนื่อง ในสมัยพระรัตนวงษา มหาราชเลน และ พระรัตนวงษา (คำผาย) จึงได้ โปรดเกล้าพระราชทานฯเลือนตำแหน่ง พระยศ เมือง เจ้าเมือง สุวรรณภูมิ จาก "พระรัตนวงษา" เป็น "พระยารัตนวงษา"

ทั้งนี้ ปัจจุบัน รายนามช้างเผือก จำนวน 4 เชือก ที่เมืองสุวรรณภูมิ ได้ทูลเกล้าถวายฯ ได้ปรากฏและสลักเป็น จารึกไว้ ข้างพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง
12 พระยารัตนวงษา (คำสิงห์) 2420 2428 8

พระยารัตนวงษา (คำสิงห์) เป็น น้องชาย ของ พระยารัตนวงษา (คำผาย), เป็น บุตร ของ พรรัตนวงษา (ภู), เป็นหลาน ของ พระขัติยวงษา (ทนต์) และเป็น เหลน ของ เจ้าแก้วมงคล แต่งตั้ง ท้าวคำสอน เป็น "อุปฮาด"

โดย ในสมัยนี้ มีการขอแยกตั้งบ้านเมือง มากมาย ทั้งเป็น เขตเมืองสุวรรณภูมิเดิม และ เป็นเมืองอื่น ๆ ที่มาตั้งเมือง แต่เกิดข้อพิพาทล่วงล้ำ เขตเมืองสุวรรณภูมิ อาทิ เมืองวาปีประทุม, เมืองราษีไศล, เมืองมหาชนะชัย, เมืองชุมพลบุรี และเป็นเห็นให้ เมืองสุวรรณภูมิ สูญเสียอาณาเขตเป็นจำนวนมาก จากการแพ้อรรถคดี เรื่อง การตั้งเมือง ดังกล่าว

ปี 2421 หลวงรัตนวงษา (บุญตา) ขอแยกไปสร้าง บ้านโป่ง (ตั้งจริง เมืองแสน) เป็นเมืองพนมไพรแดนมฤค หรือ อำเภอพนมไพร และเป็น พระดำรงฤทธิไกร เจ้าเมืองคนแรก ให้ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ

ปี 2422 ตั้งบ้านเมืองเสือ (ตั้งจริง บ้านนาข่า) เป็น “เมืองพยัคฆภูมิพิสัย” หรือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ให้ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ

ปี 2423 ยกบ้านโนนหินกอง เป็นเมืองราษีไศล หรือ อำเภอราษีไศล ขึ้นเมืองศรีสะเกษ

ปี 2425 ขอตั้งบ้านเมืองหงษ์ (ตั้งจริง บ้านหัวช้าง) เป็นเมืองจตุรพักตริ์พิมาน หรือ อำเภอจตุรพักตรพิมาน ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ

ปี 2425 แยกตั้งบ้านนาเลา เป็นเมือง”วาปีประทุม” หรือ อำเภอวาปีปทุม ในปัจจุบัน ขึ้นเมืองมหาสารคาม

ปี 2426 ขอตั้ง บ้านทับค่าย เป็นเมือง “ชุมพลบุรี” หรือ อำเภอชุมพลบุรี ขึ้นเมืองสุรินทร์
13 พระรัตนวงษา (คำสอน) 2428 2439 11

พระรัตนวงษา (คำสอน) เป็น น้องชาย ของ พระรัตนวงษา (คำสิงห์), บุตร พระรัตนวงษา (ภู), หลาน พระขัติยวงษา (ทนต์) เหลน ของ เจ้าแก้วมงคล

พ.ศ. 2432 อุปฮาด (สุวรรณ) ราชวงษ์ แลกรมการเมืองพนมไพรแดนมฤค ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ มีความวิวาทบาดหมางกับอุปฮาดผู้รักษาเมืองสุวรรณภูมิ มิพอใจจะสมัครขึ้นกับเมืองสุวรรณภูมิ จึ่งพร้อมกันมีบอกไปยังพระพิเรนทรเทพ (ทองคำ) ข้าหลวงเมืองนครราชสิมา ขอสมัครขึ้นกับนครราชสิมา แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเขตแขวงเมืองพนมไพรมิได้ติดต่อกับเขตแขวงนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นทางสะดวกแก่การบังคับบัญชา

ในปี 2432 อุปฮาดผู้รักษาเมือง และกรมการเมืองสุวรรณภูมิ มีบอกกล่าวโทษเมืองมหาสารคาม เมืองสุรินทร์ เมืองศรีสะเกษ ว่าแย่งชิงเขตแขวงเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งเป็นเมืองขึ้น คือเมืองมหาสารคามขอบ้านนาเลาเปนเมืองวาปีประทุม (อำเภอวาปีปทุม) เมืองสุรินทร์ ขอ บ้านทัพค่าย เป็น เมืองชุมพลบุรี (อำเภอชุมพลบุรี) เมืองศรีสระเกษ ขอ บ้านโนนหินกอง เป็นเมืองอำเภอราษีไศล ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงนครจำปาสักและเมืองอุบลราชธานีไต่สวนว่ากล่าวในเรื่องนี้ ก็รื้อถอนไม่ไหวเพราะเหตุเมืองทั้งนี้ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามมาได้หลายปีแล้ว เป็นอันโปรดเกล้า ฯ ให้ตกลงคงเป็นเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามอยู่ตามเดิม

พ.ศ. 2433 พระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) เจ้าเมืองพนมไพร (อำเภอพนมไพร) ซึ่งลงมา ณกรุงเทพฯ เพื่อจะขอเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ มิสำเร็จ เลยป่วยพักรักษาตัวอยู่ ณ กรุงเทพ ฯ นั้น ครั้นอาการป่วยทุเลาแล้ว จึ่งกราบถวายบังคมลากลับบ้านเมือง ครั้นไปถึงเมืองนครราชสีมา กลับเป็นไข้หนักลงอิก ครั้นวันพฤหัสบดี แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) ถึงแก่กรรม

พ.ศ. 2434 ( รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๒๕๒) มีสารตราโปรดเกล้า ฯ ให้ปันหน้าที่ข้าหลวงเป็น ๔ กอง คือ

ข้าหลวงนครจำปาศักดิ ได้บังคับราชการ แลชำระตัดสินความอุทธรณ์เร่งรัดเงินส่วย เมืองนครจำปาศักดิ ๑ เมืองเชียงแตง ๑ เมืองแสนปาง ๑ เมืองสีทันดร ๑ เมืองอัตปือ ๑ เมืองสาลวัน ๑ เมืองคำ ทองใหญ่ ๑ เมืองสุรินทร์ ๑ เมืองสังฆะ ๑ เมืองขุขันธ์ ๑ เมืองเดช อุดม ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๑ เมืองขึ้น ๒๑ เหล่านี้ ให้เรียกว่า "หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก"

