หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์

นักเขียน

หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ (ราชสกุลเดิม: กุญชร; 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 — 17 มกราคม พ.ศ. 2506) เป็นนักเขียนหญิงชาวไทย เจ้าของนามปากกา ดอกไม้สด ภริยาของสุกิจ นิมมานเหมินท์ ราชบัณฑิตและนักการเมืองชาวไทย และท่านยังเป็นพี่สาวของหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ หรือนามปากกาว่า บุญเหลือ ซึ่งเป็นนักเขียนเช่นกัน

บุปผา นิมมานเหมินท์
เกิด17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต17 มกราคม พ.ศ. 2506 (57 ปี)
นิวเดลี ประเทศอินเดีย
นามปากกาดอกไม้สด
อาชีพนักเขียน
สัญชาติไทย
ช่วงเวลาพ.ศ. 2472 – 2506
คู่สมรสสุกิจ นิมมานเหมินท์ (2497–2506)

ประวัติ แก้

หม่อมหลวงบุปผาเป็นธิดาลำดับที่ 31 ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) และหม่อมมาลัย เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 ที่วังบ้านหม้อ เป็นพี่สาวร่วมบิดากับหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ นักเขียนชาวไทยที่มีนามปากกาว่า บุญเหลือ เวลาต่อมามารดากับบิดาแยกทางกันเมื่อท่านอายุ 4 ขวบ หม่อมเจ้าหญิงชมในกรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ จึงได้ขอไปเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง ด้วยความที่หม่อมเจ้าหญิงชมเป็นผู้ยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ส่งผลให้หม่อมหลวงบุปผาเป็นคนที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาตั้งแต่เล็กๆ จนอายุ 13 ปี ท่านกลับมาอยู่บ้านและเข้าเรียนที่ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ทางภาษาฝรั่งเศส

ท่านเริ่มต้นอาชีพนักเขียน โดยเริ่มเขียนบทละคร "ดีฝ่อ" และเริ่มเขียนหนังสือในปี พ.ศ. 2472 เมื่ออายุ 20 ปี เรื่องแรก คือ "ศัตรูของเจ้าหล่อน" ลงพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ไทยเขษม ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2472

งานเขียนของดอกไม้สดถือได้ว่าเป็นนิยายกึ่งพาฝันกึ่งสมจริงรุ่นบุกเบิก งานส่วนใหญ่ของท่านจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องความรักและการหาคู่ของคนหนุ่มสาว ท่านเป็นนักเขียนรุ่นแรกๆที่ให้ความสำคัญกับตัวละครฝ่ายหญิงมาก

ผลงานในระยะแรกของดอกไม้สดจะมีความเป็นโรมานซ์ แต่ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของท่านในฐานะที่เป็นราชตระกูลที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในวัง นวนิยายของท่านจะมีลักษณะเรียลลิสติกมากขึ้น เช่นเรื่อง ผู้ดี

