อาณาจักรเขมร มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองศรีสุนทร หรือ ศรีสอช่อ (Srei Sonthor) ตั้งแต่พ.ศ. 2136 ถึง พ.ศ. 2161 เป็นราชธานีในระยะเวลาสั้น เสมือนเป็นช่วงส่งทอดระหว่างความวุ่นวายหลังการเสียกรุงละแวก กับการตั้งหลักปักฐานใหม่ของอาณาจักรเขมรที่กรุงอุดงฦาไชย

เหตุการณ์เสียกรุงละแวก แก้

 
วัดนคร วัดสมัยกรุงศรีสุนทรที่จังหวัดกำปงจาม

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกรีฑาทัพบุกเข้าตีเมืองกัมพูชาในพ.ศ. 2136 สมเด็จพระบรมราชาฯพระสัตถาพร้อมพระราชโอรสสองพระองค์ สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช และสมเด็จพระบรมราชาฯ เสด็จหนีไปยังเมืองศรีสุนทร และต่อมาในพ.ศ. 2137 สามกษัตริย์ได้พากันเสด็จหนีไปเมืองสเต็งตรึงของล้านช้าง สมเด็จพระสัตถาและสมเด็จพระไชยเชษฐาฯประชวรสวรรคต เหลือเพียงสมเด็จพระบรมราชาฯประทับอยู่ที่เมืองสเต็งตรึง ทางฝ่ายเมืองเขมรก็มีขุนนางระดับสูงรวมทั้งเป็นเชื้อพระวงศ์ห่างๆ พระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดี ครองเมืองเชิงไพร จึงเรียกว่าสมเด็จพระรามฯเชิงไพร ได้ตั้งตนเป็นผู้นำเขมรมีฐานที่มั่นที่เมืองศรีสุนทร ยกทัพเข้าขับไล่ทัพสยามของพระมหามนตรีที่ประจำการอยู่ที่เมืองสระบุรี คอยควบคุมสถานการณ์ในเขมร แต่ก็ถูกสมเด็จพระรามฯเชิงไพรขับออกไปในพ.ศ. 2138 สมเด็จพระรามฯเชิงไพรจีงเป็นเอกกษัตริย์แห่งแดนแคว้นกัมพูชา

บังเอิญฝรั่งสองนายที่สมเด็จพระบรมราชาฯพระสัตถาทรงชุบเลี้ยงไว้เป็นพระโอรสบุญธรรม คือ นายบลาสรุยซ์และนายเบลูซู ที่ได้หลบหนีกลับประเทศไปคราวเสียกรุงละแวก ได้เดินทางกลับมาหมายจะเฝ้าสมเด็จพระสัตถาฯ ปรากฏว่าพระองค์ประชวรสวรรคตไปเสียแล้ว ฝรั่งสองนายนั้นเสียใจมากและตั้งใจว่าจะทวงราชบัลลังก์มาคืนให้กับสมเด็จพระบรมราชาฯ พระโอรสของพระสัตถาที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ นายบลาสรุยซ์และนายเบลูซูจึงนำทัพสเปน เดินทางมาที่เมืองศรีสุนทรเพื่อเฝ้าสมเด็จพระรามฯเชิงไพร แต่สมเด็จพระรามฯเชิงไพรทรงไม่ไว้วางพระทัยสองฝรั่งจึงวางแผนหมายจะสังหาร แต่ฝรั่งทั้งสองไหวตัวทันและชิงปลงพระชนม์สมเด็จพระรามฯเชิงไพรเสียก่อนในพ.ศ. 2139

ช่วงการปกครองของพระเทวีกษัตริย์ แก้

นายบลาสรุยซ์และนายเบลูซูจึงอัญเชิญสมเด็จพระบรมราชาฯ เสด็จนิวัติกรุงศรีสุนทร ขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้ง สมเด็จพระบรมราชาฯ ทรงปูนบำเน็จนายบลาสรุยซ์และนายเบลูซูรวมทั้งทหารสเปนเป็นอันมาก แต่บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ เจ้าปกครองท้องถิ่นยังไม่ยอมรับอำนาจของพระองค์[1] จึงต้องทรงไปปราบตามที่ต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2152 พวกแขกจามและแขกมลายูก่อกบฏที่เมืองตปุงขมุม นำโดยแขกจามชื่อโปลัดและแขกมลายูชื่อลักษมณา สมเด็จพระบรมราชาฯทรงนำทัพสเปนเข้าปราบปรามแต่ทรงถูกลอบปลงพระชนม์และทหารสเปนถูกพวกแขกสังหารไปเป็นจำนวนมาก นายบลาสรุยซ์และนายเบลูซูก็หนีกลับประเทศ

เมื่ออาณาจักรเขมรขาดผู้นำ สมเด็จพระเทวีกษัตริย์ พระราชมาตุจฉาของสมเด็จพระสัตถา (พระธิดาในสมเด็จพระบรมราชาที่ 3)[2] ได้ทรงเข้าดูแลจัดการเรื่องราชกิจต่างๆ และให้พระอนุชาต่างพระราชมารดาของสมเด็จพระสัตถา คือ เจ้าพระยาอน ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระบรมราชาฯ ที่ 7 แต่ใน พ.ศ. 2153 สมเด็จพระบรมราชาฯทรงใคร่ปรารถนาจะได้ภรรยาของขุนนางผู้หนึ่งชื่อพระสเถร์[3]มาเป็นพระชายา ทั้งนางภรรยาและตัวพระสเถร์เองไม่ยอม สมเด็จพระบรมราชาฯกริ้วมีรับสั่งให้จับนางภรรยานั้นมาขังไว้ ส่วนพระสเถร์เกรงพระราชอาญาจึงหลบหนีไปแต่ด้วยความโกรธแค้นจึงหวนกลับมาปลงพระชนม์สมเด็จพระบรมราชาฯเสีย

