หมู่บ้านหาดเสือเต้น

หมู่บ้านในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ประเทศไทย
หมู่บ้านหาดเสือเต้น
Ban Hat Suea Ten


รูปปั้นเสือสัญลักษณ์ของหมู่บ้านหาดเสือเต้น
ภายในวัดประจำหมู่บ้าน

พิกัดภูมิศาสตร์: 17.61891° 100.18991°

ข้อมูลทั่วไป
ตำบล คุ้งตะเภา
อำเภอ เมือง
จังหวัด อุตรดิตถ์
รหัสไปรษณีย์ 53000
การปกครอง
ผู้ใหญ่บ้าน นายสังเวียน ฉิมเชื้อ (หมู่ 6), นายเสวก วงสิน (หมู่ 8)[1]
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ -
ประชากร 1,700

หมู่บ้านหาดเสือเต้น หรือ บ้านหาดเสือเต้น เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง และ โรงเรียนระดับพื้นฐาน 1 โรง มีโรงงานอุตสาหกรรม 1 แห่ง (โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์) มีเส้นทางคมนาคมหลักคือ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102) ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่[2]

ปัจจุบันหมู่บ้านหาดเสือเต้นแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ คือหมู่ 6 และ 8 โดยหมู่ 8 ​แยก​จาก​ หมู่ 6 ​เมื่อ​วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2541 [3]

ประวัติ แก้

ความเป็นมาชื่อหมู่บ้าน แก้

บ้านหาดเสือเต้น เดิมมีชื่อว่า บ้านหาดวังค้อ ตามคำบอกเล่าในอดีตนั้นกล่าวกันว่าสถานที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบันนั้นยังเป็นที่ป่าเต็งป่ารัง ด้านทิศเหนือจะเป็นป่าพงอยู่แถบริมหาดทรายของแม่น้ำน่าน มีหาดทรายยาวกว่า 50 ไร่ เล่ากันมาว่าแถบนี้ในอดีตมีสัตว์ป่าชุกชุม เมื่อถึงเวลากลางคืนจะมีสัตว์ลงมากินน้ำอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเหนือหมู่บ้านเคยมีเสืออยู่อาศัยในบริเวณนั้น เมื่อถึงเวลากลางคืนเสือตัวนั้นจะออกมากินน้ำ และมาเล่นทรายที่ชายหาดกินน้ำ บางทีก็กระโดดโลดเต้นเล่นอยู่ตรงนั้น ทำให้เมื่อถึงวันข้างขึ้นพระจันทร์เต็มดวง ชาวบ้านแถบนี้หรือผู้คนที่ล่องเรือค้าขายผ่านมาจะสามารถมองเห็นเสือตัวนั้นกระโดบ้างเล่นบ้างอยู่ตรงนั้นได้อย่างชัดเจน ชาวบ้านเลยเรียกหมู่บ้านแถบนี้ว่า บ้านหาดเสือเต้น สืบมา[4]

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ แก้

หมู่บ้านหาดเสือเต้น เมื่อแรกตั้งหมู่บ้านมีเดิมชื่อว่า บ้านหาดวังค้อ อดีตเคยเป็นพื้นที่ป่ารกทึบ โดยเฉพาะริมแม่น้ำน่านจะเป็นป่าพงไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เต็มไปด้วยสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2345 ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงได้เริ่มมีผู้คนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในแถบนี้ โดยในช่วงแรกมีบ้านเรือนเพียงสองสามหลังคาเรือน เป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่เป็นญาติพี่น้องกัน ทั้งหมดย้ายบ้านเรือนมาจากบ้านสามบ่อ (หรือหมู่บ้านสามบ่อ ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) และบ้านทับใหม่ (หรือ หมู่บ้านทับใหม่ ตำบลหาดกรวด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) ต่อมาจึงเริ่มมีผู้คนย้ายเข้ามาอยู่กันมากขึ้น โดยตั้งบ้านเรือนอยู่แถบริมแม่น้ำน่าน ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือผู้ใหญ่ตุ จินดาประทุม ต่อมาคือผู้ใหญ่แพ ศรีคมขำ, ผู้ใหญ่มี อินยา, ผู้ใหญ่หนู คงรอด ในอดีตการสัญจรทำโดยทางน้ำ โดยอาศัยแม่น้ำน่านเป็นหลัก ทางบกก็มีทางเกวียนเล็ก ๆ โดยหมู่บ้านหาดเสือเต้นนั้น ทางการได้ตัดถนนเข้าหมู่บ้าน(ทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 1213) และเริ่มมีไฟฟ้าใช้ในปี พ.ศ. 2516 ในสมัยสร้างโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ที่ด้านเหนือหมู่บ้าน จนมาในปี พ.ศ. 2520 จึงเริ่มมีระบบประปาใช้กันภายในหมู่บ้าน และในปี พ.ศ. 2529 จึงมีถนนลาดยางผ่านตัวหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน[5]

