"สุดใจ" เป็นเพลงมโหรีไทยสมัยอาณาจักรอยุธยา ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2231 เป็นงานเขียนของนีกอลา แฌร์แวซ (Nicolas Gervaise) นักเดินทางชาวฝรั่งเศส ผู้เคยเดินทางมาพร้อมกับคณะบาทหลวงที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในกรุงศรีอยุธยาช่วง พ.ศ. 2224-2229[1] หรือก่อนการเดินทางของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) คณะทูตชาวฝรั่งเศสผู้บันทึกโน้ตเพลง "สายสมร" ถึงสี่ปี[2][3][4] ด้วยเหตุนี้ "สุดใจ" จึงกลายเป็นโน้ตเพลงที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย[1][4]

แม้จะได้รับการบันทึกโน้ตอย่างสากล แต่ก็ไม่ปรากฏที่มาหรือชื่อเสียงเรียงนามของเพลงนี้ แฌร์แวสทำการบันทึกเพลงของอยุธยาไว้สองเพลง แต่เมื่อตีพิมพ์ออกมา กลับมีเพลงนี้เพลงเดียว[5][6] โดยชื่อ "สุดใจ" หรือบ้างว่า "ฉุยฉาย" ก็นำมาจากเนื้อร้องที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "Sout Chai..." ซึ่งบันทึกเป็นภาษาไทยที่ถูกถอดเป็นอักษรโรมัน[1][5] ธีรพงศ์ เรืองขำ สันนิษฐานว่าเพลง "สุดใจ" นี้ น่าจะหมายถึงนางอันเป็นที่รัก คือพระอัครมเหสีที่สวรรคตไปแล้วของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยแปลงเพลงมโหรีเป็นโน้ตสากล[4] ตามเนื้อเพลงที่สุกรี เจริญสุข ถอดไว้ ดังนี้[1]

"สุดใจเอ๋ย ไสเจ้าจำจะพราก ไปสู่อันน่านวล เจ้ามาชิดถึงพี่บ้าง สุดใจเอย
สายใจฤๅชัง ไปต้นเรือง เรือง เรือง ในเอย"

อติภพ ภัทรเดชไพศาล อธิบายถึงโน้ตเพลง "สุดใจ" ไว้ว่า "...เป็นโน้ตเพลงที่เห็นได้ชัดว่าเขียนขึ้นสำหรับเปียโน มีบุคลิกเป็นดนตรีตะวันตกแบบ exotic ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนั้น และไม่เห็นร่องรอยว่าเกี่ยวเนื่องกับเพลงสยามแต่อย่างใด"[3] สอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร ที่ให้ข้อมูลว่า "...เขียนขึ้นด้วยการร้อยทำนองสองทำนองเข้าด้วยกัน มีทำนองหลักอยู่ด้านบน และให้ทางเบสอยู่ไลน์ต่ำ ซึ่งเป็นขนบนิยมของของดนตรีตะวันตก ซึ่งเมื่อได้ทดลองบรรเลงดูแล้ว เสียงที่ออกมาก็ไม่คล้ายดนตรีตะวันออกแต่อย่างใด ในส่วนของเนื้อร้องก็ยังไม่ไปกับท่วงทำนองดนตรีมากนัก"[5] ส่วนศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ให้ความเห็นว่า งานเขียนของแฌร์แวสอาจเขียนขึ้นจาก "ความแปลกประหลาด" ที่ชาวตะวันตกมองคนนอกยุโรป จึงสร้างเนื้อเพลงมาประกอบเท่านั้น เพลงนี้จึงอาจไม่มีอยู่จริง หรือ "สุดใจ" อาจเป็นเพลงที่ร้องกันในโบสถ์คริสต์ในยุคอยุธยา แต่แต่งเนื้อร้องให้เป็นภาษาไทย[6]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 สุกรี เจริญสุข (25 สิงหาคม 2562). "อาศรมมิวสิก : เพลงสายสมรกับสุดใจ ฟื้นชีวิตวิญญาณเพลงที่บ้านราชทูตวิชาเยนทร์". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "เปิดโน้ตเพลง 'สายสมร' ยุคอยุธยา เก่าสุดในไทย ที่มาเพลงบรรเลงขณะยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ 26 ต.ค.นี้". มติชนออนไลน์. 23 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 อติภพ ภัทรเดชไพศาล (6 ธันวาคม 2559). "หลักฐานเพลงสยามในปารีสเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว : รูปเงาแห่งเสียง". สยามรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 ธีรพงศ์ เรืองขำ (26 ตุลาคม 2560). "การข้ามมหานทีสีทันดรของ 'สายสมร' : จากราชสำนักแวร์ซายส์สู่พระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9". The Standard. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 "บทเพลงที่บันทึกไว้ในจดหมายเหตุของ ลา ลูแบร์ เพลงสายสมร และเพลงสุดใจ". กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. 28 กุมภาพันธ์ 2555. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (22 กันยายน 2559). "ดนตรีในรัฐที่โน้ตเพลงที่เก่าที่สุดของตนเอง เป็นแค่เรื่องพาฝัน". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)