หญ้าขจรจบ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
ไม่ได้จัดลำดับ: Commelinids
อันดับ: Poales
วงศ์: Poaceae
สกุล: Pennisetum
สปีชีส์: P.  pedicellatum
ชื่อทวินาม
Pennisetum pedicellatum
Trin.

หญ้าขจรจบ หรือ หญ้าคอมมิวนิสต์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pennisetum pedicellatum; อังกฤษ: desho grass, desho) เป็นพืชดอกใบเลี้ยงเดี่ยวชนิดหนึ่งในสกุล Pennisetum วงศ์หญ้า มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอธิโอเปีย ขึ้นมากตามที่สูงชันบริเวณพื้นที่ภูเขาของประเทศ[1] หญ้าชนิดนี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับปศุสัตว์และสามารถนำมาเพาะปลูกในพื้นที่เล็ก ๆ ได้อย่างยั่งยืน[1]

หญ้าขจรจบเป็นเป็นวัชพืชที่สำคัญนำความเสียหายมาสู่การเกษตรของประเทศไทยเป็นอย่างมาก สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วโดยเมล็ด หญ้าขจรจบเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2498 โดยศาสตราจารย์ คูมา ผู้เชี่ยวชาญพืชอาหารสัตว์ของ FAO สั่งมาจากประเทศอินเดียเพื่อทดลองปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์[2]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

หญ้าขจรจบเป็นหญ้าอายุข้ามปี ลำต้นเติบโตเป็นเหง้าบนดิน สามารถแตกหน่อเป็นกอขนาดใหญ่ได้ สูงได้ถึง 1–2 เมตรหรือมากกว่า ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้องที่หุ้มด้วยกาบใบ ข้อปล้องบริเวณโคนลำต้นมีรากแตกออก หญ้าขจรจบเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกกาบใบออกหุ้มลำต้น แผ่นใบเรียวยาว แผ่นใบมีสีเขียว แผ่นใบด้านบน และด้านล่างมีขนนุ่มปกคลุม ดอกเป็นดอกสมบูรณ์ที่ออกดอกเป็นช่อแทงจากส่วนยอดของลำต้น ดอกมีขนปกคลุมยาว และมีลักษณะนุ่มคล้ายขนหางสัตว์ ทั้งนี้ ดอกหญ้าขจรจบจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม และเมล็ดที่ร่วงลงดินจะงอกใหม่หลังฝนตกในช่วงเดือนพฤษภาคม

พันธุ์หญ้าขจรจบ หรือ หญ้าคอมมิวนิสต์ แก้

1. หญ้าขจรจบดอกใหญ่ หรือ หญ้าขจรจบดอกแดงใหญ่ หรือ หญ้าขจรจบปุยมาก • ชื่อวิทยาศาสตร์ Pennisetum pedicellatum Trin : Feather pennisetum ลำต้นมีลักษณะเด่น คือ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร หรือมากกว่า ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้อง เปลือก และแก่นแข็งแรง ลำต้นแตกแขนงบริเวณโคนต้น และบางครั้งมักพบลำต้นเอนราบกับพื้นดิน พร้อมแตกลำต้นขึ้นเป็นลำต้นใหม่ได้ ส่วนใบออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับข้างกันตามความสูงของลำต้น ประกอบด้วยกาบใบสีเขียวอ่อนที่หุ้มรอบลำต้น ถัดมาเป็นแผ่นใบ ที่กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายแหลม แผ่นใบมีขนปกคลุมทั้งด้านบน และด้านล่าง ส่วนดอกออกเป็นช่อ ทั้งออกตามข้อ และแทงออกที่ปลายลำต้น ช่อดอกมีความยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ขนาดช่อดอกประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ซึ่งมีช่อดอกย่อยจำนวนมาก โดยดอกย่อยมีขนปกคลุม ดอกหลังบานจะมีขน สีม่วง และดอกแก่จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีฟางหรือสีน้ำตาลอ่อน

2. หญ้าขจรจบดอกเล็ก หรือ หญ้าขจรจบดอกแดงเล็ก หรือ หญ้าขจรจบปุยน้อย • ชื่อวิทยาศาสตร์ Pennisetum polystachyon Sehute ลำต้นมีลักษณะเด่น คือ ลักษณะลำต้น และใบคล้ายกับหญ้าขจรจบดอกใหญ่ทุกประการ แต่ใบจะค่อนข้างเรียวยาวกว่าที่ 15-35 เซนติเมตร และช่อดอกจะสั้นกว่าที่ 12-18 เซนติเมตร และขนาดดอกจะเล็กกว่า มีปุยขนสั้นกว่า

