หนังสืออพยพ[1][2] (อังกฤษ: Exodus; ฮีบรู: ואלה שמות [Ve-eleh shemot]; กรีก: Ἔξοδος) เป็นหนังสือเล่มที่สองในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม และเป็นเล่มที่สองในหมวดเบญจบรรณ ซึ่งเชื่อกันว่าโมเสสเป็นผู้เขียนขึ้น

คำว่า "อพยพ" แปลจากภาษาอังกฤษซึ่งแปลอีกทอดจากภาษากรีก โดยหมายถึง การแยกออกจากกัน แต่ในภาษาฮีบรู มาจากคำขึ้นต้นซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า "ต่อไปนี้เป็นชื่อของ..."

หนังสืออพยพประกอบด้วยเนื้อหาที่อาจสรุปย่อได้ดังนี้

  • การทรงเรียกโมเสส และการปลดแอกชาวอิสราเอลจากความเป็นทาส (บทที่ 1-12)
  • การเดินทางออกจากอียิปต์ ไปยังภูเขาซีนาย (บทที่ 13-18)
  • พระบัญญัติที่พระเจ้าทรงบัญชาต่ออิสราเอล (บทที่ 19-24)[3]
  • การกำหนดแบบสำหรับสร้างพลับพลา แท่นบูชา เครื่องและอุปกรณ์พลับพลา (บทที่ 25-31)
  • เหตุการณ์สร้างวัวทองคำ (บทที่ 31-34)
  • การสร้างพลับพลา แท่นบูชา เครื่องและอุปกรณ์พลับพลา (บทที่ 35-40)

การปลดแอกอิสราเอล แก้

สถานการณ์ของอิสราเอลในอียิปต์ แก้

ภายหลังการเสียชีวิตของโยเซฟ หลายชั่วคนต่อมา กลับสิ้นสุดความรุ่งเรืองของอิสราเอลในอียิปต์ แรกเริ่มยาโคบและบรรดาลูกหลานนั้นเดินทางเข้ามาในอียิปต์เพียง 70 คน แต่ต่อมาได้ขยายพงศ์พันธุ์เป็นจำนวนมาก เมื่อฟาโรห์องค์ต่อมาเห็นว่าชาวอิสราเอลซึ่งเป็นคนต่างชาติในแผ่นดินอียิปต์มีมากเกินไป จึงตั้งนายงานและเกณฑ์ให้คนอิสราเอลเป็นทาส ทำงานสร้างเมืองเก็บราชสมบัติให้แก่ฟาโรห์ ณ เมืองปิธม และเมืองราอัมเสส ถึงแม้ทำงานหนักเท่าใด ชาวอิสราเอลยังคงเพิ่มทวียิ่งขึ้น ฟาโรห์จึงสั่งให้ฆ่าเด็กผู้ชายชาวอิสราเอลที่เกิดใหม่ทุกคน โดยให้นำไปทิ้งในแม่น้ำไนล์ มีเพียงเด็กผู้หญิงเท่านั้นจึงมีชีวิตรอดได้[4]

กำเนิดโมเสส แก้

แม้ฟาโรห์มีคำสั่งให้ฆ่าเด็กชายเกิดใหม่ของอิสราเอลทุกคน แต่ในเผ่าเลวีมีครอบครัวหนึ่งได้คลอดลูกชาย และซ่อนบุตรไว้จนโตขึ้นถึงวัยที่ไม่สามารถซ่อนต่อไป จึงนำเด็กลงในตะกร้าสานชันยาอย่างดี ไปวางไว้ในกอปรือริมแม่น้ำ ธิดาฟาโรห์มาพบขณะลงสรงน้ำ จึงเก็บไปเลี้ยง และประทานชื่อว่า โมเสส แม้โมเสสถูกเลี้ยงดูโดยธิดาฟาโรห์ แต่ยังมีใจผูกพันกับชาวอิสราเอล

พระเจ้าทรงเรียกโมเสส แก้

ครั้งหนึ่งโมเสสพลั้งมือฆ่าชาวอียิปต์ที่ข่มเหงชายชาวอิสราเอล โมเสสจึงหนีความผิดไปเป็นคนเลี้ยงแพะอยู่เมืองมีเดียน และที่นั้น โมเสสก็ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า ให้เป็นผู้นำชาวอิสราเอลออกจากแผ่นดินอียิปต์[5]

