เอเธล์วูลฟ์ กษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์

เอเธล์วูล์ฟ (อังกฤษเก่า: Æthelwulf) เป็นกษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์ ทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าเอ็กเบิร์ตแห่งเวสเซ็กซ์และเป็นพระบิดาของกษัตริย์สี่คน โดยพระโอรสคนเล็กของพระองค์คือพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช

เอเธลวูล์ฟ
Æthelwulf in the Roll of the Kings of England
เอเธลวูล์ฟในม้วนวงศ์วานของกษัตริย์อังกฤษในศตวรรษที่ 14
กษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์
ครองราชย์ค.ศ.839–856
ก่อนหน้าเอ็กเบิร์ต
ถัดไปเอเธลบาลด์
สวรรคต13 มกราคม ค.ศ.858
สเตย์นิ่ง ซัสเซ็กซ์
ฝังพระศพวินเชสเตอร์
คู่อภิเษกออสเบอร์
จูดิธ
พระราชบุตรเอเธลสตาน กษัตริย์แห่งเคนท์
เอเธลสวิธ ราชินีแห่งเมอร์เซีย
เอเธล์บาลด์ กษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์
เอเธล์เบิร์ท กษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์
เอเธลเร็ด กษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์
อัลเฟรด กษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์
ราชวงศ์เวสเซ็กซ์
พระราชบิดาเอ็กเบิร์ต

วัยเยาว์ แก้

เอเธล์วูล์ฟเป็นพระโอรสคนเดียวของพระเจ้าเอ็กเบิร์ตและเป็นไปได้ว่าพระองค์น่าจะเติบโตในเวสเซ็กซ์ พระเจ้าเอ็กเบิร์ตถูกขับไล่ออกจากประเทศไปอยู่ในราชอาณาจักรแฟรงก์ในปี ค.ศ. 786 หลังแย่งชิงตำแหน่งกษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์กับบีออร์ทริกที่ได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าออฟฟาแห่งเมอร์เซียซึ่งเป็นราชอาณาจักรที่ทำสงครามกับราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์เป็นช่วงๆ มาเป็นเวลาหลายปี คาดกันว่าเอเธล์วูล์ฟไม่น่าจะเกิดในช่วงที่พระบิดาถูกขับไล่ออกจากประเทศ พระองค์น่าจะเกิดหลังจากปี ค.ศ. 802 ที่พระบิดาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์

 
บริเตนใต้ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 9

ช่วงปี ค.ศ. 815–820 พระเจ้าเอ็กเบิร์ตได้นำกองทัพพิชิตราชอาณาจักรดูมโนเนีย มีความเป็นไปได้ว่าเอเธล์วูล์ฟอาจมีส่วนร่วมในการสู้รบครั้งนี้แม้ชื่อของพระองค์จะไม่ได้ถูกเอ่ยถึงก็ตาม ชื่อของพระองค์ปรากฏในพงศาวดารแองโกลแซ็กซันครั้งแรกในช่วงต้นปี ค.ศ. 825 ในการกล่าวถึงสมรภูมิเอลลันดูน


เมอร์เซียเป็นราชอาณาจักรที่ครองความเป็นใหญ่ในแคว้นมาเป็นเวลาหลายศตวรรษและความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์เมอร์เซียกับกษัตริย์เวสเซ็กซ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตลอดรัชสมัยของพระเจ้าบีออร์ทริกเวสเซ็กซ์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเมอร์เซีย แต่เมื่อพระเจ้าเอ็กเบิร์ตขึ้นเป็นกษัตริย์ว่ากันว่าพระองค์ได้ประกาศอิสรภาพให้เวสเซ็กซ์ แม้จะไม่มีการลงรายละเอียดไว้ว่าทรงทำด้วยวิธีการใดก็ตาม ในช่วง 20 ปีแรกของการครองราชย์พระองค์ได้สร้างกองทัพขึ้นมาและอาจพิชิตดูมโนเนียเพราะต้องการแหล่งทรัพยากร