ข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี บังคับเมืองอุบล ๑ เมืองกาฬสินธุ์ ๑ เมืองสุวรรณภูมิ ๑ เมืองมหาสารคาม๑ เมืองร้อยเอ็ด ๑ เมืองภูแล่นช้าง ๑ เมืองกมลาไศรย ๑ เมืองยโสธร ๑ เมืองเขมราษฎร์ ๑ เมืองสองคอนดอนดง ๑ เมืองนอง ๑ เมืองศรีสระเกษ ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๒ เมืองเล็ก ๒๙ เหล่านี้ให้เรียกว่า "หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ"

ข้าหลวงเมืองหนองคาย บังคับเมืองหนองคาย ๑ เมืองเชียงขวาง ๑ เมืองบริคัณหนิคม ๑ เมืองโพนพิไสย ๑ เมืองไชยบุรี ๑ เมืองท่าอุเทน ๑ เมืองนครพนม ๑ เมืองสกลนคร ๑ เมืองมุกดาหาร ๑ เมืองกมุทาไสย ๑ เมืองบุรีรัมย์ ๑ เมืองหนองหาร ๑ เมืองขอนแก่น ๑ เมืองคำเกิด ๑ เมืองคำมวน ๑ เมืองหล่มศักดิ ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๖ เมืองขึ้น ๓๖ เหล่านี้ ให้เรียกว่า "เมืองลาวฝ่ายเหนือ"

ข้าหลวงเมืองนครราชสิมา บังคับเมืองนครราชสิมา ๑ เมืองชนบท ๑ เมืองภูเขียว ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑ เมืองขึ้น ๑๒ เหล่านี้ ให้เรียกว่า "หัวเมืองลาวกลาง"

พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนออกไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิกอง หนึ่ง ให้เรียกว่าข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว โดยให้เมืองนครจำปาศักดิ เมืองเชียงแตง (จังหวัดสตึงแตรง) เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองสาละวัน เมืองอัตตะปือ เมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ (อำเภอสังขะ) เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศรีสระเกษ เมืองอุบล เมืองยโสธร เมืองเขมราษฎร์ (อำเภอเขมราฐ) เมืองกมลาไศรย (อำเภอกมลาไสย) เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองใหญ่ ๒๑ เมือง ขึ้น ๔๓ เมือง อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวกาว

ปี 2435 มีตราลงวันที่ 28 พฤศจิกายน ว่าท้าวสิลารับการตำแหน่ง พระศรีเกษตราธิไชย ผู้รักษาราชการเมืองเกษตรวิไสย เมืองขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ มีบอกส่งบัญชีสัมโนครัวมายังกรุงเทพฯ ข้ามเมืองสุวรรณภูมิเมืองใหญ่ มีความผิด ให้ข้าหลวงเมืองอุบล เรียกตัวมาว่ากล่าวภาคทัณฑ์อย่าให้ทำต่อไป

ปี 2435 โปรดเกล้าฯ ให้ จมื่นศักดิ์บริบาล นายร้อยโทเล็ก เป็นข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ

ปี 2436 กรมไปรษนีย์โทรเลขได้จัดให้มิสเตอร์โทมัศปาเมอ มิศเตอร์แมกสมูลเลอ มิศเตอร์วิลเลียม ไปจัดตั้งไปรษนีย์ตามหัวเมืองในมณฑลลาวกาว คือเมืองเขมราษฎร์ เมืองอุบล เมืองพิมูลมังษาหาร ด่านปากมูล เมืองปาศักดิเก่า เมืองนครจำปาศักดิ เมืองเดชอุดม เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสระเกษ เมืองสังฆะ เมืองสุรินทร์ เมืองสุวรรณภูมิ ไปต่อกับหัวเมืองในมณฑลลาวกลางมากรุงเทพ ฯ กำหนดเดินอาทิตย์ละครั้ง

ปี 2437 รัตนโกสินทรศก 112 วันที่ 2 เมษายน ฝรั่งเศสก็ยกกระบวนทัพล่วงเข้ามาถึงเมืองเชียงแตง บังคับขับไล่หลวงพิพิธสุนทร (อิน) แลนายร้อยโทคร้ามข้าหลวงกับทหาร 12 คน ซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงแตงให้ข้ามไปอยู่ ณ เมืองธาราบริวัตร ฝั่งโขงตะวันตกโดย อ้างเหตุว่า ดินแดนในฝั่งโขงตะวันออกแลเกาะดอนในลำน้ำโขงเป็นเขตรแขวงของญวนซึ่งอยู่ในบำรุงฝรั่งเศส

เวลานั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว ซึ่งประทับอยู่ณเมืองอุบล เมื่อได้ทรงทราบว่าฝรั่งเศส แสดงเปนอมิตรขึ้นดังนั้นแล้ว จึ่งได้โปรดให้เกณฑ์กำลังเมืองศรีสระเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองละ 800 คน แลเมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร เมืองละ 500 คน แลให้เกณฑ์เมืองขุขันธ์อิก 500 คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้า หลวงเมืองขุขันธ์คุมไปตั้งรักษาอยู่ณเมืองมโนไพร แลเมืองเซลำเภา โปรดให้หลวงเทพนรินทร์ (วัน) ซึ่งกลับจากน่าที่เมืองตะโปนไปเปนข้าหลวงแทนพระศรีพิทักษ์อยู่เมืองขุขันธ์

แลให้นายสุจินดา ขุนอินทรประสาท (กอน) นายร้อยตรีคล้าย นายร้อยตรีโชติ คุมทหาร 100 คน แลกำลัง 500 คน พร้อมด้วยสาตราวุธ เปนทัพน่า รีบยกออกจากเมืองอุบลแต่วันที่ 10 เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชาณเมืองสีทันดร

แลโปรดให้เมืองใหญ่ทุกเมืองในลาวกาวเรียกคนพร้อมด้วยสาตราวุธ มาเตรียมไว้กับบ้านเมือง ๆ ละ 1000 คน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2437 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้อุปฮาด (อำคา) เมืองสุวรรณภูมิ 1 พระศรีเกษตราธิไชย (ศิลา) ผู้ว่าราชการเมืองเกษตรวิไสย 1 คุมคนเมืองสุวรรณภูมิ 500 แลให้พระสุนทรพิพิธ ผู้ว่าราชการเมืองโกสุม 1 หลวงจำนงวิไชย ผู้ช่วยเมืองร้อยเอ็ด 1 คุมคนมหาสารคาม แลร้อยเอ็ด 300 รวม 800 ยกออกจากเมืองอุบลไปช่วยพระประชาณค่ายดอนสาคร

