สมุดตราไปรษณียากร

สมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็ก (อังกฤษ: stamp booklet) ประกอบขึ้นจาก แสตมป์แผงเล็ก ๆ ปกติมีแสตมป์อยู่ระหว่าง 10 ถึง 20 ดวง พับและติดอยู่บนกระดาษ ผู้ซื้อสามารถฉีกแสตมป์ออกมาใช้เป็นค่าไปรษณีย์ได้ ส่วน สมุดตราไปรษณียากร เป็นคำที่มีความหมายกว้างกว่า ครอบคลุมทั้งสมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็ก หรือเล่มที่รวบรวมแสตมป์ชุดต่าง ๆ จำหน่ายโดยไปรษณีย์ (เช่น สมุดตราไปรษณียากรประจำปี ซึ่งรวบรวมแสตมป์ทุกชุดที่ออกในปีหนึ่ง ๆ) ไปจนถึง อัลบั้มแสตมป์[1]

สมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็ก ของสหรัฐอเมริกา

สมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็กเป็นรูปแบบการจำหน่ายแสตมป์ที่นิยมมากแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการจำหน่ายจากตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ และตามร้านสะดวกซื้อ แผงแสตมป์ที่ติดอยู่ในสมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็กอาจจะฉีกออกจากแผ่นใหญ่ (sheet หรือ pane) หรือ พิมพ์เป็นพิเศษสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ ในกรณีหลัง แสตมป์อาจไม่มีการปรุรูครบทั้งสี่ด้านของแสตมป์

ในประเทศไทย แก้

สำหรับประเทศไทย เริ่มมีการจำหน่ายสมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็กเป็นครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2474 ในสมัยรัชกาลที่ 7 ภายในมีแสตมป์ราคา 2, 3, 5 และ 10 สตางค์ อย่างละ 6 ดวง แต่ไม่ได้รับความนิยมและหยุดไปจนกระทั่ง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 จึงมีการจำหน่ายใหม่ (มีแสตมป์ราคา 75 สตางค์ 10 ดวง)[2]

ในช่วงนี้ มีการจัดทำสมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็กสำหรับการสะสมด้วย โดยการนำแสตมป์ที่ระลึกเฉพาะราคาค่าส่งจดหมายมาใส่ (ถ้าเป็นราคา 1 และ 2 บาทจะมีจำนวน 5 ดวง ส่วนชุดเก่า ๆ เมื่ออัตราค่าส่ง 1.25 บาท จะมี 4 ดวงในเล่ม) และออกพร้อมกับแสตมป์ที่ระลึกอย่างสม่ำเสมอ หลายชุดมีการประทับตราวันแรกจำหน่ายที่ด้านปกด้วย ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้วเนื่องจากไม่ได้รับความนิยม โดยชุดสุดท้ายคือ ชุดสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมาย พ.ศ. 2544 เมื่อปรับอัตราค่าส่งจดหมายในประเทศจาก 2 บาท เป็น 3 บาท

ปัจจุบันคงเหลือแต่แบบที่ใช้สำหรับใช้งานเท่านั้น ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น มีทั้งราคา 30 บาท (แสตมป์ 3 บาท 10 ดวง) และ 150 บาท (แสตมป์ 15 บาท 10 ดวง สำหรับติดโปสการ์ดไปต่างประเทศ)

อ้างอิง แก้

  1. Bennett, Russell and Watson, James; Philatelic Terms Illustrated, Stanley Gibbons Publications, London (1978).
  2. นายแพทย์ภิเษก ยิ้มแย้ม, แสตมป์พระรูปในสมุดแสตมป์เล่มเล็กของไทย, วารสารตราไปรษณียากร, กรกฎาคม พ.ศ. 2550

แหล่งข้อมูลอื่น แก้