สิ้นกษัตริย์เขมรไปอีกองค์สมเด็จพระเทวีกษัตริย์ทรงให้เจ้าพระยาโญม พระโอรสของสมเด็จพระสัตถาฯกับพระสนม เข้าปกครองแผ่นดินสถาปนาเป็นสมเด็จพระแก้วฟ้า แต่ไม่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกให้ ปรากฏว่าสมเด็จพระแก้วฟ้าทรงประพฤติเสเพลไม่สนใจราชกิจ เอาแต่เที่ยวป่าล่าสัตว์ สมเด็จพระเทวีกษัตริย์เกรงว่าอาณาจักรเขมรจะสูญสิ้นเพราะขาดกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชา จึงมีพระราชสาสน์ถึงสมด็จพระนเรศวรฯ เมื่อ พ.ศ. 2154 ขอองค์พระศรีสุพรรณมาธิราช พระอนุชาของสมเด็จพระสัตถาฯ ที่ถูกจับองค์กลับไปกรุงศรีอยุธยาคราวเสียกรุงละแวกนั้น กลับมาครองราชสมบัติเขมร

สมเด็จพระนเรศวรฯจึงโปรดฯ ให้พระศรีสุริโยพรรณนั่งเรือสำเภาใหญ่กลับมาเมืองเขมร พระศรีสุริโยพรรณขึ้นครองราชสมบัติเป็น สมเด็จพระบรมราชาฯ ที่ 8 พระเทวีกษัตริย์สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน เมื่อสมเด็จพระบรมราชาฯพระศรีสุริโยพรรณขึ้นครองเมืองเขมร ก็ทรงพบว่าเขมรนั้นอยู่ในสภาพที่แตกแยก บรรดาเจ้าหัวเมืองต่างพากันตั้งตนเป็นอิสระไปเคารพยำเกรงพระราชอำนาจ จึงทรงต้องทำสงครามปราบปรามขุนนางท้องถื่นเหล่านั้นเพื่อรวมอาณาจักรอีกครั้ง โดยมีพระราชสาสน์ถึงสมเด็จพระเอกาทศรถ ขอองค์พระศรีไชยเชษฐา พระโอรสที่ยังอยู่ที่กรุงศรีฯ กลับมาเป็นพระมหาอุปราชเพื่อช่วยพระองค์ในการปราบกบฏ สมเด็จพระบรมราชาฯ พระศรีสุริโยพรรณ ทรงทำสงครามปราบปรามเจ้าเมืองต่างๆตลอดรัชกาล จน พ.ศ. 2161 พระองค์ก็สละราชสมบัติให้พระมหาอุปราช ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชฯ และย้ายราชธานีไปที่กรุงอุดงฦาไชย สมเด็จพระบรมราชาฯ สวรรคตในปีต่อมา พ.ศ. 2162

รายพระนามกษัตริย์เขมรศรีสุนทร แก้

 
รายพระนามพระมหากษัตริย์กัมพูชา
พระมหากษัตริย์ ครองราชย์
รัชกาล พระรูป พระนาม ระหว่าง หมายเหตุ
อาณาจักรเขมรศรีสันธร
(พ.ศ. 2140 – 2162)
สถาปนา ศรีสันธร เป็นเมืองหลวง
81   พระบาทรามเชิงไพร
(พระรามที่ 1)
พ.ศ. 2137 – 2139
(2 ปี)
ย้ายราชธานีมายังกรุงศรีสันธร เข้าสู่ยุคอาณาจักรเขมรศรีสันธร
82   พระรามที่ 2
(พญานูร)
พ.ศ. 2139 – 2140
(1 ปี)
80
(2)
  พระบรมราชาที่ 5
(พญาตน)
พ.ศ. 2140 – 2142
(2 ปี)
ครองราชย์ครั้งที่ 2
83   พระบรมราชาที่ 6
(พญาอน)
พ.ศ. 2142 – 2143
(1 ปี)
84   พระแก้วฟ้าที่ 1
(เจ้าพญาโญม)
พ.ศ. 2143 – 2145
(2 ปี)
85   พระบรมราชาที่ 7
(ศรีสุริโยพรรณ, พระศรีสุพรรณมาธิราช)
พ.ศ. 2145 – 2162
(17 ปี)
86   พระไชยเชษฐาที่ 2
(พระชัยเจษฎา)
พ.ศ. 2162 – 2170
(8 ปี)

ดูเพิ่ม แก้

ประวัติศาสตร์กัมพูชา

อ้างอิง แก้

  1. พงศาวดารละแวก
  2. http://www.royalark.net/Cambodia/camboa2.htm
  3. พงศาวดารเขมร
ก่อนหน้า สมัยศรีสันธร ถัดไป
ละแวก   ราชธานีกัมพูชา
(พ.ศ. 2069 - พ.ศ. 2136)
  อุดงมีชัย