วันที่ 2 มิถุนายน 2437 กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้พระสิทธิศักดิสมุทเขตร (บุษย์) เปนข้าหลวงบังคับเมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ให้พระดุษฎีตุลกิจ (สง) ข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ ไปช่วย พระสิทธิศักดิ อยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ถอน นายร้อยตรีพรหม ข้าหลวงเมืองมหาสารคาม มาอยู่เมืองสุวรรณภูมิ

วันที่ 24 ตุลาคม 2437 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้พระณรงค์วิชิต (เลื่อน) เปนข้าหลวงตรวจจัดราชการเมืองกาฬสินธุ์ กมลาไศรย ภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2437 โปรดให้ขุนอาสาสงคราม (สวน) ไป เปนข้าหลวงช่วยนายร้อยตรีพรหมอยู่ ณ เมืองสุวรรณภูมิ
14 พระรัตนวงษา (อำคา) 2439 2443 5

ปี 2442 รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิก ตำแหน่ง เจ้าเมือง

ปี 2543 เปลี่ยนตำแหน่ง เจ้าเมือง เป็น ผู้ว่าราชการเมือง, อุปฮาด เป็น ปลัดเมือง, ราชวงษ์ เป็น มหาดไทยเมือง และ ราชบุตร เป็น ยกกระบัตรเมือง
15 พระศรีเกษตราธิไชย (สีลา) 2443 2444 1

พระศรีเกษตราธิไชย (สีลา) เป็น เจ้าเมืองเกษตรวิสัย แต่เดิม ด้วย การยุบ ยกเลิก หัวเมืองต่าง ๆ จึง โปรดเกล้าฯ ให้ พระศรีเกษตราธิไชย มารักษาราชการ ผู้ว่าราชการเมืองสุวรรณภูมิ ท่านแรก ก่อนจะมีการแต่งตั้ง ผู้ว่าราชการเมือง จาก ส่วนกลาง ทั้งนี้ พระศรีเกษตราธิไชย (สีลา) เป็น บุตร ของ พระศรีเกษตราธิไชย (สัง) เจ้าเมืองเกษตรวิสัย ท่านแรก และ เป็น หลานของพระรัตนวงศา มหาราชเลน เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ลำดับที่ ๑๐ เป็น หลาน ของ พระรัตนวงษา (อ่อน) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ลำดับที่ ๖ และ เป็นเหลน ของพระขัติยวงษา (ทนต์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ท่านแรก และ เป็น ลื่อ ของ เจ้าแก้วมงคล

ปัจจุบัน ทายาท ของ พระศรีเกษตราธิไชย สืบเชื่อสายตรงในนามสกุล "สังขศิลา"
16 ขุนมัณฑลานุการ (ชม) 2445 2446 1

ขุนมัณฑลานุการ (ชม) รักษาราชการ ในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองสุวรรณภูมิ

ในระหว่างนี้ เกิด กบฏผู้มีบุญ ทาง ผู้วาราชการเมืองสุวรรณภูมิ ได้เกณฑ์ไพร่พล ประชาชน จำนวน 1,000 คนเศษ พร้อมอาวุธ ปืนคาบศิลาอย่างเก่า ปืนสไนเดอร์ ปืนแมลิคอร์ ทำการปราบปรามและจับกุมผีบุญ ได้อย่างราบคาบ
17 ญาพ่อเมืองแพน (ต้นสกุล วลัยศรี) 2446 2451 5

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2446 ( ร.ศ. 121 ) พระครูสุพรรณภูมิคณาจารย์ ( พระหลักคำเมือง ) เจ้าคณะเมืองสุวรรณภูมิ ถึงแก่มรณภาพ ด้วยอาพาธ เป็นไข้ โดย พระครูสุพรรณภูมิคณาจารย์ เป็นเจ้าอาวาส วัดไตรภูมิคณาจารย์ บ้านตากแดด เมืองสุวรรณภูมิ[8] ญาพ่อเมืองแพน ดำรงตำแหน่ง ยกกระบัตรเมือง รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองสุวรรณภูมิ จนกระทั่งปี 2451 กระทรวงมหาดไทย ได้ปรับปรุงลักษรณการปกครองท้องที่ ยุบเมืองสุวรรณภูมิ เป็น อำเภอสุวรรณภูมิ และยุบมณฑลร้อยเอ็ด เป็น จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ อำเภอสุวรรณภูมิ ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด นับแต่นั้นมา ในปี 2451 ภายหลังมีการยุบเมืองสุวรรณภูมิ เป็น อำเภอสุวรรณภูมิ แล้วนั้น เมืองที่เคยขึ้นต่อ เมืองสุวรรณภูมิ ได้ยุบ เป็นอำเภอ และโอนย้ายไปสังกัด จังหวัดต่าง ๆ ดังนี้

เมืองพยัคฆภูมิพิสัย ยุบเป็น อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ให้ขึ้น จังหวัดมหาสารคาม

เมืองเกษตรวิสัย ยุบเป็น อำเภอเกษตรวิสัย, เมืองพนมไพรแดนมฤค ยุบเป็น อำเภอพนมไพร, เมืองจุตรพักตร์พิมาน ยุบเป็น อำเภอจตุรพักตรพิมาน ทั้งสามอำเภอ ให้ขึ้นกับ จังหวัดร้อยเอ็ด

ลำดับนายอำเภอสุวรรณภูมิ (หลังปี พ.ศ. 2451) แก้

การนับตำแหน่งนายอำเภอนับจากปี พ.ศ. 2451 นั้น จะใช้ลำดับที่ 1 ใหม่ เนื่องจากผู้ว่าราชการเมืองของเมืองชั้นเอกมีฐานะเทียบเท่า "ผู้ว่าราชการจังหวัด" ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงและยุบฐานะเมืองเป็นอำเภอ และตำแหน่ง "ผู้ว่าราชการจังหวัด" เป็น "นายอำเภอ" ดังนั้นจึงนับลำดับใหม่

