อานิก อัมระนันทน์

นางอานิก อัมระนันทน์ (30 มิถุนายน พ.ศ. 2499 - ) อดีตกรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์[1] อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อานิก อัมระนันทน์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด30 มิถุนายน พ.ศ. 2499 (67 ปี)
เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2548 - 2566)
คู่สมรสปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

ประวัติ แก้

นางอานิก อัมระนันทน์ (สกุลเดิม: วิเชียรเจริญ) เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2499 ที่กรุงเทพมหานคร ชื่อของอานิก มีความหมายว่า อันเป็นที่รัก[2] เป็นบุตรีของศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้ก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับแม่ชีคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ[2] อดีตนายก สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และสถานะของแม่ชีไทย นางอานิกเป็นบุตรคนกลาง มีพี่ชายคือ นายเอม วิเชียรเจริญ และมีน้องชายคือ นายอาจ วิเชียรเจริญ

เธอจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดา จากนั้นสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสอบได้ทุนเล่าเรียนหลวง จบปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (P.P.E.) จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และปริญญาโทในสาขาเดียวกันกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

การทำงาน แก้

นางอานิก อัมระนันทน์ เริ่มทำงานที่นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจเล่มหนึ่ง ทำอยู่ 6 เดือน ก็เปลี่ยนไปทำงานที่ธนาคารเชสแมนแฮตตัน และย้ายไปทำงานที่ บริษัทเชลล์ ประเทศไทย เติบโตอยู่ในบริษัทถึงกว่า 20 ปี หลังจาก 4 ปีที่อังกฤษ ในตำแหน่งผู้จัดการลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations Manager, UK) สำนักงานใหญ่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และอีกช่วงกับเชลล์สหราชอาณาจักร ก็ได้กลับมารับตำแหน่ง Finance Director (CFO) ของบริษัท เชลล์ ประเทศไทย ได้รับผิดชอบงานปรับโครงสร้าง บริษัทในเครือ ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ สุดท้ายได้รับผิดชอบ ทำงานในกลุ่มงาน Group Audit ระดับภูมิภาค ดูแลทั้งงานปรับโครงสร้างองค์กร และงานจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ (IT)

งานการเมือง แก้

นางอานิก อัมระนันทน์ เริ่มเข้าสู่วงการเมืองช่วงหลังการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 ด้วยการเสนอตัวมาช่วยงานพรรคผ่านทางนายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่พบกันในงานนักเรียนเก่า ออกซฟอร์ด-เคมบริดจ์ หลังจากสมัครสมาชิกพรรคแล้ว ด้วยประสบการณ์ทำงานที่สั่งสม และหลากหลายสาขาในองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้ได้รับพิจารณาแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 นางอานิก อัมระนันท์ ได้รับการพิจารณาจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ลงสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบสัดส่วน กลุ่ม 6 (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ) โดยเป็นผู้สมัครลำดับที่ 7 ซึ่งไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ได้รับการเลื่อนลำดับขึ้นมาทดแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลาออกในภายหลัง ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 31[3] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เพื่อปฏิบัติหน้าที่อีกสมัย

ปัจจุบัน เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร,ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ[4] เป็นผู้เสนอร่างแก้ไข พรบ.แข่งขันทางการค้า ครั้งแรกในปี 2553 และอีกครั้งในปี 2554 แต่ไม่ได้รับการบรรจุในระเบียบวาระเพื่อพิจารณาของสภาฯ ในปี 2555 นางอานิก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

นางอานิกได้ริเริ่มโครงการ "บอกต่อความจริง" เดินหน้าประชาธิปไตย ที่เชิญชวนประชาชนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาผนึกกำลังกันพูดคุยกับคนคิดต่างรอบๆตัว เพื่อบอกต่อความจริงและให้มุมมองใหม่ๆ ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลรอบด้าน รู้ทันนโยบาย เพื่อสามารถตัดสินใจทางการเมืองด้วยสติและความรู้เท่าทัน โครงการนี้มีชื่อที่เรียกกันว่า "วอม" หรือ WOM มาจากคำว่า Word of Mouth หรือ กลยุทธ์ปากต่อปาก เป็นโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของอาสาสมัคร บริหารงานในบรรยากาศประชาธิไตย รวมทั้งมีกิจกรรมหาทุน เป็นการเมืองภาคประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ที่มุ่งเสริมสร้างความเป็นสถาบันของพรรค

นอกจากนี้นางอานิก อัมระนันทน์ ยังเป็นผู้ออกแบบ และดูแลเว็บไซต์ http://www.abhisit.org ให้กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย

ชีวิตส่วนตัว แก้

นางอานิก สมรสกับ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์[2] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่การบินไทย อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีบุตรชายด้วยกัน 2 คนคือ ปีย์ อัมระนันทน์ และอนุตร์ อัมระนันทน์ โดยที่ทั้งหมดอาศัยอยู่รวมกันในบ้านอัมระนันท์ มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ซึ่งตั้งอยู่ภายในที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย อายุกว่า 100 ปี เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของวังเทวะเวสม์ ออกแบบก่อสร้างโดย มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียนผู้ออกแบบก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม

ชีวิตส่วนตัว นางอานิกมีงานอดิเรก คือ เล่นเปียโน, วาดรูปในแนวศิลปะร่วมสมัย โดยจะมีภาพที่ตัวเองวาดแขวนไว้ตามมุมต่าง ๆ ของบ้าน[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค เก็บถาวร 2018-04-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ สืบค้นวันที่ 16 มีนาคม 2561
  2. 2.0 2.1 2.2 "ตามไปดู "บ้านอัมระนันทน์" ณ วังเทวะเวสม์ ตระกูลนี้ศักดิ์ศรีซื้อไม่ได้ 6 ล้านแค่เศษเงิน !!!" (Press release). มติชนออนไลน์. 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคประชาธิปัตย์)
  4. คณะกรรมาธิการการพลังงาน เวปไซท์รัฐสภาไทย เรียกดูเมื่อ 19 กันยายน 2555
  5. บ้านนี้สีฟ้า (รีรัน), รายการทางบลูสกายแชนแนล: อังคารที่ 30 กรกฎาคม 2556
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2022-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ข หน้า ๖๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑๔๒, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓


แหล่งข้อมูลอื่น แก้