3. หญ้าขจรจบดอกดอกเหลือง • ชื่อวิทยาศาสตร์ Pennisetum setosum เป็นพันธุ์หญ้าขจรจบที่ค้นพบหลังจาก 2 พันธุ์ แรก ซึ่งพบแพร่ระบาดในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ซึ่งสายพันธุ์นี้จะแตกต่างจาก2 พันธุ์แรก คือ ดอกจะมีสีเหลืองเด่นชัด และมีอายุมากกว่า 1 ปี แต่ 2 ชนิดแรก มีอายุเพียงปีเดียว จำนวนช่อดอกของหญ้าขจรจบดอกเหลือง จาก 1 กอ จะมีประมาณ 18 ช่อ แต่ละช่อมีดอกย่อยประมาณ 460 ดอก ดังนั้น จึงสามารถแพร่ระบาดได้รุนแรง และรวดเร็วมาก ทั้งนี้ หญ้าขจรจบดอกเหลืองจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคม และตุลาคม

ประโยชน์และข้อเสีย แก้

ประโยชน์
  1. หญ้าขจรจบ แต่ก่อนมีการส่งเสริมการปลูกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ (ในประเทศไทยที่โรงงานกระดาษบางปะอิน)
  2. หญ้าขจรจบที่นำเข้าในไทยครั้งแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกเป็นอาหารแก่โค กระบือ สามารถให้ผลผลิตประมาณ 1.8 ตัน/ไร่ นอกจากนี้หญ้ายังเติบโตได้รวดเร็ว สามารถเก็บเกี่ยวได้ในระยะ 40–60 วัน หลังการปลูก
  3. ใช้ปลูกเพื่อเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันหน้าดินพังทลาย
  4. คุณค่าทางโภชนาการหญ้าขจรจบ/หญ้าคอมมิวนิสต์ (อายุ 40 วัน : 100 กรัม) พลังงาน : 186.10 แคลอรี่, โปรตีน : 7.56 กรัม, ไขมัน : 0.79 กรัม, คาร์โบไฮเดรต : 37.21 กรัม, ความชื้น : 8.70 กรัม, เถ้า : 8.78 กรัม, กาก : 37.01 กรัม, แคลเซียม : 129.6 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส : 174.3 มิลลิกรัม และเหล็ก : 16.2 มิลลิกรัม
ข้อเสีย
  1. หญ้าขจรจบมีปุยขนที่ดอก ซึ่งทำหน้าที่ช่วยพยุงดอกให้ปลิวตามลมได้ ทำให้แพร่กระจายได้รวดเร็ว
  2. ลำต้นของหญ้าขจรจบสามารถแตกกอขนาดใหญ่ได้ ทำให้มีจำนวนต้นมาก และจำนวนดอกย่อมมากเช่นกัน จึงสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
  3. ลำต้นหญ้าขจรจบมีขนาดใหญ่ และสูงมาก เป็นอุปสรรคต่อการกำจัด ทั้งการตัด และการขุดตอออก
  4. หญ้าขจรจบมีความทนต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ดี ทำให้การใช้สารเคมีบางชนิดไม่ได้ผล
  5. มักพบแพร่ระบาดเป็นวัชพืชตามสวนผลไม้ สวนมันสำปะหลัง อ้อย และนาข้าว ซึ่งจะผลทำให้ผลผลิตของพืชลดลง
  6. มักพบแพร่ระบาดตามริมแม่น้ำ ริมชายน้ำที่บดบังพืชท้องถิ่นไม่ให้ขึ้นได้

การกำจัด แก้

  1. ใช้ยาปราบศัตรูพืชฉีดพ่นจำกัด ซึ่งสามารถได้ผลบ้าง
  2. การขุดเหง้าหรือลำต้นตากแดด

อ้างอิง แก้

  • ชาญชัย มณีดุลย์, 2511. บันทึกประวัติการนำพันธืชอาหารสัตว์เข้าประเทศ. สัตวแพทยสาร เล่ม 1 มกราคม 2511.
  • วีระพล แจ่มสวัสดิ์ และสมาน ศรีสวัสดิ์, 2538. การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้หญ้าขจรจบเป็นอาหารหยาบเลี้ยงโคในฤดูแล้ง.
  • Dumrong Leenanuruksa, 2522. การผลิตหญ้าแห้งเพื่อเลี้ยงโค กระบือจากหญ้าขจรจบ. งานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  1. 1.0 1.1 Smith, G. (2010). Ethiopia: local solutions to a global problem เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  2. "ชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นรุกรานในประเทศไทย ( IAS in Thailand )". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-18. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)