ลำดับที่ นายอำเภอ ปีเริ่ม - ปีสิ้นสุด จำนวนปี เหตุการณ์สำคัญ/อื่น ๆ
1 หลวงประชาชนบาล 2451 - 2455 4
2454 ตั้งโรงเรียนประชาบาล ต่อมาคือ โรงเรียนเมืองสุวรรณภูมิ อาศัยศาลาวัดเหนือเป็นสถานศึกษา เปิดทำการสอนตั้งแต่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
2 พระรัตนวงษา (ก่อนหน้า หลวงประจำจันทรเขตร) (น้อย) ลิวิสิทธิ์ 2455 - 2463 8
2456 ยกฐานะโรงเรียนประชาบาล เป็น โรงเรียนรัฐบาล "โรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาล" ภายหลังยุบเป็นโรงเรียนประชาบาล ในปี 2465 ก่อนเป็น โรงเรียนเมืองสุวรรณภูมิ
3 ขุนสกลรักษา (เชย สุขสุคนธ์) 2463 1
4 หลวงประสาสน์ โสภณ (ร.ท.อุ่ม ภมรสูตร) 2463 - 2473 10

ในระหว่างพ.ศ 2463-2473 หลวงประสาสน์โสภณ (อุ่น ภมรสูตร) ซึ่งดำรงตำแหน่งมายอำเภอสุวรรณภูมิสมัยนั้นได้ริเริ่มสร้างสุขศาลาขึ้นบริเวณหน้าตลาดสด บริเวณธนาคารออมสินปัจจุบันมีพื้นที่ 61 ไร่ มีเจ้าหน้าที่มหาดไทยเป็นผู้ดูแลดำเนินการ ต่อมาทางราชการได้บรรจุผู้ช่วยแพทย์ ชื่อ นาย ช. สายเชื้อ มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าสุขศาลาสุวรรณภูมิเป็นคนแรก ปี 2467 เมืองแพน วลัยศรี ( ผู้รักษาการตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุวรรณภูมิ ท่านสุดท้าย ) ร่วมกับคณะ ทำการบูรณะอุโบสถ และประติสังขรณ์ ปิดทององค์พระพุทธรูป วัดใต้วิไลธรรม โดยว่าจ้างช่างชาวญวน คือ นายจาง และนายฮาย เป็นผู้ก่อสร้าง รวมทั้ง มีการวาดภาพจิตรกรรม โดย นายโสม โดยหลวงประสาศน์ โสภณ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และ พระธรรมสุนทรอบภิรม พระอธิการ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ซึ่งยังคงปรากฏหลักฐานการบันทึกและภาพวาด อุโบสถ ณ วัดใต้วิไลธรรม จนปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2469 อำมาตย์เอกพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ข้าหลวงจังหวัดร้อยเอ็ดเห็นว่าบึงพลาญชัย (เดิมใช้ว่าบึงพระลานชัย) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ดตื้นเขิน ถ้าปล่อยทิ้งไว้บึงก็จะหมดสภาพไป จึงได้ชักชวนชาวบ้านจากทุกอำเภอมาขุดลอกบึง เพื่อให้มีน้ำขังอยู่ได้ตลอดปี ได้ดำเนินการขุดลอกบึงทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ 2 ปี มีชาวบ้านมาร่วมขุดลอกบึงถึง 40,000 คน
5 หลวงชาญรัฐกิจ (เชย พลาศรัย) 2473 - 2476 3
6 ขุนประเสริฐสรรพกิจ (วิเชียร วงศ์แก้ว) 2476 - 2479 3
16 พฤศจิกายน 2476 การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศสยาม โดย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็ย เขตเลือกตั้งเดียว มีผู้แทนราษฎร ได้ จำนวน 2 คน แบ่งการปกครองเป็นจังหวัด มีจังหวัดทั้งสิ้น 70 จังหวัด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แล้ว สามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทที่หนึ่ง ได้ทั้งหมด 78 คน โดยส่วนใหญ่จะสามารถเลือกผู้แทนฯได้จังหวัดละคน มีบางจังหวัดที่มีผู้แทนฯได้มากกว่าหนึ่งคน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดนครราชสีมา มีผู้แทนฯได้ 2 คน ขณะที่จังหวัดพระนครและจังหวัดอุบลราชธานี มีผู้แทนฯได้ 3 คน ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดอัตราประชากร 200,000 คนต่อการมีผู้แทนฯได้หนึ่งคน โดยผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด ในการเลิอกตั้งครั้งแรก คือ พันโทพระไพศาลเวชกรรม (สวาสดิ์ โสมเกษตริน) และ จ่านายสิบขุนเสนาสัสดี (ถั่ง ทองทวี)
7 นายโสภณ อัศดร (เงก สาตะมัย) 2479 - 2487 8
8 ร้อยโท ถวิล ธนสีลังกูร 2487 - 2490 3
ย้ายที่ว่าการอำเภอ ไป ดงป่าก่อ (ปัจจุบัน)
9 นายส่ง ศุภโตษะ 2490 1
10 นายสีขร สีขรภูมานุรักษ์ 2490 - 2491 1
11 นายเอิบ กลิ่นอุบล 16 ธ.ค. 2491 - 2493 2
ตั้งตำบลทุ่งหลวง (แยกจากตำบลสระคู) ตำบลหัวโทน (แยกจากตำบลน้ำคำ) ตำบลหินกอง (แยกจากตำบลสระคู) และตำบลบ่อพันขัน ( แยกออกจากตำบลเปลือย ) [9]
12 ร้อยตรีสุวรรณ โรจนวิภาดา 27 มิ.ย. 2493 - 2495 2
พ.ศ. 2493 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศขนานนามทางหลวงแผ่นดินให้เป็นเกียรติแก่ผู้มีส่วนประกอบคุณงามความดีต่อประเทศ ในราชกิจจานุเบกษา 12 ธันวาคม 2493 ทางหลวงแผ่นดินสาย ร้อยเอ็ด- สุวรรณภูมิ - สุรินทร์ (ทางหลวงหมายเลข 214) ให้ขนานนามว่า ถนน “ปัทมานนท์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายวีรพล ปัทมานนท์ อดีตนายช่างกำกับหมวดการทางสุรินทร์ และ ทางหลวงแผ่นดินสาย สุวรรณภูมิ - ยะโสธร- อำนาจเจริญ ให้ขนานนามว่า ถนน “อรุณประเสริฐ” เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายจำปี อรุณประเสิรฐ นายช่างกำกับแขวง
13 นายสวัสดิ์ พรหมดิเรก 8 ก.ค. 2495 - 15 มี.ค. 2498 2 ปี 8 เดือน
2497 ก่อตั้ง “โรงเรียนสุวรรณภูมิ” ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2497 เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาโดยอาศัยอาคารเรียนชั่วคราวโรงเรียนบ้านสุวรรณภูมิ (โรงเรียนเมืองสุวรรณภูมิ ปัจจุบัน) เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว และในปี 2551 เปลี่ยนชื่อ เป็น โรงเรียนสุวรรณภูมิวิทยาลัย
14 นายเสถียร นาครวาจา 23 มี.ค. 2498 - 24 ก.ค. 2499 1 ปี 4 เดือน
15 นายสาคร เพชรวิเศษ 29 ก.ค. 2499 - 13 ก.ค. 2503 4 ปี

