สยามานุสสติ เป็นคำโคลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2461 (106 ปี) และได้พระราชทานแก่ทหารอาสาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาได้มีการนำโคลงนี้มาแต่งเป็นเพลงปลุกใจ ซึ่งประพันธ์ทำนองโดยนารถ ถาวรบุตร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์โคลงสยามานุสสติมาจาก คำขวัญปลุกใจของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ว่า "What stands if Freedom fall? Who dies if England live?"[1]

คำโคลงพระราชนิพนธ์เดิม แก้

 
ลายพระหัตถ์โคลงพระราชนิพนธ์สยามานุสสติ
๏ รักราช จงจิตน้อม ภักดี ท่านนา
รักชาติ กอบกรณีย์ แน่วไว้
รักศาสน์ กอบบุญตรี สุจริต ถ้วนเทอญ
รักศักดิ์ จงจิตให้ โลกซร้องสรรเสริญฯ
๏ ยามเดินยืนนั่งน้อม กะมล
รำลึกถึงเทศตน อยู่ยั้ง
เปนรัฎฐะมณฑล ไทยอยู่ สราญฮา
ควรถนอมแน่นตั้ง อยู่เพี้ยงอวสานฯ
๏ ใครรานใครรุกด้าว แดนไทย
ไทยรบจนสุดใจ ขาดดิ้น
เสียเนื้อเลือดหลั่งไหล ยอมสละ สิ้นแล
เสียชีพไป่เสียสิ้น ชื่อก้องเกียรติงามฯ
๏ หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤๅ
เราก็เหมือนมอดม้วย หมดสิ้นสกุลไทยฯ

เพลงสยามานุสสติ แก้

นารถ ถาวรบุตรได้ประพันธ์เพลงสยามานุสสติขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2482 เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง "ค่ายบางระจัน" ของบริษัทศรีกรุงภาพยนตร์ ซึ่งส่วนของเนื้อร้องนั้น ได้ตัดเอาบทพระราชนิพนธ์สยามานุสสติบทที่ 3 และบทที่ 4 มาใช้ โดยสลับเอาบทที่ 4 มาร้องก่อนแล้วจึงค่อยร้องบทที่ 3 ในลำดับถัดไป ดังนี้ [1]

๏ หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤๅ
เราก็เหมือนมอดม้วย หมดสิ้นสกุลไทยฯ
๏ ใครรานใครรุกด้าว แดนไทย
ไทยรบจนสุดใจ ขาดดิ้น
เสียเนื้อเลือดหลั่งไหล ยอมสละ สิ้นแล
เสียชีพไป่เสียสิ้น ชื่อก้องเกียรติงามฯ

ปัจจุบันทำนองเพลงนี้มีการบรรเลงและบันทึกเสียงด้วยวงโยธวาทิต นอกจากนี้มีการใช้ในสื่อ เช่นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ใช้ต้นฉบับทำนองซึ่งทำขึ้นเป็นการเฉพาะกิจบรรเลงด้วยวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร (เรียบเรียงและอำนวยเพลงโดย ครูชลหมู่ ชลานุเคราะห์) เป็นสัญลักษณ์เปิดนำรายการข่าวต้นชั่วโมงและข่าวหลักของสถานีมากว่า 50 ปี ส่วนสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ได้นำเพลงนี้มาใช้ในการเปิดสถานีออกอากาศประจำวัน จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2540[2]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ลพบุรี เมืองใหม่ในยุคผลัดใบ สยามเปลี่ยนไปเป็นไทย, "พินิจนคร". สารคดีทางไทยพีบีเอส: อังคารที่ 16 พฤศจิกายน 2552
  2. เปิดสถานี ททบ.5 (วันพุธที่ 16 มีนาคม 2537)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้