ในปี ค.ศ. 825 พระองค์ได้โจมตีเมอร์เซียและปราบพระเจ้าบีออร์นวูล์ฟแห่งเมอร์เซียได้ที่เอลลันดูน (ปัจจุบันอยู่ในวิลต์เชอร์) เอเธล์วูล์ฟถูกตั้งให้เป็นอนุกษัตริย์ในแคว้นที่ยึดมาจากเมอร์เซีย คือ เคนต์, เอสเซ็กซ์, ซัสเซ็กซ์ และเซอร์รีย์ ในช่วงปี ค.ศ. 827–829 พระองค์ได้ช่วยพระบิดาทำสงครามต่อไปจนถึงปี ค.ศ. 830 ที่เวสเซ็กซ์ได้ควบคุมแคว้นต่างๆ ของบริเตนที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ขึ้นไปจนถึงนอร์ธัมเบรียในทางตอนเหนือ

กษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์ แก้


 
ภาพพระเจ้าเอเธล์วูล์ฟในพงศาวดารพงศาวลีกษัตริย์อังกฤษ คริสต์ศตวรรษที่ 13

ในช่วงเวลาดังกล่าวพระเจ้าเอ็กเบิร์ตได้การันตีการสืบทอดตำแหน่งของเอเธล์วูล์ฟด้วยการทำสัญญากับศาสนจักรโดยมีซีออลนอธ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์บรีผู้ทรงอำนาจให้การสนับสนุน เมื่อพระเจ้าเอ็กเบิร์ตสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 839 เอเธล์วูล์ฟได้ขึ้นเป็นกษัตริย์โดยไม่มีขุนนางเวสเซ็กซ์คนใดคิดท้าชิงตำแหน่ง


ในเวลานั้นพระองค์ได้สมรสอยู่แล้วกับออสเบอร์และอาเธล์สตาน พระโอรสของพระองค์ก็มีพระชนมายุมากพอที่จะขึ้นเป็นอนุกษัตริย์แห่งเคนต์, เอสเซ็กซ์, ซัสเซ็กซ์ และเซอร์รีย์ พระเจ้าเอเธล์วูล์ฟเริ่มต้นการเมืองด้วยการพระราชทานดินแดนให้แก่ขุนนางเวสเซ็กซ์หลายคนเพื่อเป็นการเอาใจและทำการกระชับไมตรีกับเมอร์เซียด้วยข้อสัญญาและการเจรจามากมาย หลักฐานถึงการเมืองที่เอเธล์วูล์ฟมีต่อกลุ่มขุนนางถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1780 ในรูปของแหวนที่มีชื่อของพระองค์ แหวนสลักเป็นรูปนกยูงสองตัวยืนขนาบข้างต้นไม้แห่งชีวิตของชาวคริสต์และมีคำว่า "เอเธล์วูล์ฟเร็กซ์ (พระเจ้าเอเธล์วูล์ฟ)" สลักอยู่ข้างใต้ เข้าใจกันว่าแหวนดังกล่าวถูกมอบให้แก่ขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระองค์


ในช่วงปี ค.ศ. 844–855 พระเจ้าเอเธล์วูล์ฟได้ออกกฎบัตรล้างบางซึ่งเป็นกฎบัตรที่ว่าด้วยการปลดปล่อยพื้นที่หนึ่งในสิบของราชอาณาจักรจากการรับใช้และการจ่ายบรรณาการให้แก่กษัตริย์ กฎบัตรเป็นที่ถกเถียงในปัจจุบันเนื่องจากนักวิชาการมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องวัตถุประสงค์ของการออกกฎบัตรว่าเพื่อต้องการผ่อนปรนภาระภาษีให้แก่แคว้นต่างๆ และเพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิต หรือเพื่อการันตีว่ากลุ่มขุนนางและศาสนจักรจะให้การสนับสนุนต่อไป หรือเพื่อเพิ่มการสนับสนุนและตบรางวัลให้แก่กลุ่มขุนนางที่ช่วยต่อสู้กับผู้รุกรานชาวไวกิง หรืออาจจะไม่มีความหมายพิเศษอะไรเลย


ในปีนั้นพระเจ้าเอเธล์วูล์ฟได้พ่ายแพ้ต่อชาวไวกิลที่มีกองกำลังเต็มเรือ 35 ลำที่คาร์เมาธ์ ในช่วงคริตทศวรรษ 830 ชาวไวกิงได้ตั้งอาณานิคมขึ้นในคาร์เมาธ์เพื่อความสะดวกในการบุกครั้งต่อไป ในช่วงปี ค.ศ. 843–851 การรุกรานของชาวไวกิงอาจดำเนินต่อไปในสเกลที่เล็กลงหรือไม่ก็เป็นเพียงการออกตระเวนสำรวจ ไม่ใช่การรุกราน


