สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย

สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย (Soka Gakkai Thailand : SGT) เป็นองค์กรนอกภาครัฐและไม่แสวงหาผลกำไร (Non Governmental Organization : NGO) และเป็นเครือข่ายของ เอสจีไอ ซึ่งได้เริ่มต้นการเผยแผ่พุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนินในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) ในฐานะองค์กรแห่งมนุษยนิยมที่เป็นอิสระ เอสจีไอซึ่งมีข้อผูกพันอย่างเป็นทางการกับองค์การสหประชาชาติ [1] ในการสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสันติภาพโลกด้วยนั้น จึงได้ร่วมมือร่วมใจกับหน่วยงานในสังคม หน่วยงานทางราชการและองค์กรศาสนาต่าง ๆ มากมาย ในการผลักดันเรื่องการลดและกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ สิทธิมนุษยชน การศึกษา การพัฒนาที่ยั่งยืน และการบรรเทาทุกข์ให้กับเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก

สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย
泰國創價學會
ธงสัญลักษณ์สมาคมสร้างคุณค่า
ก่อตั้ง20 ธันวาคม พ.ศ. 2527 (39 ปี)  ไทย
สํานักงานใหญ่102/27 ถนนติวานนท์ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
ประธาน
นายสมศักดิ์ ลิขิตจาริยานนท์
เว็บไซต์www.sgt.or.th
ชื่อในอดีต
สมาคมธรรมประทีป (2513) ปัจจุบันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
ตราสัญลักษณ์สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย

ประวัติการเผยแผ่ธรรมในประเทศไทย แก้

ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) แก้

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 อาจารย์ไดซาขุ อิเคดะ ประธานสมาคมสร้างคุณค่า และพระนิตตัตจึโชนิน ประมุขสงฆ์ลำดับที่ 66 พร้อมคณะได้เดินทางจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ขณะนั้นมีผู้ศรัทธาในประเทศไทย เพียง 2 คน คือ นายคิโยทาโร่ นิชิดะ ซึ่งเดินทางมาเป็นพ่อครัวในสถานทูตญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2502 และนายยาโงโร่ นากาโน่ ซึ่งได้รับการแนะนำธรรมจากนายคิโยทาโร่ นิชิดะ สมาชิกผู้ใหญ่ชายชาวญี่ปุ่น 2 ท่านนี้ได้ไปต้อนรับที่สนามบิน

การเดินทางมาประเทศไทยครั้งแรก และการพบสมาชิกของอาจารย์อิเคดะ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่สำคัญของการหว่านเมล็ดพุทธธรรมแห่งการเผยแผ่ธรรมจากอาจารย์อิเคดะโดยตรงทำให้เมล็ดเหตุการเผยแผ่ธรรมไพศาลเจริญงอกงามขึ้นในประเทศไทย ตังแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากนั้น ในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ก็ได้มีการก่อตั้งระบบการตำบลขึ้นเป็นครั้งแรก คือ “ตำบลบางกอก” โดยมีนายคิโยทาโร่ นิชิดะ เป็นหัวหน้าตำบล ตอนนั้นมีสมาชิก 5 ท่าน หนึ่งในนั้นมีนายกิมจุง แซ่พัว หรือบันซังอยู่ด้วย นายกิมจุง แซ่พัว เป็นชาวไต้หวันที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีอาชีพทำอาหารญี่ปุ่นส่งตามบ้านคนญี่ปุ่น จึงได้รับการแนะนำธรรมจากนายคิโยทาโร่ นิชิดะ ด้วยความศรัทธาและความทุ่มเทของนายกิมจุง แซ่พัว จึงได้แนะนำเพื่อนชาวไต้หวันอีกหลายคนเข้าศรัทธา และช่วยกันเผยแผ่ธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนินให้แก่บุคคลต่าง ๆ ทั่วไปที่มีความลำบากในการดำเนินชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียงของผู้สวดนัมเมียวโฮเร็งเงเคียวแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง

ปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) แก้

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2505 อาจารย์อิเคดะ และคณะได้เดินทางมาประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 มีสมาชิกประเทศไทยไปต้อนรับที่สนามบิน อาจารย์อิเคดะได้ใช้เวลาเท่าที่มีเพียงเล็กน้อยพูดคุยให้กำลังใจผู้นำที่ไปต้อนรับว่า “…จากนี้ต่อไปประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่จะกลายเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่ธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันกับฮ่องกง เพื่อการดังกล่าว ผมเองก็จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือเต็มที่ครับ…”