เบื้องต้นโมเสสพยายามหลบเลี่ยงการทรงเรียกของพระเจ้าด้วยเหตุผลนานาประการ กระทั่งจำยอมด้วยฤทธิ์เดชพระเจ้า จึงได้เข้าไปอียิปต์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า โดยพระเจ้าทรงให้อาโรนและมีเรียน พี่ชายและพี่สาวของโมเสสเป็นผู้คอยช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ของโมเสสท่ามกลางชาวอิสราเอล

โมเสสจึงเข้าไปทูลขอให้ฟาโรห์ปล่อยอิสราเอลเป็นอิสระถึง 10 ครั้ง และฟาโรห์ปฏิเสธทุกครั้ง แต่ละครั้งที่ฟาโรห์ปฏิเสธ พระเจ้าก็ทรงมอบภัยพิบัติแก่อียิปต์รวม 10 ครั้ง ในครั้งสุดท้ายฟาโรห์จึงยอมปล่อยให้อิสราเอลออกจากแผ่นดินอียิปต์ได้[6]

อพยพ แก้

 
แผนที่เส้นทางอพยพของชาวอิสราเอล

ขณะอพยพออกจากอียิปต์นั้น นับเฉพาะผู้ชายได้ทั้งสิ้นประมาณหกแสนคน ไม่รวมผู้หญิง เด็ก และคนต่างชาติที่ขอติดตามไปด้วย

รวมเวลาที่อิสราเอลอาศัยในแผ่นดินอียิปต์ เป็นเวลา 430 ปี ทั้งนี้เป็นไปตามคำพยากรณ์ที่พระเจ้าประทานให้แก่อับราฮัม เมื่อออกจากอียิปต์ พระเจ้าทรงให้ผู้ชายทุกคนที่ยังมิได้เข้าสุหนัต ให้ถือพิธีเข้าสุหนัต เพื่อแสดงตนว่าได้เข้าเป็นชนชาติอิสราเอลด้วยแล้ว จึงถือปฏิบัติตั้งแต่นั้นมา และเฉพาะผู้ที่ได้เข้าสุหนัตแล้วเท่านั้นที่เข้าร่วมพิธีปัสคาได้

นอกจากนี้ ยังมีกำหนดการถวายสัตว์หัวปี เพื่อเป็นเครื่องถวายบูชา เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติในอียิปต์ที่พระเจ้าทรงนำบุตรหัวปีของอียิปต์ไป จนเป็นเหตุให้อิสราเอลได้เป็นไทอีกด้วย

ในการอพยพของอิสราเอล ข้ามทะเลทรายครั้งนี้ กินเวลากว่า 40 ปี มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และเป็นที่มาของคัมภีร์ไบเบิลในหมวดเบญจบรรณถึง 5 เล่มด้วยกัน

เสาเมฆ และเสาเพลิง แก้

เมื่ออิสราเอลออกเดินทางจากอียิปต์นั้น ต้องผ่านเส้นทางที่เป็นทะเลทรายอันร้อนระอุ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินผ่านเมืองที่มีผู้คนอาศัย (ในสมัยก่อนการยกพลผ่านเมืองอาจก่อให้เกิดสงครามได้) เมื่อออกเดินทางพระเจ้าเสด็จนำทางพวกเขาในเวลากลางวันด้วยเสาเมฆ และในเวลากลางคืนด้วยเสาเพลิง ให้เขามีแสงสว่างเพื่อได้เดินทางได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เสาเมฆและเสาเพลิง มิได้คลาดจากเบื้องหน้าประชากรเลย[7]

ข้ามทะเลแดง แก้

เมื่ออิสราเอลออกเดินทางจากอียิปต์ไปแล้วนั้น ฟาโรห์และเหล่าขุนนางก็เปลี่ยนความคิด ต้องการให้คนอิสราเอลกลับมาเป็นทาสดังเดิม จึงได้จัดทัพออกติดตามอิสราเอล ในพระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า ฟาโรห์ ทรงจัดเตรียมรถรบอย่างดี 600 คัน กับรถรบทั้งหมดในอียิปต์ ติดตามอิสราเอลไป

