องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เป็นอดีตรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ก่อตั้งคือ ชุบ มุนิกานนท์ และก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาถูกยุบรวมเข้าเป็นการยางแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558

องค์การสวนยาง
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง25 กรกฎาคม พ.ศ. 2504
ผู้ก่อตั้งชุบ มุนิกานนท์
ยุบเลิก15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
หน่วยงานสืบทอด
สำนักงานใหญ่79 หมู่ที่ 16 ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
งบประมาณประจำปี28 ล้านบาท (พ.ศ. 2558)[1]
ต้นสังกัดหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เว็บไซต์http://www.reothai.co.th

ประวัติ แก้

กิจการสวนยางในประเทศไทย เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2482 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบเงินจำนวนหนึ่งให้พระยาอนุวัติวนรักษ์ หัวหน้ากองการยาง กรมป่าไม้ เพื่อซื้อที่ดินสวนยาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช[2] หวงห้ามที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อการเกษตร รวมเนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2485 ถึงปี พ.ศ. 2490 กิจการสวนยางดังกล่าวอยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และโอนไปรวมกับบริษัท แร่และยาง จำกัด ในปี พ.ศ. 2490 แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการบริษัท แร่และยาง จำกัด ก็ต้องเลิกกิจการไปเสียก่อน จึงต้องโอนกลับมาสังกัดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เช่นเดิม

ในปี พ.ศ. 2491 กรมสวัสดิการทหารบก ได้เข้ามาศึกษาดูกิจการสวนยาง แต่ก็ไม่ได้มีการเข้ามาดำเนินการแต่อย่างใด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกฐานะกิจการสวนยางขึ้นเป็น "องค์การสวนยางนาบอน" สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตยางแผ่นรมควัน น้ำยางสดจำหน่าย และดำเนินการค้นคว้าทดลอง ฝึกอบรมเกษตรกรไทยในการผลิตยาง ด้วยเงินทุนจากกระทรวงการคลัง จำนวน 3.4 ล้านบาท

กระทั่งในปี พ.ศ. 2504 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนยาง พ.ศ. 2504[3] กำหนดให้องค์การสวนยางเป็นนิติบุคคล

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ได้ยุบรวมกับหน่วยงานอื่นอีกสองหน่วยงานเป็น การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558[4]

พื้นที่ขององค์การสวนยาง แก้

องค์การสวนยาง มีพื้นที่ทำประโยชน์ จำนวน 41,800 ไร่ ดังนี้

  1. ที่ดินในหมู่ที่ 16 ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 10,200 ไร่ เป็นที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2484
  2. ที่ดินในตำบลกรุงหยัน อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 31,600 ไร่ เป็นที่ดินที่กรมป่าไม้มอบให้ทำประโยชน์ ตามมติคณะรัฐมนตรี

อ้างอิง แก้