จากนั้นอาจารย์อิเคดะ และคณะก็เดินทางต่อไปตามกำหนดการที่วางไว้

ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 อาจารย์อิเคดะ และคณะได้เดินทางมาจากประเทศอินเดีย กลับมาแวะและพักที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง เป็นการแวะพักค้างแรมครั้งที่ 2 เพื่อที่จะเดินทางต่อไปที่ฮ่องกงในวันรุ่งขึ้นและกลับประเทศญี่ปุ่น

คืนวันนั้น ได้มีการจัดประชุมสนทนาธรรมขึ้นที่ห้องพักในโรงแรมเอราวัณ ถนนราชดำริ มีสมาชิกมาร่วมประมาณ 15 ท่าน และได้ก่อตั้ง “เขตบางกอก” ขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นเขตแรกของเอเชียเท่านั้น ยังเป็นเขตที่เล็กที่สุดในโลกด้วย

หลังจากที่มีเขตบางกอกแล้ว ก็เริ่มมีการสอนวิธีสวดมนต์และสอนธรรมะ มีการจัดสวดมนต์เช้าทุกวันอาทิตย์ที่บ้านของผู้นำ อธิษฐานเพื่อการเผยแผ่ธรรมไพศาลในประเทศไทย ผู้มาร่วมสวดมนต์มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้สมาชิกเพิ่มขึ้นในยุคนั้น การมอบโงะฮนซนให้แก่ผู้ศรัทธาใหม่ล้วนเป็นโงะฮนซนที่จารึกโดยพระนิชิคันโชนิน ประมุขสงฆ์ลำดับที่ 26

ปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963) แก้

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 อาจารย์อิเคดะและคณะ ซึ่งจะเดินทางไปอเมริกา ตามกำหนดการจะแวะค้างคืนที่นิวเดลี ประเทศอินเดีย แต่เที่ยวบินได้เสียเวลาอยู่เบรุต ประเทศเลบานอน ทำให้ไม่สามารถไปค้างแรมที่นิวเดลีได้ เครื่องบินได้แวะเติมน้ำมันที่สนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ ตอนเช้าพอดีวันนั้นเป็นวันตรุษจีน จึงมีสมาชิกมาคอยต้อนรับมากมายประมาณ 50 คน ที่ห้องโถงสนามบิน อาจารย์อิเคดะใช้เวลาที่มีเพียงเล็กน้อยนี้ทักทาย และส่งเสริมกำลังใจให้กับสมาชิก จากนั้นก็บินต่อไปที่ฮ่องกง

ปี พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) แก้

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2507 อาจารย์อิเคดะและคณะก็ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง (ครั้งที่ 3) ขณะนั้น ระบบการในประเทศไทยมี 1 เขต 6 ตำบล จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 785 ครอบครัว

ปี พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) แก้

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ได้มีการก่อตั้งระบบการระดับเขตใหญ่ขึ้น คือ “เขตใหญ่ไทยแลนด์” ประกอบด้วย 6 เขต 25 ตำบล มีจำนวนสมาชิก 3,415 ครอบครัว มีนายกิมจุง แซ่พัว เป็นหัวหน้าเขตใหญ่ชาย และนางคัวชิโกะ อาซาคาวะ (บัน คาสึโกะ) ผู้เป็นภรรยา เป็นหัวหน้าเขตใหญ่หญิง และเริ่มต้นจัดให้มีการสอบธรรมะสำหรับสมาชิกเป็นครั้งแรก ฝ่ายยุวชนได้ช่วยกันจัดทำวารสารภาษาไทยฉบับแรก ชื่อว่า “มิตร” จำนวน 200 ฉบับ

ปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) แก้

การเผยแผ่ธรรมได้เติบโตอย่างรวดเร็ว และก่อตั้งเป็นระบบการภาคขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2510 โดยนายเฮอิอิจิ ทากากิ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลสมาชิกเอเชียอาคเนย์พร้อมกับเป็นหัวหน้าภาคฝ่ายผู้ใหญ่ชายของประเทศไทย และนายกิมจุง แซ่พัว เป็นผู้ช่วยหัวหน้าภาค ขณะนั้นระบบการ มี 3 เขตใหญ่ 15 เขต 39 ตำบล มีสมาชิก 9,816 ครอบครัว

ปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) แก้

การเผยแผ่ธรรมมีการก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จึงได้ย้ายศูนย์กลางการเผยแผ่ธรรมจากซอยสว่าง ถนนพระราม 4 มาอยู่ที่ซอยพิพัฒน์ ถนนสีลม

  • วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2513 ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ชื่อ “สมาคมธรรมประทีป” ขณะนั้นมีสมาชิก 13,337 ครอบครัว
  • วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ออกวารสารรายเดือน ชื่อวารสาร “บัวขาว” จำนวนตีพิมพ์ 5,200 ฉบับ
  • วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ก่อตั้งยุวชนหญิงภาคประเทศไทย มี 3 เขตใหญ่ 11 เขต มีจำนวนยุวชนหญิง 1,746 คน

ปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) แก้

จัดงานกีฬาสามัคคีของยุวชนขึ้นเป็นครั้งแรก

ปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) แก้

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 อาจารย์อิเคดะได้ประกาศก่อตั้งสมาคมสร้างคุณค่าสากล (Soka Gakkai International : SGI) ขึ้นที่เกาะกวม สหรัฐอเมริกา

ปี พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) แก้

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2527 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ชื่อ “สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย” และย้ายสถานที่ทำการมาอยู่ที่ถนนวิทยุ (สมาคมฯ สาขาถนนวิทยุ)

ปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) แก้

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2529 เริ่มตีพิมพ์ วารสาร “สร้างคุณค่า” จำนวน 9,600 เล่ม

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ประกาศก่อตั้งระบบการรวมภาคประเทศไทยเป็นครั้งแรก ขณะนั้น ระบบการมี 4 ภาค 12 เขตใหญ่ 73 เขต 236 ตำบล

ปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) แก้

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 อาจารย์อิเคดะเดินทางเยือนประเทศไทย นับเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 หลังจากที่สมาชิกเฝ้ารอคอยมานาน 24 ปี

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 อาจารย์อิเคดะ ได้เดินทางไปเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อพบกับ ดร.เกษม สุวรรณกุล อธิการบดี และร่วมในพิธีมอบหนังสือ จำนวน 1,100 เล่ม ให้แก่มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมใหญ่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 อาจารย์อิเคดะ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นครั้งแรก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ในโอกาสนี้อาจารย์อิเคดะได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต นำภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะโตเกียวฟูจิ ที่ประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2532 ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2533 และที่สหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งในพิธีเปิดงานแสดงภาพฝีพระหัตถ์ที่ประเทศญี่ปุ่น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเป็นองค์ประธาน มีผู้เข้าชมทั้งสิ้น จำนวน 38,000 คน

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 อาจารย์อิเคดะได้มาเยือนสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย ณ ถนนวิทยุ เป็นครั้งแรก เพื่อพบปะกับสมาชิกชาวไทย จากนั้นได้ปลูกต้นไม้ที่ระลึกเพื่อการเผยแผ่ธรรมของประเทศไทยที่ด้านหน้าสมาคมฯ ในตอนค่ำอาจารย์อิเคดะ ได้เข้าร่วมประชุมสังสรรค์ระลึก ครบรอบ 27 ปีของการเผยแผ่ธรรมในประเทศไทย ร่วมกับสมาชิกชาวไทย ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี

ปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) แก้

วันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อาจารย์อิเคดะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 5 โดยมีกำหนดการดังนี้

  • วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อาจารย์อิเคดะร่วมประชุมที่ระลึก การเผยแผ่ธรรมในประเทศไทย ครบรอบ 31 ปีที่อาคารแสงทอง
  • วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อาจารย์อิเคดะร่วมถ่ายรูปกับตัวแทนหัวหน้าตำบลฝ่ายผู้ใหญ่ชาย-หญิง และตัวแทนยุวชนชาย-หญิง และนักศึกษาโซคา ที่โรงยิม สวนลุมพินี
  • วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อาจารย์อิเคดะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครั้งที่ 2
  • วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อาจารย์อิเคดะร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่โรงแรมดุสิตธานี

วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2535 พิธีตักทรายเพื่อเริ่มการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี มีผู้เข้าร่วม 9,225 คน