เมื่อกองทัพอียิปต์ติดตามมาจวนถึงแล้วนั้น ฝ่ายอิสราเอล กำลังตั้งค่ายอยู่ริมทะเลแดง โมเสสได้กล่าวกับชนชาติอิสราเอลว่า "อย่า​กลัว​เลย จง​ยืน​นิ่ง​อยู่ คอย‍ดู​ความ​รอด​จาก​พระ‍ยาห์‌เวห์ ซึ่ง​ทรง​ทำ​เพื่อ​พวก‍ท่าน​ใน​วัน‍นี้ เพราะ​คน​อียิปต์​ที่​เห็น​ใน​วัน‍นี้ พวก‍ท่าน​จะ​ไม่‍ได้​เห็น​อีก​ตลอด‍ไป พระ‍ยาห์‌เวห์​จะ​ทรง​รบ​แทน​ท่าน​ทั้ง‍หลาย พวก‍ท่าน​จง​สงบ​อยู่​เถิด"[8] แล้วพระเจ้าทรงสั่งให้โมเสสยกไม้เท้าขึ้นเหนือทะเล ทำให้ทะเลนั้นแหวกออก น้ำก็ตั้งเป็นเหมือนกำแพงสำหรับอิสราเอลทั้งซ้ายและขวา และคนอิสราเอลนั้นเดินข้ามทะเลไปได้ และเสาเมฆซึ่งอยู่ข้างหน้า ก็กลับมาอยู่ข้างหลังเขา คือระหว่างพลโยธาอียิปต์ และพลโยธาอิสราเอล เมื่ออิสราเอลข้ามผ่านทะเลแดงไปแล้ว พระเจ้าทรงบัญชาให้โมเสสยื่นมือออกไปเหนือทะเล น้ำทะเลไหลกลับคืนมาท่วมคนอียิปต์[9]

มานา แก้

เมื่ออิสราเอลรอดพ้นจากอียิปต์ได้ ต้องเดินทางท่ามกลางทะเลทรายซึ่งแห้งแล้งและกันดารอาหาร พระเจ้าจึงทรงประทานอาหารตกลงมาจากท้องฟ้า และทรงอนุญาตให้อิสราเอลเก็บกินได้พอกินเฉพาะวันหนึ่งเท่านั้น หากเก็บไว้เกินก็เน่าเป็นหนอนและบูดเหม็น แต่ในวันที่หก อนุญาตให้เก็บเป็นสองเท่า เพราะในวันสะบาโตพระเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้กระทำกิจการใด ๆ

อาหารที่พระเจ้าประทานมานั้น อิสราเอล เรียกว่า "มานา" เป็นเม็ดขาวเหมือนเมล็ดผักชี มีรสเหมือนขนมแผ่นผสมน้ำผึ้ง พระเจ้าทรงประทานมานาในเวลาเช้า มานาปรากฏขึ้นหลังจากน้ำค้างระเหย แต่พอแดดร้อนจัดมานาก็ละลายไป

พระเจ้าทรงประทานมานา ให้แก่ อิสราเอล ตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่เดินทางอยู่ในทะเลทราย จนกระทั่งออกเดินทางถึงยังชายแดนแคว้นคานาอัน[10]

โมเสสพบพระเจ้า แก้

 
โมเสสกับแผ่นศิลาจารึกธรรมบัญญัติ
ภาพโดย เฮอร์เมนซ์ เรมแบรนท์ ปี พ.ศ. 2201(1658)

ภายหลังจากอิสราเอลเดินทางออกจากอียิปต์ได้ 3 เดือน ก็มาถึงภูเขาซีนาย พระเจ้าทรงให้โมเสสนำความไปแจ้งแก่อิสราเอลว่า "...ถ้า​พวก‍เจ้า​ฟัง​เสียง​เรา​จริง ๆ และ​รักษา​พันธ‌สัญญา​ของ​เรา​ไว้ พวก‍เจ้า​จะ​เป็น​ของ​ล้ำ​ค่า​ของ​เรา​ที่​เรา​เลือก‍สรร​จาก​ท่าม‍กลาง​ชน‍ชาติ​ทั้ง‍ปวง เพราะ​แผ่น‍ดิน​ทั้ง‍สิ้น​เป็น​ของ​เรา พวก‍เจ้า​จะ​เป็น​อาณา‌จักร​ปุ‌โร‌หิต และ​เป็น​ชน‍ชาติ​บริ‌สุทธิ์​สำหรับ​เรา..."[11] และอิสราเอลก็ทูลตอบว่า "ทุก‍อย่าง​ที่​พระ‍ยาห์‌เวห์​ตรัส​นั้น พวก‍ข้าพ‌เจ้า​จะ​ทำ​ตาม"[12] ดังนั้น พระเจ้าจึงทรงเรียกโมเสสให้ขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าบนภูเขาซีนายเพื่อรับธรรมบัญญัติจากพระเจ้า