พ.ศ. 2499 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดตั้งสุขาภิบาลตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 18 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2499 (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 54 เล่ม 37 ตอนที่ 60 วันที่ 3 สิงหาคม 2499) [10]

พ.ศ. 2503 ตั้งโรงเรียนประชาบาล ต่อมาเป็นโรงเรียนเมืองใหม่สุวรรณภูมิ และ โรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่สุวรรณภูมิ ต่อมา
16 นายประเสริฐ เทศประสิทธิ์ 13 ก.ค. 2503 - 30 พ.ย. 2504 1 ปี 4 เดือน
17 นายเฉียบ สมุทระกระพงศ์ 16 ธ.ค. 2504 - 30 ก.ย. 2508 3 ปี 9 เดือน
ตั้งตำบลโพนทราย โดยแยกหมู่บ้าน จากตำบลสามขา อำเภอสุวรรณภูมิ เป็น ตำบลโพนทราย ใน วันที่ 4 มีนาคม 2508[11]
18 นายสุวรรณ สุภาผล 10 ต.ค. 2508 - 26 พ.ค. 2514 5 ปี 8 เดือน

ปี 2509 กรมไปรษณีย์โทรเลข เปิดที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสุวรรณภูมิ[12] โดยเปิดพร้อมกัน กับ บึงกาฬ จังหวัดหนองคาย, กันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และ เขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งตำบลเมืองทุ่ง โดยแยกหมู่บ้าน จาก ตำบลสระคู จำนวน 12 หมู่บ้าน มีผลในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2509[13]

ตั้งตำบลคูเมือง โดย แยกหมู่บ้าน จากตำบลหนองผือ อำเภอสุวรรณภูมิ 5 หมู่บ้าน และ หมู่บ้านจากตำบลสงยาง อำเภอสุวรรณภูมิ 4 หมู่บ้าน รวมเป็น 9 หมู่บ้าน เป็น ตำบลคูเมือง ขึ้นอำเภอสุวรรณภูมิ[14] ณ วันที่ 11 เมษายน 2510
19 นายประจวบ ศริ 27 พ.ค. 2514 - 1 ก.ย. 2516 2 ปี 4 เดือน

29 มิถุนายน 2515 กรมสามัญศึกษาได้อนุมัติให้ตั้งโรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาลขึ้น โดยชื่อเริ่มก่อตั้งคือ “โรงเรียนศรีสุวรรณภูมิพิทยา” ( คนทั่วไปจึงมักเรียกว่าโรงเรียนศรี ) โดยใช้อาคารเรียนของโรงเรียนสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันคือ โรงเรียนสุวรรณภูมิวิทยาลัย) เป็นสถานที่ในการเรียน โดยมีนายเอิบ (มนตรี) จันทรสนาม รักษาการณ์ในตำแหน่งครูใหญ่ และทำการย้ายมาสถานที่ปัจจุบันในปี พ.ศ. 2516 มีพื้นที่ 72 ไร่ และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาล

7 กันยายน 2514 ตั้งตำบลดอกไม้ โดยแยกหมู่บ้านจาก ตำบลสงยาง อำเภอสุวรรณภูมิ 8 หมู่บ้าน และ จากตำบลสระคู 2 หมู่บ้าน รวมเป็น 10 หมู่บ้าน ขึ้นเป็นตำบลดอกไม้[15]
20 นายสงวน วัฒนานันท์ 1 ก.ย. 2516 - 12 พ.ค. 2520 3 ปี 8 เดือน

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 กระทรวงมหาดไทย (โดยนายพ่วง สุวรรณรัฐ) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมืองสรวง และได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2516 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 90 ตอนที่ 26 หน้าที่ 817 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2516 ประกอบด้วย 3 ตำบล คือ ตำบลหนองผือ ตำบลหนองหิน และตำบลคูเมือง (แยกสามตำบล จากอำเภอสุวรรณภูมิ) ส่วนราชการต่าง ๆ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานในวันที่ 1 เมษายน 2516

พ.ศ. 2512-2518 กลุ่มผู้นำท้องถิ่น นำโดยกำนันสุนีย์ พวงจันทร์และสภาตำบลโพนทรายเห็นว่าการไปติดต่อราชการที่อำเภอสุวรรณภูมิไม่สะดวกเป็นอย่างมาก จึงได้มีการเคลี่อนไหวเรียกร้องขอยกฐานะเป็นอำเภอเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร จนกระทั่งใน ปี พ.ศ. 2519 จึงได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอโพนทราย
21 นายจำรูญ บุญโทแสง 20 พ.ค. 2520 - 30 ก.ย. 2522 2 ปี 4 เดือน
ปี พ.ศ. 2522 ได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอเมืองสรวง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่มที่ 96 ตอนที่ 42 หน้าที่ 22 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2522 ยกฐานะกิ่งอำเภอเมืองสรวง ขึ้นเป็น อำเภอเมืองสรวง มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2522 (โดย ส. โหตระกิตย์) รองนายกรัฐมนตรี
22 นายพงษ์เพชร ชูจินดา 12 ต.ค. 2522 - 23 พ.ย. 2522 2 เดือน 11 วัน
23 นายพิสุทธิ์ ฟังเสนาะ 24 ก.ย. 2522 - 23 ก.ย. 2525 2 ปี
24 นายวิรุณ ทิพากร 24 พ.ย. 2525 - 7 ต.ค. 2527 1 ปี 10 เดือน
25 นายกิจจารักษ์ ชุ่มชื่น 7 ต.ค. 2527 - 15 ม.ค. 2530 2 ปี 4 เดือน
26 นายเสรี ทวีวัฒน์ 16 ม.ค. 2530 - 2 ก.ค. 2533 3 ปี 6 เดือน
ปี พ.ศ. 2532 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็น อำเภอโพนทราย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 โดยแยกตำบลโพนทราย ตำบลสามขา ตำบลศรีสว่าง ตำบลยางคำ โดยมีนายสุภาพ จันทร์ภิรมย์ เป็นสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) คนแรก จากอำเภอโพนทราย ในปี พ.ศ. 2533
27 นายณรงค์ หรือโอภาส 2 ก.ค. 2533 - 17 ต.ค. 2537 4 ปี 3 เดือน
28 นายพนม นันทวิสิทธิ์ 17 ต.ค. 2537 - 14 ต.ค. 2539 2 ปี
29 นายธนู สุขฉายา 14 ต.ค. 2539 - 19 พ.ค. 2540 7 เดือน
30 นายปรีชา กาญจนวาปสถิตย์ 19 พ.ค. 2540 - 9 พ.ย. 2540 6 เดือน
พ.ศ. 2540 กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้ง "วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด 2" ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 โดย กรมอาชีวศึกษาได้สั่งให้ข้าราชการสังกัดวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ดจำนวน 3 คน ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน และผู้ช่วยผู้ประสานงานการจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ดแห่งที่ 2 ดังนี้ นายชำนาญ เชิงสะอาด, นายจำเนียร สุธิมาธรรม, นายจิตรกร จันทร์เสละ
31 นายอำนวย จันทน์อาภรณ์ 10 พ.ย. 2540 - 1 พ.ย. 2541 1 ปี
32 นายรังสรรค์ เพียรอดวงษ์ 2 พ.ย. 2541 - 16 ต.ค. 2543 1 ปี 11 เดือน

พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 ยกฐานะสุขาภิบาลสระคู เป็น "เทศบาลตำบลสระคู" เมื่อวันที่ 25 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542

พ.ศ. 2543 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2543 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ วิทยาลัยฯ จากวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ดแห่งที่ 2 เป็น "วิทยาลัยเทคนิคสุวรรณภูมิ"
33 นายอุไร หล่าสกุล 27 พ.ย. 2543 - 30 ก.ย. 2545 1 ปี 10 เดือน
34 นายชูศักดิ์ สุทธิประภา 16 ธ.ค. 2545 - 30 ก.ย. 2547 1 ปี 9 เดือน
35 นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ 1 พ.ย. 2547 - 11 ธ.ค. 2549 2 ปี 1 เดือน
พ.ศ. 2549 เปลี่ยนแปลงชื่อจากเทศบาลตำบลสระคูเป็นเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 27 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 มีพื้นที่ 6.8 ตารางกิโลเมตร
36 นายนะริทธิ์ ไชยะชน 8 ม.ค. 2550 - 23 ต.ค. 2550 9 เดือน
37 นายผดุงศักดิ์ ไชยอาลา 24 ต.ค. 2550 - 30 ก.ย. 2552 1 ปี 11 เดือน
38 นายอานนท์ ศรีรัตน์ 25 ม.ค. 2553 - 12 ธ.ค. 2554 1 ปี 11 เดือน
39 นายเลิศสิน จึงจรัสทรัพย์ 13 ธ.ค. 2554 - 30 ก.ย. 2556 1 ปี 9 เดือน
40 นายปณิธาน สุนารัตน์ 16 ธ.ค. 2556 - 30 ก.ย. 2558 1 ปี 9 เดือน
41 นายสุธี เล้าสุบินประเสริฐ 16 พ.ย. 2558 - 6 พ.ย. 2559 1 ปี
42 นายวัยวุฒิ อาศรัยผล 7 พ.ย. 2559 - 30 ก.ย. 2561 2 ปี
พ.ศ. 2559 โครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด เป็นโครงการจัดตั้ง วิทยาเขตในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยหลอมรวมวิทยาลัยเทคนิคสุวรรณภูมิ กับ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
43 นายธนิตย์ พันธ์หินกอง 8 พ.ย. 2561 - 6 เม.ย. 2563 1 ปี 5 เดือน 2 วัน
44 นายณรงค์ศักดิ์ สบาย 7 เม.ย. 2563 - 30 ก.ย. 2563 6 เดือน
45 นายโชคชัย วัฒนกูล มีนาคม 2564 - ปัจจุบัน

ที่ตั้งและอาณาเขต แก้

อำเภอสุวรรณภูมิตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

การแบ่งเขตการปกครอง แก้

การปกครองส่วนภูมิภาค แก้

อำเภอสุวรรณภูมิแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 15 ตำบล 199 หมู่บ้าน ได้แก่

 
ตำบลของอำเภอสุวรรณภูมิ
ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน หมู่บ้าน ประชากร [a] [16]
1. สระคู Sa Khu 21 20,239
2. ดอกไม้ Dok Mai 14 6,172
3. นาใหญ่ Na Yai 15 7,822
4. หินกอง Hin Kong 16 9,352
5. เมืองทุ่ง Mueang Thung 8 5,177
6. หัวโทน Hua Thon 12 5,331
7. บ่อพันขัน Bo Phan Khan 9 4,556
8. ทุ่งหลวง Thung Luang 15 7,955
9. หัวช้าง Hua Chang 12 6,276
2543. น้ำคำ Nam Kham 16 9,498
11. ห้วยหินลาด Huai Hin Lat 12 5,554
12. ช้างเผือก Chang Phueak 11 6,810
13. ทุ่งกุลา Thung Kula 14 7,169
14. ทุ่งศรีเมือง Thung Si Mueang 12 7,441
15. จำปาขัน Champa Khan 12 6,691
รวม 199 116,043
  1. ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562

การปกครองส่วนท้องถิ่น แก้

ท้องที่อำเภอสุวรรณภูมิประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 16 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลสระคู
  • เทศบาลตำบลจำปาขัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจำปาขันทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหินกอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหินกองทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลทุ่งกุลา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งกุลาทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลทุ่งหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งหลวงทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลดอกไม้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอกไม้ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสระคู ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสระคู (นอกเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาใหญ่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองทุ่ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองทุ่งทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหัวโทน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหัวโทนทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อพันขัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ่อพันขันทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหัวช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหัวช้างทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำคำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำคำทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยหินลาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยหินลาดทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลช้างเผือก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลช้างเผือกทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งศรีเมือง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งศรีเมืองทั้งตำบล

ประชากร แก้

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป และมีอาชีพเสริมอื่น ๆ เช่น เลี้ยงสัตว์ รวมกลุ่มทำสินค้าหัตถกรรม และอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยมีซึ่งลำน้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านมีหลายสาย คือ ลำน้ำเสียว ลำน้ำพลับพลา ห้วยหินลาด และลำน้ำมูล

วัด แก้

วัดที่สำคัญในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิมีดังต่อไปนี้

  1. วัดใต้วิไลรรม
  2. วัดกลาง
  3. วัดสว่างโพธิ์ทอง
  4. วัดเจริญราษฎร์
  5. วัดทุ่งลัฎฐิวัน
  6. วัดเหนือสุพรรณวราราม

สถานศึกษา แก้

ระดับวิทยาลัย โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่สำคัญในเขตอำเภอสุวรรณภูมิมีดังต่อไปนี้

