องค์หญิงพัดเหล็ก

องค์หญิงพัดเหล็ก (จีนตัวย่อ: 铁扇公主; จีนตัวเต็ม: 鐵扇公主; พินอิน: Tiě shàn gōngzhǔ; อังกฤษ: Princess Iron Fan หรือ Steel Fan Princess) หรือ นางรากษส (จีนตัวย่อ: 罗刹女; จีนตัวเต็ม: 羅剎女; พินอิน: Luó shā nǚ; จีนกลางว่า หลัวชา จีนฮกเกี้ยนว่า ล่อซั่ว[1]) เป็นตัวละครจากนวนิยายคลาสสิกของจีนเรื่องไซอิ๋ว

องค์หญิงพัดเหล็กกับเห้งเจีย จิตรกรรมฝาผนังพระราชวังฤดูร้อนในกรุงปักกิ่ง

นางเป็นภริยาของราชาปีศาจกระทิง และเป็นมารดาของเด็กแดง โดยปรกติ นางจะปรากฏกายเป็นเทพธิดามีรูปโฉมงดงาม แต่ที่จริงแล้ว นางเป็นรากษสี (รากษสตัวเมีย) นางอาศัยอยู่ในถ้ำใต้ดินร่วมกับครอบครัว มักจะรอสามีกลับบ้านเสมอ แต่จะเกรี้ยวกราดเป็นอันมากเมื่อทราบว่าสามีไปยุ่งเหยิงกับบรรดานางจิ้งจอก นางยังเป็นเจ้าของพัดที่เรียกว่า "พัดเหล็ก" ซึ่งอันที่จริงแล้วทำจากใบตอง ในโอกาสทั่วไป พัดนี้จะมีขนาดเล็ก และองค์หญิงพัดเหล็กจะอมเก็บไว้ในปาก แต่เมื่อจะใช้ พัดสามารถขยายรูปได้มหาศาลตามต้องการ และมีคุณวิเศษ เมื่อใช้โบกแล้วจะบันดาลลมสลาตัน

ในเรื่องไซอิ๋ว คณะจาริกของพระถังซัมจั๋งได้เดินทางมาถึงจุดแห่งเทือกเขาไฟที่ลุกเป็นเพลิงอย่างใหญ่หลวง และจะผ่านเส้นทางนั้นได้ก็แต่โดยให้เทือกเขาสงบลง เห้งเจียต้องการยืมพัดเหล็กขององค์หญิงพัดเหล็กมาดับเทือกเขาเพลิง แต่นางบอกปัด เพราะเห้งเจียคงเคยทำร้ายสามีและลูกของนางมาก่อน เห้งเจียจึงแปลงตัวเป็นแมลงวันบินเข้าไปในปากนาง จากลำคอลงสู่กระเพาะ แล้วถีบถองทุบเตะนางอยู่ข้างใน จนนางเจ็บปวดมิอาจทนได้ และยอมส่งพัดให้ ทว่า เป็นพัดที่ใช้โบกแล้วจะโหมให้ไฟลุกทวีขึ้น คณะจารึกจึงต้องผจญเพลิงหนักยิ่งกว่าเดิม เห้งเจียกลับไปหานางอีกครั้ง โดยแปลงตัวเป็นราชาปีศาจกระทิง แล้วล่อหลอกขอยืมพัดเหล็กมา องค์หญิงพัดเหล็กจึงส่งพัดให้ หลังจากนั้นไม่นาน ราชาปีศาจกระทิงกลับบ้าน และโมโหเป็นอันมากเมื่อทราบเรื่อง เขาจึงแปลงกายเป็นตือโป๊ยก่าย แล้วเดินไปบอกเห้งเจียว่าจะช่วยถือพัดเหล็กให้ แต่เห้งเจียจับได้ จึงเกิดต่อสู้กัน ราชาปีศาจกระทิงแพ้ เห้งเจียยึดพัดเหล็กไปได้

ในคำแปลเรื่องไซอิ๋ว จัดพิมพ์โดย พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะศิริ) ในสมัยรัชกาลที่ 5 บรรยายว่า[2]

"นางล่อซั่วผู้นี้ กำเนิดเดิมนางเป็นยักษ์รากษส นางมีพัดเหล็กวิเศษอยู่พัดหนึ่ง มีฤทธาอานุภาพมาก อาจพัดให้บังเกิดเป็นลมพายุใหญ่และห่าฝนตกลงมาได้ในที่ใช่ฤดูแห่งฝน และจะพัดให้ไฟติดขึ้นจนไม่รู้จักดับก็ได้ นางเป็นภรรยาของงู้ม่ออ๋อง และเป็นมารดาของอั้งฮั้ยยี้ซึ่งมีฤทธิ์เดชมาก ปากพ่นเป็นไฟได้ ที่สำนักของนางอยู่ที่เขาม่อฮุ่นซัว ถ้ำปอเจียวต๋อง แต่งู้ม่ออ๋องไปมีภรรยาใหม่ นางอยู่ในสำนักแต่ผู้เดียว"

ในวรรณกรรมร่วมสมัย แก้

ญี่ปุ่นนำเรื่องราวตอนนี้ไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ความยาวยี่สิบสี่ตอน เรื่อง "ไซยูกิ" (Saiyuuki)

เชิงอรรถ แก้

  1. พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะศิริ). (2547). ไซอิ๋ว. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา. ISBN 9749207769. หน้า 525.
  2. พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะศิริ). (2547). ไซอิ๋ว. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา. ISBN 9749207769. หน้า 432.

ดูเพิ่ม แก้