แต่งตั้งอาโรนเป็นปุโรหิต แก้

พระเจ้าทรงให้โมเสสแต่งตั้งอาโรนและบุตรของอาโรน เป็นปุโรหิต ทำหน้าที่ถวายเครื่องเผาบูชาแด่พระเจ้า ซึ่งประกอบด้วยแท่นเผาบูชา และแท่นเครื่องหอม สิ่งของที่ถวายบูชาประจำวันได้แก่

  • ลูกแกะอายุหนึ่งขวบ จำนวนสองตัว สำหรับตอนเช้าหนึ่งตัว และสำหรับตอนเย็นหนึ่งตัว
  • ยอดแป้ง เคล้าน้ำม้นมะกอก
  • เหล้าองุ่น

วัวทองคำ แก้

โมเสสขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าบนภูเขาซีนาย เป็นเวลา 40 วัน 40 คืน มิได้ลงมาจากภูเขาเลย และทรงประทานแผ่นพระโอวาทสองแผ่นเป็นแผ่นศิลาจารึกด้วยพระหัตถ์ของพระเจ้า[13]

ฝ่ายประชาชนเห็นโมเสสไม่ลงมาจากภูเขา จึงพากันปรึกษาอาโรนให้สร้างพระใหม่ให้พวกเขา เพราะเห็นว่าโมเสสนั้นหายไปนานแล้ว อาโรนจึงให้ชาวอิสราเอลนำทองคำมารวมกัน และหล่อเป็นรูปโคหนุ่ม และนับถือโคหนุ่มนั้นเป็นพระเจ้า และจัดงานเลี้ยงฉลองกัน

ฝ่ายพระเจ้าตรัสสั่งโมเสสว่า "เจ้าจงลงไปเถิด ด้วยว่าชนชาติของเจ้า...ได้ทำความเสื่อมเสียมากแล้ว..." โมเสสจึงลงมาจากภูเขาพร้อมด้วยศิลาทั้งสองแผ่น และเมื่อลงมาถึงที่ค่ายพัก โมเสสพบกับงานเฉลิมฉลอง และการบูชาโคหนุ่ม จึงโกรธและโยนแผ่นศิลาทิ้งตกแตกที่เชิงภูเขา แล้วท่านสั่งให้นำรูปโคหนุ่มนั้นเผาและบดเป็นผงโรยลงในน้ำ บังคับให้ชนชาติอิสราเอลดื่ม[14]

แผ่นศิลาชุดที่สอง แก้

เสร็จการสะสาง โมเสสจึงขึ้นไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอีก และครั้งนี้พระเจ้าทรงประกาศพระนามของพระองค์ว่า "พระยาห์เวห์" และทรงให้โมเสสสกัดแผ่นศิลาชุดที่สองขึ้น[15]

เมื่อโมเสสได้ลงจากภูเขา และถือแผ่นพระโอวาทลงมาด้วย เมื่อลงมานั้น โมเสสไม่ทราบว่าผิวหน้าของตนทอแสงเพราะพระเจ้าทรงสนทนากับท่านและได้รับพระสิริจากพระองค์ เมื่ออาโรนและอิสราเอลเห็นหน้าของท่านทอแสงก็กลัวไม่กล้าเข้ามาใกล้ ท่านจึงเรียกเขามาและให้บัญญัติแก่อิสราเอลตามที่พระเจ้าตรัสแก่ท่าน[16]

การสร้างพลับพลา แก้

ในครั้งนั้น พระเจ้าทรงบัญชาให้สร้างพลับพลา ขึ้นเป็นสถานนมัสการพระองค์ ซึ่งประกอบด้วย หีบแห่งพันธสัญญา โต๊ะ คันประทีป แท่นบูชาทองสัมฤทธิ์ แท่นเผาเครื่องหอม แท่นเผาเครื่องเผาบูชา ขัน ลานพลับพลา ชุดปุโรหิต น้ำมันหอม และเครื่องโลหะสำหรับใช้ในสถานนมัสการ โมเสสทำตามทุกประการ