ในปี พ.ศ. 2477 เมื่อท่านอายุได้ราว 30 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัย "ผู้ใหญ่" เต็มตัวในช่วงเวลานั้น นวนิยายของท่าน "หนึ่งในร้อย" มีความสุขุมลุ่มลึกขึ้นอย่างมาก ความสนใจและเข้าใจในพุทธศาสนาของผู้ประพันธ์ได้ถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครอย่างลึกซึ้ง เช่น วิธีคิดของตัวละครเอกฝ่ายชาย คุณพระอรรถคดีวิชัย ซึ่งมีวิธีคิดและดำรงชีวิตอยู่บนหลักพุทธศาสนาโดยผสมผสานออกมาเป็นชีวิตของคนที่ปกติ ไม่ได้แสดงอาการ "แก่วัด" แต่นำหลักนั้นไปคบหาสมาคมผู้อื่น นำพาครอบครัว สงเคราะห์ญาติ เสียสละ และปฏิบัติราชการในฐานะผู้พิพากษา รวมทั้งมีการสอดแทรกพุทธศาสนสุภาษิตเป็นช่วงๆ เพื่ออธิบายการขับเคลื่อนของเรื่องราว ในทางกลับกันผู้ประพันธ์ได้สะท้อนการมองโลกแบบสมัยใหม่แต่ให้คุณค่าในสังคมไทยแบบเก่าได้ถูกผสานผ่านการแสดงตนของตัวละครหลักฝ่ายหญิง อนงค์ อย่างดีเพราะเป็นสาวสมัยที่ขึ้นชื่อว่า "เปรี้ยว" ขับรถ เต้นรำ ตกแต่งห้องแบบโมเดิร์น แต่งตัวด้วยแฟชั่นยุค 1930 ที่ผู้หญิงกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น เปิดเผยร่างกายและการกระทำมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมีความละมุมละม่อม คิดถี่ถ้วน และวางตัวดี แม้คนอื่นๆ จะไม่เข้าใจและตัดสินตัวละครเหล่านั้น ตามค่านิยมแห่งยุคที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่ตัวละครเหล่านั้นมีหลักยึดของตน

ในปี พ.ศ. 2491 ท่านมีผลงานเรื่องสั้นชุด "พลเมืองดี" ออกมา และในปี 2492 ท่านเขียนเรื่อง "วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย" ได้เพียงสองบทก็ต้องหยุดไปเพราะปัญหาสุขภาพ ในปี พ.ศ. 2497 ท่านเดินทางไปรักษาตัวที่ประเทศออสเตรเลีย และสมรสกับศาสตราจารย์ สุกิจ นิมมานเหมินท์[1] (ผู้เขียน คนแซ่หลี) ในเดือนกันยายนปีเดียวกันที่ซานฟรานซิสโก ต่อมาปี พ.ศ. 2502 ติดตามสามีไปประเทศอินเดีย เมื่อ ศ. สุกิจ นิมมานเหมินท์ไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี

หม่อมหลวงบุปผาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2506 ด้วยโรคหัวใจวาย ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต ภายในบริเวณสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ตลอดอายุขัย 57 ปี รวมแล้ว ดอกไม้สดมีผลงานนวนิยายทั้งสิ้น 12 เรื่อง, เรื่องสั้น 20 เรื่อง และนวนิยายที่เขียนไม่จบอีก 1 เรื่อง รวมพิมพ์เป็นเล่มทั้งสิ้น 14 เล่ม

ผลงานสร้างชื่อเสียง แก้

  • ศัตรูของเจ้าหล่อน (2472)
  • นิจ (2472)
  • นันทวัน (2472)
  • ความผิดครั้งแรก (2473)
  • กรรมเก่า (2475)
  • สามชาย (2476) (เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาเรียนอยู่สมัยหนึ่ง)
  • หนึ่งในร้อย (2477) (อยู่ใน หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน)
  • อุบัติเหตุ (2477)
  • ชัยชนะของหลวงนฤบาล (2478)
  • ผู้ดี (2480) (กระทรวงศึกษาธิการคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาชั้นมัธยมศึกษาถึงปัจจุบัน)
  • นี่แหละโลก (2483) (ได้รับรางวัลนวนิยายของชาวเอเชีย แล้วได้ตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น)
  • วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย (2492) (แต่งไม่จบ)
  • บุษบาบรรณ (รวมเรื่องสั้น สมาคมนักประพันธ์ออสเตรเลียนำเรื่องสั้นชื่อ "พลเมืองดี" ไปตีพิมพ์ในหนังสือเล่มพิเศษ ชื่อ "SPAN" บางครั้งเรื่องนี้นำไปพิมพ์ในชุดพู่กลิ่น)
  • พู่กลิ่น (รวมเรื่องสั้น เดิมใช้ชื่อว่า "เรื่องย่อย")

อ้างอิง แก้

  1. "หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-02. สืบค้นเมื่อ 2011-03-16.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้