สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถานีวิทยุของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกโดยย่อว่า "วิทยุจุฬาฯ" เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกอากาศด้วยคลื่นความถี่ 101.5 เมกะเฮิรตซ์ ในระยะแรกสถานีวิทยุแห่งนี้ป็นสถานที่ทดลองส่งคลื่นวิทยุกระจายเสียงที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น โดยทดลองทำเครื่องส่งสัญญาณขึ้นเองจนสามารถใช้งานได้จริง[1] ในปัจจุบันวิทยุจุฬาฯ ทำหน้าที่เป็นสถานีวิทยุฯ ทางวิชาการ มีเนื้อหาของรายการที่ให้ความรู้แก่สาธารณะชน เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้าถึงความรู้อีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ สถานีกระจายเสียงของวิทยุจุฬาฯ ตั้งอยู่ที่ ชั้น 7 อาคารวิทยพัฒนา ซอยจุฬาลงกรณ์ 12 ในบริเวณพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร[2]

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตราสัญลักษณ์สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พื้นที่กระจายเสียงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และอีก 16 จังหวัดใกล้เคียง
ความถี่101.5 MHz (เมกะเฮิรตซ์)
การเป็นเจ้าของ
เจ้าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้ประกอบธุรกิจ
ผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติ
เริ่มกระจายเสียงพ.ศ. 2501
ข้อมูลทางเทคนิค
พิกัดสถานีส่งอาคารวิทยพัฒนา ชั้น 7 จุฬาฯ ซอย 12 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ละติจูด 13.74203895123559

ลองติจูด 100.52694416427077
ลิงก์
เว็บไซต์curadio.chula.ac.th/v2022/

ประวัติ แก้

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดจากการทดลองทำเครื่องส่งคลื่นวิทยุกระจายเสียงของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จนสำเร็จ สามารถส่งสัญญาณได้ จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชมรมแสงและเสียงสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินงานภายใต้องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(อบจ.) มีสถานะเป็น “สถานีวิทยุทดลอง” ของนิสิต เป็นสถานีวิทยุที่ไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498[3] มีสถานที่ทำการอยู่ที่ตึกจักรพงษ์ชั้น 2 หรือหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

ในยุคสงครามเวียดนามสถานีวิทยุจุฬาฯ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่แสดงจุดยืนทางการเมืองของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวคือให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในสงคราม ทำให้สามารถขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์ในการประกอบกิจการวิทยุจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา(United States Operation Mission) ได้สำเร็จ โดยหน่วยงานของสหรัฐฯ ที่ให้เช่าอุปกรณ์คือ United States Information Service (USIS)[1] ปัจจุบันรู้จักกันในนาม United States Information Agency (USIA) อุปกรณ์ที่ได้จากหน่วยงานสหรัฐฯ คือ เครื่องส่ง Medium Wave ระบบ AM (Amplitude Modulation) แบบ BC-610 กำลังส่ง 250 วัตต์ ความถี่ 1080 กิโลไซเคิล มาใช้งาน เป็นแบบเดียวกับกองทัพอากาศไทย[4] ด้วยสัญญาเช่าที่มีกำหนดเวลา 99 ปี และค่าเช่าเครื่องปีละ 1 เหรียญสหรัฐ[1] แต่เมื่อวิทยุจุฬาฯ ได้รับความสนใจ มีผู้ฟังมากขึ้นจนเป็นผลต่อการเคลื่อนไหวและความคิดเห็นของสังคมผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงควบคุมให้จำกัดเวลาออกอากาศ จนกระทั่งปิดสถานีในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2505[1]

 
อาคารวิทยพัฒนาและเสาส่งสัญญาณวิทยุ

3 ปีให้หลังการยุติการกระจายเสียง สถานีวิทยุจุฬาฯ กลับมาเปิดทำการอีกครั้งในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 และเปลี่ยนสถานะจากการเป็นสถานีวิทยุของนิสิตเป็นของมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ตลอดจนความบันเทิง เริ่มมีโครงสร้างการบริหารงานอย่างเป็นทางการ และได้รับการอนุมัติให้ใช้คลื่นความถี่ด้วยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในระบบ FM (Frequency Modulation) Stereo Multiplex ความถี่ 101.5 MHz. กำลังส่ง 1 กิโลวัตต์ (Kilowatt) เสาอากาศสูง 48 เมตร ตั้งอยู่ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี พ.ศ. 2520 เริ่มได้รับรายได้จากการกระจายเสียงโฆษณาและการให้บริการธุรกิจและมีบทบาทเป็นสถานีวิทยุสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้ มีการจัดหาเครื่องส่งใหม่ที่มีกำลังส่ง 5 กิโลวัตต์ (Kilowatts) และปรับปรุงเสาให้สูง 120 เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายเสียง ย้ายสถานที่ตั้งมาที่อาคาร วิทยพัฒนา ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2535 ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ วิทยุจุฬาฯ เป็นสื่อนำเสนอข่าวการเมืองอย่างสม่ำเสมอจนได้รับรางวัลสื่อดีเด่นประเภทรายการวิทยุ จากมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์ ในยุคนี้วิทยุจุฬาฯ มีความร่วมมือกับสถานีวิทยุต่างประเทศคือ Voice of America (VOA) และปรับปรุงเสาส่งกระจายเสียงให้มีความสูงเพิ่มขึ้นจาก 120 เมตร เป็น 150 เมตร

