ออลต์ไรต์ (อังกฤษ: alt-right) หรือ ออลเทอร์นาทิฟไรต์ (อังกฤษ: alternative right "ขวาทางเลือก") เป็นกลุ่มคนหลวม ๆ ที่มีอุดมการณ์ขวาถึงขวาจัดซึ่งปฏิเสธอนุรักษนิยมกระแสหลักในสหรัฐ นักนิยมความสูงสุดของคนผิวขาว (white supremacist) ริชาร์ด บี. สเปนเซอร์ (Richard B. Spencer) นำศัพท์นี้มาปรับใช้เพื่อนิยามการเคลื่อนไหวซึ่งมีศูนย์กลางที่ชาตินิยมผิวขาว (white nationalism) ในปี พ.ศ. 2553 และถูกกล่าวหามานับแต่นั้นว่ากระทำเพื่อกลบเกลื่อนความหมายโดยนัยเชิงลบของศัพท์คตินิยมเชื้อชาติ คตินิยมความสูงสุดของคนผิวขาว และลัทธินาซีใหม่อย่างเปิดเผยในสหรัฐ สเปนเซอร์อ้างโฆษณาชวนเชื่อนาซีและพูดวิจารณ์ชาวยิวบ่อยครั้ง แต่เขาปฏิเสธเป็นผู้นิยมนาซีใหม่ มีการอธิบายความเชื่อออลต์ไรต์ว่าเป็นคตินิยมความสูงสุดของคนผิวขาว บ่อยครั้งทับซ้อนกับการต่อต้านยิวและลัทธินาซีใหม่ ชาติภูมินิยม และความเกลียดกลัวอิสลาม การต่อต้านคตินิยมสิทธิสตรี และความเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ ชาตินิยมผิวขาว ประชานิยมฝ่ายขวา และขบวนการปฏิกิริยาใหม่ มโนทัศน์นี้ยังสัมพันธ์กับชาตินิยมอเมริกาหลายกลุ่ม กษัตริย์นิยมใหม่ ผู้สนับสนุนสิทธิบุรุษ และการรณรงค์หาเสียงของดอนัลด์ ทรัมป์ในปี พ.ศ. 2559 ด้วย

กลุ่มออลต์ไรต์ที่เดินขบวนในงาน "Unite the Right rally" ที่ชาร์ลอตส์วิลล์, รัฐเวอร์จิเนีย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2017 โดยมีคนชูธงสู้รบของสมาพันธรัฐ, ธงแกดส์เกน และธงนาซี

ศัพท์นี้ได้รับความสนใจและข้อพิพาทจากสื่อพอสมควรระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ. 2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังทรัมป์แต่งตั้งสตีฟ แบนนอน ประธานไบรต์บาร์ตนิวส์ (Breitbart News) เป็นประธานบริหารการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ในเดือนสิงหาคม แบนนอนเรียกไบรต์บาร์ตนิวส์ว่าเป็น "เวทีสำหรับออลต์ไรต์" ความสนใจของสื่อเพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมเพื่อเลี้ยงฉลองหลังการเลือกตั้งใกล้ทำเนียบขาว ซึ่งมีริชาร์ด สเปนเซอร์เป็นพิธีกร สเปนเซอร์ใช้คำพูดโฆษณาชวนเชื่อนาซีหลายคำระหว่างการประชุม และปิดท้ายด้วยการตะโกนว่า "เฮลทรัมป์ เฮลประชาชนของเรา เฮลชัยชนะ!" ผู้สนับสนุนสเปนเซอร์จำนวนหนึ่งสนองโดยทำความเคารพแบบนาซีคล้ายกับบทท่องซีกไฮล์ที่ใช้ในการชุมนุมมวลชนของนาซี สเปนเซอร์ปกป้องพฤติกรรมนี้ โดยแถลงว่าท่าความเคารพนาซีนั้นมีเจตนา "แฝงนัยประชดและสร้างความครื้นเครง" หลังจากเหตุการณ์นั้น สำนักข่าวเอพีอธิบายว่า ออลต์ไรต์ "เป็นชื่อที่ปัจจุบันนักนิยมความสูงสุดของคนผิวขาวและนักชาตินิยมผิวขาวบางส่วนรับมาใช้" และ "เป็นศัพท์ที่ไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปและอาจดำรงอยู่เป็นหลักในฐานะอุปกรณ์ประชาสัมพันธ์เพื่อทำให้ความเชื่อแท้จริงของกลุ่มผู้สนับสนุนมีความชัดเจนน้อยลงและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นสำหรับผู้ชมวงกว้าง" และกล่าวด้วยว่า "ในอดีตเราเคยเรียกความเชื่อดังกล่าวว่าคตินิยมเชื้อชาติ ลัทธินาซีใหม่ หรือคตินิยมความสูงสุดของคนผิวขาว"[1]

ออลต์ไรต์มีเหง้าในเว็บไซต์อย่างฟอร์แชน (4chan) และเอตแชน (8chan) ซึ่งสมาชิกนิรนามสร้างและใช้อินเทอร์เน็ตมีมเพื่อแสดงออก ยากจะบอกว่าสิ่งที่คนเขียนในพื้นที่เหล่านี้จริงจังมากเพียงใด และเจตนายั่วยุให้เกิดโทสะมากน้อยเพียงใด สมาชิกออลต์ไรต์หลายคนใช้เว็บไซต์อย่างทวิตเตอร์และไบรต์บาร์ตส่งสารของพวกตน การลงเนื้อหาต่าง ๆ ของออลต์ไรต์ส่วนใหญ่สนับสนุนดอนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งจากพรรคริพับลิกัน และคัดค้านการย้ายถิ่นเข้าประเทศ พหุวัฒนธรรมนิยม และความถูกต้องทางการเมือง

อ้างอิง แก้

  1. Daniszewski, John (November 26, 2016). "Writing about the 'alt-right'". Benac, Nancy (August 24, 2016). "Clinton sees Trump ties to "alt-right" dystopian ideology". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-15. สืบค้นเมื่อ 2017-01-06.