สาธิต ปิตุเตชะ (เกิด 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510) ชื่อเล่น ตี๋ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์[1] ดูแลพื้นที่ภาคกลาง 3 สมัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง 4 สมัย อดีตสมาชิกสภาจังหวัดระยอง และอดีตรองประธานสภาจังหวัดระยอง ที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาจังหวัดระยอง

สาธิต ปิตุเตชะ
สาธิต ในปี พ.ศ. 2562
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ดำรงตำแหน่ง
10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 – 1 กันยายน พ.ศ. 2566
(4 ปี 53 วัน)
นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา
รัฐมนตรีว่าการอนุทิน ชาญวีรกูล
ก่อนหน้าสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์
ถัดไปสันติ พร้อมพัฒน์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (สัดส่วนภาคกลาง)
ดำรงตำแหน่ง
31 มกราคม พ.ศ. 2557 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566
(9 ปี 312 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 (57 ปี)
อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ประเทศไทย
เชื้อชาติไทย
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
ประชาธิปัตย์ (2544–2566)
คู่สมรสนพเกตุ ปิตุเตชะ
บุตรเฌอ ปิตุเตชะ

ประวัติ แก้

สาธิต ปิตุเตชะ มีชื่อเล่นว่า ตี๋ เกิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510[2] ที่ ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นบุตรของสาคร ปิตุเตชะ อดีตกำนันตำบลบางบุตร (เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561) กับ ทอด ปิตุเตชะ และเป็นน้องชายของปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง กับธารา ปิตุเตชะ อดีต ส.ส. ระยอง 3 สมัย และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง สมรสกับ นพเกตุ (บี) บุตรสาวของ สมเกียรติ นพเกตุ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง โดยมีบุตรสาวด้วยกันคนเดียว คือ เฌอ ปิตุเตชะ (ต้นไม้)

สาธิต เข้ารับการศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื่องจากสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่ติด และเข้าสู่แวดวงการเมือง จากการได้รับแรงบันดาลใจจากการเข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535 หลังจากสำเร็จการศึกษาไม่นาน ขณะที่เป็นทนายความฝึกหัดอยู่ โดยเข้าร่วมชุมนุมในฐานะผู้ชุมนุมทั่วไป พร้อมกับเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่ต่อมาได้กลายเป็นดารา นักแสดง และนักการเมือง ที่มีชื่อเสียง เช่น ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง, ชลิตา พานิชการ รวมไปถึงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, จำลอง ศรีเมือง, วัชระ เพชรทอง, จาตุรนต์ ฉายแสง, กรุณา บัวคำศรี ฯลฯ อดีตหนึ่งในแนวร่วมการชุมนุมดังกล่าวในขณะนั้น ซึ่งเขาได้ถูกทหารทำร้ายร่างกายด้วยการตบหน้าโดยด้ามปืนด้วย[3]

การศึกษา แก้

สาธิต ปิตุเตชะ สำเร็จการศึกษา ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ นโยบายสาธาณะ จาก มหาวิทยาลัยบูรพา และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ในสาขาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (บริหารธุรกิจอุตสาหกรรม) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2561

การทำงาน แก้

สาธิต ปิตุเตชะ ประกอบอาชีพทนายความ โดยเปิดสำนักงานทนายความแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง ก่อนเข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกโดยลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) เมื่อปี พ.ศ. 2535 ที่อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ทั้งที่มีฐานคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในพื้นที่อำเภอบ้านค่าย ทำให้ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2538 และได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 3 ของจำนวนสมาชิกสภาจังหวัด 9 คน และได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาจังหวัดระยอง โดยมีอายุน้อยที่สุดในสภาจังหวัดขณะนั้น และได้ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระ

สาธิต ปิตุเตชะ เข้าสู่วงการเมืองระดับประเทศครั้งแรก โดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต 1 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แข่งขันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4 สมัย จาก พรรคไทยรักไทย สามารถชนะการเลือกตั้งโดยทิ้งห่างคู่แข่งกว่า 10,000 คะแนน และได้รับรางวัล ส.ส. ที่ไม่เคยขาดประชุม เมื่อปี พ.ศ. 2546 จาก อุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ อีกด้วย

ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 1 จังหวัดระยอง ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของจังหวัด ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เขาได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เงา[4]

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามข้อบังคับพรรค และเขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว

ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 เขาได้ลงสมัคร ส.ส.จังหวัดระยอง เขต 1 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกหนึ่งสมัย

ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัคร ส.ส.จังหวัดระยอง เขต 1 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกหนึ่งสมัย ซึ่งเป็น ส.ส.จังหวัดระยอง สมัยที่ 4 ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ในปี พ.ศ. 2565 สาธิต ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... รัฐสภา[5] ซึ่งแต่เดิมเป็นที่คาดหมายว่าตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นของ ไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพลังประชารัฐ[6]

ต่อมาในการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อลงมติเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ภายหลังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรค ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ สาธิตได้ประกาศลาออกตามอภิสิทธิ์ไปด้วย ทำให้สาธิตพ้นจากตำแหน่งรักษาการรองหัวหน้าพรรคไปโดยปริยาย[7]

ความสนใจ แก้

กีฬา เขาสนใจกีฬาฟุตบอลตั้งแต่เด็ก โดยตำแหน่งที่เล่นคือกองหน้า และเบอร์เสื้อที่ชื่นชอบที่สุด คือ เบอร์ 11 โดยสโมสรฟุตบอลที่ชื่นชอบ คือ สโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล

ดนตรี เขาชอบเล่นดนตรีตั้งแต่สมัยเรียน และได้ตั้งวงดนตรีกับเพื่อน ๆ โดยเครื่องดนตรีที่ชอบเล่นที่สุด คือ กีตาร์ไฟฟ้า และชอบฟังเพลง Rock วงดนตรีที่ชอบที่สุดคือวง สกอร์เปียนส์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "เปิดรายชื่อกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 39 คน". bangkokbiznews. 2019-05-21.
  2. ประวัติผู้สมัคร ส.ส. เก็บถาวร 2010-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  3. บ้านนี้สีฟ้า (รีรัน), รายการทางบลูสกายแชนแนล: เสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2556
  4. "เว็บไซต์ ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-25. สืบค้นเมื่อ 2021-08-30.
  5. ""สาธิต" เชื่อ ทำกม.ลูก ไร้ปัญหา การันตีทำเสร็จ พร้อมยื่น "ชวน" 24พฤษภาคม". bangkokbiznews. 2022-04-22.
  6. "'สาธิต ปิตุเตชะ' นั่งประธาน กมธ.กฎหมายลูกเลือกตั้ง เฉือน 'ไพบูลย์' 22 ต่อ 21". ThaiPost. 2022-03-01.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. ""มาดามเดียร์" เว้นวรรค -"สาธิต" ลาออก จากพรรคประชาธิปัตย์". ฐานเศรษฐกิจ. 9 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๐, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑

แหล่งข้อมูลอื่น แก้