สุชาดี มณีวงศ์ (เกิด 29 มีนาคม พ.ศ. 2489) หรือ โอป้า เป็นพิธีกรและนักพากย์ชาวไทย รู้จักในฐานะพิธีกรรายการกระจกหกด้าน สารคดีสั้นทางช่อง 7[1]

สุชาดี มณีวงศ์
เกิด29 มีนาคม พ.ศ. 2489 (78 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย ไทย
บุตรจุฬาพิช มณีวงค์
ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์
อลงค์กร จุฬารัตน์
อรอรีย์ จุฬารัตน์
อาชีพพิธีกร, นักพากย์
ปีที่แสดงพ.ศ. 2520 – ปัจจุบัน
ผลงานเด่นพิธีกรในรายการ กระจกหกด้าน (พ.ศ. 2526 – ปัจจุบัน)
โทรทัศน์ทองคำรายการสารคดียอดเยี่ยม
กระจกหกด้าน
เมขลาประเภทรายการความรู้และสาระดีเด่น
กระจกหกด้าน

ประวัติ แก้

สุชาดี มณีวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2489 ที่จังหวัดพระนคร ประเทศไทย เข้าศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนใกล้บ้านคือ โรงเรียนศิริธนศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ในวัยเยาว์สุชาดีเคยกล่าวไว้ว่า “ด้วยความเป็นลูกคนกลางจากบรรดาพี่น้องผู้หญิง 4 คน มีความรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก ต้องรักตัวเอง เเละค่อนข้างเข้มแข็งกว่าคนอื่น ทุกคนรู้สึกว่าเราต้องพึ่งตัวเองได้ เลยหัดคิดเอง ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เริ่มหาเงินได้เองตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน ระหว่างไปโรงเรียนผ่านตลาดเทเวศร์ จะแวะซื้อดอกกุหลาบ ดอกละ 1 สลึง ซื้อ 3 บาท แถม 3 ดอก แล้วเอาไปขายดอกละ 50 สตางค์ พยายามมองสิ่งที่เราเห็นว่าอะไรเป็นเงินเป็นทองได้ ทำให้มีเงินใช้จ่ายเวลาอยากจะซื้ออะไรพิเศษเป็นของตัวเอง”[2]

หลังจบ ม.4 ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์(หลังจากนั้น 1 ปี ถึงเป็นระบบ มศ.) ก็ออกมาเรียนเทียบ ม.5-ม.6 ส่วน ม.7-ม.8 แม้สุชาดีมั่นใจว่าสอบได้แต่เพราะอายุไม่ถึง ขาดไป 1 สัปดาห์ จึงหมดสิทธิ์สอบ เลยมาช่วยพ่อทำเสมียนสำนักงานทนายความพักใหญ่ ก็มีญาติมาชวนไปทำงานขายสบู่ ค่าแรงเดือนละ 600 บาท ไม่นานญาติจึงให้มาช่วยงานหาโฆษณาที่ “หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย”

สุชาดีเริ่มต้นด้วยการหาโฆษณาย่อย บรรทัดละ 8 บาทต่อคอลัมน์นิ้ว จนกระทั่ง ไชยยงค์ ชวลิต เจ้าของหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ลาออก กลุ่มคนที่ทำอยู่ย้ายออกไปตั้งหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ทำให้พิมพ์ไทยขาดคน สุชาดีจึงได้มาเขียนคอลัมน์และทำข่าวสังคม ทำให้รู้จักคนเพิ่มมากขึ้น กระทั่งหนังสือพิมพ์ปิดกิจการ ก็ผันตัวมาทำงานด้านละคร ระหว่างนั้นมีงานพิเศษช่วยเพื่อนที่ทำโฆษณา เก็บเงินทุนหมุนเวียน หางานโฆษณา

ยังมีโอกาสได้เป็นผู้บริหารสถานีวิทยุ 2 แห่ง คือ อสมท. ความถี่ 95.0 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เอฟเอ็ม สตูดิโอ มัลติเพล็กซ์ และสถานีวิทยุรักษาดินแดน เอฟเอ็ม 96.0 เมกะเฮิรตซ์

ขณะที่ทำงานอย่างตั้งใจ การใช้ชีวิตของสุชาดี เรียกได้ว่าเป็นผู้หญิงก๋ากั่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กระทั่งหักดิบเลิกทุกอย่างในวันเดียวตอนอายุ 30 ปี

“เป็นวันที่ได้ไหว้พระวันแรก ตอนนั้นได้พบหลวงปู่คำดี ปภาโส พระอริยเจ้าศิษย์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่มาผ่าตัดตาที่โรงพยาบาลจักษุรัตนิน ได้ขอกรรมฐานจากท่าน จากนั้นก็นั่งสมาธิ ถือศีลเรื่อยมา” สุชาดีกล่าว

การเข้าหาทางธรรมในครั้งนั้นทำให้เกิดชื่อรายการสารคดี “กระจกหกด้าน” ขึ้น สุชาดีขณะเป็นผู้บริหารสถานีวิทยุ รด. 96.0 เมกะเฮิรตซ์ มีหัวหน้าสถานีเป็นคนนั่งวิปัสสนา ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้คุยเรื่องธรรมะ เรื่องนั่งสมาธิ บอกว่า สมเด็จฯสอนเรื่องทิศ 6 พอทำสารคดีเลยนำชื่อ “กระจกหกด้าน” มาใช้

แรงจูงใจที่สุชาดีอยากทำสารคดีเพราะเคยทำละครเรื่อง “จากแฟ้มประวัติอาชญากรรม” โดยเพื่อนที่เป็นผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมช่วยเจรจากับ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น เพื่อขอแฟ้มคดีที่ปิดคดีแล้วมาทำละครเป็นตอนต่างๆ เช่น ตอนตี๋ใหญ่ ตอนกินฟรี

สุชาดีให้สัมภาษณ์ว่า “เราเอา “กระจกหกด้าน” ไปเสนอช่อง 7 เขาอยากได้พอดี ตอนเเรกคิดไว้จะทำอาทิตย์ละ 1 วัน ก็ได้ทำ 7 วัน ช่วงนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีโครงการประหยัดไฟ ให้ปิดไฟตอน 18.00-20.00 น. รายการของเราอยู่ก่อนปิดไฟพอดี คนเลยดูรายการเยอะมาก” กระจกหกด้านเริ่มออกอากาศครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2526 นับเป็นรายการสารคดีที่มีระดับความนิยมสูงสุด ชื่อรายการ กระจกหกด้าน มาจากคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ว่า คนเราทุกวันนี้ ดีแต่ส่องกระจกด้านหน้าแต่เพียงด้านเดียว ให้เอากระจกหกด้านมาส่องเสียบ้าง แล้วจะเห็นเอง

อ้างอิง แก้

  1. ณัฐนันท์ เฉลิมพนัส (1 สิงหาคม 2018). "1 สิงหาคม 2526 กระจกหกด้านที่สะท้อนสิ่งต่างๆ มาแล้ว 35 ปี". The Standard.
  2. อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล (13 มกราคม 2016). "อนาคต "กระจกหกด้าน" จากปาก "สุชาดี มณีวงศ์" ผู้สร้างตำนานสารคดีทีวี(ไทย)". มติชน รายวัน.