สภาพด้านสังคม แก้

บ้านหาดเสือเต้น อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร เป็นหมู่ที่ 6 ในตำบลคุ้งตะเภา มีบ้านจำนวน 350 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 1,700 คน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา เมื่อว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรมก็จะหันมารับจ้างทั่วไป ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง และ โรงเรียนระดับพื้นฐาน 1 โรง

บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน เป็นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ สร้างปัญหาในด้านมลภาวะเคมีการเกษตร กลิ่นเหม็นของกากน้ำตาล และไอควันของเถ้าถ่าน และสร้างปัญหาในช่วงฤดูเปิดหีบอ้อย ในช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากมีรถบรรทุกอ้อยวิ่งสัญจรตลอดเวลา และก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงต่อบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 เป็นอย่างมาก

สภาพภูมิศาสตร์ แก้

บ้านหาดเสือเต้น ตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ประมาณ 18 กิโลเมตร มีแหล่งน้ำสำคัญคือแม่น้ำน่าน มีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 โดยทั่วไปหมู่บ้านส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน พื้นที่ส่วนใหญ่ของประชากรเป็นพื้นที่ทำนา และพืชไร่เล็ก ๆ น้อย ๆ ทรัพยากรแร่ธาตุของหมู่บ้านมีแหล่งแร่สำคัญคือ ดินขาว และหินอ่อน ป่าไม้ของหมู่บ้านเป็นป่าไม้เบญจพรรณเป็นส่วนใหญ่

อาณาเขตติดต่อ แก้

บ้านหาดเสือเต้น มีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียงดังนี้

  1. ทิศเหนือ ติดต่อกับแม่น้ำน่าน
  2. ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านบ่อพระ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
  3. ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองบัว ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
  4. ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านหัวหาด ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

ลักษณะโครงสร้างพื้นฐาน แก้

การคมนาคมบ้านหัวหาด เดินทางติดต่อทางบกเป็นหลัก โดยมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 เป็นถนนสายหลักในการติดต่อเข้าสู่ตัวจังหวัดและถนนสายหลักในจังหวัด (ถนนเอเชีย)

การติดต่อภายในตำบลคุ้งตะเภาและตำบลใกล้เคียง ใช้เส้นทาง รพช. และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 เชื่อมโยงระหว่างตำบลผาจุก ตำบลป่าเซ่า และตำบลงิ้วงาม

การบริการขนส่งสาธารณะ มีรถประจำทางผ่านตลอดสาย ส่วนการขนส่งผลผลิตการเกษตรนิยมใช้รถไทยแลนด์และรถปิคอัพ เข้าสู่ตลาดหรือแหล่งรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร

สาธารณูปโภค แก้

บ้านหัวหาดมีพื้นที่ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก นอกจากนั้นยังอาศัยแหล่งน้ำจากะรรมชาติที่มีอยู่ภายในหมู่บ้าน คือ แม่น้ำน่าน ช่วยในการทำนา ปลูกพืชไร่

การปกครอง แก้

(รอเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้)

เศรษฐกิจ แก้

ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน มีรายได้เฉลี่ยยต่อหัว 7,500 บาท/ปี มีอาชีพหลัก 2 ประเภท คือ อาชีพการเกษตรและอาชีพรับจ้าง การประกอบอาชีพทางการเกษตรได้แก่ การปลูกพืชไร่และพืชล้มลุก เช่น ถั่ว แตงกวา ต้นหอมผักชี เป็นต้น ส่วนอาชีพรับจ้าง จะเป็นประเภทการรับจ้างรายวัน หรือรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมในหมู่บ้าน (โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์)

อุตสาหกรรม แก้

 
โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ บ้านหาดเสือเต้น เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดอุตรดิตถ์.

