หอฉัน หรือ โรงอาหาร (อังกฤษ: Refectory หรือ frater house หรือ fratery) คือห้องกินข้าวของคริสต์ศาสนสถาน โดยเฉพาะของสำนักสงฆ์, โรงเรียนประจำ หรือสถาบันการศึกษา สถานที่ที่มักจะใช้กันบ่อยในปัจจุบันคือในสถาบันฝึกนักบวช “หอฉัน” มาจากภาษาอังกฤษว่า “Refectory” ที่แผลงมาจากภาษาละติน “reficere” ที่แปลว่าทำใหม่ ที่มาจากภาษาละตินตอนปลาย “refectorium” ที่แปลว่าสถานที่ที่บุคคลจะไปทำการฟื้นตัว

“หอฉัน” ของ Convent of the Order of Christ ที่โทมาร์ในโปรตุเกส

หอฉันในวัฒนธรรมของสำนักสงฆ์ แก้

 
โรงอาหารฤดูร้อนที่วังแกรนด์มาสเตอร์ที่มาลบอร์คในโปแลนด์

การกินอาหารร่วมกันเป็นกิจการหนึ่งที่นักบวชมากระทำร่วมกันในสถานที่เดียวกัน อาหารและวิธีกินก็ต่างกันไปแล้วแต่ลัทธิของสำนักสงฆ์ และขึ้นอยู่กับยุคสมัย เช่นธรรมเนียมการฉันของนักบวชในลัทธิเบ็นนาดิคตินที่บรรยายข้างล่าง

กฎของนักบุญเบ็นนาดิคตินจะอนุญาตให้ฉันอาหารสองมื้อ อาหารเย็นจะมีให้ฉันตลอดปี แต่อาหารค่ำจะมีให้ตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ผลิไปจนถึงต้นฤดูใบไม้ร่วง นอกจากวันพุธและวันศุกร์ อาหารก็จะเป็นของง่ายๆ ที่ประกอบด้วยอาหารสองจานกับผลไม้ หรือบางทีก็จะมีอาหารจานที่สามด้วยถ้าหาได้ วิธีปรุงก็เป็นของที่ทำง่าย ห้ามการฉันเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมยกเว้นยามเจ็บไข้ กฎของนักบุญเบ็นนาดิคตินคือการฉันพอประมาณ และจะฉันกันอย่างเงียบๆ โดยใช้การสื่อสารหรือส่งสัญญาณกันด้วยมือ ขณะที่ฉันก็จะมีนักบวชองค์หนึ่งทำการอ่านหนังสือศาสนาหรือบทเขียนเกี่ยวกับนักบุญให้นักบวชอื่นในหอฉันได้ฟัง

เมื่อมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 ความเคร่งครัดก็เริ่มหย่อนลง ที่มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขยายปฏิทินักบุญที่อนุญาตให้มีการฉันอาหารที่หรูหราขึ้น และประกอบพิธีที่ยาวนานขึ้น ที่รวมทั้งการจุดเทียน และการสวมคริสต์ศาสนภูษาที่เรียกว่า "เสื้อคลุมประจำสมณศักดิ์" (cope) ประเภทของอาหารที่ฉันก็เพิ่มขึ้นและมีกฎเกณฑ์มากขึ้น และอาหารที่ฉันกันภายในหอฉันก็จะแตกต่างจากอาหารที่ฉันในบริเวณอื่น กฎปฏิบัติดังกล่าวจะใช้ก็ต่อเมื่อมีจำนวนนักบวชที่มาฉันที่หอมีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่าที่ระบุไว้

