สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ

กษัตริย์กัมพูชา

สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ (พ.ศ. 2316–2340) หรือ นักองค์เอง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 105 แห่งกัมพูชา

สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ

สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ
พระมหากษัตริย์กัมพูชา
ครองราชย์พ.ศ. 2337–2339
รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระรามราชาธิราช
รัชกาลถัดไปสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี
ประสูติพ.ศ. 2316
กัมพูชา
สวรรคตพ.ศ. 2339
พระราชบุตรนักองค์จัน
นักองค์พิมพ์
นักองค์สงวน
นักองค์อิ่ม
นักองค์ด้วง
พระนามเต็ม
พระบาทสมเด็จ พระราชโองการ พระรามราชาธิบดี พระเจ้ากรุงกัมพูชา
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม
พระราชบิดาพระนารายน์ราชารามาธิบดี
พระราชมารดานักนางไชย

พระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2316 ตรงกับในสมัยกรุงธนบุรี ทรงครองราชย์ขณะมีพระชนมายุเพียง 4 พรรษา ทรงราชาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2337 และเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2340 หลังจากที่พระองค์ลี้ภัยในกรุงเทพฯ นาน 11 ปี

พระราชประวัติ แก้

 
นักองค์เองเสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2337 เพื่อไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาพระองค์ใหม่ ภาพวาดโดย เหม เวชกร

พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระนารายน์ราชารามาธิบดีหรือนักองค์ตน พระมารดาคือนักนางไชย ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2316 พระบิดาของพระองค์ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบนิยมเวียดนาม และขอกำลังทหารเวียดนามมาช่วยเมื่อเกิดความขัดแย้งกับไทย แต่เมื่อถีงปลายรัชกาล เวียดนามอ่อนแอลง นักองค์ตนจึงยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าตากสินมหาราช และมอบราชสมบัติให้นักองค์โนน ซึ่งนิยมไทยและพระเจ้าตากสินทรงให้การสนับสนุน พระบิดาของนักองค์เองทรงดำรงตำแหน่งอุปราชจนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2320 ขณะนั้น นักองค์เองมีพระชนม์เพียง 4 พรรษา

ต่อมาใน พ.ศ. 2322 เกิดจลาจลในกัมพูชาเมื่อขุนนางไม่พอใจสมเด็จพระรามราชาหรือนักองค์โนน ผลสุดท้าย นักองค์โนนและพระโอรสถูกจับประหารชีวิต เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ได้ยกนักองค์เองขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2323 ขณะมีพระชนม์ได้ 7 พรรษา ใน พ.ศ. 2325 ออกญายมราช (แบน) ร่วมกับออกญากลาโหม (สู) ฆ่าเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) เสีย แต่ภายหลังเกิดแตกคอกันเอง ออกญายมราช (แบน) จึงฆ่าออกญากลาโหม (สู) เสีย แล้วตั้งตัวเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ ต่อมา ใน พ.ศ. 2326 เจ้าฟ้าทะละหะ (แบน) แพ้ออกญามหาเทพเจ้าเมืองตโบงฆนุมที่นำทัพชาวจามเข้ามาตีพนมเปญ[1] จึงพานักองค์เองหนีมากรุงเทพฯ ขณะที่พระชนม์ได้ 10 พรรษา ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดรับนักองค์เองเป็นราชบุตรบุญธรรม ให้สร้างตำหนักถวายที่ตำบลคอกกระบือ ส่วนออกญายมราช (แบน) ได้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์

ในขณะที่นักองค์เองลี้ภัยอยู่ที่กรุงเทพฯ เวียดนามเข้าไปมีอำนาจในกัมพูชา จัดให้ขุนนางเวียดนามมาปกครอง รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมร ที่พระตะบอง รบกับเวียดนามจนได้รับชัยชนะ ตั้งเมืองหลวงที่เมืองอุดงค์มีชัยหรือเมืองบันทายเพชรได้ใน พ.ศ. 2333 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่องเชียงสือปราบกบฏไตเซินสำเร็จ

ต่อมาใน พ.ศ. 2337 รัชกาลที่ 1 โปรดให้นักองค์เองผนวช เมื่อลาสิกขาแล้วจึงให้ออกไปครองกรุงกัมพูชา เฉลิมพระนามว่า "สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ บรมสุรินทรามหาจักรพรรดิราช บรมนาถบพิตร เจ้ากรุงกัมพูชา"[1]โดยให้ออกญากลาโหม (ปก) พระพี่เลี้ยงเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) ส่วนเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ให้ครองพระตะบองและเสียมราฐขึ้นตรงต่อสยาม การขึ้นครองราชย์อีกครั้งของนักองค์เองทำให้ชาวกัมพูชาปลาบปลื้มหลังจากว่างกษัตริย์มานาน พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวัง เชิญเชื้อพระวงศ์กัมพูชาที่อยู่ในกรุงเทพฯให้กลับออกไป และจัดระบบราชการให้เรียบร้อย แต่พระองค์ครองราชย์ได้ไม่นาน ประชวรสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2339 รวมพระชนม์เพียง 23 พรรษา พระโอรสของพระองค์คือนักองค์จันทร์ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อมา

พระราชบุตร แก้

สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ มีพระราชบุตรประสูติแต่นักนางโอด หรือนักนางโอง พระสนมชั้นพระแม่นาง ได้แก่ สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี (หรือนักองค์จัน) และสมเด็จพระไชยเชษฐา มหาอุปโยราช (หรือ นักองค์สงวน)[2] ประสูติแต่นักนางแก พระสนมชั้นพระแม่นาง ชื่อนักองค์พิมพ์ และประสูติแต่นักนางรศ พระสนมชั้นพระแม่นาง ชื่อสมเด็จศรีไชยเชฐ พระมหาอุปราช (หรือนักองค์อิ่ม)[3][4] และสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (หรือนักองค์ด้วง)[5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ศานติ ภักดีคำ. เขมรรบไทย. กทม. มติชน. 2554. หน้า 272
  2. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 113
  3. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์), นายพันตรี. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006) จำกัด, 2563, หน้า 166-167
  4. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์), นายพันตรี. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006) จำกัด, 2563, หน้า 186
  5. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์), นายพันตรี. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006) จำกัด, 2563, หน้า 172
  • สุมาลี บำรุงสุข. นักองค์เอง ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 155 - 157