ปี พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) แก้

วันที่ 4-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 สมาชิกชาวไทยได้มีโอกาสต้อนรับอาจารย์อิเคดะ ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งที่ 6

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 อาจารย์อิเคดะได้เข้าร่วมงานประชุมใหญ่สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย ครั้งที่ 1 ณ อาคารสำนักใหญ่ พร้อมกับปลูกต้นไม้ที่ระลึกไว้บริเวณด้านหน้าอาคารสมาคม

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 อาจารย์อิเคดะเข้าร่วมงานพิธีเปิดนิทรรศการ "ภาพวาดเด็กชายหญิงจากทั่วโลก" ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดยสมาคมฯ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่น้างเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นประธานในพิธี มีผู้เข้าชมกว่า 15,000 คน

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 อาจารย์อิเคดะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต นับเป็นการเข้าเฝ้าฯ ครั้งที่ 3 ในคราวนี้ อาจารย์อิเคดะได้กราบบังคมทูลอัญเชิญภาพวาดฝีพระหัตถ์ ไปจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น

การดำเนินของแต่ละฝ่าย แก้

สมาชิกของสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย มีอยู่ทั่วไปในทุก ๆ จังหวัดของประเทศ ทั้งในเมืองและในชนบทที่ห่างไกล แต่ละคนจะปฏิบัติศาสนกิจตามที่สมาคมฯ ได้กำหนดแนวทางไว้บนพื้นฐานพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน คือ ปฏิบัติเพื่อความสุขของตนเอง ด้วยการสวดมนต์เช้า-เย็นเป็นประจำ และปฏิบัติเพื่อความสุขของผู้อื่น ด้วยการบอกกล่าวคุณความดีของพุทธธรรมที่ตนเองปฏิบัติ การปฏิบัติภารกิจของสมาชิก จะแบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย คือ​

  1. ฝ่ายผู้ใหญ่ชาย เสาหลักทองคำของการเผยแผ่ธรรม​
  2. ฝ่ายผู้ใหญ่หญิง ดวงตะวันแห่งโซคาผู้การุณย์​
  3. ฝ่ายยุวชนชาย วีรบุรุษแห่งการเผยแผ่ธรรม​
  4. ฝ่ายยุวชนหญิง เจ้าหญิงแห่งความสุขชั่วนิรันดร์​

ภายใต้กรอบโครงสร้างภาระความรับผิดชอบดูแลสมาชิกจากน้อยไปมาก คือ ระดับหมู่ ระดับตำบล ระดับเขต ระดับภาค ระดับรวมภาค ระดับภูมิภาค ระดับฝ่าย​ จนกระทั่งถึงระดับคณะกรรมการ​บริหาร โดยแต่ละฝ่ายจะจัดประชุมสนทนาธรรม ศึกษาธรรม และแนะนำธรรมให้กับผู้อื่น เฉพาะในฝ่ายที่ตนเองเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดระบบการ 4 ฝ่ายที่เป็นระบบ และสมาคมฯ ก็ได้ถือระบบการ 4 ฝ่ายนี้ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อการบรรลุวิสัยทัศน์แห่ง “มนุษยนิยม”​​

อาคารสำนักงาน แก้

ในปัจจุบันสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทยมีอาคารสำนักงานทั้งหมด 10 แห่งทั่วประเทศไทย และมี่อาคาร 1 แห่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง [2] ดังนี้

อาคารที่ยังมีการใช้งาน แก้

ลำดับ อาคาร ที่ตั้ง วันที่เปิดใช้งาน หมายเหตุ
1 สำนักงานใหญ่ (ติวานนท์)​ จังหวัดนนทบุรี ค.ศ.1993
2 สาขาตะวันออก จังหวัดชลบุรี 18​ มกราคม​ ค.ศ.1998
3 สาขาธนบุรี กรุงเทพมหานคร 18​ ตุลาคม​ ค.ศ.1998
4 สาขาสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส 1​ กันยายน​ ค.ศ.2001
5 สาขาลำปาง จังหวัดลำปาง 22​ มีนาคม​ ค.ศ.2003
6 สาขาอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 7​ กันยายน​ ค.ศ.2003
8 สาขาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 7​ เมษายน​ ค.ศ.2008
8 สาขาเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 30​ เมษายน​ ค.ศ.2016
9 สาขาชุมพร จังหวัดชุมพร 1​ ธันวาคม​ ค.ศ.2018
10 สาขานครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 6 เมษายน ค.ศ.2019
ศูนย์ฝึกอบรมสันติภาพเอเชีย
แห่งสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย
จังหวัดระยอง 22 ตุลาคม ค.ศ.2022 (ศูนย์ฝึกอบรมแห่งแรกของประเทศไทย)​