เมื่อสามารถสร้างสถานนมัสการเสร็จสิ้น ก็ถวายเครื่องเผาบูชา และเครื่องธัญบูชา แล้วจึงออกเดินทางต่อไป ตลอดการเดินทางนั้นมีเมฆปกคลุมอยู่ หากเมฆนั้นถูกยกขึ้นเมื่อใด ชนชาติอิสราเอลก็ยกเดินต่อไป แต่หากว่าเมฆนั้นมิได้ถูกยกขึ้นไป เขาก็ไม่ออกเดินทางเลย[17]

เทียบช่วงเวลา แก้

ในหนังสืออพยพได้กล่าวถึงช่วงเวลาตั้งแต่เมื่อโยเซฟเสียชีวิต ไปจนถึงการสร้างพลับพลา ที่นมัสการพระเจ้า ซึ่งนับรวมระยะเวลาได้ประมาณ 145 ปี โดยยึดจากคำพยากรณ์ที่พระเจ้าตรัสแก่อับราฮัมว่า อิสราเอลไปอยู่ในแผ่นดินอียิปต์ 430 ปี[18]

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลหลายฝ่ายได้พยายามปรับปรุงข้อมูลของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ในหนังสืออพยพนี้ โดยมุ่งเน้นที่หาคำตอบสำหรับ

  • ระยะเวลาต่าง ๆ
  • มานา คืออะไร
  • พระนามของฟาโรห์ที่พระคัมภีร์กล่าวถึง
  • วันที่อิสราเอลอพยพออกจากอียิปต์
  • วันที่กำแพงเมืองเยรีโคถล่ม (ในหนังสือโยชูวา)
  • ฯลฯ

เหล่านี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และไม่มีบทสรุปที่แน่นอน ข้อถกเถียงโดยมากมุ่งเน้นถึงประเด็นพระนามของฟาโรห์เป็นสำคัญ

อ้างอิง แก้

  1. หนังสืออพยพ, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  2. "หนังสืออพยพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-28. สืบค้นเมื่อ 2012-08-29.
  3. ดูเพิ่มเติมในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ
  4. หนังสืออพยพ บทที่ 1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  5. หนังสืออพยพ บทที่ 2-3, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  6. หนังสืออพยพ บทที่ 4-12, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  7. หนังสืออพยพ 13:17-22, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  8. หนังสืออพยพ 14:13-14, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  9. หนังสืออพยพ 14:21-31, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  10. หนังสืออพยพ บทที่ 16, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  11. หนังสืออพยพ 19:5-6, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  12. หนังสืออพยพ 19:8, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  13. หนังสืออพยพ บทที่ 31, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  14. หนังสืออพยพ บทที่ 32, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  15. หนังสืออพยพ บทที่ 33-34, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  16. หนังสืออพยพ 33:29-35, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  17. หนังสืออพยพ บทที่ 20-40, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  18. หนังสือปฐมกาล 3:17, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011

ดูเพิ่ม แก้

บุตรของยาโคบ ตามชื่อภรรยา (ญ = บุตรสาว)
(ตัวเลขในวงเล็บคือลำดับของการเกิด)
เลอาห์ รูเบน (Reuben) (1) สิเมโอน (Simeon) (2) เลวี (Levi) (3) ดีนาห์ (Dinah) (ญ)
ยูดาห์ (Judah) (4) อิสสาคาร์ (Issachar) (9) เศบูลุน (Zebulun) (10)
ราเชล โยเซฟ (Joseph) (11) เบนยามิน (Benjamin) (12)
เอฟราอิม บุตรโยเซฟ (11.1) มนัสเสห์ บุตรโยเซฟ (11.2)
บิลลาห์
(สาวใช้นางราเชล)
ดาน (Dan) (5) นัฟทาลี (Naphtali) (6)
ศิลปาห์
(สาวใช้นางเลอาห์)
กาด (Gad) (7) อาเชอร์ (Asher) (8)


ก่อนหน้า
หนังสือปฐมกาล
หนังสืออพยพ
คัมภีร์ฮีบรู /
พันธสัญญาเดิมของศาสนาคริสต์
ถัดไป
หนังสือเลวีนิติ