ปี พ.ศ. 2547 วิทยุจุฬาฯ ได้เพิ่มช่องทางการรับฟังผ่านทางเว็บไซต์ www.curadio.chula.ac.th สถานีวิทยุจุฬาฯ ยังได้ร่วมมือกับ “สถานีวิทยุ CRI ปักกิ่ง ประเทศจีน” ผลิตรายการ “สานสัมพันธ์ไทยจีน” ทำให้สถานีวิทยุจุฬาฯ เป็นสถานีวิทยุการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการผลิตและออกอากาศรายการวิทยุร่วมกับสถานีวิทยุแห่งชาติของประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน

ปี พ.ศ. 2552 วิทยุจุฬาฯ พัฒนาจนผ่านการตรวจรับรองการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO 9001: 2008 อีกมาตรฐานหนึ่ง ภายหลังจากได้รับมาตราฐานจาก Bureau Veritas หรือ BVQI ประเทศฝรั่งเศสมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2543 และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ทำเนียบนายสถานี / ผู้อำนวยการสถานี ปี 2508 - ปัจจุบัน สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แก้

สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์
ลำดับ รายชื่อ หัวหน้าสถานี และ กรรมการผู้อำนวยการ ตำแหน่ง ปี พ.ศ
1 ศาสตราจารย์ สำเภา วรางกูร หัวหน้าสถานี 2508-2520
2 ศาสตราจารย์ อาภรณ์ เก่งพล หัวหน้าสถานี 2520-2533
3 รองศาสตราจารย์ จุมพล รอดคำดี กรรมการผู้อำนวยการ 2534-2559
4 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูตร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ 2559-2560
5 นางสาวสิริลักษณ์ พัฒนลีลาวงศ์ กรรมการผู้อำนวยการ 2561-2562
6 อาจารย์ ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ 2563-2564
7 นายตรีเทพ ไทยคุรุภัณฑ์ กรรมการผู้อำนวยการ 2564-2565
8 รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ 2565-2566
9 รองศาสตราจารย์ ดร.อมร เพชรสม ผู้อำนวยการสถานี 2566-ปัจจุบัน


รูปแบบรายการ แก้

ปัจจุบันสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงออกอากาศผ่านทางคลื่นวิทยุเช่นในอดีต แต่ได้พัฒนาองค์กรให้สามารถผลิตสื่อความรู้สู่สังคมผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต เช่น การถ่ายทอดรายการวิทยุสดผ่านทางอินเทอร์เน็ต และยังผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อออกอากาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน

รายการ แก้

มีรายการที่ออกอากาศคู่ขนานระหว่างสื่ออินเทอร์เน็ต เช่น ยูทูบ ช่อง CU Radio Channel กับวิทยุกระจายเสียงดังนี้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Radio) FM 101.5 MHz. "กว่าจะเป็น...วิทยุจุฬาฯ (History of CU Radio) - สถานีวิทยุจุฬาฯ (CU Radio) FM 101.5 MHz." สถานีวิทยุจุฬาฯ (CU Radio) FM 101.5 MHz คลื่นความรู้สู่ประชาชน - Digital Media Center - Live Radio - Radio On Demand - New Media - News - Knowledge - Education - Music. Accessed May 19, 2017. http://www.curadio.chula.ac.th/History.php เก็บถาวร 2017-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  2. สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Radio) FM 101.5 MHz. "ติดต่อเรา (Contact Us) - สถานีวิทยุจุฬาฯ (CU Radio) FM 101.5 MHz." สถานีวิทยุจุฬาฯ (CU Radio) FM 101.5 MHz คลื่นความรู้สู่ประชาชน - Digital Media Center - Live Radio - Radio On Demand - New Media - News - Knowledge - Education - Music. Accessed May 19, 2017. http://www.curadio.chula.ac.th/Contact-Us.php เก็บถาวร 2017-05-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  3. ราชกิจจานุเบกษา. (8 กุมภาพันธ์ 2498). พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498. เรียกใช้เมื่อ 20 พฤศภาคม 2560 จาก เว็บไซต์ ratchakitcha.soc.go.th: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/A/011/237.PDF
  4. "ประวัติความเป็นมา." สำนักงานคณะกรรมการบริการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กองทัพอากาศ. Accessed May 20, 2017. http://119.46.201.173/rtafbc/?page_id=65[ลิงก์เสีย].