นายอากร ฮุนตระกูล เกิดวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สมรสกับ นางชมพูนุช ฮุนตระกูล มีบุตรชายคือ นายธนกร ฮุนตระกูล (สมรสกับ "กอหญ้า" สายสิริ ชุมสาย ณ อยุธยา)

นายอากรจบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลเริ่มทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารเชสแมนฮัตตัน ในปี พ.ศ. 2514 และเริ่มจับธุรกิจโรงแรม อย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานกรรมการโรงแรมเครืออิมพีเรียล ซึ่งมีโรงแรมในเครือถึง 7 แห่ง คือ โรงแรมนิวอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค (ปัจจุบัน คือ โรงแรมแมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพ) โรงแรมอิมพาล่า (ปัจจุบัน คือ โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท) โรงแรมอิมพีเรียลธารา (ปัจจุบัน คือ โรงแรมดับเบิลทรี บาย ฮิลตัน สุขุมวิท) โรงแรมอิมพีเรียลสมุย โรงแรมธาราแม่ฮ่องสอน โรงแรมเรือและบ้านสมุย และโรงแรมลำปางธานี รวมทั้งยังมีกิจการร้านอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกหลายแห่ง

นายอากรเป็นนักธุรกิจหัวก้าวหน้า มักเปิดโรงแรมให้พวกพ้องนักวิชาการ ได้สัมมนาวิชาการกันอย่างเต็มที่ และจากการพูดจาที่โผงผาง ทำให้ได้รับการขนานนามว่า "นักอุดมการณ์ขวานผ่าซาก"

นายอากรเคยเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 1 ในสังกัดพรรคพลังธรรม จากการเลือกตั้งเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 แต่ได้ลาออกหลังจากเป็น ส.ส. เพียง 7 เดือน เนื่องจากถูก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวโทษในคดีปั่นหุ้น (ซึ่งในที่สุดนายอากรได้รับการตัดสินให้พ้นข้อกล่าวหา)

หลังจากมีปัญหาด้านสุขภาพโดยตรวจพบมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะเมื่อกลางปี พ.ศ. 2537 นายอากรตัดสินใจยุติบทบาททางธุรกิจลง ด้วยการขายกิจการโรงแรมในเครืออิมพีเรียล ซึ่งเป็นกิจการเก่าแก่ของตระกูล ให้กับนายเจริญ สิริวัฒนภักดี คงเหลือกิจการโรงแรมในมือเพียงไม่กี่แห่ง เช่น โรงแรมบ้านท้องทราย ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผลจากการขายกิจการดังกล่าว ทำให้นายอากรสามารถล้างหนี้สินที่มีอยู่เกือบ 5,900 ล้านบาท จากการลงทุนสร้างโรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค ที่ปากซอย สุขุมวิท 24 ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี พ.ศ. 2533 การรัฐประหารโดย คณะรสช. เมื่อปี พ.ศ. 2534 ต่อเนื่องไปถึง เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี พ.ศ. 2535 โดยหลังจากชำระหนี้แล้ว นายอากรยังเหลือเงินสดถึงประมาณ 2,300 ล้านบาทอีกด้วย ในขณะที่นักธุรกิจคนอื่นๆ ต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ในปี พ.ศ. 2540

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 หลังจากสามารถรักษาตัวจนหายจาก โรคมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ นายอากรได้ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แข่งขันกับนายพิจิตต รัตตกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา โดยชูนโยบาย "ทำกรุงเทพให้เล็กลง" แต่ได้รับคะแนนเสียง เป็นอันดับที่ 4 ไม่ได้รับการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามนายอากรเคยระบุจุดประสงค์การลงสมัครไว้ว่า เพื่อใช้เวทีเลือกตั้ง นำเสนอความคิดต่อสังคมในเรื่อง กรุงเทพฯ ควรต้องเล็กลง มากกว่าที่จะต้องการชนะเลือกตั้ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 นายอากรตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ที่จะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย แต่ก็ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเสียก่อน ทำให้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่มีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกนั่นเอง

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ครอบครัว "ฮุนตระกูล" ได้ตัดสินใจบริจาคที่ดินบนเกาะสมุย ที่กว้านซื้อสะสมไว้ประมาณ 4,870 ไร่ ให้กับทางราชการ เพื่อให้รัฐนำไปใช้ประโยชน์จัดทำป่าชุมชน เขตป่าต้นน้ำลำธาร หรือเป็นพื้นที่ป่าสำหรับอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตามเจตนารมย์ของนายอากร ที่รวบรวมที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อเป็นป่าต้นน้ำ เอกสารที่นำมามอบให้ประกอบด้วย สัญญาซื้อขายที่ดิน สำเนาหนังสือภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) กว่า 100 แปลง ในพื้นที่ ต.บ่อผุด ต.แม่น้ำ ต.อ่างทอง ต.ลิปะน้อย และ ต.หน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย โดยส่วนหนึ่งเป็น น.ส.3 ก. ซึ่งที่ดินดังกล่าวนายอากรได้ซื้อไว้เป็นเวลา 10-15 ปีคิดเป็นเงินประมาณ 40-50 ล้านบาท แต่ที่ดินทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบันได้ถึงประมาณสามพันล้านบาท

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