อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา

อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา (อังกฤษ: Vienna Convention on the Law of Treaties) เป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองในเรื่องสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐกับรัฐ โดยเป็นการนำกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศมาประมวลไว้ให้เป็นลายลักษณ์อักษร

อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา
  ให้สัตยาบันแล้ว
  ลงนามอย่างเดียว
วันลงนาม23 พฤษาภคม ค.ศ. 1969
ที่ลงนามกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
วันมีผล27 มกราคม ค.ศ. 1980
เงื่อนไขได้รับสัตยาบันจากรัฐสามสิบห้ารัฐแล้ว[1]
ผู้ลงนามหนึ่งร้อยยี่สิบหก
ภาคีหนึ่งร้อยสิบเอ็ด (เมษายน ค.ศ. 2011)
ผู้เก็บรักษาเลขาธิการสหประชาชาติ
ภาษาจีน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และสเปน[1]

อนุสัญญาฯ นี้เป็นที่ตกลงรับในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1969[2] เปิดให้ลงลายมือชื่อในวันรุ่งขึ้น[1] และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1980[1] นับตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2011 สืบมา มีรัฐหนึ่งร้อยสิบเอ็ดรัฐให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาฯ นี้แล้ว[3]

ประวัติ แก้

คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission) แห่งสหประชาชาติ เริ่มยกร่างอนุสัญญาฯ นี้ใน ค.ศ. 1949[2] ในช่วงนั้น ผู้เสนอรายงานการประชุมพิเศษ (special rapporteur) ของคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วย เจมส์ เบรียร์ลี (James Brierly), เซอร์เฮิร์ช เลาเทอร์แพชต์ (Hersch Lauterpacht), เซอร์เจอรัลด์ ฟิตซ์เมารีซ (Gerald Fitzmaurice) และ ฮัมฟรีย์ วาลด็อก (Humphrey Waldock)[2] ได้นำเสนอร่างเป็นหลายฉบับและมีการอภิปรายถกเถียงกันหลายยก[2] ใช้เวลายกร่างกว่ายี่สิบปี ใน ค.ศ. 1966 คณะกรรมาธิการจึงตกลงรับร่างซึ่งประกอบด้วยข้อบทเจ็ดสิบห้าข้อเป็นร่างฉบับสุดท้าย[4] มีการประชุมตกลงรับข้อบทแห่งอนุสัญญาฯ นี้ใน ค.ศ. 1968 และ 1969 ที่กรุงเวียนนา ครั้นวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1969 ที่ประชุมสหประชาชาติที่กรุงเวียนนาก็ได้ตกลงรับข้อบทนั้น และเปิดให้ลงลายมือชื่อกันในวันถัดมาทีเดียว[2][4]

เนื้อหาและผล แก้

อนุสัญญาฯ นี้ประมวลเอารากฐานแห่งกฎหมายระหว่างประเทศร่วมสมัยเข้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้นิยามของคำว่า "สนธิสัญญา" ไว้ว่า คือ "ความตกลงอันทำขึ้นระหว่างรัฐกับรัฐ เป็นลายลักษณ์อักษร และอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ" กับทั้งยืนยันว่า "รัฐทุกรัฐย่อมมีความสามารถทำสนธิสัญญา" ชาติส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะได้เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาฯ นี้หรือไม่ ต่างยอมรับว่า อนุสัญญาฯ นี้เป็น "สนธิสัญญาแห่งเหล่าสนธิสัญญา" อันหาที่เปรียบมิได้ โดยอนุสัญญาฯ นี้ทำหน้าที่เป็นแนวทางอันทรงอำนาจสำหรับการเกิดและผลของสนธิสัญญาบรรดามี

ขอบข่าย แก้

ขอบข่ายการใช้บังคับของอนุสัญญาฯ นี้มีจำกัด โดยอนุสัญญาฯ นี้ใช้บังคับแก่สนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐเท่านั้น ไม่ใช้แก่ที่ทำขึ้นระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ หรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศด้วยกันเอง แต่ว่าเกณฑ์ใดที่ปรากฏไว้ในอนุสัญญาฯ นี้ และผูกพันกับองค์การดังกล่าวตามกฎหมายอื่น ก็ยังคงผูกพันเช่นนั้นอยู่[5] อนึ่ง อนุสัญญาฯ นี้ยังใช้บังคับแก่สนธิสัญญาที่ทำขึ้นโดยรัฐภายในองค์การระหว่างรัฐบาล กับรัฐภายในองค์การระหว่างรัฐบาล ด้วยกันเอง[6] ส่วนความตกลงระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ หรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศด้วยกันเองนั้น จะอยู่ในบังคับแห่ง อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญาระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศฯ ที่สำคัญ อนุสัญญาฯ นี้ไม่ใช้บังคับแก่ความตกลงที่มิใช่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ความตกลงแบบสุภาพบุรุษ (gentleman's agreement)[5]

รัฐภาคี แก้

บัดนี้ มีรัฐหนึ่งร้อยสิบเอ็ดรัฐให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาฯ นี้

ส่วนรัฐที่ลงลายมือชื่อไปแต่ยังมิให้สัตยาบัน ได้แก่ อัฟกานิสถาน, โบลิเวีย, กัมพูชา, เอลซัลวาดอร์, เอธิโอเปีย, กานา, อิหร่าน, ไอวอรีโคสต์, เคนยา, มาดากัสการ์, เนปาล, ปากีสถาน, ตรินิแดดและโตเบโก, สหรัฐอเมริกา และ แซมเบีย

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Vienna Convention on the Law of Treaties, pg. 1
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 untreaty.un.org, Law of treaties, International Law Commission, last update: 30 June 2005. Consulted on 7 December 2008.
  3. treaties.un.org, Status of Vienna Convention on the Law of Treaties เก็บถาวร 2013-10-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. 4.0 4.1 Brownlie, Ian (1998). Principles of Public International Law (5th ed.). Oxford University Press. pp. 607–08. ISBN 0-19-876299-2.
  5. 5.0 5.1 Article 3 of the Convention.
  6. Articles 2 and 5 of the Convention