หลวงพ่อเขียน ธมฺมรกฺขิโต

หลวงพ่อเขียน ธัมมรักขิโต พระเกจิดังแห่ง วัดสำนักขุนเณร ตำบลวังตะกู อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร พระอริยสงฆ์ผู้ทรงวาจาศักสิทธิ์เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของเหล่าสาธุชนและคณะศิษยานุศิษย์ มีความเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศ จนได้รับการยกย่องจากชาวเมืองพิจิตร

หลวงพ่อเขียน ธมฺมรกฺขิโต

(เขียน ธัมมรักขิโต)
ชื่ออื่นหลวงพ่อเขียน
ส่วนบุคคล
เกิดวันเสาร์เดือน4ปีขาล พ.ศ. 2399 (108 ปี)
มรณภาพ21 ธันวาคม พ.ศ. 2507
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดสำนักขุนเณร จังหวัดพิจิตร
บรรพชาพ.ศ. 2411
อุปสมบทพ.ศ. 2420
พรรษา87
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสำนักขุนเณร

ประวัติ แก้

หลวงพ่อเขียน มีนามเดิมว่า เสถียร จันทร์แสง เกิดเมื่อ วันเสาร์ เดือน 4 ปีขาล ตรงกับ พ.ศ. 2399 ที่บ้านตลิ่งชัน ตำบลชอนไพร อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายทอง และนางปลิด จันทร์แสง มีพี่น้องร่วมท้อง 5 คน ท่านเป็นคนที่ 3

บรรพชา แก้

เมื่ออายุได้ 12 ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ เกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงขออนุญาตจากบิดามารดาเข้าบรรพชา ที่วัดทุ่งเรไร ในขณะที่เป็นสามเณร ได้ศึกษาอักขระกับท่านสมภาร พออ่านออกเขียนได้ และได้เรียนภาษาขอม ควบคู่ไปกับภาษาไทย เนื่องด้วยท่านมีความขยันหมั่นเพียร ในการเขียนอ่าน ท่านสมภารจึงได้เปลี่ยนชื่อจาก "เสถียร" มาเป็น "เขียน" นับแต่บัดนั้น

อุปสมบท แก้

เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้อุปสมบทที่ วัดภูเขาดิน (หรืออีกชื่อหนึ่งว่า วัดภูกระดึง) ซึ่งอยู่ใกล้กับปากน้ำป่าสัก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีพระอธิการประดิษฐ์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการสอน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อย่างไรก็ตาม หลังจากท่านอุปสมบทได้ 1 พรรษา โยมบิดา-มารดา ได้มารบเร้าขอให้ลาสิกขาบท เพื่อไปแต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่ง แต่หลวงพ่อเขียนได้ปฏิเสธด้วยมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะบวชตลอดชีวิตในพระพุทธศาสนา

วัดวังตะกู แก้

จากนั้นท่านได้เดินทางมาที่บ้านวังตะกู อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ในปีนั้นทางวัดวังตะกูขาดพระจำพรรษา ทางกำนันตำบลวังตะกูและชาวบ้านได้นิมนต์ท่านให้จำพรรษาที่วัดนี้ ต่อมาท่านได้เริ่มศึกษา ปริยัติธรรมที่วัดเสาธงทอง จังหวัดลพบุรีมีพระอาจารย์ทองป็นผู้สอนท่านอยู่ที่วัดนี้นาน 9 ปี ต่อมาหลวงพ่อเขียนได้เข้ามาศึกษาต่อที่วัดรังษี กรุงเทพมหานครมีท่านเจ้าคุณธรรมกิตติเป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้นต่อมาทางวัดรังษีจะโอนเป็นธรรมยุตนิกายแต่ท่านไม่ยอมจึงได้กลับมาที่วัดเสาธงทองอีกครั้ง ท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดเสาธงทองได้ 9 พรรษา กำนันตำบลวังตะกูและชาวบ้านได้มานิมนต์หลวงพ่อเขียนให้มาจำพรรษาที่วัดวังตะกูหลวงพ่อเขียนท่านรับนิมนต์และได้มาจำพรรษาที่วัดวังตะกูอีกวาระหนึ่งตั้งแต่นั้นมา

วัดสำนักขุนเณร แก้

หลวงพ่อเขียนได้อยู่ที่วัดวังตะกูจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2491 กำนันเถาว์ ทิพย์ประเสริฐ บ้านสำนักขุนเณร ตอนนั้นท่านยังเป็นกำนันตำบลวังงิ้วพร้อมด้วญาติโยมได้มานิมนต์ท่านให้ไปจำพรรษาที่วัดสำนักขุนเณรซึ่งอยู่ห่างกันกับวัดวังตะกูเพียง 5 กม.เท่านั้น หลวงพ่อท่านเดินทางไปมาระหว่าง 2 วัดนี้มิได้ขาดจนปี พ.ศ. 2493 หลวงพ่อเขียนจึงตัดสินใจจำพรรษาที่วัดสำนักขุนเณรตั้งแต่นั้นมา

มรณภาพ แก้

หลวงพ่อเขียน มีโรคประจำตัวท่านอยู่โรคหนึ่ง นั่นก็คือ โรคหืด ซึ่งเป็นโรคที่ทรมานท่านเป็นอย่าง มาก เมื่อเวลาโรคกำเริบ แต่หลวงพ่อจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา เพราะท่านระงับด้วยขันติธรรม ต่อมา เมื่อท่านชราภาพมากขึ้นทุกขณะ ท่านฉันภัตตาหารไม่ค่อยจะได้ ทำให้เรี่ยวแรงหมดไปทุกที คณะกรรมการวัด และศิษยานุศิษย์ จึงได้นำหลวงพ่อไปรักษา ที่สถานพยาบาลในตลาดบางมูลนาก แต่ เนื่องจากความชรา และโรคกำเริบ สุดความสามารถของแพทย์จะรักษาท่านได้ ท่านก็ถึงแก่มรณภาพ ด้วยอาการสงบ ในคืนวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เวลา ๒๓.๕๐ น. สิริรวมอายุได้ ๑๐๘ ปี

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้