ขนาด, โครงสร้าง และ ที่ตั้ง แก้

หอฉันมีขนาดแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับฐานะ, ขนาด และ ความมั่งคั่งของสำนักสงฆ์ และช่วงเวลาที่หอได้รับการสร้างขึ้น แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่เป็นสามัญ นักบวชจะนั่งบนม้านั่งยาว นักบวชผู้มีตำแหน่งสูงก็จะนั่งบนแท่นยกพื้นตรงปลายด้านหนึ่งของห้อง นอกหอฉันก็มักจะมีอ่างลาวาโบ หรืออ่างใหญ่สำหรับใช้ล้างมือ ในอังกฤษหอฉันมักจะสร้างเหนือห้องใต้ดินทางด้านหนึ่งของระเบียงคดตรงกันข้ามกับวิหาร ผังของหอฉันลัทธิเบ็นนาดิคตินมักจะตั้งตามแนวตะวันออก-ตะวันตก แต่ของซิสเตอร์เชียนจะตามแนวเหนือ-ใต้

หอฉันนอร์มันบางครั้งก็จะมีขนาดใหญ่ ที่อาจจะยาวถึง 49 เมตร กว้าง 11 เมตรเช่นที่แอบบีที่[[นอริช] แม้แต่หอฉันที่สร้างในสมัยแรกก็มักจะมีหน้าต่าง แต่หน้าต่างก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและหรูหราขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมาถึงยุคกลางตอนกลาง เช่นหอฉันที่แอบบีคลูนีที่มีหน้าต่างกระจกขนาดใหญ่ถึง 36 บาน หรือมงต์-แซงต์-มีแชลที่มีหน้าต่างหกบานที่มีขนาดกว้าง 5 ฟุต และสูง 20 ฟุต

อีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ แก้

 
"Trapeza" ("วัดหอฉัน") ที่ Kiev Pechersk Lavraในยูเครน

หอฉัน (กรีก: Trapeza) ของสำนักสงฆ์ของอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ถือกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และบางครั้งถึงกับสร้างขึ้นเป็นคริสต์ศาสนสถานเต็มตัว พร้อมด้วยแท่นบูชา และ ฉากรูปเคารพ คริสต์ศาสนพิธีบางพิธีก็เป็นพิธีที่เฉพาะเจาะจงสำหรับหอฉัน ภายในหอฉันก็จะมีรูปเคารพ (Icon) อย่างน้อยหนึ่งรูปที่มี "ตะเกียงน้ำมัน" (lampada) ที่จุดอยู่หน้าภาพตลอดเวลา เมื่อฉันเสร็จก็จะมีการประกอบพิธียกขนมปัง "Panagia" แต่ระหว่าง "Bright Week" ก็จะทำพิธียกขนมปัง "Artos" แทนที่ สำนักสงฆ์บางแห่งก็จะประกอบพิธีการยกโทษในหอฉันก่อนที่จะเริ่ม Great Lent อาหารที่ฉันกันในหอฉันเป็นอาหารที่ควรจะได้รับการประทานพรมาแล้ว ฉะนั้นจึงมักจะเก็บน้ำมนต์ไว้ในครัว

การใช้หอฉันในสมัยปัจจุบัน แก้

นอกจากหอฉันของแอบบีหรือของมหาวิหารจะยังคงใช้กันในความหมายทางประวัติศาสตร์แล้ว คำว่า “Refectory” ในบริบทของสมัยปัจจุบันอาจจะหมายถึง “คาเฟ” หรือ “โรงอาหาร” ที่เปิดให้แก่สาธารณชนที่เป็นทั้งผู้ถือคริสต์ศาสนาและผู้ไม่ถือ เช่นนักท่องเที่ยว การใช้ในความหมายนี้จะพบโดยทั่วไปโดยเฉพาะในสิ่งก่อสร้างที่เป็นของนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ ที่ทำขึ้นเพื่อหารายได้พิเศษ[1]

อ้างอิง แก้

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-04. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
  • Adams, Henry, Mont Saint-Michel and Chartres. New York: Penguin, 1986.
  • Fernie, E. C. The Architecture of Norman England. Oxford: Oxford University Press, 2000.
  • Harvey, Barbara. Living and Dying in England, 1100-1450. Oxford: Clarendon Press, 1995.
  • Singman, Jeffrey. Daily Life in Medieval Europe. Westport, CT: Greenwood Press, 1999.
  • Webb, Geoffrey. Architecture in Britain: the Middle Ages. Baltimore: Penguin, 1956.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หอฉัน