ทว่าในปี ค.ศ. 851 ชาวไวกิงได้มาถึงพร้อมกับกองกำลังเต็มอัตราในเรือ 350 ลำที่ล่องขึ้นมาตามแม่น้ำเธมส์เพื่อโจมตีแคนเทอร์บรีและลอนดอน พระเจ้าเอเธล์วูล์ฟร่วมกับเอเธล์บาลด์ พระโอรสปกป้องดินแดนบนพื้นดิน ขณะที่เอเธล์สตานกับอีลเฮียร์ เอิร์ลแห่งเคนต์นำกองเรือเข้าสู้รบกับศัตรูในทะเล กองกำลังเวสเซ็กซ์ได้รับชัยชนะและกองกำลังไวกิงที่เหลืออยู่ไม่มากได้ล่าถอยไป ทว่าเอเธล์สตานน่าจะสิ้นพระชนม์หลังจากนั้นไม่นานจากบาดแผลที่ได้รับ ไม่มีการพูดถึงพระองค์ในบันทึกหลังจากปี ค.ศ. 852 เป็นต้นไป

การจาริกแสวงบุญไปโรมและการก่อกบฏ แก้

เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างเวสเซ็กซ์กับเมอร์เซียเพื่อรับมือการรุกรานของชาวไวกิง เอเธล์สตานได้จับเอเธล์สวิธ พระธิดาคนเดียวของพระองค์สมรสกับพระเจ้าเบิร์กเรดแห่งเมอร์เซียในปี ค.ศ. 853 แหวนที่สลักชื่อเอเธล์สวิธถูกค้นพบในยอร์คเชอร์ในปี ค.ศ. 1870 และคิดว่าน่าจะเป็นแหวนที่ถูกมอบให้แก่กลุ่นขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระนางและพระเจ้าเบิร์กเรดเช่นเดียวกับแหวนของพระเจ้าเอเธล์วูล์ฟ


ออสเบอร์ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 854 และเรื่องนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พระเจ้าเอเธล์วูล์ฟออกจาริกแสวงบุญไปโรมโดยมีอัลเฟรด พระโอรสติดตามไปด้วย ชีวประวัติของพระเจ้าอัลเฟรดที่เขียนโดยแอสเซอร์กล่าวว่าอัลเฟรดร่วมเดินทางครั้งนี้ตอนพระชนมายุ 4 หรือ 5 พรรษา พระองค์เสด็จพระราชสมภพในปี ค.ศ. 849 จึงประมาณการได้ว่าการจาริกแสวงบุญน่าจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 854 พระเจ้าเอเธล์วูล์ฟอาจต้องการให้พระเจ้าชี้แนะแนวทางในการรับมือกับการคุกคามของชาวไวกิงหรือไม่ก็อาจจะด้วยเหตุผลอื่น ทว่าน่าแปลกที่กษัตริย์ออกจาริกแสวงบุญทางไกลในช่วงที่ราชอาณาจักรของพระองค์กำลังถูกคุกคาม


ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด พระเจ้าเอเธล์วูล์ฟได้เดินทางออกจากโรมพร้อมกับอัลเฟรดและผู้ติดตามกลุ่มใหญ่หลังจากราชอาณาจักรไปเป็นเวลาหนึ่งปี พระองค์ได้ทิ้งเวสเซ็กซ์ให้อยู่ในการปกครองของเอเธล์บาลด์ ขณะที่เคนต์กับแคว้นอื่นๆ ถูกยกให้เอเธล์เบิร์ต พระโอรสในลำดับถัดไป


ระหว่างการเดินทางคณะแสวงบุญได้แวะที่ราชสำนักของพระเจ้าชาร์ลส์ผู้ศีรษะล้าน กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก จากนั้นทั้งคู่ได้ออกเดินทางต่อไปโรมเพื่อพบปะสมเด็จพระสันตะปาปา (ที่ว่ากันว่าได้เจิมน้ำมันให้อัลเฟรดเป็นกษัตริย์) และอยู่ที่โรมต่อไปอีกระยะหนึ่ง ระหว่างเดินทางกลับคณะแสวงบุญได้แวะที่ราชสำนักของพระเจ้าชาร์ลส์อีกครั้งและได้มีการเตรียมการให้พระเจ้าเอเธล์วูล์ฟสมรสกับจูดิธ พระธิดาวัยแรกรุ่นของพระเจ้าชาร์ลส์ เมื่อเสร็จสิ้นงานเทศกาลฉลองการสมรส ทั้งคณะก็ได้เดินทางกลับเวสเซ็กซ์


