สยาม อินเตอร์ มัลติมีเดีย

(เปลี่ยนทางจาก สยามอินเตอร์คอมิกส์)

บริษัท สยาม อินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Siam inter multimedia Company Limited) เป็นบริษัทรับผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือ มัลติมีเดียและจัดการแข่งขันกีฬา โดยเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทย[5]

บริษัท สยาม อินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน)
อุตสาหกรรมสื่อประสมเกี่ยวกับการ์ตูน กีฬา บันเทิง และกิจการร้านหนังสือ
รูปแบบสื่อและสิ่งพิมพ์
ก่อนหน้าบจก.สยามอินเตอร์คอมิกส์[1]
บจก.สยามคอมิกส์[1]
ก่อตั้งพ.ศ. 2533[1]
ผู้ก่อตั้งระวิ โหลทอง
สำนักงานใหญ่เลขที่ 459 ถนนลาดพร้าว ซอย 48
แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง
กรุงเทพมหานคร[2]
บุคลากรหลัก
นายสฤษฎกุล แจ่มสมบูรณ์
ประธานกรรมการ[3]
วิฑูรย์ นิรันตราย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร[3]
อัญชลี ธีระสินธุ์
กรรมการผู้จัดการ[3]
ผลิตภัณฑ์ดูที่ การประกอบธุรกิจ
เว็บไซต์www.smm.co.th
เชิงอรรถ / อ้างอิง
SET:SMM

ประวัติ แก้

บริษัท สยาม คอมิกส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7มิถุนายน พ.ศ. 2533 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท[6] มีวัตถุประสงค์เมื่อแรกเริ่มเพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ผ่านการเจรจาธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ[1] โดยเมื่อปี พ.ศ. 2536 เปลี่ยนชื่อครั้งแรกเป็น บริษัท สยาม อินเตอร์ คอมิกส์ จำกัด พร้อมทั้งเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นเป็น 20 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2539 บริษัทฯ เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 150 ล้านบาท[6] ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สยาม อินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด พร้อมทั้งแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546 และเพิ่มทุนขึ้นอีกเป็น 170 ล้านบาท โดยในปีถัดมา เพิ่มทุนอีกครั้งเป็น 240 ล้านบาท[1] ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนทั้งหมด 372 ล้านบาท (จากการเพิ่มทุนครั้งหลังสุด เมื่อปี พ.ศ. 2551) โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 372 ล้านหุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 1 บาท เป็นหุ้นที่ออกจำหน่าย และเรียกชำระแล้ว จำนวน 240 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าว แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 240 ล้านหุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 1 บาท[2]

วันที่ 22 กรกฎาคม​ พ.ศ. 2562 บริษัทแจ้งเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ โดยในวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต เป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร[7]และเปลี่ยนชนิดการทำธุรกิจเป็นประเภท วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร​ นับว่า สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย สิ้นสุดสภาพบริษัทมหาชนจำกัด

การประกอบธุรกิจ แก้

ธุรกิจสิ่งพิมพ์ แก้

  • หนังสือการ์ตูน - บริษัทฯ เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ในประเทศไทย สำหรับการจัดพิมพ์จำหน่ายการ์ตูนของสำนักพิมพ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นเป็นของสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน (ฮ่องกง) และสาธารณรัฐเกาหลีเป็นต้น รวมถึงผลงานของนักเขียนชาวไทยอีกส่วนหนึ่ง ภายใต้สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ โดยแบ่งการนำเสนอเป็นสองรูปแบบหลักคือ ตีพิมพ์เป็นตอนๆ มีหลายเรื่องในเล่มเดียวกัน ผ่านทางนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ ซึ่งใช้ชื่อว่า ซีคิดส์ และตีพิมพ์หลายตอนเรียงกัน เพียงเรื่องเดียวในหนึ่งเล่ม โดยใช้ชื่อการ์ตูนเรื่องนั้นๆ ระบุไว้บนหน้าปก[8]
  • หนังสือพกพา - บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือพกพา ซึ่งมีทั้งที่เป็นงานเขียนของชาวไทย และเรื่องแปลจากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐประชาชนจีน (ฮ่องกง) เป็นต้น และรวมถึงเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ในประเทศไทย สำหรับการจัดพิมพ์จำหน่าย ผลงานของนักเขียนนวนิยายจีนกำลังภายใน ซึ่งมีชื่อเสียงหลายคน โดยมีผู้แปลคนสำคัญคือ น.นพรัตน์ ซึ่งทำหน้าที่อยู่กับบริษัทฯ มาหลายปี โดยจำแนกงานออกเป็น 3 สำนักพิมพ์คือ สยามอินเตอร์บุ๊กส์, สยามบันทึก และ แฮปปีบุ๊กส์ [8]
  • นิตยสาร - บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนิตยสารหลายประเภท เช่นนิตยสารสุขภาพ สลิมมิง (Slimming) ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์จากประเทศอังกฤษ, นิตยสารวัยรุ่น สวีตตี (Sweety) นอกจากนี้ ยังมีนิตยสารบันเทิงและโหราศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับบริหารการตลาดด้วย[8]
  • ร้านหนังสือ - บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจสาขานี้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เพื่อใช้เป็นช่องทางในการจัดจำหน่าย หนังสือประเภทต่างๆ ของทางบริษัทเอง เมื่อแรกมีชื่อว่า บ้านการ์ตูน [6] ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 เปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันคือ เอสเอ็มเอ็ม บุ๊กเฟรนด์ และมีคำขวัญว่า พบหนังสือ พบความสุข [9] เปิดบริการเป็นจำนวน 32 สาขาทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล[4] นอกจากนั้น ยังเปิดการจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ของร้านเองโดยเฉพาะ ด้วยวิธีจัดส่งผ่านระบบไปรษณีย์[8] สำหรับร้านค้าส่งใช้ชื่อว่า ก.สัมพันธ์ (ย่อมาจาก กิเลนสัมพันธ์ ปัจจุบันชื่อ สยามอินเตอร์ฯ [1] และแยกกิจการจัดจำหน่ายหนังสือในเครือสยามสปอร์ต ออกไปเป็นบริษัท สยามสปอร์ต บุ๊กส์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2549[10])
  • รับจ้างผลิตสิ่งพิมพ์ - บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจสาขานี้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยได้รับงานประเภทนิตยสาร สื่อประชาสัมพันธ์ หรือบุ๊กเล็ตเป็นต้น[8]

