สนธิสัญญาประกันพันธไมตรี

สนธิสัญญาประกันพันธไมตรี (อังกฤษ: Reinsurance Treaty) ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1887 เป็นความพยายามของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออทโท ฟอน บิสมาร์ค ในการคงความเป็นพันธมิตรกับรัสเซียหลังสันนิบาตสามจักรพรรดิสิ้นสุดลงอันเป็นผลจากสงครามเซอร์เบีย-บัลแกเรีย ใน ค.ศ. 1885

เมื่อเผชิญกับการแข่งขันระหว่างรัสเซียกับออสเตรีย-ฮังการีในบอลข่าน บิสมาร์ครู้สึกว่าความตกลงนี้มีความสำคัญในการป้องกันการเอนเอียงเข้าหาฝรั่งเศสของรัสเซีย และคงการโดดเดี่ยวทางการทูตของฝรั่งเศส เพื่อรับประกันความมั่นคงของเยอรมนีต่อสงครามสองแนวรบที่กำลังคุกคามอยู่ในขณะนั้น และด้วยเหตุนี้ เขาจึงเกรงการขยายเขตอิทธิพลของรัสเซียที่มุ่งหน้าสู่เมดิเตอร์เรเนียนกับความตึงเครียดทางการทูตกับเวียนนา

สนธิสัญญาลับ ลงนามโดยบิสมาร์ค และรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย นิโคลาอู กีร์ส แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ

  1. เยอรมนีและรัสเซียต่างตกลงจะวางตนเป็นกลางในกรณีที่อีกประเทศหนึ่งเข้าสู่สงครามกับประเทศที่สาม ความเป็นกลางนี้ไม่รวมถึงกรณีที่เยอรมนีรุกรานฝรั่งเศสหรือรัสเซียรุกรานออสเตรีย-ฮังการี
  2. ในส่วนพิธีสารลับที่สุด เยอรมนีประกาศตนเป็นกลางในกรณีที่รัสเซียแทรกแซงในบอสฟอรัสและดาร์ดะเนลส์

สนธิสัญญาดังกล่าวต้องอาศัยชื่อเสียงส่วนตัวของบิสมาร์คอยู่มาก ทำให้หลังบิสมาร์คถูกปลดลงจากตำแหน่ง และนายกรัฐมนตรีคนต่อจากเขารู้สึกไม่สามารถจะรักษานโยบายนี้ไว้ได้ต่อไป ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีภายใต้ฟรีดริช ฟอน ฮอลสไทน์ ได้เตรียมประกาศสละสิทธิ์สู่ทวิพันธมิตรกับออสเตรีย-ฮังการีแล้ว

เมื่อ ค.ศ. 1890 รัสเซียร้องขอให้มีการต่ออายุสนธิสัญญา แต่เยอรมนีปฏิเสธ จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ทรงเชื่อว่าความสัมพันธ์ส่วนพระองค์กับซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 จะเพียงพอต่อการรับรองความสัมพันธ์ทางการทูตที่อบอุ่น และทรงรู้สึกว่าการยังรักษาสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัสเซียจะสร้างความเสียหายแก่เป้าหมายของพระองค์ที่จะดึงดูดให้อังกฤษเข้ามาเป็นพวก เช่นเดียวกับความขัดแย้งออสเตรีย-รัสเซียที่ยังดำเนินต่อไป ความสัมพันธ์อังกฤษ-รัสเซียมีความตึงเครียดจากอิทธิพลของรัสเซียที่เพิ่มมากขึ้นในบอลข่าน และเป้าหมายของรัสเซียที่จะเปิดช่องแคบดาร์ดาแนลส์ ซึ่งจะคุกคามผลประโยชน์อาณานิคมอังกฤษในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ด้วยความตระหนกในการแยกตัวโดดเดี่ยวที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลรัสเซียจึงจัดตั้งพันธมิตรฝรั่งเศส-รัสเซียใน ค.ศ. 1892 ซึ่งยุติการโดดเดี่ยวฝรั่งเศส อย่างที่บิสมาร์คกลัว

ความล้มเหลวของสนธิสัญญาดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยนำสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพราะเยอรมนีรู้สึกโดดเดี่ยวทางการทูตมากขึ้น