ทว่าเมื่อกลับมาเอเธล์บาลด์ไม่ได้มีท่าทียินดีกับการกลับมาของพระบิดาและไม่ยอมคืนเวสเซ็กซ์ให้แก่พระองค์ นักประวัติศาสตร์เรียกการกระทำดังกล่าวของเอเธล์บาลด์ว่าเป็น "การก่อกบฏ" แต่ดูไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเนื่องจากพระองค์ได้ควบคุมราชอาณาจักรเป็นเวลาหนึ่งปีในช่วงที่อดีตกษัตริย์ไม่อยู่และกลับมาอีกครั้งโดยมีพระธิดาของกษัตริย์ต่างแดนเป็นเจ้าสาว ส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการสมรสระบุชัดเจนว่าจูดิธต้องได้เป็น "พระราชินี" ตามมาตรฐานทั่วไปในราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตกแต่ไม่ใช่ในราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์ที่หญิงซึ่งสมรสกับกษัตริย์จะเป็นแค่ "พระมเหสีของกษัตริย์" ไม่ใช่ "พระราชินี"


การเพิกเฉยต่อธรรมเนียมเวสเซ็กซ์ของพระเจ้าเอเธล์วูล์ฟและการไม่อยู่เป็นเวลานานอาจทำให้เอเธล์บาลด์มองว่าพระบิดาไม่คู่ควรจะปกครองต่อไป ในอดีตเคยมีตัวอย่างที่ทำให้เอเธล์บาลด์คิดว่าพระบิดาจะไม่กลับมาจากโรม แคดวัลลา อดีตกษัตริย์เวสเซ็กซ์เคยสละราชสมบัติเพื่อจาริกแสวงบุญไปโรมและไม่ได้กลับมาอีกเลย


แม้เอเธล์บาลด์จะทำสิ่งที่เรียกว่า "การก่อกบฏ" แต่พระเจ้าเอเธล์วูล์ฟก็เคารพการตัดสินใจของพระโอรสแม้ว่าจะมีผู้สนับสนุนให้พระองค์กลับไปครองบัลลังก์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามกลางเมือง พระเจ้าเอเธล์วูล์ฟได้แบ่งราชอาณาจักรออกเป็นสามส่วนให้เอเธล์บาลด์, เอเธล์เบิร์ต และตัวพระองค์เอง

การสิ้นพระชนม์และผู้สืบทอดตำแหน่ง แก้

พระเจ้าเอเธล์วูล์ฟเลือกปกครองตอนกลางของราชอาณาจักรและได้อุทิศตนให้กับทำงานเพื่อการกุศลและการมอบของกำนัลให้แก่ศาสนจักร พินัยกรรมของพระองค์หายสาปสูญไปแต่ว่าในพินัยกรรมของพระเจ้าอัลเฟรดมีการกล่าวถึงว่าพระเจ้าเอเธล์วูล์ฟได้ให้เงินบำเหน็จแก่ผู้ยากไร้ในราชอาณาจักรโดยใช้เงินที่ทรงเหลือทิ้งไว้และได้ยกที่ดินให้แก่ศาสนจักร รวมถึงได้ระบุให้ส่งเงินบริจาคไปให้โรมทุกปี ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยสาเหตุตามธรรมชาติในปี ค.ศ. 858 เอเธล์บาลด์และเอเธล์เบิร์ตได้แบ่งราชอาณาจักรของพระองค์กัน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่การครองราชย์ของตนและเพื่อยกระดับความเกรียงไกรพระเจ้าเอเธล์บาลด์ได้สมรสกับจูดิธ พระมเหสีม่ายของพระบิดา ต่อมาเมื่อทรงสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 860 เอเธล์เบิร์ได้รวมราชอาณาจักรเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของพระองค์ ส่วนจูดิธได้เดินทางกลับไปหาพระบิดาในราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก

อ้างอิง แก้