  1. โครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้
  2. วิทยาลัยเทคนิคสุวรรณภูมิ
  3. วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจรักไทย สุวรรณภูมิ
  4. โรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาล
  5. โรงเรียนสุวรรณภูมิวิทยาลัย

โรงเรียนระดับประถมศึกษาที่สำคัญในเขตอำเภอสุวรรณภูมิมีดังต่อไปนี้

  1. โรงเรียนเมืองสุวรรณภูมิ
  2. โรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่สุวรรณภูมิ
  3. โรงเรียนดอนแฮดวิทยา
  4. โรงเรียนกระดิ่งทอง
  5. โรงเรียนการกุศลวัดกลาง
  6. โรงเรียนเจริญศึกษา
  7. โรงเรียนอนุบาลศรีภูมิวิทยารักษ์
  8. โรงเรียนบ้านน้ำคำน้อย
  9. โรงเรียนโสภาพพิทยาภรณ์

สถานที่ท่องเที่ยว แก้

 
กู่พระโกนา
  • กู่พระโกนา บ.กู่พระโกนา ต.สระคู
  • อนุสาวรีย์เจ้าแก้วมงคล และ เขต คูเมืองบ้านท่ง ( ประกาศชื่อโบราณสถาน กรมศิลปากร พ.ศ. 2478 )
  • สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์ บ.หัวโทน ต.หัวโทน
  • สิมวัดสระเกตุ บ.น้ำคำ ต.น้ำคำ
  • พระธาตุวัดเบญจ์ บ.หัวโทน ต.หัวโทน
  • บ่อพันขัน บ.ตาเณร ต.จำปาขัน
  • วัดพระธาตุบ่อพันขัน บ.หนองมะเหี๊ยะ ต.จำปาขัน
  • อ่างเก็บน้ำบ่อพันขัน บ.ตาเณร,บ.หญ้าหน่อง ต.จำปาขัน
  • พระธาตุอรหันต์โมคคัลลาน์ วัดกลาง คุ้มวัดกลาง ในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ
  • อนุสาวรีย์ท้าวเซียงเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ
  • ศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ บ.กู่พระโกนา ต.สระคู
  • พิพิธภัณฑ์หอยล้านปี บ.โพนครกน้อย ต.สระคู
  • สระสี่เหลี่ยม สระสองแก ต.สระคู
  • กู่หินกอง บ.หินกอง ต.หินกอง
  • วัดพระธาตุนาใหญ่ บ.นาใหญ่ ต.นาใหญ่
  • วัดพระเจ้าใหญ่บ้านยางเครือ บ.ยางเครือ ต.เมืองทุ่ง
  • วัดกู่อารัมย์ บ.ดงเมือง ต.เมืองทุ่ง
  • บึงท่าศาลา บ.กู่พระโกนา ต.สระคู
  • โครงการจัดตั้งวิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ต.หินกอง

เทศกาลสำคัญ แก้

 
บุญบั้งไฟ
  • งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอสุวรรณภูมิ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างยิ่งใหญ่ ระดับประเทศ โดยเฉพาะวันแห่ ขบวนฟ้อน เซิ้งบั้งไฟ และบั้งไฟลายศรีภูมิ กับการตกแต่งขบวนบั้งไฟที่มากที่สุดของประเทศ โดยงานจัด ในวันเสาร์ อาทิตย์แรกของเดือนมิถุนายนของทุกปี ณ ลานอนุสาวรีย์พระรัตนวงษา (ท้าวเซียง) และหน้าที่ว่าการอำเภอสุวรรณภูมิ โดยงานมีความโดดเด่นที่แตกต่างจากที่อื่น คือ เอกลักษณ์การตกแต่งเอ้ บั้งไฟด้วยลายกรรไกรตัด เพียงแห่งเดียวในประเทศ หรือที่เรียกว่า ลายศรีภูมิ รวมทั้งขบวนรำสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ งานประเพณีบุญบั้งไฟสุวรรณภูมิ ยังมีสืบเนื่องยาวนาน มีช่างบั้งไฟลายศรีภูมิ ในคุ้มวัดทุกคุ้มวัด ในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ และบั้งไฟเอ้ ทั่วเขตจังหวัดร้อยเอ็ด จะเข้าร่วมแข่งขันประเภทบั้งไฟขนาดใหญ่ทั้งหมด จนทำให้ เป็นหนึ่งในงานประเพณีบั้งไฟที่มีชื่อเสียงที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ จนมีคำกล่าวที่ว่า "หากอยากดูบั้งไฟครบครัน หลากหลายกิจกรรม ไปที่ ยโสธร หากอยากดูบั้งไฟจุดขึ้นสูง จำนวนมาก ให้ไปที่อำเภอพนมไพร และ หากอยากดู บั้งไฟเอ้ตกแต่งสวยงามขนาดใหญ่มากที่สุดและขบวนรำสวยงามมากที่สุดไปที่ อำเภอสุวรรณภูมิ " โดยตั้งเเต่ งานประเพณีบุญบั้งไฟสุวรรณภูมิ 2567 เป็นต้นไป จะมีขบวนแห่รำเซิ้งสวยงาม ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะมีการถูกจัดขึ้นเป็นครั้งเเรกในปี พ.ศ. 2567 ให้สมเกียรติกับดินเเดนที่มีการจัดงานบุญบั้งไฟอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเอกลักษณ์เเละมีความเก่าเเก่เเละต่อเนื่องมาอย่างยาวนานมากที่สุดเเห่งหนึ่งของภาคอีสานเเละของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นงานประเพณีที่ดึงดูดเเละเป็นศูนย์รวมให้ลูกหลานเมืองศรีภูมิหรือเครือข่ายลูกหลานเจ้าเเก้วมงคล (บรรพชนกลุ่มใหญ่ของภาคอีสาน) ที่มีอยู่ทั่วภาคอีสานเเละประเทศไทยให้กลับมาเยี่ยมเยือนถิ่นเก่าของบรรพชน ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็น เมืองบรรพบุรุษของชาวอีสาน ก่อนที่ภายหลังจะมีการอพยพเเยกกันออกไปสร้างเมืองเเละชุมชนต่างๆมากมายทั่วภาคอีสาน นับได้ว่าเป็นศูนย์รวมทางจิตใจให้เเก่ลูกหลานชาวอีสานได้มากมายเลยทีเดียว