อาคารที่ยกเลิกการใช้งาน แก้

ลำดับ อาคาร ที่ตั้ง ปีที่เปิดใช้งาน ปีที่ยกเลิกใช้งาน
1 สาขาถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร ค.ศ.1985 ค.ศ.2020

กิจกรรม แก้

กิจกรรมของเครือข่ายเอสจีไอ

กิจกรรมหลักที่เน้นควบคู่ไปกับการศึกษาธรรม การสนทนาธรรม และการปฏิบัติธรรม คือกิจกรรมด้านสันติภาพ[3] วัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของเครือข่ายเอสจีไอใน 192 ประเทศและเขตการปกครอง ก็คือ

  1. ส่งเสริมสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษาไปสู่ทั่วโลก โดยอยู่บนพื้นฐานของพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน
  2. ส่งเสริมให้ทั่วโลกเกิดสันติภาพ โดยการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนธรรมดาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
  3. ส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน ซึ่งเป็นคำสอนแห่งสันติภาพที่แท้จริง ด้วยพื้นฐานเช่นนี้ มุ่งให้ทุกคนเป็นพลเมืองที่ดีตามขนบธรรมเนียมและกฎหมายของแต่ละประเทศ

กิจกรรมของสมาคมสร้างคุณค่า

เมื่อมีสมาคมฯ เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้เกิดกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้น ได้แก่ กลุ่มบัวขาว (เบียะขุเร็ง) กลุ่มกะโยไก-โซคาฮัน กลุ่มโอโจไก กลุ่มโยธวาทิต (ชยรพ) กลุ่มรักษ์สมาคม เป็นต้น ในส่วนของกิจกรรมนั้น แบ่งได้เป็นกิจกรรมภายในสมาคมและกิจกรรมออกสู่สังคม

กิจกรรมภายในสมาคม คือการจัดกิจกรรมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมประจำเดือน เช่น การจัดประชุม 4 ฝ่าย การจัดประชุมยุวชนชาย การจัดประชุมยุวชนหญิง การจัดประชุมผู้ใหญ่ชาย การจัดประชุมผู้ใหญ่หญิง และการจัดประชุมมิไรบุ นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมที่เน้นการลงพื้นที่ เช่น การจัดประชุมกลุ่มย่อยในระดับตำบลหรือหมู่บ้าน การใช้สมาคมเป็นศูนย์กลางในการรับและแจ้งข่าวของผู้นำในระดับต่าง ๆ เพื่อกระจายข่าวสารของสมาคมให้สมาชิกในท้องถิ่นทราบ

กิจกรรมออกสู่สังคมมีขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกรู้จักสมาคมและได้ทราบว่าสมาคมสร้างคุณค่าของเรา มีวัตถุประสงค์อะไร ทั้งนี้ยังจัดขึ้นเพื่อให้สมาชิกได้ทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นและยังเป็นเสมือนเวทีใหญ่ให้กับยุวชนของทางสมาคมได้แสดงออกและพัฒนาตนเองผ่านกิจกรรมออกสู่สังคม อาทิเช่น การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตของวัยรุ่น การจัดนิทรรศการเพื่อสันติภาพ การร่วมมือทำหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอด การทำสื่อการสอนให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน การบริจาคสิ่งของและเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

อ้างอิง แก้

  1. "UN Office for Disarmament Affairs Meets Youth Representatives of Soka Gakkai Japan and of SGI-USA Engaged in Disarmament Issues". un.org. Aoi Sato. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2022-05-02.
  2. "ช่องทางติดต่อสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย". sgt.or.th. สืบค้นเมื่อ 2022-05-02.
  3. "วธ.ร่วม สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย เปิดนิทรรศารศิลปะสันติภาพ 20 28 ก.พ.นี้ ที่ศูนย์การค้าสยามพาร". sanook.com. sanook.com. 2010-02-19. สืบค้นเมื่อ 2022-05-02.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้