ธุรกิจสื่อประสม แก้

  • สถานีวิทยุกระจายเสียง - บริษัทฯ เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกในการผลิตรายการวิทยุประเภทกีฬาตลอด 24 ชั่วโมง เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยได้รับสัมปทานคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 99.0 เมกะเฮิรตซ์ จากสถานีวิทยุกระจายเสียง อ.ส.ม.ท. โดยใช้ชื่อว่า สปอร์ตเรดิโอ และให้บริษัท สยามเทเลซีน จำกัด เช่าช่วงเป็นผู้ผลิตรายการ จากนั้นในปี พ.ศ. 2545 ก็รับโอนกลับมาดำเนินงานเอง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2548 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีนโยบายในการผลิตรายการวิทยุด้วยตนเอง จึงไม่มีการต่อสัญญาสัมปทานแก่บริษัทฯ โดยระยะแรกต้องดำเนินการออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ตไปพลางก่อน ซึ่งในปีถัดมา (พ.ศ. 2549) บริษัทฯ ลงนามในสัญญาสัมปทานร่วมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เพื่อถ่ายทอดเสียงสปอร์ตเรดิโอ ทางคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 90.0 เมกะเฮิรตซ์ เป็นเวลา 3 ปี (ถึง พ.ศ. 2551)[6] ปัจจุบันส่งกระจายเสียงผ่านทาง สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เอฟเอ็ม 96.0 เมกะเฮิรตซ์ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2552[6]), สถานีวิทยุชุมชน เอฟเอ็ม 106.75 เมกะเฮิรตซ์, ทรูวิชั่นส์ ช่องอาร์ 28 และเว็บไซต์ของสถานีฯ ซึ่งมุ่งเน้นการรายงานผลการแข่งขันกีฬาทุกประเภท อย่างถูกต้องและรวดเร็ว สดตรงจากขอบสนาม ร่วมกับการนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหว ของวงการกีฬาทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด ภายใต้คณะผู้ปฏิบัติงานกว่า 50 คน[8]
  • สถานีโทรทัศน์ - บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจสาขานี้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยใช้ชื่อว่า เอสเอ็มเอ็มทีวี : สปอรตส์ แอนด์ วาไรตี ผ่านระบบดาวเทียม ตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันออกอากาศผ่านดาวเทียมในระบบซี-แบนด์, ผู้ให้บริการเคยู-แบนด์บางบริษัท, เครือข่ายโทรทัศน์เคเบิลทั่วประเทศ และเว็บไซต์ของสถานีฯ โดยให้ความสำคัญกับรายการประเภทกีฬา ร่วมกับเนื้อหาสาระบันเทิงที่น่าสนใจทุกแง่มุม และที่ใกล้ตัวผู้ชมมากที่สุด[8]
  • สื่อใหม่ - บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจสาขานี้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 แบ่งเป็นพื้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์ เผยแพร่เนื้อหากีฬาและฟุตบอลไทย, แอปพลิเคชันบนคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน, ระบบบริการข้อความสั้น, บริการข้อมูลเสียงผ่านระบบออดิโอเท็กซ์ นำเสนอข่าวสารกีฬาและเรื่องราวโหราศาสตร์, หนังสือพิมพ์กีฬาออนไลน์ เอสเอ็มเอ็ม สปอร์ตกูรู, หนังสือและนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์[8]

ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดหรือถ่ายทอดกีฬาทางช่อง SMMTV แก้

- AVC Cup for Women - AVC Cup for Men - Asian Women’s Club Volleyball Championship - Asian Men’s Club Volleyball Championship - Asian Senior Beach Volleyball Championships

  • 2021& 2023 (ถ่ายทอดสดร่วมกับช่อง PPTVHD36)

- Asian Senior Women’s Volleyball Championship - Asian Senior Men’s Volleyball Championship - Asian Women’s Club Volleyball Championship - Asian Men’s Club Volleyball Championship - Asian Senior Beach Volleyball Championships

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 ความเป็นมาของบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน)
  2. 2.0 2.1 "ข้อมูลทั่วไปของบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-16. สืบค้นเมื่อ 2012-08-23.
  3. 3.0 3.1 3.2 คณะกรรมการบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน)
  4. 4.0 4.1 สาขาของร้าน เก็บถาวร 2012-07-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ร้านหนังสือเอสเอ็มเอ็มบุ๊กเฟรนด์
  5. "ภาพรวมธุรกิจ". smm.co.th. สืบค้นเมื่อ 29 April 2022.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "ความเป็นมาของบริษัทฯ (ย้อนหลังเมื่อ 30 มิถุนายน 2554)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-30. สืบค้นเมื่อ 2011-06-30.
  7. กรรมการลาออก
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 ภาพรวมการประกอบธุรกิจ เก็บถาวร 2012-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
  9. ประวัติความเป็นมา เก็บถาวร 2012-07-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ร้านหนังสือเอสเอ็มเอ็มบุ๊กเฟรนด์
  10. ประวัติความเป็นมา บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้