อาตาริ จากัวร์ (อังกฤษ: Atari Jaguar) เป็นเครื่องเล่นวิดีโอเกมที่ผลิตโดยบริษัทอาตาริ เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1993 อาตาริ จากัวร์ ถูกวางตัวให้เป็นคู่แข่งของเซกา เมกาไดรฟ์ และ ซูเปอร์แฟมิคอม และยังเป็นเครื่องเล่นเกมรุ่นแรกที่มีความสามารถในการประมวลผลแบบ 64 บิต แต่เครื่องเล่นเกมนี้ประสบความล้มเหลวในการทำตลาด และทำให้อาตาริถอนตัวจากธุรกิจฮาร์ดแวร์ในเวลาต่อมา

อาตาริ จากัวร์
Atari Jaguar
ผู้ผลิตอาตาริ
ชนิดเครื่องเล่นวิดีโอเกม
ยุคยุดที่ห้า
วางจำหน่ายUS 18 พฤศจิกายน, 1993
ยอดจำหน่าย250,000 เครื่อง
สื่อตลับเกม, ซีดีรอม
ซีพียูโมโตโรลา 68000
เกมที่ขายดีที่สุดAlien vs. Predator
รุ่นก่อนหน้าอาตาริ 7800

ประวัติ แก้

เครื่องอาตาริจากัวร์เป็นเครื่องเกมคอนโซลเครื่องสุดท้ายของบริษัทอาตาริ โดยมีจุดมุ่งหมายจะให้เป็นเครื่องเกมที่เหนือกว่าเครื่องซูเปอร์แฟมิคอมของนินเทนโดและเครื่องเมกาไดรฟ์ของเซกา โดยทางอาตาริมอบเงินทุนให้บริษัท "แฟลร์ เทคโนโลยี" เป็นผู้พัฒนา ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น "แฟลร์ II"

บริษัทแฟลร์ II ได้ออกแบบเครื่องเกมไว้ 2 แบบด้วยกัน เครื่องแรกเป็นเครื่องเกม 32 บิท ใช้ชื่อว่า "แพนเทอร์" ส่วนอีกเครื่องเป็นเครื่องเกม 64 บิท ใช้ชื่อว่า "จากัวร์" และผลปรากฏว่าการพัฒนาจากัวร์เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาตาริจึงยกเลิกการพัฒนาแพนเทอร์ และหันมาทุ่มให้กับการพัฒนาจากัวร์

จากัวร์ออกวางตลาดในปี ค.ศ. 1993 ในราคา 250 ดอลลาร์สหรัฐ[1] โดยใช้สโลแกนว่า "คำนวณดูสิ" (Do the Math) เพื่อเป็นการโปรโมตว่าเครื่อง 64 บิทของตน เหนือกว่าเครื่องเกมอื่นที่เป็น 16 บิท ในช่วงแรกเครื่องจากัวร์ขายได้ค่อนข้างดี สามารถขายได้มากกว่าเครื่อง 3DO แต่ก็ได้รับการติติงในเรื่องเกมที่คุณภาพต่ำซึ่งบริษัทอาตาริมีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีในเรื่องที่เครื่องเกมที่อาตาริผลิตส่วนมากมักจะมีแต่เกมคุณภาพต่ำ แต่เครื่องจากัวร์ก็ยังมีเกมที่มีคุณภาพอย่างเกม "เทมเพส 2000", "อเลี่ยน เวอซัส พรีเดเตอร์" และ "ดูม"

เครื่องจากัวร์ประสบปัญหาในเรื่องมีเกมให้เล่นน้อย[2] เนื่องจากเครื่องเกมที่ออกมามีปัญหาบั๊ก และขาดแคลนเครื่องมือในการพัฒนาเกม การพัฒนาเกมในจากัวร์จึงค่อนข้างยาก รวมทั้งนักเล่นเกมต่างก็บ่นว่าคอนโทรลเลอร์ของจากัวร์นั้นซับซ้อนเกินไป เนื่องจากมีปุ่มถึง 15 ปุ่ม[3]

ในปี 1995 เครื่องเพลย์สเตชันของโซนี่และแซทเทิร์นของเซกาก็ออกวางตลาด ทำให้สถาณภาพของจากัวร์ง่อนแง่นเข้าไปอีก ทางอาตาริพยายามเอาตัวรอดโดยให้สัมภาษณ์ว่าเครื่องจากัวร์นั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องแซทเทิร์นและต่ำกว่าเครื่องเพลย์สเตชันเพียงนิดเดียว ซ้ำยังทำนายว่าเครื่องเพลย์สเตชันจะวางจำหน่ายในราคา 500 ดอลลาร์สหรัฐ และถ้าเกิดเพลย์สเตชันจะขายในราคาที่ต่ำกว่านี้ ทางอาตาริจะฟ้องร้องฐานกีดกันทางการค้า ซึ่งปรากฏว่าเครื่องเพลย์สเตชันวางขายในราคา 299 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ทางอาตาริก็ไม่เคยดำเนินการฟ้องศาลดังที่ให้สัมภาษณ์ไว้[4] ทางอาตาริกล่าวอ้างว่าเครื่องจากัวร์ของตนเหนือกว่าเครื่องเพลย์สเตชันเพราะเครื่องจากัวร์นั้นเป็นเครื่องเกม 64 บิท แต่คำกล่าวอ้างนั้นเป็นคำกล่าวอ้างเกินความจริง เพราะเครื่องจากัวร์นั้นไม่ได้ใช้ CPU แบบ 64 บิทอย่างแท้จริง แต่ใช้ CPU 32 บิท 2 ตัวทำงานร่วมกัน

การเข้าสู่ตลาดของเครื่องเพลย์สเตชันส่งผลเสียอย่างมหันต์ต่อเครื่องจากัวร์ บริษัทอาตาริมีรายได้ลดลงถึงครึ่งหนึ่งภายใน 1 ปี[5] ในที่สุดบริษัทอาตาริก็ยุติการผลิตจากัวร์หลังจากที่ต้องรวมกิจการกับบริษัท JT Storage

คำวิจารณ์ แก้

อาตาริจากัวร์ ถูกจัดอันดับให้เป็นเครื่องเกมคอนโซลที่แย่ที่สุดในปี 2004 จากนิตยสาร EGM

อ้างอิง แก้

  1. http://www.pcguide.com/ref/cd/mediaCapacity-c.html
  2. http://www.wired.com/gaming/gamingreviews/multimedia/2007/05/gallery_game_history?slide=28&slideView=7
  3. http://xbox360.ign.com/articles/690/690449p1.html
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-15. สืบค้นเมื่อ 2009-02-22.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-09. สืบค้นเมื่อ 2009-02-22.