ชาวอำเภอสุวรรณภูมิที่มีชื่อเสียง แก้

ข้าราชการ/นักการเมือง/นักวิชาการ แก้

  • นายเชาว์ สายเชื้อ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ท่านแรก
  • นายดุลย์ ดวงเกตุ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคกิจสังคม
  • นายขจรศักดิ์ ศรีสวาสดิ์ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคความหวังใหม่
  • นายวิรัช ประราศรี กำนันตำบลสระคู อดีต ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • พล.ท.ดร.พิราบยุทธการ อิศวะเมธธรีสกุล นายกรัฐมนตรี รัฐประหาร
  • นายสมศักดิ์ เศรษโฐ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ
  • นายวรรณทัศน์พล อิศวะเมธธรีสกุล ประธานสภาเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ
  • นายวสันต์ สามิบัติ์ ประธานชุมชนหมู่ 3 เขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ
  • นายกิตติ สมทรัพย์ ส.ส.ร้อยเอ็ดเขต 6 อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย อำเภอหนองฮี
  • พล.ต.ต.ดร.พิพัฒนพงศ์ เฏฌาฌัญ ผู้บังคับการ สน.ยานนาวา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคถิ่นกาขาว หัวหน้าพรรคถิ่นกาขาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • พล.ต.อ.ดร.บฎิณฑฬ์ เฏฌาฌัญ จเรตำรวจ หัวหน้าพรรคไทยพัฒนา
  • พ.ต.อ.พิเศษ พิภพ ใยบัว รองผู้บังคับการ สน.ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

พระภิกษุสงฆ์ แก้

พระครูสุพรรณภูมิคณาจารย์ (สอ) - เจ้าคณะเมืองสุวรรณภูมิ รูปสุดท้าย

หลวงปู่ชม ฐานะธัมโม[17] - วัดกู่พระโกนา

พระครูพุทธบาลมุนี - วัดชัยมงคล บ้านคำพรินทร์ ตำบลเปลือย (ปัจจุบัน ตำบลช้างเผือก)

หลวงปู่เคน ฐานะธัมโม[18] - วัดใต้วิไลธรรม

พระราชพรหมจริยะคุณ - เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด ฝ่ายมหานิกาย วัดบ้านเปลือยใหญ่ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

นักกีฬา แก้

นักธุรกิจ แก้

นายพนม ศรีแสนปาง - นายกสมาคมพ่อค้าอำเภอสุวรรณภูมิ / ประธานบริษัทมหาชนจำกัด ศรีแสงดาวไบโอพาวเวอร์

นักร้อง/นักดนตรี/นักแสดง แก้

  • ลำไย ไหทองคำ นักร้องลูกทุ่ง,หมอลำ นักเเสดง พิธีกร ราชินีอินดี้[19]
  • เอกราช สุวรรณภูมิ นักร้องลูกทุ่ง
  • เจมส์ จตุรงค์ นักร้องลูกทุ่ง,หมอลำ นักเเสดง
  • ใบตอง จันทร์งาม หรือ แป๋ว ปัทมา นักร้องหมอลำ
  • บี ประภาพร ขวัญใจแฟนแฟน นางเอกหมอลำสังกัดคณะหมอลำขวัญใจแฟนแฟน แมน จักรพันธ์
  • เจ้สี่ พลล้ำ อดีตตลกคณะระเบียบวาทะศิลป์
  • บู๊ท จักรพันธ์ ลำเพลิน ซานเล้าบันเทิงศิลป์ อดีตพระเอกหมอลำคณะระเบียบวาทะศิลป์ หัวหน้าวงซานเล้าบันเทิงศิลป์
  • ไอออน กลวัชร ข้าวสารแลนด์ นักร้อง พระเอกหมอลำคณะซานเล้าบันเทิงศิลป์
  • หนึ่ง พลาญชัย ท็อปไลน์ พระเอกหมอลำคณะคำผุนร่วมมิตร
  • ภานุวัฒน์ วิเศษวงษา นักเเต่งเพลง (เเต่งเพลงดัง อาทิ บ่เป็นหยังเขาเข้าใจ ซังได้ซังเเล้ว ห้ามตั๋ว นางไอ่ของอ้าย เพิ่นบ่แม่นผู้สาวเฮา เป็นต้น)

ศิลปินเเห่งชาติ แก้

นักปราชญ์ชุมชน พื้นบ้าน แก้

นายสมัยลี สร้อยศิลา - ปราชญ์พื้นบ้าน ด้านทัศนศิลป์ การตัดแต่งลายเอ้บั้งไฟ ลายศรีภูมิ

นายล้อม ปราสาร - ปราชญ์ชุมชน ด้านศาสนพิธี พิธีกรรม การทอผ้าไหม ไหมลายศรีภูมิดั้งเดิม

กำนันเดช ภูสองชั้น - ผู้เขียน "คนทุ่งกุลา", อดีตกำนันตำบลทุ่งหลวง

นายเลียบ แจ้งสนาม - ศิลปินพื้นบ้าน ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ของ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ( วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2561 )

อ้างอิง แก้

  1. "พื้นที่อาณาเขตของเมืองศรีภูมิ(สุวรรณภูมิ)". เฟสบุ๊ค. 2021-07-15. สืบค้นเมื่อ 2023-06-23.
  2. พระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) (กรุงเทพฯ : ศรีหงส์, ๒๔๓๒) น. ๘-๙
  3. https://www.car.chula.ac.th/display7.php?bib=b1275880
  4. หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร), ตำนาน เมืองนครจำปาศักดิ์ (อุบลราชธานี : ในงานฌาปนกิจศพ นายวิจิตรศักดิ์ สาระโสภณ ณ เมรุวัดเเจ้ง, ๒๕๒๗) น. ๔
  5. https://finearts.go.th/storage/contents/file/S7yoBa3aJe2AkCKdVqwQCKbvlt16f6i01xIy9q3Z.pdf
  6. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์สำนักนายกรัฐมนตรี, เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (กรุงเทพฯ : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๔) น. ๒๓,๔๑-๔๕
  7. https://www.finearts.go.th/nlt-korat/view/19408-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-1
  8. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2445/041/783_3.PDF
  9. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2493/D/039/3026.PDF
  10. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2499/D/060/54.PDF
  11. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2508/D/025/941.PDF
  12. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2509/D/070/2613.PDF
  13. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2509/D/033/1577.PDF
  14. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2510/D/031/1157.PDF
  15. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2514/D/097/2433.PDF
  16. กระทรวงสาธารณสุข (1 มกราคม 2562). "จำนวนประชากรทะเบียนราษฏร์ ย้อนหลัง 3 ปี". hdcservice.moph.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-08. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. "หลวงปู่ชม ฐานะธัมโม วัดกู่พระโกนา อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด". ๑๐๘ พระเกจิ. 2020-12-23.
  18. "พระครูสุพรรณภูมิคณาจารย์ (สอ)". ปักหมุดเมืองไทย. 2021-08-11.
  19. https://music.trueid.net/th-th/detail/QyQ9D4K0edGy