ในหมู่บ้านหาดเสือเต้น มี โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ เป็นแหล่งอุตสาหกรรม และแหล่งรายได้ของประชากรในเขตหมู่บ้าน อาชีพของประชากร ร้อยละ 70 เป็นลูกจ้างชั่วคราวในโรงงาน รายได้ที่ได้รับเป็นรายได้จากตามสภาพของการจ้างงาน และตามสถานภาพของการผลิตน้ำตาลในแต่ละปี ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ จะมีการผลิตตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง มีนาคม ของทุกปี

วัฒนธรรมประเพณี แก้

ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเถรวาท ประเพณีต่างๆ ยึดถือปฏิบัติเหมือนกันกับชาวพุทธเถรวาทในแถบใกล้เคียง เช่น บวชพระ ประเพณีแต่งงาน งานศพ ฯลฯ

วัดประจำหมู่บ้าน แก้

วัดหาดเสือเต้น ตั้งอยู่ที่ บ้านหาดเสือเต้น หมู่ที่ 6 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดเขตการปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา ตัววัดมีเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านหาดเสือเต้น ริมถนนทางหลวงจังหวัด หมายเลข 1213 สายป่าขนุน-ห้วยฉลอง

วัดหาดเสือเต้น ปัจจุบันมีเนื้อที่ดินในโฉนด 8 ไร่ 2 งาน ตั้งอยู่ที่ราบกลางหมู่ที่ 6 ด้านหน้าติดถนนสายป่าขนุน - ห้วยฉลอง ด้านหลังติดแม่น้ำน่าน อาณาเขตครอบคลุมศรัทธาพุทธศาสนิกชน 2 หมู่บ้าน คือหมู่ 6 และ 8 ตำบลคุ้งตะเภา ตัววัดห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ 13 กิโลเมตร ผู้สร้างวัดคือ พ่อหนู คงรอด และพ่อคำ อินมา (ผู้มอบถวายที่ดินสร้างวัดคือ พ่อมี อินยา (อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6) และ พ่อเภา จินดาประทุม) ต่อมาก็มีผู้ศรัทธามาสร้างและบูรณะพัฒนาวัดมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

ดูเพิ่มได้ที่ วัดหาดเสือเต้น

โรงเรียนประจำหมู่บ้าน แก้

ไฟล์:Ban Hat Suea Ten School logo1.jpg
ตราสัญลักษณ์โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น

โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้านหาดเสือเต้น ตั้งอยู่ที่ บ้านหาดเสือเต้น ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เป็นสถานศึกษาที่เคยได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานในระดับประถมศึกษา ปัจจุบันโรงเรียนแบ่งการเปิดการสอนเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับประถมศึกษา และระดับก่อนประถมศึกษา

โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เดิมชื่อว่า โรงเรียนบ้านงิ้วงาม ๒ เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดหาดเสือเต้นเป็นสถานที่เรียน (ได้อาศัยเรียนอยู่ที่วัดหาดเสือเต้นจนถึง พ.ศ. 2512 จึงย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบัน)

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้นเปิดทำการสอนเป็น 3 ระดับชั้น คือระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา มีนายธารา น่วมศิริ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น

ดูเพิ่มได้ที่ โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น'

อ้างอิง แก้

  1. "ข้อมูลรายชื่อผู้ใหญ่บ้านจาก เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-18. สืบค้นเมื่อ 2008-01-10.
  2. กลุ่มอำนวยการงานพัฒนาข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น.เอกสาร : ข้อมูลสารสนเทศโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ประจำปีการศึกษา 2550.อุตรดิตถ์ : โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น, 2550
  3. "ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติจังหวัดอุตรดิตถ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2008-05-05.
  4. เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. (2551). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์: วัดคุ้งตะเภา
  5. จงรักษ์ พรมงาม. (2545). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษาบ้านหาดเสือเต้น หมู่ที่ 6 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์. สารนิพนธ์ ป.กศ. (หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและการประเมินโครงการ). อุตรดิตถ์ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. อัดสำเนา

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

17°39′32″N 100°10′57″E / 17.658931°N 100.182629°E / 17.658931; 100.182629